‘หมอนคร’แจงยิบ ปม‘เข้าโคแวกซ์-ซื้อวัคซีน’

‘หมอนคร’แจงยิบ ปม‘เข้าโคแวกซ์-ซื้อวัคซีน’ หมายเหตุ - นพ.นคร เปรมศรี

หมายเหตุนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงผ่านระบบออนไลน์ในพิธีเปิด “โครงการความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการรับมือและความพร้อมในการจัดการโรคระบาดในประเทศไทย” ประเด็นการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม

ขออธิบายเรื่องโคแวกซ์ เนื่องจากอาจมีความเข้าใจและอาจนำไปปนกันระหว่าง โคแวกซ์ AMC (Advance Market Commitment : AMC) และ โคแวกซ์ SFP (Self-financing participant) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศในส่วนของโคแวกซ์ AMC 92 ประเทศ เนื่องจากเราเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper Middle Income) เวลาที่มักมีคำเปรียบเทียบว่า อาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีน จริงๆ ต้องแยกประเทศอาเซียนเป็น 2 กลุ่ม อย่าง โคแวกซ์ AMC เป็นประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนโคแวกซ์ SFP ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนด้วยเงินทุนของประเทศตนเอง ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน รวมทั้งไทย ดังนั้น หากเราไม่มีความเข้าใจส่วนนี้ก็จะนำไปผสมกันและคิดว่าเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนฟรี ซึ่งไม่ใช่เพราะต้องจ่ายเงิน

เมื่อดูโครงการโคแวกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 64 ได้ส่งมอบวัคซีนไปแล้วจำนวน 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ ซึ่งเมื่อหารแล้วแต่ละประเทศได้รับวัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดส ดังนั้นเหตุผลเดิมที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้นเพราะต้องจ่ายเงินเองและต้องรอรับวัคซีนที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร และเหตุการณ์เชิงประจักษ์ ณ เวลานี้มีการส่งมอบวัคซีน 136 ล้านโดสใน 136 ประเทศ เหตุผลจึงเหมือนเดิมไม่ใช่ว่าเราตัดสินใจ ไม่จองวัคซีนโคแวกซ์แล้วผิดพลาด

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมเราจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในปีหน้า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ผู้ผลิตได้ส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้สูง ที่จองไว้จนเกินพอและมีการบริจาคออกมานั้น นี่คือสถานการณ์จริงว่าเริ่มมีซัพพลายที่เกินพอจากประเทศที่จองเกินล่วงหน้า แต่ซัพพลายจริงที่จะเกิดขึ้นใหม่ยังขาดอยู่ เพียงแต่เราวิเคราะห์สถานการณ์ปี 2565 ดูทิศทางแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลังจากได้ซัพพลายให้กับประเทศรายได้สูงจนเกินพอ ต่อไปก็จะกลับมาดูในส่วน Global Solidarity จะเกิดขึ้นในปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ จึงต้องพูดกันตรงๆ จะได้เข้าใจ ไม่งั้นจะคิดว่าเรากลับไปกลับมา ซึ่งคนละเรื่อง

Advertisement

ปี 2565 เมื่อตรวจสอบดูแนวโน้มผู้ผลิตหลายรายที่เป็นรายใหญ่ๆ จะเริ่มส่งมอบให้กับโครงการโคแวกซ์ เรียกว่าน่าจะส่งมอบเป็นหลักจากการตรวจสอบผู้ผลิตรายใหญ่ 2-3 เจ้า จึงเป็นที่มาของการร่วมโครงการโคแวกซ์ เราไม่ได้มุ่งหวังปีนี้ เพราะเขาส่งไม่ทันอยู่แล้ว แต่เรามุ่งปีหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเข้ามาของวัคซีนปีหน้า

ดังนั้น การเข้าร่วมโคแวกซ์ ณ เวลานี้ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในปีหน้า หากผู้ผลิตวัคซีนมุ่งเน้นส่งวัคซีนให้โคแวกซ์ ประเทศไทยก็จะมีช่องทางเข้าถึงวัคซีนในปี 2565 เป็นการบริหารตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จึงขอฝากทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องเข้าใจก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ จริงๆ สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ทำการวิเคราะห์และสื่อสารไปตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังเป็นเหมือนเดิมและสถานการณ์ก็เป็นเหมือนที่บอก เพราะประเทศที่เข้าร่วมยังได้วัคซีนล่าช้า 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ สามารถเข้าไปดูได้ในกาวี (GAVI) นี่คือเหตุการณ์จริง

ที่ผ่านมา เราทำได้ดี ไม่ได้เกิดจากการทำงานฝ่ายเดียวแต่เป็นความร่วมมือของทุกคน แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกมาตรการดีเพียงใด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ที่ผ่านมา ก็คงควบคุมโรคไม่ได้อยู่ดี ความสำเร็จอาจจะไม่เกิดขึ้น อาจเกิดการระบาดเหมือนประเทศอื่นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสายพันธุ์เดลต้า เพราะปี 2563 ประเทศอื่นๆ ที่เกิดการระบาดก็ไม่ใช่เชื้อกลายพันธุ์ แต่เป็นไวรัสปกติ แม้กระทั่งกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า ประเทศไทยก็ยังรับมือได้ด้วยมาตรการควบคุมโรค อย่างจังหวัดสมุทรสาคร ก็ควบคุมกันได้ มาตรการป้องกันควบคุมโรคสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือ

Advertisement

ส่วนเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ ไม่ใช่ความผิดพลาดของคนทำงาน การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของมัน แล้วมาบอกว่าวัคซีนไม่ได้ผลก็ไม่แฟร์กับวัคซีน เพราะวัคซีนเกิดก่อนไวรัสกลายพันธุ์ วันนี้อยากได้วัคซีนที่สนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ยังไม่มี ถ้าวันนี้พัฒนาวัคซีนที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ได้ วันนี้ที่ผู้ผลิตกำลังพัฒนาก็เป็นวัคซีนต่อสายพันธุ์เบต้า เพราะสายพันธุ์นี้มาก่อน ยังไม่มีเจ้าไหนผลิตวัคซีนที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลต้า แม้กระทั่งวัคซีนต่อสายพันธุ์เบต้าก็ยังต้องรอปลายปีนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปลายปีนี้จะสายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นตัววัคซีนก็ไล่ตามไม่ทันแน่

อีกประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ คือ แต่ละวัคซีนต้องใช้เวลาในการทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ซิโนแวคใช้เวลา 6 สัปดาห์ ในการเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดี ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัคซีน แต่ไวรัสเมื่อถ่ายทอดโรคใช้เวลา 7 วัน ก็ฟักตัวเป็นส่วนใหญ่แล้ว ต่อให้มีวัคซีนมากยังไง เมื่อมีการระบาดก็ไม่ทันอยู่ดี เว้นแต่เราฉีดวัคซีนไว้ดักหน้าจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับประเทศใดในโลกนี้ สถานการณ์ที่บอกว่ามีวัคซีนมากๆ แล้วฉีดไว้ดักจนไม่เกิดการระบาด เราไม่เคยเห็นในโลกนี้ ไม่มี เพราะไม่มีประเทศไหนที่มีวัคซีนมีเพียงพอที่จะป้องกัน ทุกประเทศเกิดระบาดใหญ่แล้ววัคซีนค่อยมาจัดการ ไปดูทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ทุกประเทศชั้นนำ

ที่ต้องทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ คือ ส่วนนี้เพราะวัคซีนมีจำกัด การที่เราจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เป็นจริง และทุกประเทศก็เป็น เราก็เป็น แต่คนทำงานก็ต้องมีความรับผิดชอบ แม้จะทำงานอย่างเต็มที่แต่ผลออกมาไม่ดี เหมือนกันเชื่อว่าตอนนี้เราก็ทำอย่างเต็มที่ อย่างการควบคุมโรคสอบสวนโรค แต่ผลก็ยังเป็นอย่างที่เห็น แต่เราก็ทำเต็มที่ไม่ได้ย่อหย่อน มองออกไปทุกประเทศมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ทั้งสิ้น เพียงแต่ประเทศไหนที่มีไวรัสกลายพันธุ์แล้วเวลานี้มีวัคซีนครอบคลุมที่ดี ก็ได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น อังกฤษ เกิดระบาดใหญ่อีกครั้ง ติดเชื้อรายวัน 4 หมื่นคน แต่ผู้เสียชีวิตน้อย แสดงว่าวัคซีนได้ผลป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้

สิ่งสำคัญคือ เน้นฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค ลดเสียชีวิต ลดภาระของโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหนัก ดังนั้น วัคซีนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือแอสตร้าฯ ทั้ง 2 ตัวยังช่วยป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ดีทั้งคู่ แม้เป็นไวรัสกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้นที่ต้องทำคือเน้นฉีดกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุมเร็วที่สุด ทุกหน่วยฉีดวัคซีนจำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายที่พยายามฉีดเยอะๆ แต่ไม่ตรงกลุ่ม เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม น้ำหนักเกิน หญิงตั้งครรภ์ให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ถึงจะมีจุดเปลี่ยน (Turning Point) เริ่มจากมีผู้ป่วยอาการหนักลดลงก่อน ผู้ป่วยจำนวนเยอะอาจมีได้ แต่ต้องลดผู้เสียชีวิตและอาการหนักให้เร็วที่สุด วัคซีนที่ฉีดต้องเร่งฉีดคนที่ไม่ป่วย เพราะวัคซีนใช้กับคนไม่ป่วย ป่วยแล้วยังไงก็ฉีดไม่ทัน แม้สัมผัสโรคแล้วฉีดไปก็แทบไม่ทัน

พื้นที่การระบาดก็ต้องทำแบบนี้ พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน และไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยภาครัฐ ต้องการความร่วมมือของประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อเจอไวรัสกลายพันธุ์อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นเข้มงวดในมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะบุคคลให้ต่อเนื่องเราจึงผ่านวิกฤตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image