นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ชูแผน‘ยุทธศาสตร์จัดการโควิด’

หมายเหตุนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เสนอยุทธศาสตร์ใหม่ในการจัดการโรคโควิด-19 : ทางรอดประเทศไทย และมีความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการ-แพทย์ ในการประเมิน 2 สัปดาห์ มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเราวันนี้หนักหนาสาหัส การจัดการตั้งแต่การตรวจหาผู้ติดเชื้อที่มีความต้องการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องไปนอนรอกันข้ามคืนและรอผลอีก 1 วัน การเอาผู้ติดเชื้อโควิดเข้าระบบการรักษาพยาบาลที่อาศัยสถานบริการทั้งในโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามไม่อาจรองรับได้ จึงปรากฏภาพการเสียชีวิตที่บ้านหรือแม้กระทั่งท้องถนน จนมีคนตั้งคำถามว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่าการระบาดด้วยสายพันธุ์ใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ที่แพร่ง่ายกว่าเดิม 1.7 เท่า ไม่เกิน 2 เดือนก็เบียดสายพันธุ์เดิมหมดสิ้น ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคมที่ตรวจพบสายพันธุ์เดลต้าที่แคมป์คนงานขนาดใหญ่ที่หลักสี่ ซึ่งแพร่เร็วกว่าอัลฟ่าไปอีก และเป็นไปตามที่คาด ไม่ถึง 2 เดือน สายพันธุ์นี้ก็ครองประเทศไทย เฉพาะ กทม.ขึ้นไปกว่า 70% ข้อดีคือยังไม่ปรากฏเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากนัก ดูจากอัตราป่วย-ตายที่ไม่สูงขึ้นแต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมากจนกระทบระบบการดูแลรักษาก็อาจมีผลต่อคุณภาพการรักษาได้ ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ติดเชื้อโควิด 100 คน ไม่มีอาการ หรืออาการเพียงเล็กน้อย 80-90% หลังจากติดเชื้อ 14 วัน หรือหลังจากตรวจพบ 10 วัน เกือบทั้งหมดก็ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว คนที่ต้องการการดูแลอย่างเข้มข้นมีประมาณ 5-10% ทว่าในช่วงที่ผู้ติดเชื้อไม่มาก การที่เคยนำทุกคนเข้าระบบการรักษามานอนเตียงโรงพยาบาลก็ถูกต้อง แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละเป็นหมื่นคงไม่สามารถจัดการแบบเดิมได้ และจะทำให้คนที่ควรได้รับการดูแลกลับไม่มีเตียง แต่คนที่ครองเตียงอยู่ที่จริงไม่มีความจำเป็น เพียงต้องการการกักตัวเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น และมีระบบการติดตามดูแล หากผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care) รวมถึงการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) และระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิผล ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มที่สถานบริการระดับปฐมภูมิใกล้บ้าน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานกว่า 3 ล้านคน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเกือบ 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ดูแลโดยระบบปฐมภูมิ (รพ.สต., ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือ รพ.ชุมชน) รายที่มีความซับซ้อน หรือปัญหาในการรักษา ต้องการการรักษาขั้นสูงก็จะได้รับการประเมินและส่งต่อไปยังหน่วยบริการขั้นสูงต่อไป แม้ระบบการแพทย์ปฐมภูมิใน กทม. และเมืองใหญ่บางเมืองอาจไม่เข้มแข็งเท่าระบบโดยรวมของประเทศ มักคุ้นชินกับการรักษาโรคโดยโรงพยาบาล (Medical Oriented) แต่นักการสาธารณสุขย่อมเข้าใจหลักการว่าวันนี้ต้องเลือกGood for All ไม่ใช่ Best for Few แต่จากสถานการณ์ข้อเท็จจริงและระบบที่มีอยู่ จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ในการรับมือกับโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 แยกผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อการจัดการที่แตกต่างกัน ผู้ติดเชื้อทุกรายจะได้รับการประเมินจากหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวคือไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และสามารถดูแลแบบการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ได้ก็จะลงทะเบียนแล้วเริ่มกระบวนการดูแล จะได้รับอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ปรอทวัดไข้ ตัววัดความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด หน้ากากอนามัยฯ รวมถึงคำแนะนำ จะมีระบบติดตามประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาวะสุขภาพ หากมีอาการมากขึ้นก็จะนำตัวไปสู่ระบบการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล หรือหากแยกกักที่บ้านไม่ได้ก็นำไปยังศูนย์แยกกักชุมชนหรือที่เรียกศูนย์พักคอย (Community Isolation) ของชุมชน แต่ในกรณีนี้ก็จะต้องทำการตรวจซ้ำด้วย rRT PCR เพื่อป้องกันการนำคนที่มีผลตรวจด้วยชุดตรวจแอนติเจนเป็นบวก แต่ไม่ได้ติดเชื้อ (False Positive) ไปปะปนกับผู้ติดเชื้อในศูนย์

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อให้ครอบคลุมด้วยชุดตรวจแอนติเจนอย่างง่าย (Antigen Test Kit) การตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ยังเป็นวิธีหลักเพราะความแม่นยำสูง แต่ราคาก็สูง ต้องใช้เครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญในห้องปฏิบัติการ ใช้ระยะเวลานาน การเข้าถึงลำบากแม้จะมีห้องแล็บที่กรมวิทย์ให้การรับรองไปแล้วถึง 340 แห่ง รวมถึงการเก็บตัวอย่างก็ทำได้ยาก ชุดตรวจแอนติเจนที่ทำได้ง่ายบางชนิดสามารถทำการตรวจด้วยตนเองได้ด้วยซ้ำ ราคาถูกกว่าและน่าจะถูกลงเรื่อยๆ แม้ความแม่นยำไม่เท่ามาตรฐาน แต่ก็ช่วยเสริมให้การค้นหาผู้ติดเชื้อได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อแยกกักได้เร็วและติดตามอาการได้เมื่อมีความจำเป็นก็จะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษาที่เหมาะสมต่อไปการปรับผลิตภัณฑ์ให้สามารถทำการตรวจด้วยตนเอง และการอนุญาตให้ปรับการขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องเริ่มประเมินแบบนับหนึ่งใหม่ มีการสื่อสารให้ผู้ใช้ชุดตรวจสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เข้าใจการแปลผล และปฏิบัติตัวถูกต้องทั้งผลบวกและผลลบ และต้องทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและราคา รวมถึงการแทรกแซง เช่น จัดชุดตรวจให้ฟรีจำนวนหนึ่งกับประชาชน จะทำให้คอขวดในเรื่องการตรวจหาผู้ติดเชื้อลดลง การมีหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุกที่คล่องตัวเข้าไปในชุมชนก็เป็นการอุดช่องว่างได้อีกทางหนึ่ง

Advertisement

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการรองรับ ตั้งแต่ระบบการแยกกักดูแลที่บ้าน (Home Isolation) การแยกกักดูแลในชุมชน (Community Isolation) ทั้ง 2 ระดับนี้ควรมีให้เพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อร้อยละ 90 ในแต่ละพื้นที่ การเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง (สีเหลือง) และอาการหนัก (สีแดง) ทั้งในรูปแบบ รพ.สนาม หรือในโรงพยาบาล ในแต่ละระดับบริการต้องมีเป้าหมายทั้งในเชิงจำนวนและคุณภาพ ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิผล การทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะได้รับการดูแลในลักษณะใดตาม ความมากน้อยของอาการ ก็จะได้รับการดูแลที่มีคุณภาพตามหลักทางการแพทย์ ไม่เช่นนั้นคนที่แม้ไม่มีอาการ ก็อยากไปนอนเตียงที่โรงพยาบาลทุกคน ก็จะไม่สามารถรักษาได้ถูกที่ถูกคน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างไม่คุ้มค่าและก็จะมีคนถูกทิ้งไว้ในบ้าน หรือแม้แต่ริมถนนจนมีอาการหนักต่อไป

นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์อื่นๆ ที่อาจต้องเร่งรัด หรือปรับวิธีการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น เช่น การสื่อสารเชิงรุก เข้มข้น เป็นระบบเพื่อลดทอนข่าวปลอม หรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการให้ข้อมูลที่สับสน ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหา การเร่งรัดจัดสรรและฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นตามลำดับ การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณที่จำเป็นให้รวดเร็วยิ่งขึ้นการทำงานในภาวะวิกฤตทุกนาทีมีค่าเสมอ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ให้เกิดผล ทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกัน และร่วมมือกันผลักดันอย่างสุดกำลัง แล้วประเทศไทยก็จะผ่านวิกฤตนี้ไปอย่างไม่สูญเสียเกินสมควร

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา/ประธานชมรมแพทย์ชนบท

การเสนอให้ล็อกดาวน์แบบเต็มที่2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบกับประชาชนที่เดือดร้อนเป็นอย่างมาก กิจกรรมทุกอย่างจะหยุดนิ่ง หากจะล็อกดาวน์จริงต้องทำทุกอย่างให้คุ้มค่ากับการที่ประชาชนยอมเสียสละ สูญเสียรายได้ทั้งหมดในช่วงนั้น จากนั้นต้องคัดกรองคนป่วยออกจากทุกครอบครัวให้มากที่สุด พยายามตรวจหาเชื้อเชิงรุก รายใดติดเชื้อต้องมีขั้นตอนรองรับรักษาอย่างเต็มที่หรือหากใครอาการน้อยก็ให้รักษาที่บ้าน ดูแลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรับประกันว่าจะมีเตียง หากอาการหนักระหว่างการรักษา ที่สำคัญทุกพื้นที่ต้องมีศูนย์พักคอย เตรียมพร้อมเพื่อให้มี รพ.สนาม จากนั้นให้ประกาศล็อกดาวน์แล้วคัดกรองให้เต็มที่ภายใน 2 สัปดาห์เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ความเห็นส่วนตัวหากล็อกดาวน์แบบเดิม โดยไม่มีมาตรการรองรับจะไม่มีประโยชน์ ไม่เฉพาะด้านสาธารณสุข ต้องเยียวยาประชาชนที่มีผลกระทบ คิดด้วยว่าถ้าเป็นคนจนแล้วไม่มีรายได้จะอยู่กันอย่างไร

ขณะนี้หากจะตัดสินใจล็อกดาวน์แบบเข้มข้นคงไม่ช้าเกินไป ควรทำในสถานการณ์สุดท้ายที่น่าจะไปไม่ไหวแล้ว หากเทียบกับการล็อกดาวน์เมื่อเดือนเมษายน 2563 ช่วงนั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังมีเงินเก็บ แต่ช่วงนี้จากการลงพื้นที่พบว่าเงินเก็บไม่มี แต่มีสัญญาณดีสำหรับแนวทางการทำงานของรัฐบาล เริ่มมาถูกทางขึ้นเรื่อยๆ การทำแรพิด เทสต์ อย่างกว้างขวาง พยายามเพิ่ม รพ.สนาม ศูนย์พักคอยให้มากขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ ยังดูเหมือนจะล่าช้า ยอมรับการกักตัวที่บ้านแต่ระบบยังต้องการให้มีการพัฒนาเพิ่มเติม การบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์ปกครองท้องถิ่นก็มีแนวโน้มดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ คือ วัคซีนมีน้อยเกินไป เรื่องนี้แก้ปัญหายากมากที่สุด

ส่วนการปล่อยให้ประชาชนกลับไปรักษาในภูมิลำเนาถือว่ามาถูกทาง แต่ระบบยังไม่ดีพอ หลังจากแพทย์ชนบทนำคณะไปทำงานที่ กทม.พบว่าอัตราการป่วยใน กทม.สูงมาก ขณะที่ต่างจังหวัดยังพอรองรับดูดซับผู้ป่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องจัดการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่แพร่โรค พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเดินทางกันเอง บางรายต้องจ่ายเงินเกินหมื่นบาทเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทั้งที่รัฐควรดูแลให้เต็มที่ แต่รัฐปรับตัวไม่ทัน ขณะที่โควิดระบาดเร็ว ความซับซ้อนของปัญหาหลายมิติไปเร็วมาก แต่ระบบราชการยังเชื่องช้า การแก้ปัญหาจึงไม่ทันกับสถานการณ์

สถานการณ์การระบาดเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ยังหนัก เพราะยังวัคซีนมีน้อย หากจะให้ทุเลาลง คงต้องรอถึงไตรมาส 4หรือช่วงปลายปี 2564 หากมีวัคซีน 15 ล้านโดสขึ้นไปต่อเดือน และความสามารถในการฉีดสามารถทำได้ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันหมู่มาเร็วขึ้น ปัญหาจะลดลงได้

การตรวจหาเชื้อก่อน หรือทราบผลเร็ว ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน แต่ชะลอการระบาดเพื่อรอวัคซีน ปัจจุบันสิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นการชะลอการระบาด เพื่อรอให้ประชาชนรับวัคซีนให้ถ้วนหน้า แต่สุดท้ายหากไม่ได้รับวัคซีนก็ยังเสี่ยงติดเชื้อ ส่วนข้อเสนอของบุคลากรทางการแพทย์ เชื่อว่าฝ่ายการเมืองพอจะเข้าใจ แต่การนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติยังล่าช้า ขาดการบูรณาการระหว่างกระทรวง ยกตัวอย่างพื้นที่แขวงใน กทม. วันนี้มีศูนย์พักคอยหรือไม่เพื่อรองรับคนป่วยติดเชื้อ แนวคิดเรื่องนี้ของ กทม.เกิดขึ้นมานานกว่าสัปดาห์ แต่การทำจริงยังช้า ถามว่าแต่ละแขวงมีศูนย์เดียวคงไม่พอ เพราะประชากรใน กทม.มีจำนวนมาก อย่างน้อยแต่ละแขวงควรมี 3-4 จุด

วันนี้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศยังรับมือไหวด้วยความเหนื่อยยาก แต่ต้องทำงานภายใต้ความหวังที่มีแนวโน้มในการบริหารจัดการ มีทิศทางที่ดีขึ้นจริงๆ มีความหวังที่จะลดการระบาดได้จริง ไม่ใช่มุ่งทำงานแบบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ มองว่าช้าเกินไป ถ้าจะทำควรรีบทำตั้งแต่มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นสูงตั้งแต่เดือนก่อนหน้าแล้ว เพราะสุดท้ายหนีไม่พ้น ต้องล็อกดาวน์อยู่นั่นเอง นี่คือประการแรก ส่วนประการที่ 2 ปัญหาเรื่องวัคซีน นับเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงอย่างที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ประธานคณะก้าวหน้า) เคยบอกว่าเป็นการแทงม้าเบอร์เดียว จริงอยู่ว่าสถานการณ์ขณะนั้นสามารถคุมได้ ที่สบายใจกันว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แต่ไม่ควรประมาทเพราะที่ไหนๆ ก็ไม่ได้มีระลอกเดียว แต่มีหลายระลอก แม้กระทั่งแพทย์ในไทยเองก็เคยเตือนว่าต้องมีมาอีก

การแก้ปัญหาในขณะนี้มีอย่างเดียว คือต้องระดมนำวัคซีนมาฉีด ไม่มีทางแก้อย่างอื่นแล้วอย่างไรก็ตาม พบว่าพอมีวัคซีนคุณภาพเข้ามาผู้ที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นก็พยายามแย่งวัคซีนไปฉีดให้พวกของตัวเอง สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ มีชนชั้นที่แบ่งแยกชัดเจน อย่างที่มีกรณีหน่วยงานทหารทำหนังสือไปขอวัคซีน แสดงให้เห็นถึงความคิดที่คิดว่าตัวเองมีสิทธิเหนือประชาชนทั่วไป

สภาพสังคมไทยตอนนี้ย่ำแย่มาก กลุ่มคนที่ได้เปรียบ ก็เอาเปรียบผู้อื่น ทั้งที่ต้องนำวัคซีนมีคุณภาพไปฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน นอกจากนั้น อีกกลุ่มบุคคลที่ต้องฉีดให้ก่อนคือ อสม. ซึ่งเป็นด่านหน้าจริงๆ ต้องดูแลพวกเขา

สำหรับกรณีไทยไม่ร่วมโครงการโคแวกซ์ ยังมีผู้ปากแข็ง ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพลาดและล่าช้า ทั้งที่ทุกอย่างคือเรื่องผิดพลาดทั้งสิ้น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการแทงม้าเบอร์เดียว

ในสภาพการณ์เช่นนี้ ยังทำให้เกิดข่าวลือต่างๆ ทางการเมืองไม่สามารถป้องกันได้เมื่อคนเกิดความเครียดจากวิกฤตที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดไหน ก็จะคาดคะเนประเด็นต่างๆ ใครพูดอะไร จับความได้ว่าอย่างไรก็นำไปพูดต่อ ยอดผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมหมื่นสี่พันกว่าคน ลดจากหมื่นห้าแค่พันเดียว ถ้าวันต่อๆ ไปลดลงเหลือหมื่นเศษ แล้วลงไปถึงหลักพัน อาจมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาขึ้นไปถึงจุดสุดยอดแล้ว เส้นกราฟจะเริ่มลง ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี แต่มีนักวิชาการออกมาวิเคราะห์ว่าอาจขึ้นไปสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ ถามว่าจะแก้ไขอย่างไรในขณะที่ระบบสาธารณสุขของเราตอนนี้ล้มเหลวหมดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image