รายงานหน้า2 : เสียงสะท้อน‘กนอ.-ส.อ.ท.’ สกัดโควิดลามโรงงาน

หมายเหตุสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานยังพบเป็นคลัสเตอร์กระจายในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน โดยภาครัฐยกระดับมาตรการคุมเข้มสูงสุด ภาคเอกชนเองก็ป้องกันเต็มที่เพราะเหตุใดจึงเอาไม่อยู่

วีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ภาพรวมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานของ กนอ. ได้รับรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พบว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งหมดรวม 629 ราย แต่จากผลการสำรวจทั้งหมดพบว่ามีผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในนิคมทั่วประเทศ ประมาณ 7,007 ราย ในจำนวนนี้รักษาตัวหายแล้วกว่า 1,605 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 5,399 ราย ถ้าเทียบเป็นกราฟวัดตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2564 พบว่าการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 เป็นลักษณะพุ่งขึ้นตลอด และยอดผู้ติดเชื้อของวันที่ 27 กรกฎาคม ถือเป็นสถิติใหม่ของผู้ติดเชื้อในนิคมฯ เนื่องจากต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้ามีการระบาดอย่างรวดเร็ว และมีการระบาดรุนแรง ผลของสายพันธุ์ดังกล่าวหากใครติดเชื้อแล้วดูแลตัวเองไม่ดี หรือไม่ได้รับการรักษาเบื้องต้นอย่างทันท่วงที ผลร้ายที่สุดก็เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ซึ่งการแพร่ระบาดดังกล่าวเป็นปัญหาหลักที่การนิคมห่วงเป็นอย่างมาก
ก่อนหน้านี้จึงได้ให้พนักงานที่ติดเชื้อรักษาตัวอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดภายใต้การดูแลของการนิคมฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้เลย เพราะการนิคมฯดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่สามารถให้ใครมาพักนอนอยู่ในพื้นที่ของการนิคมฯ ได้ แต่ในครั้งนี้เป็นกรณีฉุกเฉินในการขอใช้พื้นที่โดยใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ในการขออนุมัติ หรือขออนุญาตใช้พื้นที่เป็นการชั่วคราว ซึ่งจากการใช้วิธีดังกล่าวในนิคมฯสินสาคร ก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง คือโรงงานกับการนิคมฯร่วมมือกันดูแลพนักงานผู้ติดเชื้อ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนมาจากหลายภาคส่วนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของการนิคมฯ น่าเป็นห่วง เพราะหากโรงงานปิด เครื่องจักรตัวสุดท้ายที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการส่งออก ที่ล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขยายตัวสูงสุด 43.82% สูงสุดในรอบ 11 ปี และจากการที่ภาคการส่งออกพุ่งขึ้นไปสูงสุดเกิดจากสินค้าจากภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวสนับสนุน ที่ผ่านมาไทยได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้
แต่เนื่องจากเมื่อดูสถิติการติดเชื้อโควิดของประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ มาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิต 8 พันราย หรือพบเชื้อและเสียชีวิตเป็น 2 เท่าของไทย ส่วนอินโดนีเซีย ติดเชื้อโควิดประมาณ 3 ล้านราย เสียชีวิต 8 หมื่นราย ปัจจุบันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มกว่า 3 หมื่นราย เสียชีวิต 1,500 ราย จากสถิติดังกล่าวเป็นผลกระทบให้นักลงทุนต่างชาติกังวลว่าจะเข้ามาลงทุนในโซนนี้ หรือต้องถอนย้ายการลงทุนไปที่อื่นในช่วงนี้
จากความกังวลดังกล่าวจึงเป็นผลให้การนิคมฯ พยายามที่จะช่วยในเรื่องของการเร่งหาวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานในโรงงานที่อยู่ในการดูแลของการนิคมฯ พร้อมทั้งพยายามเร่งหาโควต้าวัคซีนให้กับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากยังมีนักลงทุนที่ตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้ ม.33 หรือภายใต้ พ.ร.บ.ผู้ประกันตน หรือไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้เลย
อีกปัจจัยที่จะเป็นผลกระทบต่อด้านการลงทุนและการส่งออก คือกฎระเบียบที่สาธารณสุข ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด และ ศบค. ตั้งไว้ว่าหากพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิน 10% ของพนักงานในโรงงาน ก็ขอให้ปิดโรงงาน ตามคำสั่งของผู้ว่าราชการ และสาธารณสุข ในจังหวัดนั้นๆ โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาปิดโรงงานที่แตกต่างกันไปเริ่มตั้งแต่ 3-14 วัน อาทิ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 จากการตรวจเชิงรุกของสาธารณสุขอำเภอปลวกแดง จ.ระยอง ทราบผลมีผู้ติดเชื้อ จึงมีมาตรการให้โรงงานหยุดประกอบกิจการชั่วคราว 3 วัน เป็นต้น
ซึ่งปัญหาที่เจอในปัจจุบันคือบางโรงงานมีพนักงานไม่เยอะ หรือประมาณ 50-100 คน หากพบว่ามีการติดเชื้อจากการปูพรมตรวจเชิงรุก ตามมาตรการของกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเร่งตรวจ การใช้วิธีดังกล่าวมักจบพบผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 70-80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด พอตรวจเจอกลุ่มเหล่านี้ก็ต้องปิดโรงงานเพราะเกินกว่าอัตราการติดเชื้อที่สาธารณสุขกำหนดไว้
หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโรงงานในพื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่อาจโดนสั่งทยอยปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่ สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา คืออาจจะต้องมีการเสนอในแต่ละพื้นที่ปิดโรงงานแค่บางส่วนตามความเหมาะสม หรือจะนำมาตรการการควบคุมโรค แบบบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) มาใช้ในบางส่วนแทน ส่วนโซนอื่นๆ ที่ไม่พบผู้ติดเชื้ออาจจะมีการพิจารณาให้สามารถดำเนิการต่อไปได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้การดำเนินการหยุดลงทั้งหมด
ซึ่งการควบคุมในลักษณะนี้ต้องใช้วิธีเรียนรู้ร่วมกันไป โดยต้องดูตามความเหมาะสม และความเดือดร้อนของแต่ละพื้นที่จริงๆ
ทั้งนี้ จึงอยากให้มีการทบทวนตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในโรงงานจาก 10% ไม่ต้องปิดทั้งหมดให้ปิดแค่บางส่วน อาจจะพอช่วยพยุงสถานการณ์ไป เพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกยังเดินหน้าต่อไปได้จนกว่าวัคซีนจะมาและมีการฉีดที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
โดยที่ผ่านมาพบว่ามีเพียง 5 โรงงานจากทุกนิคมอุตสาหกรรม ที่การนิคมฯ ดูแลเท่านั้น ที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% ซึ่งกรณีดังกล่าวก็ได้มีการฆ่าเชื้อภายในโรงงาน และปิดตามระยะเวลาที่สาธารณสุขกำหนด ก่อนกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง
ซึ่งในส่วนของวัคซีนเชื่อว่าจะมาถึงภาคอุตสาหกรรมแน่ แต่เมื่อมาถึงแล้วกว่าจะฉีดได้ทุกภาคส่วนรวมถึงการนิคมเองก็ต้องมีส่วนช่วยภาครัฐด้วย คือการนิคมฯ ยินดีเป็นจุดฉีดและช่วยกระจายการฉีดอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของค่าใช้จ่ายเชื่อว่าทุกโรงงานยินดีช่วยกัน โดยเฉพาะโรงงานของตนเอง ส่วนรวมหรือชุมชนที่พนักงานอยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เริ่มสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในช่วงหลังของปี 2564 เล็กน้อยแล้ว เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 1-2 โควิดไม่ได้สร้างความเสียหายต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออกมากนัก
ในช่วงที่ผ่านมาสินค้าที่ส่งออกจากไทยจึงมีแนวโน้วเติบโตขึ้น แต่เครื่องมือสำคัญที่จะสามารถหยุดผลกระทบนี้ไม่ให้ลุกลามได้ คือรัฐต้องเร่งควบคุมสถานการณ์
โดยการจัดหาและฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น หรือภายในเดือนสิงหาคมนี้ หรือการสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ นำสมุนไพรไทยมาใช้มากขึ้นเพื่อเป็นการช่วยประคองสถานการณ์ไปอีกแนวหนึ่งด้วย หากรัฐสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเชื่อว่าภาพรวมต่างๆ ก็จะกลับมาดีขึ้นได้
นอกจากนี้ในส่วนของความพร้อมเรื่องการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนในโรงงาน ปัจจุบันมีความพร้อมแล้ว 5 จุด แต่ยังมีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเตรียมการอีก 6 จุด รวมเป็น 11 จุด ที่พร้อมจะเปิดใช้พื้นที่เพื่อให้บริการเมื่อวัคซีนมาถึง ทาง กนอ.ได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม ของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำแต่ละจังหวัด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของการบริหารจัดการแล้ว เมื่อมีวัคซีนเข้ามาก็พร้อมจะให้บริการทันที ส่วนเรื่องของการฉีดวัคซีนในนิคมฯ ตอนนี้ได้มีการฉีดไปแล้ว 2 นิคมหลัก คือ นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง และนิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี
ยืนยันว่าหากได้รับวัคซีนมาเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะกระจายฉีดตามจุดต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้แน่นอน

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

Advertisement

ภาพรวมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ยังไม่ค่อยดีนัก เพราะจำนวนวัคซีนที่ภาคอุตสาหกรรมได้ยังมีจำนวนน้อย ทำให้ยังเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของบางโรงงานที่ต้องสะดุดลง ซึ่งโรงงานที่ได้รับผลกระทบ อาทิ โรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น
จากปัญหาดังกล่าวทาง ส.อ.ท. ได้มีการสร้างความเข้าใจร่วมกับโรงงานทั้งในเรื่องของมาตรการป้องกันโควิดในโรงงาน อาทิ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เป็นต้น อีกทั้งทางภาคอุตสาหกรรมเองก็พยายามควบคุมไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เพราะกังวลว่าเมื่อเกิดขึ้นในบางโรงงานอาจแก้ไขไม่ทัน
ส่วนใหญ่ที่มีการปิดโรงงาน อาจระบุจำนวนที่ชัดเจนไม่ได้เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ปิดเพื่อคุมพื้นที่และทำความสะอาดเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับมาเปิดได้ และบางโรงงานที่ไม่ได้มีการแพร่ระบาดหนักก็ใช้วิธีปิดบางพื้นที่ของโรงงานเท่านั้น ไม่ได้ปิดทั้งหมด
จากปัญหาดังกล่าวเบื้องต้น ส.อ.ท.จึงได้เริ่มมีการนำ แอนติเจน เทสต์ แจกจ่ายให้กับสมาชิกพร้อมสอนขั้นตอนการใช้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานแล้ว
นอกจากนี้ ทาง ส.อ.ท. และสมาชิกได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคจัดทำมาตรการบับเบิล แอนด์ซีล ออกมาตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว เพื่อที่จะเผยแพร่ให้กับโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสขยายตัวเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ได้รับทราบแล้ว ทั้งในเรื่องของวิธีการทำงานในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอยู่ และวิธีการป้องกัน การยับยั้งการแพร่ระบาด โดยในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ส.อ.ท.จะมีการชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้อีกครั้ง
ส่วนในเรื่องของผลกระทบด้านการผลิตนั้น ก็มีผลเป็นระยะ แต่ยังไม่ถือว่าสร้างผลกระทบมาก ส่วนภาคการส่งออก ในปัจจุบันถือว่ายังไม่มีผลกระทบมากเช่นกัน เพราะแต่ละโรงงานจะมีวิธีป้องกัน และพนักงานด้านการผลิตส่วนใหญ่อายุไม่เยอะ สุขภาพแข็งแรง หากพบมีการติดเชื้อก็ไม่มีอาการรุนแรง อีกทั้งยังสามารถกลับมาทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนมากยังเป็นสีเขียวเป็นหลัก
ย้ำว่าในเรื่องของการควบคุมการแพร่ะระบาด ทาง ส.อ.ท. พยายามใช้มาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่จะสามารถควบคุมโควิดได้ คือ วัคซีน และหากไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรก็อาจส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ทำออกมาเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ ในวันที่ 29 กรกฎาคม ส.อ.ท.จะมีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงเรื่องมาตรการสาธารณสุขในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงจะมีการทวงถามเรื่องการจัดหาวัคซีนให้กับภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image