ทางออกแก้โควิด ตรวจเชิงรุก-ฉีดวัคซีน สู้ระบาด?

ทางออกแก้โควิด ตรวจเชิงรุก-ฉีดวัคซีน สู้ระบาด? หมายเหตุ - ความเห็น

หมายเหตุความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการ ภาคธุรกิจ กรณี ศบค.ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดมาตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ได้เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอีก 16 จังหวัด ในขณะที่ล่าสุดยอดผู้ป่วยโควิด-19 และผู้เสียชีวิตยังสูงต่อเนื่อง

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

จํานวนผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นจุดสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ไม่อยากให้กังวลใจว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ว่าควรกังวลว่าจะมีการตรวจเชื้อที่น้อยลงหรือไม่ การตรวจเชิงรุกจะต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงแน่นอน เพราะเป็นกลุ่มที่แอบแฝง พอรู้ตัวอีกทีก็มีการนำเชื้อไปแพร่กระจายให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลอยู่ในระดับพอใช้ แต่กังวลเรื่องแผนจัดการวัคซีนมากกว่า

Advertisement

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกังวลใจว่าการฉีดวัคซีนยังไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็ว จะเป็นการลดการติดเชื้อ ลดผู้ป่วยนอนเตียง ลดการใช้ออกซิเจน ลดการใช้ห้องไอซียู ในขณะเดียวกันมาตรการล็อกดาวน์มีความเข้มข้นขึ้นจนเกิดภาวะหยุดชะงักในทางเศรษฐกิจ ถ้าทางรัฐบาลมาโฟกัสกับการตรวจเชิงรุก มองว่าตรวจแล้วแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงจะสบายใจมากกว่าการตรวจน้อยลงแล้วมีผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งจะได้ทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริง ทำให้การแก้ปัญหามีความชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อบานปลายมากยิ่งขึ้น เพราะมีการไปคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ดูน้อยลง จะได้มีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจประคองไปด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบปิดกิจการชั่วคราว ยอดขายลดลง ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยในเรื่องของการให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ส่วนตัวผู้ประกอบการก็อยากให้มีการคลายล็อกดาวน์ แต่ต้องประเมินว่าเมื่อคลายล็อกดาวน์แล้วจะไม่ส่งผลกระทบให้จำนวนผู้ติดเชื้อมียอดเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น เช่น การนั่งรับประทานอาหารในร้านเป็นปัจจัยให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทางร้านอาหารต้องมีการเว้นระยะห่าง มีฉากกั้น มีการคัดกรอง ตอนนี้มีการแพร่กระจายเชื้ออย่างมากในตลาดสดค่อนข้างมาก ในใจก็อยากให้มีการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ แต่สถานการณ์ยังไม่ได้ดีขึ้น การไปผ่อนคลายล็อกดาวน์ก็จะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อไปอีก

ตอนนี้ก็เป็นกำลังใจให้ภาครัฐในการแก้ไขปัญหาวิกฤต ทั้งเรื่องสุขภาพ วัคซีน เศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือให้ลดแรงกระเพื่อม ลดผลกระทบ จึงอยากให้ภาครัฐสนใจเรื่องการบรรเทาเยียวยากับผู้ประกอบการธุรกิจ ในเรื่องของการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แบบไม่คิดดอกเบี้ย ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ได้มีเวลาในการคลี่คลายวิกฤต ได้มีเวลาตั้งหลักทบทวนปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ อย่างน้อยกลุ่มเหล่านี้เข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ยังทำภาระหนี้สินได้บรรเทาลงไป รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มปกติ วันนี้ไม่ต้องการให้กลุ่มปกติล้มครืนลงจนเกิดขั้นวิกฤต เพราะสถานการณ์ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และกลุ่มเฝ้าระวัง (SM) เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นมากเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การประคับประคองธุรกิจให้เป็นเหมือนเดิมแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นรายย่อยและรายย่อมที่ได้รับผลกระทบมากกว่ารายกลางและรายใหญ่

Advertisement

มาตรการเยียวยาของประกันสังคมเป็นการช่วยประคับประคองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จากที่สมาพันธ์เคยกล่าวไว้ว่า อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่ยาว วันนี้สำหรับการช่วยเหลือที่แท้จริงคือการลดต้นทุนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ สิ่งที่จะกระทบในอนาคตของชาติคือเรื่องของเอ็นพีแอลที่เกิดมาจากวิฤตการแพร่ระบาด ไม่ได้เกิดมาจากวินัยทางการเงินของผู้ประกอบการ ภาคสถาบันการเงินอยู่ในระดับมั่นคงแข็งแกร่ง มีผลประกอบการที่ดี ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความมั่นใจว่าภาคสถาบันการเงินจะช่วยยืนหยัดฟื้นฟูได้

ซึ่งในตอนนี้ต้องให้ทางสถาบันการเงินช่วยดูแลให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไปไม่ไหว ให้มีการพักชำระเงินกู้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นมาตรการลดต้นทุนให้กับธุรกิจ

ชัยธวัช เสาวพนธ์
อดีตคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ในฐานะนักวิชาการอิสระ

เผยมาตรการล็อกดาวน์จังหวัดที่มีโควิดระบาดรุนแรงและคุมเข้มพื้นที่สีแดง แต่ยอดผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ว่ารัฐบาลต้องใช้ยาแรงหรือยอมเจ็บ โดยล็อกดาวน์จังหวัดหรือพื้นที่ระบาดรุนแรงให้เร็วที่สุด อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ เพื่อลดการแพร่เชื้อ อย่ากลัวหรือลังเลที่ใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยระยะยาว พร้อมจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ไม่ปล่อยให้สถานการณ์แพร่เชื้อบานปลายจนควบคุมได้ยาก

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจวัคซีนซิโนแวค สังเกตชาวเชียงใหม่และลำปางไม่ยอมไปฉีดวัคซีนดังกล่าว บางรายยอมจ่ายเงินซื้อวัคซีนทางเลือกฉีดเอง ขณะที่กรุงเทพฯ ได้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแล้ว แต่กระจายวัคซีนซิโนแวคไปให้คนต่างจังหวัดฉีดแทน สะท้อนถึงความเป็นธรรมและเลือกปฏิบัติการฉีดวัคซีนดังกล่าว ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกฉีดให้ประชาชนมากขึ้นโดยไม่หาผลประโยชน์จากวัคซีนดังกล่าว และให้นำเข้าวัคซีนเสรีเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก พร้อมแข่งขันด้านคุณภาพ ราคา เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ผูกขาดวัคซีนรายใดรายหนึ่งเท่านั้น

ส่วนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ควรนำงบกลางที่ฝ่ายค้านผ่านความเห็นชอบจากสภาเพื่อให้รัฐบาลต่อยอดหรือขยายโครงการคนละครึ่งอีก 6-12 เดือน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและฟื้นเศรษฐกิจชุมชน พร้อมสร้างงานในชนบทตามแนวทาง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยผันเงินไปสู่สภาตำบลเพื่อจ้างงานชาวบ้าน แต่เปลี่ยนเป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำโครงการจ้างงานแทน อาทิ การสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค พัฒนาแหล่งน้ำ การส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนโดยตรงด้วย

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการประกาศล็อกดาวน์รายจังหวัดเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลง แต่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังไม่ลดลง ดังนั้น ยังต้องติดตามว่าการที่ตัวเลขยังไม่น้อยลงอาจเกิดได้จากหลายประเด็น คือเกิดจากการที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ตรวจเชิงรุกการฉีดวัคซีนที่ไม่ครอบคลุมส่งผลให้ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่เกิดขึ้น และประชาชนยังไม่ปรับพฤติกรรมในการเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาในช่วงที่การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย จึงทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อเทียบสถิติการติดเชื้อโควิด-19 ของทั้งโลก พบว่าทุกประเทศทั่วโลกมีวิธีปฏิบัติเหมือนกัน สิ่งที่ต้องมาวิเคราะห์และเทียบเคียงในตอนนี้คือการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า อย่างในประเทศมาเลเซียเมื่อเจอสายพันธุ์ดังกล่าวก็ใช้มาตรการล็อกดาวน์เช่นกันแต่ไม่ได้ผลเต็มที่ ตัดมาที่กรณีอู่ฮั่น ประเทศจีน ใช้วิธีล็อกดาวน์เช่นกันถึงแม้จะพบผู้ติดเชื้อน้อย เพราะฉะนั้นการใช้มาตราการล็อกดาวน์ของอู่ฮั่นอาจจะสำเร็จเนื่องจากใช้มาตรการล็อกดาวน์เร็วและยังพบผู้ติดเชื้อน้อย อาจช่วยหยุดการแพร่กระจายได้เร็ว แต่ถ้าพบการแพร่ระบาดเยอะการใช้วิธีดังกล่าวอาจไม่สำเร็จอย่างในกรณีของมาเลเซีย ส่วนไทยเมื่อลองใช้มาตรการล็อกดาวน์ถึงแม้ปริมาณผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น แต่ยังมีสัญญาณที่ดี คือจำนวนผู้ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และจำนวนคนที่เตรียมเข้ารักษา ตอนนี้จำนวนผู้ที่หายป่วยมีจำนวนที่ดีกว่า เพราะไทยเริ่มมีการปรับกลไกในการรักษาของผู้ป่วยสีเขียวให้รักษาในโรงพยาบาลให้น้อยลง ถึงอย่างนั้นไทยก็ควรไปดูวิธีการของประเทศที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำปรับใช้ในประเทศได้อีก

อย่างไรก็ตาม หากในเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการล็อกดาวน์ก็ยังดำเนินการอยู่ เมื่อสิ้นสุดเดือนสิงหาคมแล้วยังไม่สามารถคุมโควิด-19 ได้ รัฐบาลอาจต้องทบทวนและหามาตรการที่เข้มข้น ไม่เช่นนั้นระบบสาธารณสุขจะล่ม ท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบในเรื่องของเตียงที่จะรองรับไม่พอ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่านี้

ดังนั้น ภายในเดือนสิงหาคมนี้รัฐบาลต้องเร่งกระจายฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรักษาระยะห่างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตรวจเชิงรุก หลังจากนั้นมาดูสถิติในเดือนสิงหาคม ถ้ายังไม่ลดลงก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น แต่ต้องไปเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ว่าประเทศเหล่านั้นสำเร็จด้วยวิธีใด

ส่วนเป้าหมายที่รัฐบาลต้องรีบปฏิบัติให้ได้โดยเร็ว คือดูแลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งถ้าการติดเชื้อรายวันสามารถลดลงได้อย่างต่อเนื่อง หรือในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ทุกฝ่ายจะเริ่มสบายใจมากขึ้น แต่ในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่องและเคยสูงสุดถึง 2.1 หมื่นคน ดังนั้น จะต้องหยุดให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีที่จะทำได้นั้นคือ 1.จะต้องตรวจเชิงรุกและตรวจคัดแยก ระหว่างคนที่ติดและไม่ติดออกจากกัน โดยเฉพาะในชุมชนแออัด หรือการคัดแยกในโรงงาน 2.เร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มโรงงาน และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุมกันหมู่ และลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำลงกว่า 1 หมื่นคน และลดลงเหลือจำนวน 1 พันคนให้ได้เร็วที่สุด

เมื่อสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ มาตรการล็อกดาวน์ก็ต้องผ่อนคลายลงเช่นกัน โดยเปิดโอกาสให้บางธุรกิจกลับมาเริ่มทำงานภายใต้กรอบที่เหมาะสมอาทิ ให้นั่งทานในร้านได้ แต่จำกัดจำนวน หรือหยิบมาตรการผ่อนคลายที่เคยใช้เมื่อปี 2563 มาใช้ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ หลังจากนั้นรัฐบาลก็ค่อยเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

มาตรการป้องกันโควิด ต้องใช้หลายมาตรการ การล็อกดาวน์ควรเป็นมาตรการเสริม ส่วนมาตรการหลัก คือ การฉีดวัคซีน ที่ยังขาดอยู่ เปรียบเทียบกับกรณีอังกฤษ ที่พยายามฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีล็อกดาวน์ด้วย แต่ไม่ได้ล็อกดาวน์ทุกเมืองพร้อมกัน กลายเป็นว่าคนจำเป็นต้องไปซื้อของอุปโภค บริโภคอีกเมืองหนึ่งดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงมีผลไม่เต็มที่ แต่ที่อังกฤษคุมอัตราการระบาดได้ ก็เพราะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

ของไทย ประการแรก อย่างที่ทราบว่ามีการกั๊ก บริหารและกระจายวัคซีนไม่ดี นี่ต่างหากที่เป็นสาเหตุหลัก ล็อกดาวน์ไม่ได้มีความหมายเท่าไหร่ แต่กลับเน้นที่ล็อกดาวน์เป็นหลัก ไม่ได้ทำแบบรอบด้าน (comprehensive) อย่างบุคลากรทางการแพทย์ ถูกบังคับให้ฉีดซิโนแวคในตอนต้น ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าประสิทธิผลน้อย จึงมีแพทย์ พยาบาลจำนวนมากไม่ยอมฉีด และจะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าก็ไม่ได้สักที จนในที่สุดได้แต่ตอนได้ เชื่อหรือไม่ว่าหมอต้องไปลงชื่อรับการฉีดแอสตร้าฯที่เหลือในวันนั้นๆ จะให้บุคลากรด่านหน้าอย่างนั้นหรือ

ประการที่ 2 ประเภทของคนที่ได้รับการฉีด เรียงลำดับความสำคัญอย่างไร ปรากฏว่า เรียงตามองค์กร เช่นว่า ท่านเป็นข้าราชการมหาวิทยาลัย ก็ได้ฉีด แต่คนที่ไม่มีเสียง อย่างคนคุก ตอนหลังก็เพิ่งได้รับการฉีด หรือแม่ค้า คนขายของตามตลาด ที่ไม่ได้เป็นองค์กร และไม่มีเสียงไปถึงรัฐบาล แม้แต่ตัวอย่างง่ายๆ ลูกของผมเป็นเด็กพิการ ไม่เคยอยู่ในกลุ่มไหนเลยหรือประเทศไทยไม่มีคนพิการ ไม่เห็นมีคนพูดถึง เมื่อก่อนนี้ กลุ่มนักโทษ ชุมชนแออัด หรือคนงานก่อสร้าง ก็ไม่มี เพิ่งมามีตอนหลัง

ต้องให้ล็อกดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโดยรวมทั้งหมด ไม่ใช่เน้นแต่ล็อกดาวน์ พอล็อกดาวน์ไม่สำเร็จ ก็ไปโทษคนว่าการ์ดตก ดังนั้น ต้องมีหลายมาตรการ

ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีการจัดลำดับสำคัญ ใครจะได้รับวัคซีนก่อน-หลังเว้นมีการพูดว่า ให้บุคลากรด่านหน้าได้รับก่อน แต่ก็จะมีคนค้านว่า บุคลากรด่านหน้าเห็นแก่ตัว เพราะฉีดไปแล้ว แต่คนอื่นยังไม่ได้ฉีด แสดงว่าไม่ได้มีความคิดเลยหรือว่า อะไรสมควร ไม่สมควร จะเอาแบบฉีดเท่ากันหมด 60-70 ล้านคน นั่นใช่วิธีแก้ปัญหาหรือ เราใช้ความเสมอภาคเป็นเกณฑ์หรือว่าเราต้องใช้แนวคิดอรรถประโยชน์ ถามว่า รัฐมีหลักการอะไรในการคิด ทำไมไม่พูดเรื่องความเสมอภาคที่อื่น

อีกประการ เวลาที่ ศบค.พูด พูดเอาสถิติอะไรมา เช่นว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับนั้น ฟังดูแล้วดี ที่อื่นเลวร้ายกว่าเรา นี่คือโลจิกพื้นๆ ที่คนชอบพูดกัน สมมุติว่าเราโชคไม่ดี ถูกล้วงกระเป๋า โอ้ ไม่ได้มีคนแย่กว่าเราเนอะ มีคนหนึ่งถูกตีหัวด้วย ถูกล้วงกระเป๋าด้วย เราก็ยังดีกว่า

แต่ที่ไทยเลวร้ายมากก็มี แต่ไม่เอามาพูด เช่น ความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นจากโควิด ที่ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับท้ายๆ แล้วก็ไปยกตัวอย่างบราซิล ที่นั่น ที่นี่ ที่คนเยอะกว่าไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบระหว่างจำนวนคนติดต่อประชากร ประเทศไทยสูงมาก ทำไมไม่เอามาพูด สถิติลวงคน ให้เหมือนกล่อมประสาท แล้วที่พูดผิดไป วัคซีนไม่จำเป็นต้องรอ สวมแมสก์ก็ดีแล้ว ไม่ต้องเจ็บตัว เคยขอโทษหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image