วิพากษ์ พ.ร.ก.นิรโทษ สุดซอยยันจัดหา-บริหารวัคซีน

วิพากษ์ พ.ร.ก.นิรโทษ สุดซอยยันจัดหา-บริหารวัคซีน หมายเหตุ - ความเห็นแพทย์

หมายเหตุความเห็นแพทย์และนักวิชาการกรณีร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. … โดยเฉพาะข้อ 7 บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบท

หากสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่ หรือสอบถามจากชมรมแพทย์ชนบท กรณีการเสนอออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดของบุคลากรสาธารณสุข ส่วนใหญ่ไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน เพราะเดิมการทำงานของบุคลากรด่านหน้าหากคนไข้จะฟ้องร้องก็มีกฎหมายอื่นอีกมากมาย การทำงานที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหา คนไข้ก็เข้าใจดี ดังนั้นการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ส่วนตัวไม่เชื่อว่ามีประโยชน์

Advertisement

ส่วนข้อเสนอ หรือจุดเริ่มต้นในการออกกฎหมายจะมาจากผู้บริหารระดับกระทรวงที่เป็นแพทย์ หรือมาจากฝ่ายการเมืองยังไม่มีใครทราบ

แต่มีข้อสังเกตที่ชัดเจนว่า อาจเป็นความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่?

เพื่อจะปลดล็อกความผิดของตัวเองจากความผิดพลาดในการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนที่มีไม่เพียงพอทำให้มีผู้เสียชีวิตมีการระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง

Advertisement

หาก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ จะออกมาปกป้องวิชาชีพด้านสุขภาพจริง ก็ยืนยันอีกครั้งว่าไม่จำเป็น โดยระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูแลบุคลากรได้ตามปกติ รวมทั้งคุ้มครองในฝ่ายผู้เสียหายด้วย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนอื่นมากมายไม่ใช่เฉพาะวัคซีนโควิด

ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทำพลาดจริงก็ต้องรับผิด เพราะการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพต้องยืนอยู่บนหลักวิชาการและจริยธรรมทางการแพทย์ เมื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วหากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็ควรจะถูกลงโทษ

ดังนั้น การออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ จึงไม่ได้เป็นความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับก่อนหน้านี้การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล เชื่อว่าอาจจะมีการประเมินผิดพลาด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีต่ำในช่วงแรก ทำให้ประเมินว่าความจำเป็นในการได้รับวัคซีนมีน้อย ขณะที่ปัจจุบันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าผลิตในประเทศเดือนละ 15 ล้านโดส แต่ส่งมอบให้รัฐบาลไทยเพียง 5 ล้านโดส

ขณะที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะได้ 10 ล้านโดส แต่ของจริงก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย ทำให้วัคซีนไม่พอฉีด แต่เชื่อว่าไม่มีรัฐบาลประเทศไหนต้องการมีปัญหาจากวัคซีนไม่เพียงพอ เพราะจะทำให้ถูกวิจารณ์เสียหาย

แต่ความสามารถในการบริหารจัดการ การประเมินสถานการณ์ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอาจจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะปัญหาโรคระบาดครั้งนี้เดินไปข้างหน้าเร็วมาก

การทำงานที่เชื่องช้าและอุปสรรคของระบบราชการจึงทำให้มีปัญหามากมาย

ขณะนี้ทีมจากแพทย์ชนบทยังอยู่ระหว่างการช่วยเหลือประชาชนที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากนี้จะต้องศึกษา พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯให้ละเอียด

หากฝ่ายการเมืองจะออกกฎหมายเพื่อพวกเดียวกันเองก็ขอให้บอกกันตรงๆ ไม่ควรอ้างบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญเรื่องนี้แพทยสภาไม่ควรปล่อยผ่าน ส่วนแพทย์ที่ปฏิบัติงานวิชาชีพสุขภาพกับแพทย์ฝ่ายบริหารจะเห็นตรงกันหรือไม่ ก็ต้องรอดูกระแสอีกระยะ

ขณะที่แพทย์ภาคสนามก็ทำหน้าที่ปกติ ไม่เห็นว่า พ.ร.ก.จำกัดความผิดฯจะมีประโยชน์อะไรเพิ่มเติม เพราะเดิมทุกภาคส่วนทั้งแพทย์และผู้ป่วยมีความสมดุลได้รับการปกป้องจากกฎหมาย

แต่เรื่องนี้น่าจะไม่บานปลายหลังจากโยนหินถามทางแล้ว ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาดูทิศทางลมให้ดี อย่าล้อเล่น อย่าเสี่ยงกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน

หรือรัฐบาลอาจจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนเพื่อหาทางลงให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้จุดติดไปมากกว่านี้!?!

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชัดเจนแล้วว่าผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนโควิดจะได้รับการคุ้มครองตามร่าง พ.ร.ก.จำกัดความผิดฯ หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็ถือว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงของการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะมีสาเหตุมาจากพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องไปที่ ป.ป.ช.แล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา

โดยแจ้งข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรี กรณีการจัดหาวัคซีนมีความผิดพลาด ทำให้มีปัญหาโรคระบาดรุนแรงมีผลกระทบทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย

การออก พ.ร.ก.จำกัดความผิดฯ ก็เป็นการตัดเกมที่ฝ่ายค้านยื่นร้อง ป.ป.ช.เท่านั้นเอง หากกฎหมายผ่านความเห็นชอบก็มีผลทันที หากกฎหมายไปที่รัฐสภาใครก็ทราบว่าเสียงส่วนใหญ่ทั้ง ส.ส.-ส.ว.ก็ต้องยกมือให้ผ่าน

น่าเห็นใจผู้มีอำนาจจำเป็นต้องใช้วิธีการนี้ เพราะถือเป็นวิธีที่ดีสุด

ส่วนปัญหาที่อาจจะมีกระแสสังคมไม่เห็นด้วยก็ต้องไปชั่งน้ำหนัก ว่าจะไปเติมเชื้อให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาหรือไม่

แต่ขณะนี้กระแสจุดติดแล้ว แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจกลัวจะลามทุ่งมากไปกว่านี้จากความเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา อาจมีปัญหาเหมือน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยก็คงต้องรอการประเมิน

ส่วนบางฝ่ายที่มองว่าเมื่อพรรคฝ่ายค้านไปร้อง ป.ป.ช. นายกรัฐมนตรีและองคาพยพก็ไม่น่าวิตกอะไรมากมาย เพราะหลายเรื่องที่มีพยานหลักฐาน หลังถูกร้องก็ยังหลุดไปได้โดยไม่สนใจกระแสสังคม

ส่วนตัวประเมินว่ารัฐบาลน่าจะเกรงกลัวแรงกดดันที่มีเพิ่มมากขึ้นจากการบริหารวัคซีนที่มีความผิดพลาด มีผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตต่อเนื่องกลัวเรื่องนี้จะลุกลามบานปลาย เมื่อการเคลื่อนไหวของมวลชนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นองค์กรอิสระที่เคยออกมาอุ้ม เมื่อถึงวิกฤตก็คงเหมือนหมาตายเห็บกระโดด ทุกคนต้องเอาตัวรอดเมื่อถึงเวลาที่พลิ้วไม่ออกก็ต้องตัวใครตัวมัน นอกจากนั้น จะเห็นชัดเจนว่าระยะที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมตัดสินคำร้องหลายเรื่องที่ไม่เป็นคุณกับฝ่ายรัฐบาล

ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็ออกมาให้ความเห็นแล้วว่าไม่ต้องการ เพราะมีกฎหมายอื่นคุ้มครองแล้ว ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องแกล้งทำเหมือนหวังดี หรือจัดให้มีขวัญ ให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ในการทำหน้าที่

แต่แอบสอดแทรกบางเรื่องไว้ จากนั้นปล่อยเอกสารหลุดออกมาโยนหินถามทาง แต่ตั้งใจจะเดินหน้าออกกฎหมายให้ได้

ส่วนการชักฟืนออกจากไฟเชื่อว่ายังไม่มีใครคิด แต่ผู้มีอำนาจหวังจะลุยต่อเพื่อไปตายเอาดาบหน้า เนื่องจากแกนนำในการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลถูกเก็บเข้าคุกแทบจะหมดแล้ว เมื่อม็อบไม่มีหัวขบวนก็คิดว่าน่าจะไม่มีอะไรรุนแรง

แต่อย่าลืมว่านายณัฐวุฒิ (ใสยดกื้อ) บก.ลายจุด ยังอยู่ ถ้าเรียกคนเสื้อแดงมาอีกจะทำอย่างไร

ทางออกที่ดีที่สุดของนายกรัฐมนตรี ก็อาจต้องขอพักการใช้รัฐธรรมนูญคล้ายกับการทำรัฐประหารตัวเองสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อปี 2494

จากนั้น หากรักประชาชน รักชาติอย่างจริงใจ ไม่ให้บ้านเมืองเสียหายไปกว่านี้ก็ควรประกาศลาออก และอาจจะจัดให้เลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่ยึดติดกับรัฐธรรมนูญฉบับไหนทำแค่นี้ก็จะเป็นบุญคุณต่อบ้านเมืองเป็นอย่างสูง

ส่องพิมพ์เขียว กม.คุ้มครอง-พ้นผิดโควิด

ความเป็นมา ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 282 ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมมีมติ มอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพพิจารณาการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสั่งการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สาระสำคัญ พระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ … บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายฉุกเฉิน

บุคลากรสาธารณสุข
1.ผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ 2.ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข 3.ผู้ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ 4.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 5.อาสาสมัครเฉพาะกิจ 6.บุคคลที่ได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อให้ปฏิบัติงานตามพระราชกำหนด และ 7.บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน

สถานพยาบาล
1.สถานพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย
2.สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และให้หมายความ
3.สถานที่ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ความรับผิดตามกฎหมาย
1.ความรับผิดทางแพ่ง
2.ความรับผิดทางอาญา
3.ความรับผิดทางวินัย
4.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

บทเฉพาะกาล
บรรดาคดีที่มีมูลความผิดที่เกี่ยวเนื่องจากการให้การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันที่ประกาศกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ให้ได้รับการยกเว้น

ความรับผิดทางแพ่งและอาญา ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือทางวินัยตามพระราชกำหนดนี้

ข้อยกเว้นการได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย 1.การกระทำนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต 2.การกระทำนั้นเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 3.การกระทำนั้นเกิด หรือมูลเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย บุคลากรสาธารณสุขและสถานพยาบาล 1.บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานภายใต้สถานพยาบาล 2.การตัดสินใจในการให้การดูแลรักษาพยาบาลนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ 3.สถานพยาบาลนั้นได้ปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือปฏิบัติงานเพื่อให้การรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (ม.31 พ.ร.บ.สถานพยาบาล)

1.การได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย รวมถึงกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากผลสืบเนื่องหรือภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานภายหลังจากสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง 2.ไม่ตัดสิทธิของบุคลากรสาธารณสุข สถานพยาบาล และอาสาสมัครเฉพาะ ในการได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาตามมาตรการของรัฐ หรือตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ เงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองกรณีการจัดหาและบริหารวัคซีนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้กระทำด้วยความจงใจให้เกิดความเสียหายเว้นแต่กรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่ได้กระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image