ความเห็น-ข้อโต้แย้ง หยุดเรียน 1 ปี หนีโควิด

ความเห็น-ข้อโต้แย้ง หยุดเรียน 1 ปี หนีโควิด

หมายเหตุความเห็นต่อกรณีนักวิชาการเสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั้งระบบการศึกษาเป็นเวลา 1 ปี ถ้าเรียนออนไลน์ต่อไปจะไร้ประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ ยังชี้ข้อมูลด้วยว่า ทั่วโลกเจอผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ถ้าเด็กต้องเรียนออนไลน์ จะเกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20-50%

 

Advertisement

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

กรณีมีนักวิชาการเสนอให้หยุดเรียน 1 ปี เนื่องจากมองว่า การเรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพนั้น เรื่องนี้มีความคิดเห็นว่าเหมือนเป็นการโยนหินถามทาง เพราะมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า การเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ไม่ประสบความสำเร็จตามตัวชี้วัดมาตรฐานหลักสูตร ทำให้เกิดปัญหาความเครียดของผู้เรียน และสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองที่ต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ จ่ายค่าเวลาอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ

ที่สำคัญคือ เรื่องของวินัยการเรียน เพราะการจะให้มานั่งเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน โดยไม่มีทำกิจกรรมอื่นๆ เลย ย่อมทำให้เด็กนักเรียนนักศึกษา ขาดความตั้งใจเรียน ปัญหาสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเรียนการสอนส่วนใหญ่ในประเทศ

Advertisement

แต่ถ้าหยุดเรียน 1 ปี ต้องมองต่อไปว่าจะทำอย่างไรต่อ จะให้นักเรียนนักศึกษาทำอะไร จะจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาหรือไม่ และเชื่อได้อย่างไรว่า 1 ปี ผ่านไปแล้ว เชื้อไวรัสโควิดจะหยุดแพร่ระบาด หรือจะไม่มีโรคอื่นขึ้นมาระบาดอีก

โรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 ระบาด เป็นปัญหาเขย่าโลก ทุกคนทั่วโลกต้องปรับตัวให้อยู่ให้ได้ จะหยุดการเรียนการสอนไม่ได้ด้วยเช่นกัน แต่ทางออกคือ ต้องปรับการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพเท่าที่จะทำได้ อย่าไปคาดหวังว่า การเรียนการสอนออนไลน์จะได้ผล 100% เท่ากับการเรียนการสอนในชั้นเรียน

ที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาต่างๆ ปรับตัวไม่ทันในเรื่องการออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ต้องปรับหลักสูตรการสอนให้เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ อย่าไปยึดตัวชี้วัดแบบเดิม ทำระบบการสอนออนไลน์ให้พร้อม หรือให้เหมาะสมกว่านี้ ที่ปรับตัวอยู่แล้วแต่ผลสัมฤทธิ์ออกมาไม่ดีก็ต้องพยายามปรับตัวต่อ ส่วนกรณีหลายคนมองว่า เด็กเล็กๆ ระดับอนุบาล ควรจะหยุดเรียน 1 ปีก็ได้ แต่เมื่อหยุดไปแล้ว ผู้ปกครองก็ต้องดูแล และปลูกฝังวินัยความรับผิดชอบให้กับลูกหลานด้วย

ส่วนเด็กโตจะหยุดเรียนคงไม่เหมาะสม แต่ควรไปปรับที่ตัวชี้วัด ลดเกณฑ์ประเมินลง และอย่าไปคาดหวังว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะเท่าเดิม หรือสูงขึ้น เพราะสภาพความพร้อมการเรียนแตกต่างกัน นอกจากนี้ ต้องปรับเวลาเรียนให้เหมาะสม อย่าให้เด็กต้องนั่งเรียนแบบเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับหลักสูตรขนานด่วน ลงมือทำเดี๋ยวนี้ อย่าไปสั่งการให้เหมือนกันทั่วทั้งประเทศ ต้องให้สถานศึกษาแต่ละแห่งพิจารณาปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับบริบทของตนเอง และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำตัวชี้วัดกลางให้เหมาะสม อย่ายึดมาตรฐานเดิม จนทำให้โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษากลายเป็นตัวสร้างปัญหา เพราะไปปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนักศึกษาเสียเอง

ธนพงศ์ ธนเดชากุล
รองนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี
รับผิดชอบงานการศึกษา

เทศบาลนครนนทบุรี จัดให้มีการเรียนการสอนทางออนไลน์ขึ้นอยู่กับระดับชั้นของเด็กนักเรียน โดยมีโรงเรียนเทศบาลอยู่ 6 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 12 แห่ง เปิดสอนตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอนุบาล 1-2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การสอนออนไลน์เต็มรูปแบบจะสอนเด็กตั้งแต่ ป.5 ขึ้นไปจนถึง ม.6 ส่วนเด็กเล็กกว่าตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้น ป.4 ครูจะมีเอกสารใบงานพร้อมทั้งอัดคลิปวิดีโอสอนอธิบายอย่างละเอียดให้ผู้ปกครองมารับ และบอกวิธีแนะนำเพื่อจะไปบอกกับลูกๆ ต่อไป เมื่อเสร็จก็ให้ผู้ปกครองนำใบงานมาส่ง ก็เข้าใจเป็นเด็กจะให้มานั่งดูหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เพื่อเรียนหนังสือ แต่เด็กๆ ก็อยากจะเล่นมากกว่า

จริงๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแทบจะไม่ได้สอนอะไร เน้นการเตรียมความพร้อมไปทำกิจกรรมเล่นฝึกกล้ามเนื้อมือ เพื่อจะขึ้นชั้นอนุบาล 1 ก็จะเริ่มสอนเรียนท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ โดยเฉพาะเด็กเล็กสอนทางออนไลน์ไม่ได้เลย แต่ส่วนห้อง ep หรือ English Program ก็จะมีการสอนออนไลน์ตั้งแต่ ป.1 เพราะตอนสอบเข้าก็ใช้ระบบสอบออนไลน์

การเรียนออนไลน์ก็มีปัญหาอุปสรรค เพราะบางคนไม่ได้เรียน เนื่องจากผู้ปกครองออกไปทำงาน มีมือถือเครื่องเดียวต้องรอให้กลับถึงบ้านก่อน แล้วมาดูคลิปการสอนของครูที่บันทึกทิ้งไว้ หลายครอบครัวมีอุปกรณ์ไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ แต่ครูก็มีความพยายาม หลายคนก็มาสอนออนไลน์ซ้ำตอนกลางคืนให้เด็กเหล่านี้ แล้วแต่หลักสูตร และครูที่สอนแต่ละวิชา แต่จะไปสู้การสอนในห้องเรียนไม่ได้

ส่วนที่มีข้อเสนอให้หยุดเรียน 1 ปีนั้น ผมว่าเด็กได้เรียนบ้างยังดีกว่าไม่ได้เรียนเลย แต่ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพสู้การเรียนในห้องเรียนตามปกติไม่ได้ อย่างที่สหรัฐอเมริกาใช้ระบบสมัครใจใครอยากจะมาเรียนก็มา ใครอยากจะเรียนออนไลน์ก็ได้แบบผสมผสาน ส่วนการสอบจะเป็นการสอบแบบออนไลน์ใน google form

มานิตย์ บุตรพรม
ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลมหาสารคาม

เด็กเล็กชั้นอนุบาล หรือเด็กปฐมวัย หากจะต้องหยุดเรียน 1 ปี มองว่าเป็นผลเสียแน่นอน เพราะเด็กเล็กเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่แข็งแรง ร่างกายยังต้องมีการเจริญเติบโตควบคู่ไปพร้อมกับอารมณ์ สังคม เมื่อเด็กไม่ได้มาโรงเรียนก็เสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่หลักสูตรกำหนด จะได้ประสบการณ์ก็เพียงแต่อยู่ที่บ้าน ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจอสังคม ไม่ได้มีการเรียนรู้สังคมรอบนอก ถ้าจะให้มองคือ มีผลเสียต่อเด็ก 100% ไม่ได้รับพัฒนาการตามวัย อย่างเด็กเล็กต้องได้รับพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา การที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียนมองว่าเป็นเรื่องเสียหาย แต่ผลดีก็คือ ช่วยเรื่องการระงับยับยั้งป้องกันโรคระบาด

การเรียนออนไลน์เด็กบางคนมีความพร้อม มีสื่อ มีอุปกรณ์พร้อมในการเรียน มีผู้ปกครองดูแล ส่วนนี้ปัญหาจะน้อย แต่บางส่วนไม่มีโทรศัพท์ ทำให้ไม่ค่อยได้เรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ครูได้ลงพื้นที่ไปสำรวจ และรับทราบปัญหา บางส่วนอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนลดลง

ในส่วนของทางโรงเรียนมีความพร้อม ครูมีความพร้อมเรื่องการสอน มีการผลิตสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่จะดึงความสนใจของเด็กๆ แต่ในส่วนของเด็กเล็ก ยังไงก็ต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย เพื่อที่จะให้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ประสิทธิ์ ชูดวง
รอง ผอ.ฝ่ายกิจการนักศึกษา
วิทยาลัยโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่

ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนักวิชาการให้งดเรียนออนไลน์ 1 ปี เพราะการเรียนออนไลน์ยังมีความจำเป็น และมีประโยชน์อยู่ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษา ปวช. และ ปวส.ที่นักศึกษาส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบสูงกว่าระดับประถม หรือมัธยมศึกษา ทั้งนี้ ระดับ ปวช.เรียนวิชาพื้นฐาน และฝึกปฏิบัติตามหลักฐาน หากเรียนสูงขึ้น ฝึกปฏิบัติมากกว่าเรียนทฤษฎี เนื่องจากเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพ หากสำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้เลย

ช่วงเรียนออนไลน์ได้ปรับหลักสูตรสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดระบาด เรียนวิชาพื้นฐานบางส่วน และฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการใกล้บ้าน หรือมาฝึกปฏิบัติในสถานศึกษาไม่เกินกลุ่มละ 10-20 คน ตามมาตรการของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เพื่อเรียนรู้ตามหลักสูตรวิชา บางวิชาเรียนทฤษฎีเพียง 40% ฝึกปฏิบัติ 60% หากไม่เรียนออนไลน์เลย อาจส่งผลเสียต่อนักศึกษามากกว่า เพราะมีเวลาว่างมาก อาจจับกลุ่มมั่วสุม หรือทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมได้

หลักสูตรอาชีวศึกษา ส่วนใหญ่เน้นปฏิบัติ เพื่อฝึกประสบการณ์นักศึกษา ดังนั้นหลักสูตรต้องตอบสนอง หรือตอบโจทย์ผู้เรียนควรฝึกปฏิบัติมากขึ้น ไม่ใช่เรียนทฤษฎีทางออนไลน์เท่านั้น เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์โดยตรง ทั้งขั้นตอนปฏิบัติ วิธีแก้ปัญหา พัฒนาต่อ
ยอดทักษะให้มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์วิชาชีพในอนาคต ส่วนวิชาพื้นฐานทั่วไป เช่น พลศึกษา อาจให้นักศึกษาถ่ายคลิปออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อทำเป็นรายงาน หรือสอบเก็บคะแนนแทนได้ ไม่จำเป็นต้องมาเรียนในสถานศึกษาอย่างใด

อุดม ชูลีวรรณ
ผอ.โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย

การที่เด็กยังได้เรียนออนไลน์ดีกว่าการที่ต้องให้เด็กหยุดเรียน เนื่องจากเด็กยังสามารถเรียนรู้ได้ ในส่วนของการเรียนที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยนั้น ประเมินในภาพรวมเด็กมีความพร้อมสูงร้อยละ 95-97 เมื่อมีการเรียนออนไลน์ ก็จะมีระบบการนิเทศ มีผู้บริหารเข้าไปพูดคุยในช่วงการเรียนของเด็ก ก่อนเข้าเรียนจะมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เวลา 08.00 น. เพื่อให้ครูที่ปรึกษาทำการโฮมรูม เด็กที่อาจจะตื่นสาย ก็ได้ประสานกับผู้ปกครองเพื่อช่วยกระตุ้นเด็ก ในบางครั้งที่เด็กสะท้อนปัญหา อาจจะมีการโฮมรูมเช้าเกินไปก็ขยับเวลาให้ หรือในช่วงระหว่างคาบเรียนควรจะเผื่อเวลาให้เด็กได้เปลี่ยนอิริยาบถ ได้พักสายตา อันนี้ก็ปรับใช้ได้

การสอบกลางภาคที่เพิ่งผ่านพ้นไปก็ได้ประเมินแล้ว ถือว่าผ่านเกณฑ์การชี้วัดต่างๆ มองว่า การเรียนออนไลน์ที่อาจจะด้อยกว่าการได้ไปเรียนปกตินั้นก็จะเป็นเรื่องการเรียนภาคปฏิบัติที่ยังไม่สามารถทำได้ หรือในบางวิชาการที่อาจจะให้เด็กทำคลิป แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้ให้ชะลอไปก่อน ให้เด็กได้เรียนทฤษฎีไปก่อน

เราสอนออนไลน์มานานประมาณ 2 ปีแล้ว ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เด็กเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้ได้ การเรียนออนไลน์ในสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ การเรียนแบบหนึ่ง ดีกว่าการที่จะให้เด็กหยุดเรียนไป เกิดปัญหากับเด็กมากกว่า

แต่ต้องยอมรับว่าเด็กในเมืองจะมีความพร้อมสูงกว่าเด็กรอบนอก ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียนก็พยายามหากิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ แม้จะอยู่ในช่วงการเรียนออนไลน์ อาทิ กิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ ก็ได้เน้นย้ำให้ครูหากิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image