แฟลชสปีช : ‘ผู้นำ’ต้องยืนให้ตรง

หากติดตามความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นไปจากการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เริ่มเกิดขึ้นในทุกด้านของประเทศ จะพบว่ามีการขยายตัว และมีแนวโน้มที่่รุนแรงมากขึ้น

ไม่เพียงการนัดชุมนุมในท้องถนน พากันเคลื่อนไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ มีกลุ่มจัดตั้งต่างๆ เข้าร่วมหลากหลาย ด้วยรูปแบบมีประชาชนเข้าร่วมมากขึ้น

ยังมีการออกมาแสดงตัวของประชาชนหลายสาขาอาชีพที่ท่าทีชัดเจนว่า “ไม่ไหวแล้วกับรัฐบาลชุดนี้”

นั่นเป็นแนวโน้มเชิงปริมาณ ขณะที่ในเชิงความรุนแรงนับวันจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยปรากฏการณ์ของความรุนแรงไม่เพียงเกิดขึ้นจากฝั่งผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ทางด้านเจ้าหน้าที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนยุทธวิธีที่เคยใช้การตั้งรับเป็นหลัก มาเป็นการรุกเพื่อสลายอย่างรวดเร็วแทน

Advertisement

ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นประเด็นให้วิเคราะห์ว่าจะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น

ในเรื่องของการชุมนุมประท้วง การเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เรียกกันว่า “การเมืองบนท้องถนน” นั้น สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรักษาไว้คือ ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ การควบคุมจะต้องเป็นเพื่อหยุดยั้งความรุนแรง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีปรากฏการณ์ของความไม่สงบเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเผารถ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ การก่อกวนโดยไม่ได้นำเสนอความต้องการใดๆ

Advertisement

ปฏิบัติการของมวลชนหลังจากแกนนำสั่ง “ยุติการชุมนุม” ออกมาในทางยั่วยุเจ้าหน้าที่

เหมือนเป็นการตอบโต้ด้วยโกรธแค้นที่ถูกกระทำมาก่อนหน้านั้น

เป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงความต้องการระบายความอัดอั้นตันใจ ด้วยรูปแบบที่กล้าแบบบ้าบิ่น พร้อมเอาร่างกายเข้าแลกกับการปราบปรามที่่จะเกิดขึ้น

ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติ ผู้บังคับบัญชาจะเตือนให้เน้นความอดทน ใช้วิธีกดดัน ไม่ใช้วิธีปะทะ เว้นเสียแต่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ทุกฝ่ายต้องทำเช่นนี้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น

การชุมนุมอย่างสงบ และปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่เน้นการป้องกันมากกว่าปราบปราม ใครละเมิดหลักการนี้เท่ากับทำผิดกฎหมาย

ทว่าการชุมนุมครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่อยู่ในหลักการนั้น

ทุกฝ่ายต่างปฏิบัติภารกิจนอกหลักการ

ท่าทียั่วยุให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ของกลุ่มผู้มีความอัดอั้น และต้องการล้างแค้นเอาคืน

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังอย่างเห็นชัดว่าเกินจากความหมายของการป้องกัน

เรื่องราวเหล่านี้มีทั้งภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอปรากฏไปทั่วทุกช่องทางสื่อสารในโลกออนไลน์ หลักฐานที่ปรากฏนั้นสืบสวนได้ไม่ยากว่าใครเป็นใคร ทำอะไรในเหตุการณ์

นั่นหมายความว่าหากมีการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดี อย่างน้อยจะเป็นความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองที่ใช้การชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย

และการกระทำเกินกว่าเหตุ การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ย่อมเป็นไปได้ถึงความกังวลว่า หลังการเปลี่ยนแปลงจะมีการ “เช็กบิล” ด้วยหลักฐานที่ดิ้นหนีได้ยากนั้น

ซึ่งหมายถึงอาจจะต้องสูญเสียอาชีพที่ดิ้นรนไขว่คว้าไว้ได้

ทำให้เป็นการทำหน้าที่แบบ “ตกกระไดพลอยโจน” ที่ง่ายจะเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่จะต้องจัดการให้เด็ดขาด ไม่ปล่อยมาเป็น “หอกข้างแคร่” ที่วกกลับมาทำร้ายภายหลังได้

ซึ่งเมื่อความคิดเช่นนี้เกิดขึ้น ความน่าเศร้าก็ตามมา เนื่องเพราะต้องปกป้องตัวเอง ด้วยกังวลว่าจะมีความผิด

นั่นหมายถึง ความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเกิด

หากถามว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร

คำตอบคือ “รัฐบาล” โดยเฉพาะ “นายกรัฐมนตรี” จะต้องรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ที่จะแก้ไข โดยให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจ และยอมรับการทำหน้าที่ของกันและกัน

ไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรี” ยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง

ในฐานะผู้นำ ไม่สมควรยืนอยู่ในฐานะสนับสนุนให้ฝ่ายหนึ่งทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง

แม้ว่าจะเป็นฝ่ายที่ออกมาต่อต้านตัวก็ตาม

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image