รายงานหน้า2 : ‘ร่างแก้ไข รธน.’ ฉบับ กมธ. ดัน ‘บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ’

หมายเหตุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะ กมธ. พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฯ ต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

บันทึกหลักการและเหตุผล แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91

โดยที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคนเป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสี่ร้อยคนก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …

Advertisement

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

Advertisement

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยเสรี โดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง หรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่

ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”

มาตรา 3/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 85 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด และมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้ประกอบการสมัครรับเลือกตั้งด้วยก็ได้

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควร เชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องตรวจสอบเบื้องต้น และประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวไม่เป็นการตัดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรมไม่ว่าจะได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม”

มาตรา 3/2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 86 การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎร ต่อสมาชิกหนึ่งคน

(2) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (1) ให้มีสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

(3) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน

(4) เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสี่ร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสี่ร้อยคน

(5) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็น เขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

มาตรา 4/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 92 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น”

มาตรา 4/2 ให้ยกเลิกมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 4/3 ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา 105 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 4/4 ภายใต้บังคับมาตรา 4/5 ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 91 และมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะถึงวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

ในระหว่างที่ยังมิให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญนี้มาใช้บังคับตามวรรคหนึ่ง ให้บทบัญญัติของมาตราดังกล่าวก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม หรือก่อนที่ถูกยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญนี้ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ตราขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้นยังคงนำมาใช้บังคับต่อไป

มาตรา 4/5 ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา 132 เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

ในกรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จได้ตามวรรคหนึ่ง และต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้งนั้นไปพลางก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image