เอกชนหนุน คลายล็อกธุรกิจ บริหารวัคซีนโควิดเร็ว-ทั่วถึง

เอกชนหนุน คลายล็อกธุรกิจ บริหารวัคซีนโควิดเร็ว-ทั่วถึง

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชน กรณีกระทรวงสาธารณสุข ระบุสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของไทยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มดีขึ้น ผู้ติดเชื้อคงตัว การเปิดประเทศเป็นไปตามแผนนั้น

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

สถานการณ์ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปัจจุบัน ยังถือว่าสูงอยู่ จึงเสนอให้ภาครัฐควรเอาข้อมูลสถิติการติดเชื้อของกลุ่มธุรกิจประเภทต่างๆ เปิดเผยด้วย เพื่อช่วยให้ทำความเข้าใจว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 หนักที่กลุ่มไหน และกลุ่มไหนที่มีการติดเชื้อต่ำ และสามารถผ่อนปรนมาตรการความคุมได้ ก็ให้ทำการผ่อนปรนให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ อาทิ กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ที่กำลังประสบกับปัญหาอย่างหนักจากมาตรการควบคุม จากสถิติจะพบว่ามีการติดเชื้อที่ต่ำ อยากให้ภาครัฐใช้มาตรการเฝ้าระวังรูปแบบอื่น แทนคำสั่งที่ให้ทำการซื้อกลับบ้านหรือการสั่งอาหารผ่านบริการขนส่ง (ฟู้ดดิลิเวอรี) เท่านั้น

Advertisement

ทั้งนี้เชื่อว่ามาตรการข้างต้นจะเป็นผลบวกมากกว่า จะทำให้เกิดสถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น เพราะเมื่อมีการสั่งหยุดหรือปิดภาครัฐก็ต้องทำการเยียวยา และไม่สามารถเยียวยาได้ทั้งหมด ตอนนี้ต้องยอมรับความจริงว่ายังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการเยียวยาของภาครัฐไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็แล้วแต่ การที่ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการควบคุม อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ ประชาชน ได้ดำรงชีวิต มีความผ่อนคลาย ทำมาหากินได้ดียิ่งขึ้น

รวมทั้งอยากให้ดูผลจากคำสั่งที่ให้ปิดกิจการต่างๆ อาทิ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านนวดเพื่อสุขภาพ นำข้อมูลสถิติมาทบทวนจะเห็นว่ามีการติดเชื้อน้อย อยากขอให้ช่วยผ่อนปรน หาวิธีการที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ หรือนิว นอร์มอล ให้อยู่กับสถานการณ์โควิดได้รัฐบาลจะบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุด 1.7 หมื่นราย ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่กลับไปที่ 2 หมื่นรายอีกครั้ง และเพิ่งจะเริ่มมีแนวโน้มลดลงมาได้เพียง 2-3 วันนี้จึงน่าจะต้องให้เวลาประเมินสถานการณ์อีกสัก 1 สัปดาห์ก่อนว่าควรจะไปต่ออย่างไร

ในระหว่างนี้ อยากให้ ศบค.เปิดเผยตัวเลข เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการใช้มาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละกลุ่มธุรกิจแต่ละประเภท มีสถานการณ์และแนวโน้มการติดเชื้ออย่างไร ให้ภาคประชาชนได้รับรู้ด้วย เพื่อให้ภาคประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจมาตรการของ ศบค.มากยิ่งขึ้นด้วย

Advertisement

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ภาครัฐควรจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้าทำการเก็บสถิติตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์ ควรนำออกมาเผยแพร่ให้รับรู้ว่าตอนนี้สถานการ์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างไรจะต่อยอดเพื่อผ่อนคลายมาตรการในเชิงปฏิบัติอย่างไร ถ้าหากรัฐบาลสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในเชิงรุกด้วยภาษาของประชาชนให้เข้าใจง่ายขึ้น จะช่วยให้ทุกภาคส่วนลดแรงกดดันและทำความเข้าใจกับมาตรการของรัฐบาลได้ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่ง หากเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงแล้ว ภาครัฐไม่ควรจะคลายล็อกดาวน์หรือเปิดพื้นที่เร็วเกินไปหรือทันที เพราะอาจทำให้กลับมาสู่ปัญหาเดิมๆ ได้

ดังนั้นขอเสนอให้ภาครัฐหารือร่วมกับภาคเอกชนวางแผนรับมือกับแต่ละกลุ่มประเภทธุรกิจที่จะเปิดกิจการ เพื่อให้การกลับมาดำเนินกิจการเป็นไปด้วยความรัดกุม และช่วยบริหารความเสี่ยงร่วมกัน

รวมทั้งงานนี้สามารถทำงาน วางแผนล่วงหน้าได้เลย เพื่อให้ธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังของภาครัฐได้

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 กระจายให้กับประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยง อย่างรวดเร็วและทั่วถึงที่สุด เพื่อช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้จริง

พัลลภ แซ่จิว
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

ในความเป็นจริงคือ เราไม่รู้และไม่มีข้อมูลตัวเลขเชิงลึกของผู้ติดเชื้อ เราจะรู้จากตัวเลขของสาธารณสุขเท่านั้น แต่ที่เราเห็นภาพ คือ คนเดือดร้อนเต็มไปหมด จึงตอบไม่ได้ว่าตัวเลขผู้ป่วยเลยจุดพีคไปจริงหรือไม่ ตอบไม่ได้จริงๆ แต่เมื่อหันกลับมามองสภาพประชาชนทั่วไป และโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จะพบว่าผู้คนเริ่มชิน คนเชียงใหม่เริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น รถราเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนเดินห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ใส่หน้ากากออกไปทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายก็ยังยินดีที่จะทน ทั้งคนไทย คนต่างประเทศ คนสูงวัยที่เป็นต่างชาติ ออกจากบ้านไปกินข้าวร้านอาหารมากขึ้นทั้งตอนเช้าและตอนค่ำ

ผมคงตอบเรื่องจุดพีคไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเรื่องของสาธารณสุข แต่จากที่เห็นพฤติกรรมที่ไม่แพนิค ไม่กลัวที่จะไปไหนมาไหน ต่อไปตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ผมมองเห็นจุดนี้ แต่จะมีคนติดเชื้อสูงขึ้นอีกหรือไม่ ไม่รู้เลย ฉะนั้นจะปลดล็อกได้หรือไม่อย่างไร คงต้องดูเหตุผลว่าทำไมต้องปลดล็อก มาคุยกันและต้องอธิบายได้ว่าปลดล็อกได้จริงหรือไม่ รัฐบาลต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เมื่อปลดล็อกแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ เราต้องมองให้รอบด้าน สาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม จิตใจ การศึกษาของเด็ก คุ้มหรือไม่ที่จะทำ เพราะอาจได้สาธารณสุข แต่ด้านอื่นล้มเหลวหมดก็ไม่ได้ ทุกวันนี้เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง สังคมปากท้องทำมาค้าขายกระทบเยอะ และลามไปร้านค้า ร้านอาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่กระทบการค้าขายของคนทั่วไป การเดินทาง สนามบิน ไม่ให้เดินทาง ทุกอย่างเป็นโดมิโน่หมดเลย คำพูดที่ว่า ทำไวจบไว ความจริง คือ จบไวจริงหรือไม่ ไม่รู้

สาธารณสุขไทยใช้โมเดลอะไร แบบไหน หรือคิดเอง เพราะแบบประเทศจีนเขาระดมชุดตรวจจริง ปิดจริง พอผ่านไปสองสัปดาห์เขาเปิดได้จริง คือ ของเขาเจ็บจริงแล้วเขาเยียวยาจริง แต่ของไทยจะเอาอย่างไร ลากยาวมากลายเป็นตอดทีละน้อย ไม่เจ็บแต่ไม่จบ ในขณะที่การเยียวยานั้น ล่าสุดทราบว่าจะมีการอัดฉีด 1,200 ล้านบาททั่วประเทศให้กับเอสเอ็มอี ผ่านมาทาง สสว. รายละ 5 แสนบาท ในลักษณะเงินกู้ ซึ่งน้อยมาก การปิดกรุงเทพมหานครและอีก 20 จังหวัด แต่คนเดือดร้อนทั้งประเทศ เพราะการค้าการขายไม่เดิน เศรษฐกิจไม่เดิน ในความคิดของผม ไม่ควรล็อก หากเจ็บและไม่จบจริง เปิดเถอะ

ธนูศักดิ์ พึ่งเดช
ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต

สถานการณ์โรคโควิด-19 ภูเก็ต แนวโน้มดีขึ้นมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่เข้มข้นทำให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจำนวนมาก มีการเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดมากขึ้น เชื่อมั่นระบบการบริหารจัดการสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ และการตรวจคัดกรองบุคคลที่ด่านตรวจท่าฉัตรไชยนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ตรวจ 100% ในมาตรการต่างๆ ของจังหวัดที่ออกมาบังคับใช้สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดความมั่นใจว่าจะใช้มาตรการเข้มข้นต่อเนื่อง โดยจะมีการผ่อนคลายให้คนเข้ามาได้มากกว่า 16 ประเภท รวมทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยเข้ามาได้ สะดวกมากขึ้น ทั้งทางรถและเครื่องบิน

ขอเสนอแนะให้เปิดให้คนไทยเข้ามาได้ แต่ยังใช้มาตรการเข้มข้นเดิมในการเข้ามา คือ ต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีน 2 โดส ผลตรวจสวอบเป็นลบ เมื่อเกิดการผ่อนคลายจะทำให้ภูเก็ตมีรายได้มากขึ้นที่ไม่ใช่จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และขอให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวในเดือนกันยายน-ธันวาคมนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามามากขึ้น

ธนพล ชีวรัตนพร
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)

ได้รับข่าวดีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าได้คุยโดยตรงกับทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีการยืนยันจากทางบริษัทว่าจะส่งวัคซีนให้กับประเทศไทยครบ 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมวัคซีนของ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ถ้าเป็นแบบนี้ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น ถ้าวัคซีนไม่มาการท่องเที่ยวก็จะลำบาก โดยคาดการณ์ไว้ว่าในช่วงกลางหรือปลายเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มเปิดให้มีการท่องเที่ยวแล้ว วัคซีนเป็นตัวเดียวที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งประเทศยังทำไม่ได้ อาจจะทำได้ในจังหวัดที่มีประชากรฉีดวัคซีนได้จำนวนมากในระดับหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีการขยายไปที่เกาะสมุย และเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้ผ่านมาตรการ 7+7 คาดว่าจะมีการเปิดพื้นที่กรุงเทพฯได้ เพราะว่าประชากรในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนกันมากพอสมควรแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติกล้าเดินทางมาแน่นอน หมายความว่าเมื่อเข้ามาทางกรุงเทพฯได้แล้ว นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อได้ โดยคาดการณ์ไว้ว่าในเดือนตุลาคมนี้จะมีการฉีดวัคซีนภายในประเทศประมาณ 60% แล้ว

ในอนาคตเมื่อเปิดประเทศแล้วความกังวลเรื่องการระบาดมากขึ้น คงจะน้อยลง เพราะทุกวันนี้มีความเสี่ยงมากที่สุดแล้ว หลังจากนี้ความเสี่ยงจะเป็นการนับถอยหลัง เนื่องจากมีการล็อกดาวน์มาเกือบ 2 เดือนจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังคงขึ้นสูงอยู่ คำตอบทางเดียวในตอนนี้ก็คือวัคซีนเท่านั้นเอง เราต้องคิดใหม่ว่าให้ประชาชนอยู่กับโรคโควิด-19 ได้นาน เหมือนกับโรคระบาดตัวอื่นๆ

แต่ถ้ามีวัคซีนเข้ามาแล้วคนไทยไม่มีปัญหา ตอนนี้ไม่คิดว่าประเทศไทยจะไม่มีโรคโควิด-19 เราต้องมีวัคซีนเข้ามาให้เพียงพอ เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นคนไทยต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ให้ได้ กิจการธุรกิจต่างๆ ต้องเปิด ถ้าไม่เปิดอยู่ไม่ได้ ถ้าบางพื้นที่ไม่สามารถเปิดได้ก็เว้นการเดินทางตรงนั้น

แต่ก็ยังมีอีกหลายจังหวัดสามารถเดินทางได้ โดยเฉพาะวันนี้ภายในประเทศ ผู้ประกอบการไม่มีอะไรเหลือแล้ว แรงงานก็ย้ายไปทำงานอย่างอื่น หรือไม่ก็ว่างงานกันจำนวนมาก เมื่อการท่องเที่ยวกลับมา แต่กิจการจะพร้อมกลับมาหรือไม่ไม่รู้

เมื่อวันก่อน 5 สมาคม รวม สทน. ได้เข้าไปหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรือซอฟต์โลนท่องเที่ยว มูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของกระทรวงการคลัง ถ้าเงินส่วนนี้ออกมาเยียวยาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวได้ ธุรกิจก็จะกลับมาเปิดได้บ้าง ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่คอยรับฟังข้อเสนอต่างๆ

ส่วนเงินเยียวยาลูกจ้าง-นายจ้าง ของสำนักงานประกันสังคม ยังไม่มีความเพียงพอ เนื่องจากว่าแรงงานส่วนใหญ่ได้ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 มานานมากแล้ว และเหลือแรงงานก็ไม่เยอะแล้ว ส่วนตาม มาตรา 39 มาตรา 40 ก็ได้ไม่เพียงพอ เพราะหยุดทำงานมาเป็นปีแล้ว ตอนนี้โครงการทัวร์เที่ยวไทย ที่ใช้เงินกู้ 5,000 ล้านบาท ยังไม่ได้เริ่มโครงการเลย เพราะว่าติดเรื่องการระบาดระลอกที่ 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยโครงการนี้จะช่วยออกค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ 40% หวังว่าโครงการนี้ทางรัฐบาลอย่ายกเลิก รวมไปถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 หวังว่ารัฐบาลยังคงดำเนินตามนโยบายเก่า เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image