จับตาศึกซักฟอก-ม็อบ สะเทือนรัฐบาล?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 5 คน การออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วันนี้สิ่งที่สำคัญคือความชอบธรรมทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ดังนั้น การอภิปรายครั้งนี้คงเป็นการคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าคงจะผ่านได้เรียบร้อย เป็นศึกชักฟอก แบบไม่ต้องซัก แต่ฟอกไว้ล่วงหน้า เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าอย่างไรก็คงผ่านแน่นอนสำหรับเสียงโหวตในสภา

Advertisement

แต่ถึงที่สุดรัฐบาลไม่ควรคำนึงถึงเสียงที่ผ่านโหวตในสภา เพราะความชอบธรรมทางการเมือง จะต้องมีเสียงของประชาชนยอมรับการทำงานจากประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงาน หรือ การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ทันท่วงที ขณะที่การเคลื่อนไหวของการเมืองนอกสภามีความถี่ค่อนข้างมาก นอกจากนั้น มีการใช้ความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น และล่าสุดมีการประกาศยุติการเคลื่อนไหวแบบคาร์ม็อบ แต่หลังจากนี้จะยกระดับไปสู่การเคลื่อนไหวแบบดีเดย์ จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจคู่ขนานนอกสภาเพื่อสร้างแรงกดดันให้ ส.ส.ทำหน้าที่ในการอภิปราย การลงคะแนนเสียง

เชื่อว่าแรงกดดันยังไม่มากพอที่จะทำเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่เงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรเลือกตั้งหากเรียบร้อยก็มีโอกาส นอกจากนั้นมีเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ถ้ามีการขับเคลื่อนงบเยียวยาลงสู่พื้นที่ แล้วมีดอกมีผลจากการใช้งบประมาณ หรือประการสุดท้ายเงื่อนไขการแต่งตั้งโยกย้ายทหารและฝ่ายพลเรือนถ้าทำได้ลงตัวก็เกี่ยวข้องกับการวางโครงสร้างอำนาจรัฐ เกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง

หาก 3 เงื่อนไขลงตัวจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การยุบสภาประมาณปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ควบคู่กับการขับเคลื่อนงบประมาณ ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงจับสัญญาณได้ว่าการที่นายกรัฐมนตรีจะเปิดประเทศ หรือหลังวันที่ 1 กันยายน จะมีการคลายล็อกดาวน์ นอกจากจะต้องการขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยแล้ว อีกด้านก็มีความเป็นไปได้ในการเปิดพื้นที่เพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งไม่เป็นทางการและหลังมีประกาศ พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ด้วยการคลายล็อก

Advertisement

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ยังมีสัญญาณเพื่อเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ อาจจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อวัดเรตติ้งของพรรครัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐและยังเป็นการวางฐานทางการเมืองในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ซึ่งจะส่งผลถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคต

สำหรับแนวโน้มการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังการอภิปราย อาจจะไม่ง่าย แต่ทุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหวจากการอภิปราย หรือการปรับ ครม. จะเห็นได้จากพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด เนื่องจากพรรคไม่เกิดจากฐานทางอุดมการณ์ แต่มาจากการรวมกลุ่มอดีต ส.ส. ดังนั้น การต่อรองภายในก็เป็นเรื่องธรรมชาติ รวมทั้งการต่อรองภายนอกกับพรรคร่วมรัฐบาล ครั้งนี้อาจจะได้เห็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำกลุ่ม 4 ช.ออกมาเคลื่อนไหว และเชื่อว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการต่อรอง แต่จะต้องเกี่ยวข้องกับการวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง

ดังนั้น ข้อเสนอของ ร.อ.ธรรมนัสอาจจะไม่ได้รับการตอบสนอง หรืออาจจะต่อรองไม่ได้ทั้งหมด การที่จะยกแผง 4 ช.เป็นรัฐมนตรีว่าการอาจจะไม่ง่าย และหากจะปรับจริง ก็คงจะมุ่งเน้นไปที่กระทรวงด้านความมั่นคงเป็นหลัก เช่น มหาดไทย หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน หาก ร.อ.ธรรมนัส จะได้รับการตอบสนองอย่างมากก็คงเป็นกระทรวงแรงงาน แต่ส่วนตัวยังให้น้ำหนักการปรับ ครม.จากการต่อรองมีน้อยกว่าการปรับเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง

ยืนยันว่าการอภิปรายครั้งนี้ยังไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ แม้จะบอกว่าการอภิปรายจะมีหมัดน็อก ทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ เป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่จะมีการปลุกเร้าก่อนอภิปราย แต่ขณะนี้ข้อมูลหลายเรื่องประชาชนนอกสภาอาจจะมีมากกว่าการที่พูดถึงในสภา ดังนั้น คงไม่มีข้อมูลอะไรที่เป็นหมัดน็อกได้ ส่วนสำคัญคือเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้านยังเป็นปัญหาไม่น้อยกว่าเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาล

ความเห็นไม่ลงรอยหลายเรื่องของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 พรรคเห็นไม่ตรงกันในระบบเลือกตั้งจากบัตร 2 ใบ การโหวตงบกลาง การโหวตกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเอกภาพของฝ่ายค้านจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแรงลง ดังนั้น ข้อมูลที่จะมีหมัดเด็ดหมัดน็อกก็เป็นเรื่องยาก เพราะจะอภิปรายอย่างไรก็ผ่านการโหวต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบรัฐสภาไทยไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีกระบวนการมีส่วนร่วมหรือจะเปิดพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 31 สิงหาคม จนถึงการลงมติในวันที่ 4 กันยายน ที่จะถึงนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ทำให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะแม้ฝ่ายค้านจะตั้งประเด็นและหาหลักฐานมาอภิปรายอย่างชัดเจนก็ตาม แต่จากจำนวนเสียงที่ฝั่งรัฐบาลมี ประกอบกับกลไกของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น ยังคงทำให้ฟากรัฐบาลยังได้เปรียบในศึกครั้งนี้

หากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สาเหตุหลักคงไม่ใช่แรงกระเพื่อมจากการกดดันผ่านการอภิปรายในสภา หรือขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เพราะในขณะนี้เพดานของการอภิปรายและการเดินหน้าของภาคประชาสังคมก็สูงมากอยู่แล้ว หากเป็นรัฐบาลในสถานการณ์ปกติ คงมีการปรับรัฐมนตรีออกตามความล้มเหลวของการทำงาน แต่รัฐบาลปัจจุบันนั้น ก็ยังคงเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนและใช้กลไกอำนาจรัฐที่มีในการควบคุมทั้งในและนอกสภา

ทั้งนี้ หากการปรับที่จะเกิดขึ้นนั้น คงเป็นเพียงการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแบ่งเค้กของกลุ่มผลประโยชน์ภายในรัฐบาลให้ลงตัวเท่านั้น หรือหากมีการปะทะกันก็เป็นการปะทะของเครือข่ายอำนาจ ซี่งประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้เป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ตกอยู่กับขั้วอำนาจที่สำคัญของฟากรัฐบาลเพียงเท่านั้น ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า ถ้ามีการปรับ ครม. หลังการอภิปรายในครั้งนี้ ก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศเท่าไร เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ของชาติ

ในส่วนของรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นเป้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากจะต้องถูกปรับออกจริงก็เป็นการปรับออกด้วยกลไกของพรรค เพราะท้ายที่สุดการเลือกผู้ที่เข้ามานั่งตำแหน่งดังกล่าว ย่อมอยู่ในเครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐอยู่ดี และหากจะเอาตำแหน่งนี้ไปให้กับผู้ที่เหมาะสม หรือสมฐานะ ส่วนตัวก็มองว่าการเลือกรัฐมนตรีของรัฐบาลนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเหมาะสม ทั้งประสบการณ์และความชำนาญอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับเพื่อจะเปิดทางให้คนที่สมฐานะขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็เป็นเพียงการผลัดกันเชยชมเก้าอี้รัฐมนตรีเพียงเท่านั้น

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไข กลไกและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสภาก็ไม่มีอยู่จริง การอภิปรายแม้จะตั้งอยู่บนหลักฐานและเหตุผลชัดเจนเพียงใด แต่สุดท้ายการยกมือด้วยเสียงข้างมาก ก็ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐสภาในรัฐธรรมนูญที่ไม่มีนิติธรรม ได้ลดทอนความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยไปแล้วจริงๆ

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีเหตุปัจจัยที่ประชาชนคนทั่วไปมองไม่เห็นอีกมาก เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนหลายมิติ ไม่สามารถนำเอาทฤษฎีการเมืองเข้าไปประเมินได้ แต่ที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไร ผู้ที่อยู่ในอำนาจก็คงต้องการจะทำหน้าที่เดิมต่อไป เพราะอ้างว่ายังมีคนให้การสนับสนุน

ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และการเคลื่อนไหวของมวลชนคู่ขนานนอกสภา อาจจะมีความคึกคักจากกระแสปลุกเร้าให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาล แต่ในแง่สันติวิธีหากมองลึกลงไปพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ก็คงไม่อยากให้สิ่งที่ทำมาต้องเสียของ เพื่อรอโหวตในวาระ 3 เพราะฉะนั้นแม้ว่ารัฐบาลจะมีแรงกดดันทั้งในสภาและนอกสภา แต่เชื่อว่ายังอยู่ได้ต่อไปเพื่อให้รัฐธรรมนูญได้รับการแก้ไข

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ขอให้เป็นไปตามวิถีทางของกติกาการเมืองที่กำหนดไว้ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็คงไม่มีปัญหา ขณะที่จะมีการเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็ควรบวกรวมการทำประชามติถามประชาชนให้ชัดเจนว่าจะเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.จากภาคประชาชนเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ควรเกิดจากการใช้ระบบอุปถัมภ์ หรือจะต้องมีการทำรัฐประหาร

การอภิปรายในสภาก็เห็นชัดเจนแล้วว่ามือของ ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่า คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีหยิบยกความล้มเหลวหลายด้านออกมาฉายซ้ำ เพราะเชื่อว่านักการเมืองจะรอโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

สำหรับการเคลื่อนไหวนอกสภาก็มีผู้สนับสนุนการชุมนุมต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และมีประชาชนอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเพราะมองว่ามีปัญหาทำให้เกิดความวุ่นวาย ความเห็นในสังคมที่แตกต่างเช่นนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทันที ส่วนการปรับ ครม.หลังการอภิปรายหรือไม่ รวมถึงการยื่นเรื่องร้อง ป.ป.ช. ต้องดูว่าชุดข้อมูลในการนำเสนอเป็นอย่างไร ถ้าฝ่ายค้านพูดแล้วมีความด่างพร้อยการเมืองไทยก็ยังอยู่ได้ เพราะมาตรฐานคนดีไม่เหมือนต่างประเทศ หรือถ้าฝ่ายค้านพูดแล้วมีหมัดเด็ดกระแสสังคมกดดันรุนแรง ก็ต้องรอดูว่าจะมีเช่นนั้นจริงหรือไม่

ดังนั้น จึงอาจจะคิดว่าการอภิปรายครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านบางพรรคจะชกได้เต็มหมัด แต่อย่าลืมว่าในสภายังมี ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกลที่ทำงานแนวใหม่ มีการศึกษาข้อมูล ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ส.พรรคนี้จะนำข้อมูลบางประการออกมาเปิดเผย เพื่อมุ่งตรวจสอบการทำงานในระบบรัฐสภาด้วยความเข้มแข็ง ส่วน ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ยังเชื่อใจเป็นบางคนที่คาดว่าจะทำการบ้านมาดีพอสมควร

ส่วนการพูดจูงใจเพื่อโปรโมชั่นให้เป็นการตลาด ว่าจะมีการอภิปรายในสภาเป็นครั้งสุดท้าย ก็คงไม่ต่างจากการทำมวลชนนอกสภา แกนนำบางรายบอกจะปลุกม็อบใหญ่สุดในรอบ 7 ปี เพื่อบอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ ถ้ามองในแง่สันติวิธีทั้งผู้เกี่ยวข้องในสภาและนอกสภาก็คงต้องการสร้างบรรยากาศปลุกเร้าให้น่าสนใจ แต่ถึงที่สุดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ยังมีปัจจัยอื่นเป็นเงื่อนไข มากกว่ากติกาที่เขียนไว้หรือความรู้สึกของประชาชนที่อาจจะมองว่ารัฐบาลทำงานล้มเหลว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image