นักวิชาการส่องเกมซักฟอก โฟกัสศึกใน‘พปชร.’ จุดชนวนเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการส่องเกมซักฟอก โฟกัสศึกใน‘พปชร.’ จุดชนวนเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งรัฐมนตรีอีก 5 คน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ดุเดือดเหมือนครั้งก่อน และเชื่อว่ารัฐมนตรีจะได้เสียงโหวตไว้วางใจ แต่อาจไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเนื้อหาสาระจากการอภิปราย แต่จะสนใจว่ามีดีลลับจริงหรือไม่ หรือจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันที่มีการโหวตลงคะแนน ถ้าให้ประเมินการอภิปรายเท่าที่ติดตามจะเห็นว่าฝ่ายค้านหลายคนทำงานหนัก มีข้อมูลเชิงลึก แต่ในภาพรวมเนื้อหาที่นำมาพูดของฝ่ายค้านหลายคนจะซ้ำกันในประเด็นโควิด แม้ว่าจะค้นคว้าข้อมูลด้วยความตั้งใจ แต่การพูดซ้ำทำให้สะท้อนถึงการประสานงานที่ดีระหว่างพรรคฝ่ายค้าน

Advertisement

ขณะที่บรรยากาศการอภิปรายในยุคปัจจุบัน ทำให้บางคนนึกถึงรังสีอำมหิตในการอภิปรายของคุณเฉลิม อยู่บำรุง คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คุณเนวิน ชิดชอบ ซึ่งมีลีลาการพูดที่ร้อนแรงมากกว่า ต่างจากพรรคการเมืองปัจจุบันได้ให้โอกาส ให้พื้นที่กับนักการเมืองหน้าใหม่ในสภาทำให้ความเร้าใจลดลง

สำหรับฝ่ายรัฐบาลมีการอ่านโพย หรือตอบคำถามไม่ตรงประเด็น ให้คำอธิบายที่ไม่มีตรรกะเช่น ถ้าสวดมนต์ทุกวันก็จะไม่โกง หรือการให้คำอธิบายเรื่องราคาซื้อวัคซีน ดูเหมือนไม่ได้สนใจจะตอบในเนื้อหาสาระที่ฝ่ายค้านอภิปราย จึงทำให้ผู้ติดตามไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

ดังนั้น ความสนใจทั้งหมดจึงพุ่งไปที่ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐจะส่งแรงกระเพื่อมอย่างไรมากกว่า ในแง่นี้ จึงมองว่าการอภิปรายไม่ได้เป็นตัวแปรของความเปลี่ยนแปลง ส่วนที่คิดว่าเสียงของรัฐบาลจะทำให้การอภิปรายครั้งนี้ผ่านไปได้ แต่ส่วนตัวไม่มั่นใจ ไม่ทราบว่าพรรคพลังประชารัฐจะคุมเสียงได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ จะมีพลังมากแค่ไหน ท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่มีความชัดเจน

Advertisement

ประเด็นหลักจึงไม่ใช่การอภิปรายระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แต่กลายเป็นความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ได้อย่างไร

ส่วนพรรคการเมืองขนาดเล็กก็ไม่เป็นเอกภาพ ขณะเดียวกันยังมี ส.ส.งูเห่าในพรรคฝ่ายค้าน จึงทำให้มีการพูดถึงราคากล้วย มี ส.ส.บางรายออกมายืนยันว่ามีเรื่องนี้จริง แต่จะเป็นไปเพื่อล้มรัฐบาล หรือเพื่อเขย่าให้ปรับ ครม.ก็ต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าจะไม่ยุบสภาก็คงเป็นไปได้ เพราะหากยุบแล้วจะต้องเลือกใหม่ในสถานการณ์โควิด

ส่วนที่บอกว่าจะไม่ปรับ ครม.นั้น ต้องรอดูการอภิปรายที่เหลือว่าจะมีทีเด็ดเพิ่มหรือไม่ สิ่งที่น่าติดตามสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ก็น่าสนใจว่าจะถูกอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง เพราะเดิมถูกมองว่าเป็นของแถมในการอภิปรายครั้งนี้ หรือเพื่อเขย่ารัฐบาลให้ปรับ ครม.

เพราะฉะนั้น หากมีการตั้งธงไว้ก่อนว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ก็ต้องหมายความว่าข้อมูลของฝ่ายค้านอาจถูกด้อยค่า ดังนั้น นายกฯอาจถูกมองว่าไม่เคารพการทำหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุลของ ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนหรือไม่ ที่สำคัญเมื่อสถานการณ์ในสภาเป็นแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นพลังที่มากขึ้นของประชาชนออกมาเคลื่อนไหวบนถนน แต่เชื่อว่าปัญหามวลชนไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการถูกมองว่าดีลระหว่างขั้วการเมือง จะประสบผลสำเร็จจริงหรือไม่

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หลังการอภิปราย คะแนนโหวตของพรรครัฐบาลก็จะออกมาเหมือนเดิม แต่คะแนนองรัฐมนตรีอาจจะไม่เท่ากันทั้งหมด ส่วนตัวเชื่อว่าการอภิปรายเหมือนเป็นเพียงพิธีการ ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับความจริงว่าคะแนนการโหวตไม่ได้อยู่ที่การอภิปรายดี หรือรัฐมนตรีลุกขึ้นตอบโต้ได้ดีแล้วจะมีคะแนนมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงไม่ควรคิดอะไรที่ฟุ้งซ่านเกินขอบเขต ที่น่าสนใจมากกว่าจะต้องติดตามการโหวตญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3

การอภิปรายครั้งนี้มีการลงทุนดึงทีมข้าราชการจากกระทรวงที่ถูกพาดพิง ไปตั้งวอร์รูมที่สภา เพื่อตรวจสอบข้อมูลของรัฐมนตรีที่จะถูกพาดพิง เนื่องจากรัฐบาลทราบดีว่าข้อมูลจากการอภิปรายทำให้ประชาชนมีโอกาสเชื่อถือสิ่งฝ่ายค้านนำเสนอ มากกว่าสิ่งรัฐบาลต้องการจะสื่อสาร

ส่วนที่มีกระแสว่านายกฯมีความวิตกกังวลกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะไม่ยกมือให้หลังการอภิปราย เชื่อว่าชุดข้อมูลนี้คลาดเคลื่อน เพราะความเป็นจริง ส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่ยังต้องการจะสนิทสนมกับนายกฯ

ที่ออกมาจุดกระแสอาจจะต้องการให้นายกฯให้ความสนใจ เห็นความสำคัญของ ส.ส.บางกลุ่มบ้าง ดังนั้นสื่อไม่ต้องไปพาดหัวว่า “บิ๊กตู่” กลัวพรรคพลังประชารัฐจะเบี้ยว ขอเรียนว่าของจริงไม่เกิดขึ้นเด็ดขาด ที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะไม่ยุบสภา ไม่ปรับ ครม.หลังการอภิปรายคือของจริง แม้ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีการปรับ ครม.ก็ด้วยเหตุผลอื่น

เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้น่าจะดีกว่าครั้งก่อน หลังมีบางพรรคฝ่ายค้านระแวงความสัมพันธ์ของพรรคฝ่ายค้านด้วยกันที่มองว่าอาจะมีสายสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

ส่วนที่คุณโทนี่ หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯออกมาอภิปรายคู่ขนานหวังชิงพื้นที่สื่อ ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนักเพราะประชาชนได้แบ่งชัดเจนว่า ฝ่ายหนึ่งต้องเชื่อข้อมูลฝั่งรัฐบาล จะบอกว่าตอบโต้ได้ดี อีกฝ่ายจะเชื่อข้อมูลของฝ่ายค้าน พยายามบอกว่ารัฐมนตรีตอบไม่ตรงประเด็น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านเทียบกับการอภิปรายครั้งก่อน จะเห็นว่ายังไม่มีความแตกต่างมากนัก สำหรับภาพรวมของพรรคเพื่อไทยประเด็นสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นเรื่องส่วนต่างราคาการซื้อวัคซีนซิโนแวค ขณะที่พรรคก้าวไกล มีความโดดเด่นจากการแฉเส้นทาง ไอโอของหน่วยงานด้านความมั่นคง นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ประชาชนทราบจากสื่อสาธารณะอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าแปลกใจมาจากการตอบคำถามของรัฐมนตรี มีท่าทีเหมือนการตอบในระบบราชการ ไม่ได้พยายามตอบคำถามให้ตรงประเด็น หลักฐานที่นำมาชี้แจงก็ไม่ชัดเจน เลือกใช้วิธีตอบคำถามให้ผ่านไป เอาตัวรอดโดยอ่านข้อมูลที่ทางราชการเรียบเรียงไว้

จึงทำให้เห็นว่าสภาทำงานตามหน้าที่ เหมือนเป็นเพียงพิธีกรรม ผู้มีอำนาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลไกการตรวจของสภาเท่าที่ควร เมื่ออภิปรายจบถึงที่สุดรัฐบาลจะให้น้ำหนักจากเสียง ส.ส.ในพรรครัฐบาล และพรรคขนาดเล็ก คาดว่าจะต้องยกมือให้การสนับสนุนตามที่ประเมินไว้แล้วล่วงหน้า

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ไม่ดุเดือด เลือดพล่านเหมือนรอบที่แล้ว แต่ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ได้เสมอตัว

สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงไป คือความแตกต่างในการทำงานระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล เห็นได้ชัดว่าพรรคก้าวไกลยังคงเนื้อหามุ่งโจมตีอภิปรายถึงความล้มเหลว โดยใช้ตัวละครสำคัญของพรรคไม่ว่าจะเป็นคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, คุณณัฐชาบุญไชยอินสวัสดิ์, คุณศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวคือ ให้คีย์แมน ของพรรคมีบทบาทในการอภิปรายเหมือนเดิม

ส่วนพรรคเพื่อไทยพยายามกระจาย เปิดตัว ส.ส.หน้าใหม่ เหมือนเตรียมพร้อมรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการโควิดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งเน้นประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำหรือโรคลัมปี สกินที่ระบาดในวัว ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายประเด็นความทุกข์ร้อนตรงนี้เยอะมาก

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ในรอบนี้ ทำหน้าที่ได้ดีในเรื่องการควบคุมอารมณ์ และการตอบประเด็นต่างๆ ดีกว่าคราวที่แล้ว มีการพยายามทำการบ้าน แม้ในภาพรวมจะตอบภาพกว้างๆ แต่เนื้อหาสาระยังสามารถนำไปสู่การตรวจสอบ หรือหาหลักฐานในสิ่งที่นายกฯได้อภิปราย อาจเป็นมุมมองที่เห็นต่างก็ได้ เช่น การที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์นั้น เพราะจำนวนและยี่ห้อวัคซีนที่สั่งไปอาจได้ไม่ตรงตามที่ต้องการ ดังนั้น ฝ่ายค้านต้องไปตรวจสอบว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดนั้นจริงหรือไม่ ที่ว่าหากได้วัคซีนก็ได้ไม่มากพอ

นี่คือการชิงไหวชิงพริบ คนที่เห็นด้วยก็จะบอกว่า พอรับฟังได้กับเหตุผลของนายกฯ คนที่เห็นด้วยกับฝ่ายค้านก็บอกว่า ฝ่ายค้านชี้แจงตรงไปตรงมา ล้วนเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ติดตามการอภิปราย แต่ผมคิดว่าบรรยากาศในภาพรวม ไม่ระอุเท่ากับการเมืองนอกสภา ที่เราเห็นความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ ผมว่ามีผลสำคัญ กล่าวคือกระทบต่อสมาธิของผู้อภิปรายพรรคฝ่ายค้านว่ากำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเขย่ารัฐบาลได้หรือไม่นั้น ด้วยเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถสู้รัฐบาลได้อยู่แล้ว เพียงแต่รอบนี้เป็นการเปิดตัว ยืนยันข้อมูลและหลักฐานการอภิปรายของตนเอง เพื่อให้ประชาชนเชื่อในสิ่งที่ได้อภิปราย ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ในการทำหน้าที่บริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีปัญหา และเป็นการเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมของตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับศึกการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นปีหน้า หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ครบเทอมก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image