เสียงสะท้อนเอกชน ดีเดย์ 1 ต.ค. ‘โควิด ฟรี เซตติ้ง’

เสียงสะท้อนเอกชน ดีเดย์ 1 ต.ค. ‘โควิด ฟรี เซตติ้ง’ หมายเหตุ - ความเห็น

หมายเหตุความเห็นและข้อเสนอผู้ประกอบการกรณีในวันที่ 1 ตุลาคม ศบค.จะเริ่มบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยองค์กร (COVID Free Setting) หรือโควิด ฟรี เซตติ้ง เป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ 3 ด้านคือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน 2.ด้านพนักงานปลอดภัย พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส จัดหา ATK ให้ตรวจทุกๆ 7 วัน 3.ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย”

ฐนิวรรณ กุลมงคล
นายกสมาคมภัตตาคารไทย

ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ความสงบและความปลอดภัยจริงๆ เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลัก 1.5 หมื่นคนต่อวัน ทำให้ต้องยอมรับว่าหากเราไม่ใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการระบาดโควิดซ้ำระลอกใหม่ขึ้นมา เนื่องจากร้านอาหารโดยเฉพาะร้านที่ใช้ระบบเครื่องปรับอากาศ ตัวแปรที่สำคัญในการแพร่เชื้อโควิดคืออากาศภายในร้านอาหารแห่งนั้น ที่หากมีลูกค้านั่งทานอาหารที่ร้าน ถอดหน้ากากอนามัยออกแล้วแต่เกิดการไอหรือจามออกมา ตัวสารคัดหลั่งที่กระจายออกมากับการไอหรือจามนั้นจะสะสมอยู่ในอากาศ ซึ่งหากสารคัดหลั่งนั้นมีเชื้อโควิดอยู่ด้วยจะเป็นความเสี่ยงสูงสุดในการแพร่กระจายเชื้อโควิดให้กับทั้งลูกค้าที่อยู่ร่วมกันในร้าน และพนักงานทั้งหมดในร้านด้วย ทำให้การป้องกันการระบาดอย่างเข้มงวดสูงสุดถือว่ามีความจำเป็นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในฐานะผู้ประกอบการกลัวที่สุดคือการกลับมาปิดธุรกิจอีกครั้ง เนื่องจากการกลับมาปิดร้านอีกรอบหมายถึงรายได้ที่หายไปทั้งหมด แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู่ อาทิ ค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการต่างๆ ที่กำหนดอยู่ในโควิด ฟรี เซตติง โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อโควิดให้พนักงานผ่านชุดตรวจ ATK ทุก 7 วันนั้น มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีความตั้งใจและเต็มใจในการคัดกรองพนักงานของตัวเอง เพื่อหากพบว่ามีพนักงานเกิดติดเชื้อโควิดขึ้นมาก็สามารถแยกกักตัวและแยกกลุ่มเสี่ยงได้ทันที ซึ่งถือเป็นการปกป้องธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มมาของชุดตรวจ ATK ไม่ได้สาหัสมากเท่าการต้องปิดร้านใหม่อีกครั้ง จึงถือว่าคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียมากขึ้น

Advertisement

สิ่งที่ต้องพยายามปฏิบัติตามมากที่สุดคือมาตรการด้านสาธารณสุขที่กำหนดออกมา ทั้งการเว้นระยะห่างระหว่างกัน การคัดกรองด้วยแบบฟอร์มเบื้องต้น การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง รวมถึงกำชับไม่ให้พนักงานรวมกลุ่มกันขณะปฏิบัติงาน ช่วงพัก และงดทานอาหารร่วมกันอย่างเด็ดขาด โดยสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการจะเน้นย้ำให้พนักงานปฏิบัติตามอย่างเข้มแข็ง หากไม่อยากให้เกิดกรณีการติดเชื้อรายใหม่เป็นกลุ่มใหญ่ (คลัสเตอร์) ร้านอาหารออกมา ซึ่งมองว่าหากเกิดกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ประกอบการและพนักงานเอง ทำให้มาตรการที่กำหนดออกมานั้นจะเป็นระบบในการคัดกรองร้านอาหารและผู้ประกอบการที่สามารถรักษามาตรฐานได้อย่างแท้จริง เพราะถามผู้บริโภคว่า หากต้องเลือกเข้าร้านอาหารที่มีมาตรฐานป้องกันโควิดให้พนักงานและลูกค้าอย่างเข้มงวด และร้านที่ผ่อนปรนมาตรการไม่ได้เข้มแข็งเท่าที่ควร จะเลือกเข้าใช้บริการในร้านแบบใดเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

การที่รัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์ อนุญาตให้นั่งทานอาหารที่ร้านได้เป็นเพราะสาธารณสุขประเมินแล้วเห็นว่าศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อมีมากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง จึงเริ่มทดลองผ่อนคลายออกมา ไม่ได้เป็นเพราะสมาคมขอให้ผ่อนคลายมาตรการแล้วรัฐบาลยินยอมทันที ทำให้การออกมาตรการมานั้นเป็นเงื่อนไขที่ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการทดลองปฏิบัติตาม เพื่อประเมินว่าสามารถทำได้หรือไม่ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด โดยเห็นร้านอาหารอิ่มไม่อั้น หรือร้านบุฟเฟต์ ได้ทดลองทำตามมาตรการที่กำหนดไว้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก เพราะได้ลูกค้ากลุ่มพรีเมียมมาใช้บริการ ในราคาหลัก 1,500 บาทต่อคน จึงแสดงให้เห็นว่าคนที่มีกำลังซื้อต้องการความปลอดภัยสูงสุด และพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดยร้านอาหารจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเข้ามาใช้บริการร้านอาหาร ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็มีสิทธิในการคัดกรองลูกค้าที่จะเข้ามานั่งทานอาหารหรือใช้บริการในร้านได้ เพราะการทานอาหารในร้านนั้นลูกค้าจะต้องถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งความกังวลเป็นเรื่องของการถอดหน้ากากอนามัย อาจมีละอองน้ำลายหรือสารคัดหลั่งเล็ดลอดออกมาได้ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการแพร่เชื้อมากที่สุด ความกังวลจึงอยู่ตรงการจำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัยแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังในการใช้จ่ายส่วนนี้ยังไม่น่ากังวล แต่ในส่วนของกลุ่มผู้บริโภคที่มีเม็ดเงินในมือน้อย ความพร้อมของลูกค้าที่ต้องซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจยืนยันผลทุก 7 วัน ในสถานการณ์ที่ยังคงลำบากอยู่นั้น สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพิ่มเติมคือ หากรัฐบาลสามารถสนับสนุนการแจกชุดตรวจให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาวะเดือดร้อนจะดีมาก หรืออย่างน้อยหากปลดล็อกให้สามารถซื้อชุดตรวจ ATK ผ่านโครงการคนละครึ่งได้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนลงอย่างน้อย 50% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างดี โดยต้องยอมรับว่าเรื่องชุดตรวจ ATK ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะคนบางกลุ่มยังไม่รู้ว่าชุดตรวจ ATK คืออะไร ใช้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ในเบื้องต้นมองว่าควรต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเพิ่มก่อน โดยการกำหนดวันบังคับใช้โควิด ฟรี เซตติ้ง ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มองว่ายังเร็วเกินไป โดยเฉพาะในแง่ของเงื่อนไขที่ต้องให้พนักงานและลูกค้าได้รับวัคซีนครบโดสก่อน ซึ่งจะเหลือเวลาในการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและคนร้านอาหารไม่มากพอจึงมองว่าการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวนั้นหากเลื่อนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมนี้ หรืออาจเลื่อนออกไปอีกน่าจะเหมาะสมกว่า เพื่อเพิ่มเวลาในการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด

Advertisement

ทั้งนี้ สมาคมได้ช่วยประสานการฉีดวัคซีนให้แรงงานร้านอาหาร เริ่มตั้งแต่วันที่3 กันยายนที่ผ่านมา รวมยอดส่งรายชื่อแรงงานที่ต้องการฉีดวัคซีนทั้งคนไทยและต่างด้าว จำนวน 11,000 คน ในจำนวนนี้ พบว่ามีต่างด้าวถูกตีกลับด้วย เพราะยังติดเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติที่ไม่สามารถระบุข้อมูลบุคคลได้แน่ชัด จึงมองว่าหากสามารถปรับระบบให้รองรับการฉีดวัคซีนได้แน่นอนทั้งคนไทยและต่างด้าว จะสามารถเร่งฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ผู้ที่ให้บริการที่สัมผัสกับผู้รับบริการก็คงต้องมีมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้งเพราะถ้าไม่มีแล้วจะสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ให้บริการ เป็นการสร้างความมั่นใจว่าไม่ต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่อีกรอบหนึ่ง โดยที่วัคซีนพาสปอร์ตจะเป็นตัวช่วยพื้นฐาน สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนต้องมีการเร่งคิวการฉีดวัคซีน ถ้าคนที่ไม่ได้ฉีดจริงๆ ยังมีทางออกในการใช้ผลตรวจATK ได้แทน ถึงแม้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังสัมผัสกับผู้มีความเสี่ยงสูงก็ควรมีการใช้ผลตรวจ ATK ควบคู่ด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ

ผู้ให้บริการอยากให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ตอนนี้มีหลายกิจการที่ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างสนามกอล์ฟหลายแห่งให้พนักงานฉีดวัคซีนครบทุกคน พร้อมทั้งใช้ชุดตรวจ ATK สัปดาห์ละครั้ง เป็นการดึงดูดให้ผู้เล่นกอล์ฟเข้าไปใช้บริการ ประชาชนหลายคนยังมีความกังวลในการเข้าไปใช้บริการต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหาร ที่สำคัญคือไม่ต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ทั้งเมือง คงต้องแลกด้วยเสรีภาพบางอย่าง จุดสำคัญคือต้องระดมการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด อย่างคนที่ทำงานตามร้านอาหารจะได้คิวฉีดวัคซีนที่เร็วขึ้น ก็ต้องดูว่ามีกิจการไหนที่ต้องรีบเปิดก็ต้องเร่งคิวให้มีการฉีดวัคซีนด้วย

ภาคเอกชนก็ยังมีความกังวลกับแผนจัดหาวัคซีนตัวใหม่ของกรมควบคุมโรคที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ เท่าที่ประเมินก็คงจะเป็นไปตามที่ประเทศต่างๆ ที่เดินไปก่อนหน้านี้แล้ว แม้กระทั่งประเทศที่มีการระบาดระลอกใหม่ก็ไม่ถึงกับล็อกดาวน์แบบ 100% คงจะเป็นการล็อกดาวน์บางส่วน หรือล็อกดาวน์เป็นคลัสเตอร์ไป โดยหลักๆ แต่ละกลุ่มก้อนที่จะมีการระบาดขึ้นเป็นคลัสเตอร์ที่มีการอยู่กันหนาแน่น ซึ่งก็มีทางออกในตัว เช่น กิจการโรงงาน ถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อขึ้นก็มีการทำบับเบิลแอนด์ซีล ภาครัฐก็อนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อได้ เพราะมีการป้องกันไม่ให้แรงงานออกมาปะปนกับคนภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการเอาเชื้อออกมาข้างนอก หรือรับเชื้อเข้าไปข้างในโรงงาน ถือว่าเป็นการดำเนินการควบคู่กันไประหว่างมาตรการสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าที่ต่างประเทศจะไม่ใช้นโยบายล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ เพราะรู้แล้วว่าโรคโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานต่อให้ล็อกดาวน์อย่างไรเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะอยู่กับโควิดได้ดีที่สุด คือการเพิ่มมาตรการเข้มข้นหรือระมัดระวังกันทุกคน

ประภัสสร รังสิโรจน์
นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด

มาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง ที่จะบังคับใช้กับร้านอาหาร ร้านเสริมสวย หรือร้านตัดผม ภายในห้างสรรพสินค้าในอนาคตซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น มองว่ารัฐบาลควรเริ่มจากการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานต่างด้าวให้ครบก่อน เพราะเท่าที่สำรวจหลายๆ ที่พนักงานเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก โดยเฉพาะในกลุ่มของสตรีทฟู้ด แต่ถ้าในกลุ่มของพนักงานบริการในห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เพราะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การเข้าถึงจะง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นร้านอาหารขนาดเล็กการเข้าถึงวัคซีนของพนักงานต่างด้าวให้ครบทั้ง 2 เข็มยังเป็นเรื่องที่ยาก

ทั้งนี้ มองว่ากรมอนามัยควรทำแบบฟอร์มให้ผู้ประกอบการทุกร้านกรอกข้อมูลเข้าไปว่าแต่ละร้านมีพนักงานต่างด้าวจำนวนเท่าไหร่ จะได้คำนวณในเรื่องของจำนวนวัคซีน และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะได้วัคซีนเมื่อไหร่ เมื่อรัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานครบจำนวนได้แล้ว ทางผู้ประกอบการก็พร้อมจะเปิดให้บริการอย่างเต็มที่ได้เลย

ส่วนข้อกำหนดดังกล่าวของกรมอนามัยส่วนตัวมองว่าส่วนใหญ่ตอนนี้ประชาชนยังได้รับการฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็มเท่านั้น หากเป็นไปได้ควรควบคุมในส่วนที่มีความพร้อมก่อน ยังไม่ควรบังคับใช้ทั้ง 100% ตามที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่ยังเป็นข้อสงสัยคือ หากมาตรการดังกล่าวบังคับใช้อย่างเข้มข้นแล้วจำเป็นที่จะต้องแสดงเอกสารให้ดูทุกร้านหรือไม่ว่าลูกค้าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แล้วคำถามต่อมาคือ วัคซีน 2 เข็มที่ฉีดมาสามารถการันตีได้ไหมว่าผู้ใช้บริการจะไม่เป็นพาหะนำมาแพร่เชื้อในสถานบริการได้ หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เชื่อว่าร้านอาหารก็ระวังตัวมากเทียบเท่ากับโรงพยาบาลแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการตรวจโควิดแบบ ATK ที่เพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ตรงนี้อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาของ ATK หรือการตรวจด้วยตนเองในวิธีต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานด้วย เพื่อลดต้นทุนให้กับร้านอาหาร และบริการอื่นๆ ที่ยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสาธารณสุขต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หากกรมอนามัยจะขยายข้อกำหนดดังกล่าวมาใช้กับร้านอาหารสตรีทฟู้ดทั่วไป อยากให้มองตามความเป็นจริง ข้อกำหนดดังกล่าวอาจยังไม่ค่อยสอดคล้อง หากจะให้ใส่ชุดพีพีอีในการให้บริการด้วย ในห้องแอร์อาจพอเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงหากแผนกครัวต้องใช้ชุดพีพีอีมองว่าไม่คล่องตัว รัฐอาจจะต้องมาหากลยุทธ์แบบอื่นมาปรับใช้ อาทิ ใส่หมวกคลุม ถุงมือ และหน้ากากอนามัยก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ต้องถึงขนาดใส่ชุดพีพีอีให้บริการ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับร้านอาหารเข้าไปอีก เพราะในเรื่องค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีหน่วยงานไหนที่จะช่วยซัพพอร์ตอีกด้วย แต่ยอมรับว่านโยบายที่ออกมาถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะปฏิบัติได้จริงไหมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในเรื่องดังกล่าวจะมีการนำเข้าไปหารือกับสมาคมต่างๆ ในวันที่ 8 กันยายนนี้ด้วย โดยเบื้องต้นจะมีกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร สตรีทฟู้ด ภัตตาคารร้านอาหารและบันเทิงที่มีเครือข่ายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มาหารือร่วมกันเพื่อสะท้อนปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงหลังจากคลายล็อก และข้อเสนอต่างๆ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมถึงจะมีการสะท้อนถึงปัญหาของกลุ่มนักดนตรี หรือสถานบันเทิงที่ถูกปิดไปด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้ภาคบริการอื่นๆ เช่นกัน

เมื่อหารือแล้วเสร็จจะนำปัญหาและข้อเสนอต่างๆ ส่งถึงศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลปฏิบัติได้จริงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image