วิพากษ์ปลดล็อก‘พิเศษ’ เลิก กม.ฉุกเฉิน-ยุบทิ้ง ศบค.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ ภาคธุรกิจ และแพทย์ กรณีรัฐบาลจะยุบศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยจะกลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ควบคุมโรคโควิด-19 แทน

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

กรณีที่รัฐบาลจะยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.นั้น เห็นด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารเรื่องโควิด-19 บ้าง เมื่อเห็นว่าผู้บริหารหรือหน่วยงานที่ไม่มีคุณภาพก็ควรเปลี่ยนหรือยุบไป

Advertisement

สำหรับ ศบค.ที่จัดตั้งขึ้นมานั้น เหมาะสมกับการบริหารจัดการ สถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ตอนนั้นไม่ได้มีสถานการณ์ที่รุนแรง แต่รัฐบาลก็ใช้แนวทางนี้ในการบริหารมาตลอด

รูปแบบประชาสัมพันธ์ของ ศบค. อาจจะเหมาะสมกับเมื่อปีที่แล้ว แต่ตอนนี้คนป่วยจำนวนมาก และมีคนกำลังจะตายอีก การแถลงแบบที่ต้องใช้จิตวิทยาอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะจิตวิทยามันเป็นเพียงยาหอม ที่ทำให้คนคลายกังวลได้ชั่วขณะ ถ้ายุบ ศบค. สำหรับผมคิดว่าน่าเสียดายและเสียโอกาสมาก

ที่เสียโอกาส เพราะรัฐบาลควรจะใช้ ศบค.เป็นศูนย์บริหารร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ จัดการประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำการแถลง รายงานสถานการณ์ผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาล ที่ใช้รายงานสดเกี่ยวกับข้อมูลโควิด-19 ว่าส่วนไหน พื้นที่ใดมีปัญหา จะได้ช่วยกันประสานงานได้ทันที

Advertisement

อีกด้านคือ เรื่องการบริจาค ซึ่งเจอกับตัวว่าอยากจะบริจาค แต่มันกลับไม่มีสถานที่ให้บริจาค ต้องผ่านองค์กรเอกชนอื่นๆ แทน

ดังนั้นควรให้ตั้งรับบริจาคกับศูนย์นี้โดยตรงไปเลย แล้วช่วยกระจายสิ่งของหรือความช่วยเหลือต่อไป ถ้าทำเช่นนี้ เราจะได้อะไรจาก ศบค.อีกเยอะแยะ จึงเห็นด้วยว่าให้ยุบ ศบค. และปรับรูปแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้

ส่วนเรื่องของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งมาตรา 5การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่จะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้

ต้องถามก่อนว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ มาใช้แก้ปัญหาอะไร จะมาช่วยเสริมในเรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกันแน่ ในการช่วยลดการรวมตัวชุมนุมทางการเมือง ซึ่งสรุปแล้วก็ไม่สามารถแก้ทั้งสองเรื่องนี้ได้เลย การชุมนุมยังเกิดขึ้นเป็นรายวัน จำนวนผู้ชุมนุมเยอะแยะไปหมด ด้านตำรวจเองก็จับกุมผู้ชุมนุม โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคระบาดมาจับแทน

ดังนั้น การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับดังกล่าว เห็นด้วยว่าดี เพราะที่ผ่านมา พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นอุปสรรคกับภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว หากเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่หนักมากจริงๆ ก็ควรใช้แต่ไม่ควรใช้ลากยาวแบบในปัจจุบันนี้

รวมทั้งมีการบังคับใช้ในพื้นที่กว้างเกินไป ทำให้งานด้านขนส่งลำบาก คนที่ต้องทำงานกลางคืนจะกลับบ้านอย่างไร ดังนั้นยกเลิกไปจะดีกว่า

การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ เห็นได้จากตัวเลขตลาดแรงงาน ที่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน ระบุว่าตั้งแต่ ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนแรงงานจดทะเบียนในประกันสังคม ตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 11,127,233 คนถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 และมีจำนวนใกล้เคียงกับในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งทำให้เห็นว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจำนวนการจ้างงานกำลังจะเพิ่มขึ้น

แต่ในเชิงจำนวนนั้นไม่เยอะมาก โดยมียอดของผู้เข้าประกันสังคมมาตรา 33 ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เพียง 77,720 คน ทำให้เห็นเป็นสัญญาณการเพิ่มขึ้น คิดเป็น 0.64% ของแรงงานทั้งหมดในมาตรา 33 ถ้าเปรียบเทียบกับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 มีคนหายไปจากระบบแรงงาน ในมาตรา 33 ถึง 607,118 คน ลดลงไป 5.14% ของแรงงานทั้งหมดในมาตรา 33 จึงสะท้อนว่าตลาดแรงงานมีการฟื้นตัว แต่เป็นแบบช้าๆ

ดังนั้นการคลายล็อกดาวน์ หรือการปรับรูปแบบของ ศบค. รวมทั้งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะช่วยทำให้กลุ่มคนว่างงาน 740,000 หรือคิดเป็น 1.9% และกลุ่มคนเสมือนว่างงาน 3,530,000 คน 9% ระบบแรงงาน (ข้อมูลในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน) มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้มากยิ่งขึ้น

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ประธานชมรมแพทย์ชนบท

รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนานแล้ว เพราะเดิมต้องการจะใช้ควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ก็ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากกฎหมายถูกใช้มากกว่าการควบคุมโรคโควิด บางส่วนถูกนำไปใช้เพื่อสกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่การควบคุมโรคใน พ.ร.บ.โรคติดต่อและกฎหมายอื่นปกติก็เพียงพอกับการทำหน้าที่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เราต้องมองโควิดเปลี่ยนไป มองถึงการอยู่ร่วมกันกับโรค

ต้องมองถึงเรื่องการเติบโตด้านเศรษฐกิจโดยสร้างความสมดุลควบคู่ไปกับการควบคุมโรคที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามทำก็ถูกต้องแล้ว ศบค.ต้องเลิกภารกิจและกลับมาใช้กลไกปกติบริหารจัดการ เชื่อว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ทำหน้าที่บูรณาการร่วมกับหลายกระทรวงได้

ประเมินว่าการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะมีแรงกดดันจากภาคเอกชนที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ถ้ายังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้ความรู้สึกของนักลงทุนนานาชาติต่อประเทศยังไม่ดี ไม่เกิดความเชื่อมั่น

ในอนาคตกระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องแบกรับภาระในการแก้ปัญหาโควิด โดยใช้กลไกของระบบราชการบริหารส่วนกลาง ขณะที่ส่วนภูมิภาคมีผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อนั่งหัวโต๊ะก็ทำหน้าที่บูรณาการหลายกระทรวงได้ ถือว่าลงตัวมีความสมดุลระหว่างแพทย์ที่มีหน้าที่ควบคุมโรคกับเจ้าหน้าที่สายอื่นที่มีมุมมองด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านสังคม ทำให้มาตรการหลายอย่างเข้มข้น

ยืนยันว่าในระดับจังหวัดสามารถทำงานได้ดีแต่ปัญหาน่าจะเกิดกับหน่วยงานในส่วนกลาง หากไม่มี ศบค.จะทำงานกันอย่างไร แต่ในข้อเท็จจริงก็มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหน่วยบูรณาการใหญ่ มีการแต่งตั้งกรรมการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็เชื่อว่าสามารถทำงานได้ แต่ส่วนตัวยังเป็นห่วงการแก้ไขปัญหาโควิดใน กทม. เพราะขนาดมี ศบค.ก็ยังยุ่งพอสมควร และเชื่อว่า กทม.จะเป็นโจทย์ยากต่อไปไม่ว่าจะมีศบค.หรือไม่

ส่วนที่มองว่าใกล้จะถึงเวลายุบสภา การที่รัฐบาลหรือพรรคพลังประชารัฐจะโละ ศบค. เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แล้วมอบอำนาจให้รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยเข้าไปกำกับดูแล เนื่องนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุป แต่เป็นการวิเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรียึดอำนาจในการแก้ปัญหาโควิดเอาไว้เองแล้วคลี่คลายสถานการณ์ได้จริงก็จะเป็นผลบวกทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ จึงเป็นผลเสียกับนายกรัฐมนตรี

ดังนั้นโอกาสข้างหน้าจึงท้าทายความสามารถของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขว่าจะจัดการปัญหาโควิดได้หรือไม่ ถ้าจัดการได้ดีก็เป็นฐานคะแนนเสียงที่ดี ถ้าทำไม่ได้ก็ลำบากพอสมควร และในแง่ของความเป็นวิชาชีพแพทย์ การทำงานโดยไม่มี ศบค.จะเหมาะสมกว่า เพราะ ศบค.ไม่มีความโดดเด่นในการจัดการโควิดเท่าที่ควร หากให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานเป็นหลักน่าจะสามารถทำงานได้เร็วกว่า ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอนในการนำเสนอ

การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบบฉุกเฉิน หลายฝ่ายไม่ทันตั้งตัว น่าจะมีความซับซ้อนพอสมควรจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจโยนผ้า จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะการฉีดวัคซีนมีความก้าวหน้ามากขึ้น สถานการณ์โควิดค่อยๆ ดีขึ้นแม้จะช้า การคืนบทบาทให้กระทรวงสาธารณสุขจึงถือว่าเป็นการเสียโอกาสของพรรคพลังประชารัฐ และจะเป็นบทพิสูจน์ว่านายอนุทินเอาอยู่หรือไม่ถ้าจัดการไม่ได้ก็ทำให้พรรคภูมิใจไทยเสียคะแนน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาไร้บทบาทอย่างมาก เสียชื่อพรรคประชาธิปัตย์ของภาคใต้

แต่การเลิก ศบค.ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเปิดประเทศภายใน 120 วันตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ เพราะรัฐบาลยังอยู่ แม้ว่าจะยุบ ศบค. แต่ผู้รับผิดชอบสูงสุดคือนายกรัฐมนตรี นอกจากจะเปลี่ยนใจประกาศใหม่ว่าชะลอการเปิดประเทศ รวมทั้งวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสก็ต้องทำให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2 เรื่องนี้เป็นสัญญาประชาคมที่รัฐบาลพูดไว้แล้ว ดังนั้นต้องพยายามทำให้ได้

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ก่อนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะต้องประเมินรอบด้าน หากสถานการณ์ผ่อนคลายก็ควรยกเลิกข้อกำหนดบางอย่างที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เช่น การห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ห้ามรวมตัวชุมนุมเกินกี่คน ขณะที่การควบคุมโรคติดต่อจะต้องมีมาตรการบางอย่างที่จะลดการระบาดของโรคหรือต้องการควบคุมโรคในวงจำกัด

ขณะที่การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็น่าจะเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรในภาพรวมถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ถือว่าลดความเสี่ยงในการระบาด

รวมทั้งแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง จึงมีการมอบอำนาจให้บุคลากรสาธารณสุขไปทำงานตามปกติ แต่ส่วนตัวยังต้องการรับฟังการชี้แจงเหตุผลของผู้มีอำนาจว่าสาเหตุที่แท้จริงที่จะต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีความเป็นมาอย่างไร

ส่วนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาก็คงคล้ายกับหลายประเทศ ช่วงแรกไม่ทราบว่าจะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ได้อย่างไร

จึงต้องใช้วิธีการที่ดูเหมือนขาดๆ เกินๆ พอสมควร เหมือนชุดข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และที่ผ่านมาผู้มีอำนาจควรให้เหตุผลว่ามีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกินจำเป็นกับการชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีโทษอาญาหรือไม่ หรือมุ่งจะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อเพื่อควบคุมโรคที่มีโทษน้อยกว่า ส่วนตัวไม่อยากบอกว่าเป็นความล้มเหลว เพราะเป็นการกล่าวหาที่หนักเกินไป

อย่าลืมว่าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดเมืองใน 120 วัน ภายในเดือนตุลาคมนี้ ถ้าจะเปิดจริงแล้วมีมุมมองจากนอกประเทศยังเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีจากข้อจำกัดหลายด้านทั้งการเดินทาง การกำหนดเคอร์ฟิว

ดังนั้นหากจะเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินค้ำยันเอาไว้จึงเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง ส่วนจะมองไปข้างหน้าว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะมีวิกฤตจากเชื้อกลายพันธุ์อีกหรือไม่ จะต้องฉีดวัคซีนรวมทั้งหมดกี่เข็ม ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตามในโลก สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนอยู่รอดปลอดภัย จะต้องอยู่ที่การวางแผน และการตัดสินใจอย่างทันท่วงทีของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่รอให้โชคชะตาเป็นผู้กำหนด

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้วได้ใช้มาตรการที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุด ถ้าอัตราการตายลดลงก็หมายถึงการควบคุมทำได้ดี

ดังนั้นหากอำนาจหน้าที่กลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข ก็คงจะได้ดูฝีมือว่า วิชาชีพแพทย์และบุคลากรในองคาพยพทั้งหมด จะมุ่งทำงานตามหลักวิชาการ เพื่อควบคุมโรคตามทฤษฎีระบาดวิทยา มากกว่าการทำงานเพื่อเล่ห์กลทางการเมืองหรือไม่ เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image