นักวิชาการส่องทิศทาง ‘พปชร.’ในกำมือ‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุนักวิชาการวิเคราะห์สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลด 2 รมต.พรรคจะส่งผลให้ต้องมีการปรับโครงสร้างภายในอีกครั้ง รวมทั้งมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

พรรค พปชร.จะไปทิศทางไหนอยู่ที่ท่าทีทางการเมืองของพี่น้อง 3 ป. ประการแรกหากจะบริหารจัดการในพรรคโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค ให้ช่วยทำงานต่อไป แต่ถึงที่สุดไม่มีใครมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรับเงื่อนไขได้หรือไม่หากรับได้โครงการสร้างพรรคจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ประเมินว่าความเป็นไปได้มีน้อยมาก นอกจากนั้นการปรับโครงสร้างพรรค พล.อ.ประยุทธ์อาจจะคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วเข้ามาทำพรรคการเมืองใหม่ เพื่อลดบทบาทของ พล.อ.ประวิตร ประเด็นนี้ต้องดูก่อนว่าพรรค พปชร.มีการปรับโครงสร้างของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ หากปรับแล้วเห็นบทบาทของ พล.อ.ประวิตรลดน้อยลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรคแล้วทำให้กลุ่มนักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์มีความโดดเด่นหรือไม่

Advertisement

หากดูท่าทีทางการเมือง 2-3 วันที่ผ่านมา จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เริ่มมีบทบาทขึ้นมาพร้อมกับ พล.อ.อนุพงษ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และดูเหมือนจะให้ความสำคัญกลุ่มสามมิตร สัญญาณแบบนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจเข้ามาบริหารพรรคด้วยตัวเอง เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค หากดูจากการผ่านร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทำให้ความได้เปรียบกลับไปอยู่ที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ แต่สถานการณ์ขณะนี้พรรค พปชร.ไม่ได้ถูกมองว่าอยู่สถานะพรรคใหญ่หากไม่มี ร.อ.ธรรมนัส ดังนั้น พรรคอาจเสียเปรียบ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะอาจเป็นทางลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าแพ้การเลือกตั้ง ขณะที่บทบาท ส.ว.หากดูจากการลงมติผ่านร่างวาระ 3สะท้อนว่า ส.ว.ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทำให้มีผลต่อการลงมติในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งหน้า

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังความขัดแย้งในพรรคมีการปลด 2 รัฐมนตรีในพรรคที่หนุนตัวเอง ดังนั้น ต้องปรับ ครม.เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมือง ปรับเปลี่ยนเพื่อการกระชับอำนาจ และปรับความสัมพันธ์ภายในพรรค พปชร.หากกลุ่มสามมิตรได้โควต้าว่างจาก 2 รัฐมนตรีช่วย ก็เป็นไปตามการประเมินว่ากลุ่มนี้เริ่มเข้ามีบทบาทแทนกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสมากขึ้น หรืออาจจะปรับสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองต่อไป โดยเฉพาะการปรับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อเปิดทางให้กับอดีตข้าราชการเกษียณรายหนึ่งที่มีบารมีในแวดวงข้าราชการมหาดไทยเข้าสนามการเมือง โดยโยกโควต้าของพรรคร่วมเพื่อประคับประคองอำนาจและเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2565

นอกจากจะแก้ปัญหาในพรรค พปชร. ในเส้นทางการเมืองหาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะไปต่อ ก็ต้องซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้มีการปรับโควต้า รมต.ให้ลงตัวมากยิ่งขึ้นในบางกระทรวง ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่อยากลงจากอำนาจก็ต้องสร้างพันธมิตรไว้ล่วงหน้า

Advertisement

วิโรจน์ อาลี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเปลี่ยนแปลงในพรรค พปชร.มีความเป็นไปได้ในหลายมิติ แต่ถ้าหาก พล.อ.ประวิตรยังทำหน้าที่หัวหน้าพรรค โดยปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ขาลอยเหมือนเดิม สิ่งที่ต้องเร่งทำคือการเสาะหาขุนพลคนใหม่ ที่สามารถดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองเหมือนที่ ร.อ.ธรรมนัสทำได้ หรือในรูปแบบต่อมา พล.อ.ประวิตรอาจจะถอดใจลาออกจากหัวหน้าพรรค จากนั้นอาจจะเห็นนายกฯลงมามีบทบาทบริหารพรรคด้วยตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะการลงพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเดิมของกลุ่ม ส.ส.ที่แสดงตัวจงรักภักดีจะต้องมีการเชื่อมประสานให้ลงตัว แต่ถึงที่สุด พปชร.จะต้องหาขุนพลมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคที่สามารถทำงานได้ทันที ขณะที่แนวทางในการปรับเปลี่ยนพรรคอาจจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ลงมาทำงานด้วยตัวเอง แต่มีโอกาสยากมาก มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะไม่น่าจะมีความสามารถเพียงพอ เพราะด้วยทัศนคติแบบเดิมที่มีต่อนักการเมือง และลักษณะส่วนตัวคงจะไม่ชอบหากการทำงานจะต้องมีการต่อรองเกิดขึ้น

หัวใจสำคัญของพรรคต้องดูว่าจะมีตัวแทนจากมุ้งไหนขึ้นมารับหน้าที่หัวหน้าพรรคเลขาฯพรรค โดยมีบารมีมากพอ เป็นบุคคลที่ พล.อ.ประยุทธ์ไว้วางใจว่าไม่มีการหักหลัง ส่วนรอยร้าวที่เกิดขึ้นหลายวันก่อนทำให้ความไว้วางใจระหว่าง พล.อ.ประวิตรที่มีกับ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะน้อยลงจากหลายปัจจัย ในที่สุดมีโอกาสสูงพอสมควร ที่อาจเห็น พล.อ.ประวิตรออกจากการทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ปัญหาที่น่าขบคิดต่อไปต้องดูว่าใครจะเข้ามารับช่วง ดังนั้น พรรค พปชร.จะต้องมีความเปลี่ยนแปลง คงไม่แช่แข็งปล่อยบรรยากาศแบบเดิมไว้นานเกินไป แต่เบื้องต้นหากจะเปลี่ยนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสลาออกจากรัฐมนตรีก็เพียงพอแล้ว เพื่อรักษาน้ำใจไปอีกระยะก่อนจะขยับขยาย แต่มีสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ว่าเลขาธิการพรรคไม่ต้องให้เป็น แต่ ร.อ.ธรรมนัสก็พร้อมที่จะกลับไปสู่ฐานที่มั่นใน จ.พะเยา รวมทั้งการแย้มอนาคตทางการเมืองด้วยการตั้งพรรคใหม่ เชื่อว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 โดยไม่มีปัญหากับการใช้บัตร 2 ใบ จะเป็นโอกาสที่ดีของพรรคการเมืองขนาดเล็กที่สามารถพึ่งพา ร.อ.ธรรมนัสได้

สำหรับโอกาสของการยุบสภาไม่ใช่ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ และอยากอยู่ยาวต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าใจยังสู้ จะพาบ้านเมืองไปให้ตลอดรอดฝั่ง และต้องรอให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองดีกว่านี้ ส่วนเหตุผลเดียวที่จะมีการยุบสภาเร็วสุด หากสมมุติมีปัญหาแตกร้าวระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ ร.อ.ธรรมนัส ในจุดที่มีการขับนักการเมืองออกไปสังกัดพรรคอื่น ตรงนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสั่นคลอนเป็นจังหวะและโอกาสในการยุบสภา

วันนี้ปัญหาสั่นคลอนภายในพรรค พปชร.สะท้อนถึงมุมมองของบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีสนับสนุนวาทกรรมปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง หลัง 7 ปีผ่านไปไม่ได้ปฏิรูปอะไร การเมืองไม่ได้ดีขึ้นนอกจากปฏิรูปไปในทิศทางที่ผู้มีอำนาจพึงพอใจ

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

ต้องเข้าใจโครงสร้างของพรรค พปชร.ก่อนว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ ณ ช่วงหนึ่งมีเป้าหมายเฉพาะคือ การสืบทอดอำนาจรัฐประหารปี 2557 เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย (กลุ่ม 3 ป.) อยู่ต่อได้คือพี่ใหญ่ พี่รอง น้องเล็ก จึงจำเป็นต้องอาศัยกลุ่มต่างๆ ที่เป็นนักเลือกตั้ง ทั้งฝั่งอีสาน ภาคเหนือ จะพบว่า พปชร.อยู่ได้ด้วยการประสานงานข้ามกลุ่มต่างๆ จุดนี้ทำให้คนที่ทำงานหลังบ้านอย่างเลขาธิการพรรคสำคัญมาก โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัสมาเป็นเลขาธิการพรรค เป็นคนคุมเกมจะเข้าถึงคือ พล.อ.ประวิตร จะพบ ร.อ.ธรรมนัสจะวิ่งเข้าหา พล.อ.ประวิตรอยู่ตลอด จนก่อนจะเกิดเรื่องกับ พล.อ.ประยุทธ์ หากจำเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้วได้ ร.อ.ธรรมนัสเข้าไปสั่งการ แทนที่จะเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยก็เริ่มมีกระแสแล้วว่า หรือนี่เป็นการพยายามประลองกำลังในกลุ่ม 3 ป. คือ พล.อนุพงษ์

ครั้งล่าสุดคือการประลองกำลังกับ พล.อ.ประยุทธ์ ปัญหาคือ ร.อ.ธรรมนัสก็มีความเข้มแข็งในกลุ่มของตนเองอยู่ คนที่ใกล้ชิดไม่ได้มีเพียง ศ.นฤมล แต่รวมไปถึงวิปรัฐบาล และกระเป๋าตังค์ของ พปชร.ด้วย นั่นคือนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นกลุ่มเดียวกันอีก แต่เกิดการหักหลัง จาก “4 ช.” สุดท้ายเหลือแค่ “2 ช.” ทำให้เห็นภาพว่า การประลองกำลังของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อล้ม พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นการประลองเพื่อให้ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำให้กลุ่ม ส.ส.ของ พปชร.เข้าไปมีตำแหน่งมากยิ่งขึ้น

หากเทียบสถานการณ์ ถ้า ร.อ.ธรรมนัสชนะ อาจไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาล แต่สามารถปรับ ครม.ได้ เช่น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง มท.1 โดยให้ พล.อ.อนุพงษ์ออก แล้วเอา พล.อ.ประวิตรควบ มท.1 แทน คนที่จะเข้าไปสั่งการจริงๆ ก็คือ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเข้าถึงพล.อ.ประวิตร แต่ปรากฏการณ์ก็ไม่เป็นอย่างที่ ร.อ.ธรรมนัสคาดคิด เกิดการหักหลังภายในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสเอง ทราบจากการที่ ร.อ.ธรรมนัสแถลงข่าวว่าพรรคแตกยิ่งกว่าสังคมอีก แล้วพบว่ามีบางคนหักหลัง ไม่อยากเข้าไปเหยียบที่ทำการพรรค ที่ทำการพรรคก็เป็นตึกของนายสันติ สุดท้ายต้องมีการทําอะไรสักอย่างกับ ร.อ.ธรรมนัส

ประเด็นคือ ทำไมจึงมี ศ.นฤมลพ่วงไปด้วย ณ จุดนี้จะพบว่า นี่คือความพยายามเตือน ส.ส.ฝั่งข้างกาย พล.อ.ประวิตร ว่าอย่าล้ำเส้นแบบนี้อีกคล้ายเป็นการบอกพี่ชายกรายๆ ด้วยว่าไม่ควรทำอย่างนี้ สะท้อนว่านายกฯกำลังจัดกระบวนทัพไม่ใช่แค่ในรัฐบาล แต่เขย่าไปถึงในพรรค พปชร.ด้วย

การเอา ร.อ.ธรรมนัสออกไป ไม่ได้ทำให้ 3 ป.แตกออกจากกัน แต่จะยิ่งมีความใกล้ชิดกันหากสังเกตดีๆ หลังจากนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใน ครม. อาจมีการเอาคนเข้าไปเติม หรือปรับทั้ง ครม. ซึ่งตอนนี้เดือน 9 แล้ว ข้าราชการชั้นปลัดกระทรวงหลายท่านกำลังจะเกษียณ การปรับ ครม.ครั้งนี้จะเห็นการกระชับอำนาจอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเอาใครมาแทน ร.อ.ธรรมนัส หรือเอาปลัดกระทรวงบางคนเข้าไปอยู่ใน ครม.เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งเมื่อมีการยุบสภา เพราะตอนนี้สัญญาณเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชัดเจนแล้วว่าได้แก้ และการแก้ระบบเลือกตั้ง เป้าหมายก็เพื่อการเลือกตั้งซึ่งอยู่ไม่ไกล จึงคาดการณ์ได้ว่าจะมีการยุบสภาอย่างแน่นอน แต่ต้องให้ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” เรียบร้อยก่อน ณ เวลานี้เหลือเพียงเลือกตั้ง อบต., ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จะเป็นการกระชับอำนาจก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

จากปรากฏการณ์นี้ ทำให้เห็นการเมืองภาพใหญ่ว่า ไม่ได้ทำให้ พปชร.อ่อนแอลงขนาดนั้น แต่เป็นการส่งสัญญาณให้นักเลือกตั้งใน พปชร.ด้วยว่าใครเป็นคนที่มีอำนาจจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image