ย้อนตำแหน่ง “เลขาสมช.” ตำนานหอกข้างแคร่รบ. สู่ “นายพล” ข้ามห้วย ยุคประยุทธ์

ย้อนตำแหน่ง “เลขาสมช.” ตำนานหอกข้างแคร่รบ. สู่ “นายพล” ข้ามห้วย ยุคประยุทธ์  

ครม.มีเห็นชอบชื่อ “เสธ.ไก่” พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นเลขาธิการสมช. คนใหม่ แทน “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นปีงบประมาณนี้ ตามที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติแต่งตั้ง

โดยชื่อ นางศิริวรรณ สุคนธมาน รองเลขาฯสมช. อาวุโสสูงสุด ที่ตามไลน์มีโอกาสขึ้นเลขาฯ ที่ประชุมสมช.รับทราบ โดยพล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่า จะแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ตำแหน่งเทียบเท่าซี 11 แทน เพื่อชดเชยการมาของ พล.อ.สุพจน์ 

มีรายงานข่าว จากที่ประชุมสมช. คราวที่เสนอชื่อ พล.อ.สุพจน์ มา แทน พล.อ.ณัฐพล โดยอ้างคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอโทษ นางศิริวรรณ ด้วย ที่ให้ขึ้น “บัญชาการที่ตึกแดง” เป็นหัวหน้าส่วนที่เธอเติบโตมาในชีวิตราชการนี้ไม่ได้

  • ย้อน 6 เลขาฯสมช. ยุค พล.อ.ประยุทธ์  

“เสธ.ไก่” พล.อ.สุพจน์ ถือเป็นนายทหารคนที่ 5 ติดต่อกัน ที่รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โยกขาดจาก “เหล่าทัพ” มาเป็น “ข้าราชการพลเรือน” ในนั่งตำแหน่งนี้

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ปี 2558 “บิ๊กแอ๊ว” พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ข้ามห้วยจากผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ทหารช่าง) กองบัญชาการกองทัพไทย มาเป็นเลขาธิการสมช.

ปี 2560 “บิ๊กวัลลภ” พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ข้ามห้วยจากผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม มาเป็นเลขาธิการสมช.

ปี 2562 “บิ๊กอั๋น” พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ข้ามห้วยจากรองปลัดกระทรวงกลาโหม มาเป็นเลขาธิการสมช.

Advertisement

ปี 2563 “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ข้ามห้วยจากรองผบ.ทบ. ที่จำต้องเปิดทางให้  “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ นายทหาร “คอแดง” รับไม้เก้าอี้ผบ.ทบ. ต่อจาก “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

มีเพียง นายอนุสิษฐ คุณากร คนเดียวเท่านั้นที่เป็นพลเรือน เป็นลูกหม้อสำนักงานฯ ที่รัฐบาลประยุทธ์ได้แต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ หลังการเกษียณอายุของ นายถวิล เปลี่ยนศรี เมื่อปี 2557 ที่กลับมาทำหน้าที่นี้อีกครั้ง เพราะคำสั่งศาลปกครอง

  • กุนซือความมั่นคง ที่ “นายกฯ” ต้องไว้ใจ

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2559 สภาความมั่นคงแห่งชาติ ถือเป็นหน่วยขึ้นตรงนายกฯ

มีหน้าที่ “บูรณาการด้านการข่าวกรอง” เพื่อให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงต่อนายกฯ ครม. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคง

บริหารงานโดยรูปแบบกรรมการ หรือบอร์ด มี นายกฯ เป็นประธาน รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นรองประธาน มีสมาชิก ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมว.การคลัง รมว.การต่างประเทศ รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ เลขาธิการสมช. เป็นทั้งสมาชิก และเลขานุการ

ด้วยโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ ตำแหน่งเลขาฯสมช.ถือว่า มีบทบาทความสำคัญอย่างสูงต่อความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงของรัฐบาลนั้นๆด้วย

จะเห็นได้ว่าเกือบจะทุกครั้ง ภายหลัง “เปลี่ยนขั้วรัฐบาล” มักจะมีการ “เปลี่ยนตัวเลขาฯสมช.” ด้วย

เพราะด้านหนึ่ง เมื่อเป็นเครื่องมือเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล แต่หากไปอยู่ในการกำกับของคนจากฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะเป็นภัยแก่ฝ่ายตนเองได้เช่นกัน

จึงไม่แปลกที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ จะเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งนี้ จาก “ความไว้วางใจ” เป็นอันดับแรก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกวิธี “รวบอำนาจ” รวมศูนย์การแก้วิกฤต มาไว้ที่ตนเอง โดยวางตำแหน่ง “เลขาฯสมช.” ให้มี “บทนำ” ในแก้โควิดใน จนเกินหน้าพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างที่เห็นชัดๆในยุค “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ COVID-19 ที่แทบจะออกหน้า ทำการแทนได้เกือบทุกเรื่อง

ฉะนั้น “สเปก” เลขาฯคนใหม่ จึงต้อง “รู้มือรู้ใจ” ได้รับการยอมรับจากคนเป็นนายกฯเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นับจากตั้งแต่ สภาป้องกันพระราชอาณาจักร ก่อนเปลี่ยนมาเป็น สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในปี 2502 มีเลขาฯมาแล้ว 23 คน

ใน 23 คนนี้ มีไม่ถึง 5 คนที่ได้ชื่อว่า เป็น “ลูกหม้อ” เป็นคนในที่เติบโตหน้าที่การงาน จากสำนักงานฯ นอกจากนั้น เป็น “คนนอก” โดยถูกเลือกมาจากเหตุผลเรื่อง “ความไว้วางใจ” แทบจะเป็นส่วนใหญ่

แม้แต่ในยุค นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ที่ได้ชื่อว่า เป็น “ปลัดประเทศ” ยังโอน นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ ย้ายเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้

  • ตำนานหอกข้างแคร่รบ.- ไส้ศึกฝ่ายตรงข้าม 

ย้อนกลับไปในอดีต มีบทเรียนที่ชี้ให้เห็นว่า ตำแหน่งเลขาสมช. เป็นทั้งโล่และหอก รวมไปถึงเป็นหอกข้างแคร่ในทางการเมืองด้วย

อย่างในยุคที่ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นเลขาสมช.ให้รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการรัฐประหาร ก็ถูกครหาว่าไม่ช่วยรัฐบาล มิหนำซ้ำยังอยู่ในตำแหน่ง ทำงานให้รัฐบาลเผด็จการต่อไปอีกหลายปี

หรือในยุคที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ช่วยค้ำยันรัฐบาล จากทหารบางกลุ่มที่พยายามรัฐประหาร พล.อ.เปรม หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จน น.ต.ประสงค์ ได้ฉายาติดตัวว่าเป็น CIA เมืองไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนในช่วงเกือบๆ 20 ปีของความขัดแย้งทางการเมืองไทย หลังรัฐประหารปี 2549 ถือเป็นช่วงที่ชัดเจนที่สุด

เพราะนับตั้งแต่ นายทักษิณ ชินวัตร รู้ความจริงว่า “บิ๊กตุ๋น” พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาฯสมช.ที่ทำงานให้รัฐบาลตนเอง กลับสมคบคิดร่วมกับเพื่อนเตรียมทหาร รุ่น 6 ทำการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ทั้งยังมีบทบาทถึงขนาดเป็น เลขาธิการของคณะรัฐประหาร เป็นผู้ตั้งชื่อคปค. ชื่อคณะรัฐประหารด้วย ตำแหน่งนี้จึงกลายเป็นจุดขับเคี่ยวสำคัญทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ

เรื่องนี้ นายทักษิณ ยอมรับตรงๆในคลับเฮ้าส์กับ พี่โทนี วู้ดซัม ว่า เป็นความโง่ของตนเองที่แต่งตั้งคนรุ่นเดียวกันคุมหน่วยงานความมั่นคงแบบยกแผง

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ เมื่อรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้งในปี 2551 จึงสรุปบทเรียนจากกรณี พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลือกย้าย พล.ท.ศิรพงศ์ บุญพัฒน์ คนที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตั้งไว้ออก แล้วดึง พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 กับ นายทักษิณ ขึ้นเป็นเลขาฯ สมช.แทน

ในปี 2552 รัฐบาลสมัครล้ม เพราะรายการชิมไปบ่นไป มีการสลับขั้ว จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เพราะไม่ไว้วางใจยี่ห้อรุ่น 10 ไปดึง นายถวิล เปลี่ยนสี ที่ถูกรัฐบาลสมัครย้ายสมัยเป็นรองเลขาฯสมช. กลับมาทำหน้าที่แทน

ปี 2554 เปลี่ยนขั้วอีกครั้ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง เข้าบริหารได้ไม่กี่วัน นายถวิล เปลี่ยนสี ก็ถูกย้ายทันที เพราะถูกมองเป็น “ศัตรู” จากเหตุสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเลขาฯศอฉ.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผอ. รับรู้วางแผนจนมีคนเสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บหลายพันรายคน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นเลขาฯสมช. โดยดึง “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร รองเลขาฯสมช. ที่ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ย้าย กลับมาในตำแหน่งเดิม วางตัวไว้ขึ้นเลขาฯ

ขณะนั้น นายถวิล รู้สึกไม่เป็นธรรม ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ โยกไปเป็นที่ปรึกษานายกฯโดยมิชอบ สู้คดีจน พล.ท.ภราดร ขึ้นเป็นเลขาฯสมช. เกิดกปปส.ชุมนุมไล่รัฐบาลต่อเนื่องหลายเดือน นายถวิลห้อยนกหวีด ออกมาขึ้นเวทีเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ร่วมกับ นายสุเทพ ชูบทเด่น เป็นบุคคลที่ถูกตระกูลชิน กลั่นแกล้ง

ต่อมา ศาลปกครองมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คืนตำแหน่งให้ และผลจากคดีนี้ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯรักษาการ หลังจากการยุบสภา และในที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นายถวิล กลับสู่ตำแหน่ง และเกษียณอายุในอีกไม่กี่เดือนถัดมา

  • ปฏิรูปไม่มีจริง “คนใน” ยังเป็นตัวเลือกอันดับรอง 

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่รัฐบาลประยุทธ์ ย้ายคนนอกจากที่อื่นมานั่งในตำแหน่งนี้ มักจะเสียงวิจารณ์โดยยกกรณีรัฐบาลเพื่อไทย ย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จนเป็นเหตุให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องพ้นจากนายกฯรักษาการ มาเป็นตัวอย่างทุกครั้ง จนกระทั่งมาถึงการแต่งตั้งหนนี้

ที่เป็นประเด็นร้อนที่สุด ก็เมื่อครั้ง นายอนุสิษฐ คุณากร ลูกหม้อที่รับไม้ต่อ จาก นายถวิล จะเกษียณอายุราชการในปี 2558 ความฝันที่จะผลักดัน “คนใน” ขึ้นรับตำแหน่งเป็น “ไม้ที่ 3” หลังจากการต่อสู้ของนายถวิลก็ถือว่าจบ บุคลากรที่ทำงานเป็นลูกหม้อในองค์กรจะได้เติบโตตามสายงานก็ยังเป็นเพียงความเชื่อ

เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จากการรัฐประหาร ที่อ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปก็เลือกคนนอก ยึดแนวทางก่อนๆหน้านั้น คัดจากคนที่ตอบโจทย์งานของรัฐบาลอย่างที่เคยปฏิบัติมา

จนมีข่าวว่าที่ “ไม้ที่ 3”ในขณะนั้นคือ นางกนกทิพย์ รชตะนันทน์ ภรรยา พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ปัจจุบันเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เสียใจยื่นใบลาออก สุดท้ายต้องช่วยกันปลอบ นายกฯใช้วิธีแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เทียบเท่าซี 11 เหมือนกับกรณีนี้

ทั้งๆที่ก่อนจะเกิดเรื่องของนางกนกทิพย์ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีจุดยืนในการพิจารณาผลักดันคนในได้เติบโตมาโดนตลอด

แต่จากวันนั้นสู่วันนี้  “คนใน” ก็ยังเป็นตัวเลือกอันดับรอง โดยที่เสียงทัดทานที่ดังขึ้นจากคนในก็แผ่วลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เลขาสมช.ที่เป็นคนนอก เป็นคนที่ 5 แล้ว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับด้วยว่า เรื่องนี้กฏหมายเปิดช่องไว้ ให้การแต่งตั้งซี 10 หรือ 11 ยังเป็นอำนาจของครม.ที่ฝ่ายการเมืองมีสิทธิตามกฎหมาย

ยิ่งตำแหน่งที่สำคัญขึ้นตรงต่อนายกฯ มีผลต่อความมั่นคงของประเทศและรัฐบาล จึงต้องเฟ้นหาเป็นพิเศษ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความไว้วางใจ หรือไม่ว่าจะย้ายมาเพราะเป็นส่วนเกินจากโผทหารในยุคพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมดสะท้อนว่า การต่อสู้ในการปฏิรูปเพื่อ “คนใน” สำนักงานสมช.ยังไม่เกิดขึ้นจริง

แม้ว่า ความพยายามของ นายถวิล ในเชิงปัจเจกอาจจะประสบความสำเร็จ แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริง ส่งไม้ต่อได้เพียง นายอนุสิษฐ คุณากร คนเดียวเท่านั้น

นี่จึงทำให้การต่อสู้ของ นายถวิล ในอีกมุมหนึ่ง จึงถูกครหาตามมาด้วยว่า เป็นเพียง “หมากสำคัญ” ตัวหนึ่ง

ในแผนการยึดอำนาจซ้ำรอบ 2 ล้มรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image