พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ‘หันหน้าแลหลัง’อัพเกรดส่งออก

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ‘หันหน้าแลหลัง’อัพเกรดส่งออก หมายเหตุ

หมายเหตุหนังสือพิมพ์มติชน จัดงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” วันที่ 22 กันยายน 2564 รูปแบบ Live Streaming โดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย หนึ่งในภาคเอกชน ที่จะพูดถึงว่ามีมุมมองอย่างไรในฐานะผู้ส่งออก กับความหวังเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์การส่งออกนั้น จริงๆ เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเราเจอสถานการณ์โควิด แต่การส่งออกไม่ได้เลวร้าย ตัวเลขถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ เราตกต่ำน้อยที่สุด แต่ปัญหาจริงๆ คือการดิสรัปชั่นมากกว่า เช่น การชัตดาวน์โรงงานหยุดผลิต การขนส่งได้รับผลกระทบ เรือขนสินค้ากับตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างอยู่ท่าเรือปลายทางเยอะมาก จนเข้าปลายปีที่แล้ว สำหรับตลาดส่งออกหลักของเราไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเหนือ และยุโรป จีน เริ่มคลายตัวต้นปีนี้มาต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกเติบโตรวดเร็วมาก จากตัวเลขเมื่อเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ขึ้นสูงมาก จนมาสิงหาคม บวกถึงกว่า 21% หักกลุ่มสินค้าทองและพลังงาน บวกถึงกว่า 25 % ก็ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตในทิศทางที่ดี

ดังนั้น ทิศทางของปี 2564 ต้องยอมรับก่อนว่า เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบ้านเราเกือบทั้งหมด ยังติดชะงักอยู่พอควร และการส่งออกเป็นตัวหลัก อาจมีหลายท่านบอกว่าจีดีพีไม่ได้โต จึงต้องการส่งออกไปมาก อย่าลืมว่าในวันนี้ทุกกรณี เราต้องรักษาการส่งออกของบ้านเรา และก็อย่าให้ต่ำกว่า 50% เพราะว่าเราเป็นประเทศที่อยู่ในจุดภูมิเศรษฐศาสตร์ ที่เหมาะสมมากในการส่งออก เนื่องจากเรามีความพร้อม เรามีผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ในแง่วัตถุดิบที่สามารถแปรรูป ไปสร้างมูลค่าในการส่งออก เสริมสร้างรายได้ให้ภาคประชาชน และภาคเกษตรกรอยู่เยอะ ไปช่วยพยุงราคา ช่วยให้เกษตรกรมีความหวัง เราจะสังเกตเห็นว่าช่วงหลังมีสินค้าเกษตรปรับตัว ในแง่ผลผลิตคุณภาพ ที่จะมาสอดคล้องกับการส่งออก ดังนั้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยต้องรักษาการส่งออกไว้อยู่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากสินค้าบ้านเรา

เชื่อว่าในปี 2565 เราจะต้องโตต่อไป อัตราการโตของการส่งออกในเดือนสิงหาคม-ตุลาคมปีนี้ จะขยายได้ถึง 2 หลักอยู่ อาจจะ 20% บวกลบนิดหน่อย เว้นเดือนพฤศจิกายนอาจชะลอตัวนิดหนึ่งและเดือนธันวาคมอาจชะลอบ้าง เนื่องจากใกล้เทศกาลรื่นเริงของประเทศทั่วโลก ที่ปกติจะสั่งล่วงหน้าก่อนหยุดปีใหม่ 1-2 เดือน ซึ่งตอนนี้เขาสั่งของมีครบถ้วนหมดแล้ว ผมเชื่อว่าในเดือนกันยายน-ตุลาคม ยังดีอยู่มาก

Advertisement

ในปีหน้าผมมั่นใจว่ายังโตได้ ถ้าในสถานการณ์ที่รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีน สิ่งหนึ่งที่ทางหอการค้าไทยผลักดันตลอดเวลาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การแบ่งสรรวัคซีน โดยด่วนให้กับภาคแรงงาน เราต้องแยกเป็น 3 ภาค ได้แก่ 1.ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม 2.ภาคของแรงงาน ทั้งไทยกับต่างด้าว เราอาศัยต่างด้าวเยอะมากในขณะนี้ 3.ภาคเกษตรกร สามารถรวมกับภาคชุมชนได้

ที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มวัคซีนในภาคประชาชนกับประชาสังคมอยู่เยอะพอควร แต่ว่าภาคแรงงาน ตัวเลขในสิ้นเดือนสิงหาคม เพิ่งจัดหาวัคซีนให้กระทรวงแรงงาน 2.5 ล้านคน ในมาตรา 33 ของประกันสังคม ซึ่งจริงๆ มีถึงเกือบ 11 ล้านคน และต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย 1 ล้านกว่าคน แต่ยังมีต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแต่อยู่นอกระบบประกันสังคมอีกเป็นล้านเหมือนกัน และมีแรงงานสีเทา สีดำ ตอนนี้ทางรัฐบาลพยายามปรับให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อที่จะหยุดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเรารีบจัดวัคซีนดีๆ เพื่อผลักดันภาคการผลิต และการส่งออก

ภาคการผลิตสำคัญ เพราะว่า 1.ไม่ใช่แค่การส่งออกอย่างเดียว 2.ช่วยจัดการแปรรูปสินค้าเกษตร และสินค้าอาหาร และวัตถุดิบในประเทศไทย ที่คนไทยและเกษตรกร ชาวบ้านจะได้เอามาสร้างมูลค่าให้เขา ไปซื้อเขาได้ 3.ผลิตมาเพื่อไม่ให้การบริโภคภายในขาดแคลน เพราะฉะนั้นในภาคการผลิต แรงงานเป็นสิ่งสำคัญ เราเชื่อว่า ถ้าภาคการผลิตกลับมาเข้มแข็งขึ้น เรายอมรับว่าการระบาดช่วง 3 เดือนหลังมีผลกระทบต่อการผลิตเยอะ ในจังหวัดที่มีแรงงานเยอะ ต่างด้าวอยู่เยอะ ระบาดพอควร มีการหยุดชะงัก มีการดิสรัปชั่นเกิดขึ้นมาดังนั้นควรเร่งเรื่องวัคซีน

Advertisement

สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมอาหาร ยังดีทุกกรณีแต่ประเทศไทยยังต้องหาจุดเด่นของตัวเอง ต้องยอมรับก่อนว่าเราไม่มีจุดเด่นเรื่องของสิงค้าไฮเอนด์, เอไอ, หุ่นยนต์ ทุกอย่าง หรือสินค้าเทคโนโลยี เราเพิ่งเริ่ม สิ่งที่รัฐบาลผลักดันมาดีมากคือ อีอีซี 4.0 แต่พวกนี้มันต้องใช้เวลา

ในขณะเดียวกันพวกที่เข้ามาลงทุนในช่วงแรกอย่างมากคือ ชาวต่างชาติอยู่เยอะ ดังนั้น ต้องมีเวลาในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตตามขึ้นมา ให้การปรับภาคการศึกษาของเยาวชนไทยของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้มารองรับกับความรู้ใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อจะเติบโตต่อไป ดังนั้นระยะเวลาสั้นและกลาง ถึงยาวบางส่วน ผมว่า 10-20 ปี กว่าจะถึงจุดนั้นได้

ดังนั้น อะไรที่เราเด่น ได้แก่ สินค้าเกษตรกับอาหาร อย่าลืมว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราอยู่ในอันดับ 7 ในการส่งออกสินค้า อาหารและเกษตรโลก ตอนนี้เราร่วงลงมาอันดับ 12 แต่สาเหตุมาจากว่าหลังจากวิกฤตปี 2540 หลังจากนั้นหลายประเทศรู้แล้วว่า การฟื้นวิกฤตจำเป็นต้องเอาทรัพย์ในดินสินในน้ำ มาส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ ดังนั้น กลายเป็นทุกประเทศพยายามส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

อย่าลืมว่า 10-20 ปีที่แล้ว ยังมีหลายประเทศที่ยังไม่เติบโตเรื่องการส่งออกเนื่องจากปัญหาการเมือง เช่น เวียดนาม เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ก่อนสู้เราไม่ได้หรอก แต่ตอนนี้เขาไประเบิดเถิดเทิง เขาไม่มีความขัดแย้งแล้ว จีนตอนนั้นเน้นการนำเข้าเป็นหลัก ผลิตเพื่อบริโภคไม่พอ ตอนนี้ส่งออกเยอะแยะ ดังนั้น แต่ละประเทศทั่วโลกส่งออกมากขึ้น ทำให้เราร่วงลงมา

แต่เราจะหนีอย่างไร เราใช้วิธีการสร้างมูลค่าเพิ่ม เรามีความชำนาญ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ 2 ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่เติบโต ไม่มีความขัดแย้งอะไร และเราเติบโตทางอุตสาหกรรมตลอด ภาคการผลิตตลอด รัฐบาลแบบไหนก็สนับสนุนการส่งออกและสินค้าเกษตร เราเป็นเจ้าของการส่งออกในหมวดอาหารเกษตร

อย่าลืมว่าเราเป็นอันดับหนึ่งของสับปะรดกระป๋อง และยังเป็นผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง หรือปลาแปรรูป เราเคยเป็นหนึ่งในการส่งออกกุ้งแปรรูปส่งออกตลาดโลกในสหรัฐ เราเป็นอันดับหนึ่งตลอด แต่เพิ่งมาเสียอันดับใน 6-7 ปีนี้ หลังจากมีปัญหาโรคกุ้งระบาดและแก้ไขไม่ได้ เราส่งออกอันดับหนึ่งเยอะนะ ไก่สุกอันดับ 1 และไก่ดิบอันดับ 2 ของโลก

ดังนั้น กลุ่มอาหารเป็นอนาคต วันนี้ช่วง 3-5 ปีมานี้ กระทรวงเกษตรฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ให้ความสนใจในการปรับสินค้าเกษตร แบบมูลค่าเพิ่ม โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ เข้ามา สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เข้ามา ใช้ระบบเข้ามาปรับปรุงภาคการเกษตร และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะพวก Non-Protein ที่ออกมา พวกอาหารท้องถิ่น ใช้พื้นฐานของพวกผัก ถั่วเป็นหลัก การพัฒนาเลี้ยงจิ้งหรีด การพัฒนาสินค้าเกษตรขึ้นมาหลายอย่าง ที่จะเอามาแปรรูปส่งออก เป็นไปตามความนิยมของโลกตอนนี้ พวกแมลง มีหลายตัวที่กว้างขวางมาก

เรามาดูภาคการผลิต มีจุดอ่อนบางอย่าง ภาคการผลิตในพวกสัตว์ปีกเราเข้มแข็ง แต่มีพวกภาคการผลิตสัตว์บก เช่น หมู วัว เรายังไม่แข็งมาก จะต้องมีการพัฒนาต่อ ภาคการผลิตสัตว์น้ำก็มีปัญหาอยู่ ในเรื่องการเพาะเลี้ยงของทะเล ในเรื่องของ IUU เราจับได้น้อยลง เพราะต้องรักษาพันธุ์สัตว์เอาไว้ และต้องมาผลักดันกันหนักมากเรื่องการเพาะเลี้ยง ที่มีการสร้างพันธุ์ใหม่ๆที่แข็งแรง และสามารถสร้างผลผลิตได้มาก ตายยากสร้างมูลค่าให้ได้ ตอนนี้เราแข็งและแข็งได้เรื่อยๆ แต่สำคัญคือต้องจับให้ถูกจุด

เรื่องการส่งออกต้องแยกให้ดีว่า ภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมแปรรูปส่งออกอยู่คนละข้างกัน แต่ในอดีตที่ผ่านมามันโตร่วมกัน เนื่องจากเราใช้วัตถุดิบส่งออกในประเทศ แต่ ณ วันหนึ่งเราเริ่มขาดแคลน เนื่องจากผลผลิตน้อยลง แต่ภาคการผลิตแปรรูปอาหารเกษตรทั้งหลายมันโตต่อเนื่อง และยิ่งโตไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีการปรับปรุงพัฒนามูลค่าเพิ่มและใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา ดังนั้น กลายเป็นว่าวัตถุดิบไม่พอ

ผมเคยเรียนท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หลายครั้งแล้ว และท่านเฉลิมชัยว่า ต้องแยกออกให้ดี เราต้องพยายามสร้างตัวเราเองเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตรชั้นสูงมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าวัตถุดิบมาจากไหนบ้าง จะเป็นในประเทศ หรือนอกประเทศไทย เราต้องยอมรับภาคการเมืองกลัวว่าสินค้าเกษตรจะมีปัญหา ราคาตกต่ำ เราสามารถคุยได้ จัดแบ่งคลัสเตอร์ได้ จัดคอนแทร็กต์ ฟาร์มมิ่ง กันได้ เราต้องการส่งออกเท่าไร ผลิตเท่าไร หักบริโภคในประเทศไทยเท่าไร เหลือเท่าไรที่จะส่งออก ไม่พอก็นำเข้า เราต้องเปิดตัวเองให้กว้างจะยิ่งโตได้อีกเยอะ

จากนี้ส่งออกไทยจะการปรับตัวกันอย่างไรนั้น ต้องตอบ 2 แง่ ในแง่หนึ่ง คือ ตั้งแต่ คสช. ท่านนายกฯและรัฐมนตรีผลักดันนโยบายประชารัฐร่วมมือกับ ภาคเกษตรมีการร่วมมือแบบประชารัฐ คือ รัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน ตอนนี้ยอมรับว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ปัจจุบันยังมีหลายโปรเจ็กต์มากที่เอกชนทำงานกับภาครัฐ เพราะเอกชนพยายามช่วยเหลือตนเอง แต่ยังต้องรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่รัฐไม่พร้อมทำหมด ดังนั้นจึงช่วยกันทำ

ผมมองว่าโครงการประชารัฐความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาลสำคัญมาก ที่ต้องทำงานร่วมกันพัฒนา และดูแลกัน บริษัทใหญ่ บริษัทยักษ์ ก็ต้องมาดูแลบริษัทกลาง บริษัทเล็ก หรือภาคเกษตรกร เพื่อให้เขาลดความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้ ดังนั้นผมมองว่าเป็นจุดใหญ่อันแรก ที่จะต้องจัดการให้เข้าระบบให้ได้

ในแง่ที่สอง คือรัฐบาลต้องเปิดกว้าง ภาคการเมืองต้องเปิดกว้าง อย่าเอาความขัดแย้งทางการเมืองมายุ่งกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นอันขาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคการเกษตรและภาคอาหาร เพราะเป็นกระดูกสันหลังภาคประชาชนของเราทั้งหมด และผู้บริโภคด้วย

การสนับสนุนภาคเอกชนช่วยเหลือให้โต โดยรัฐบาลช่วยเสริม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจโต ในขณะเดียวกันอีอีซี หรือ 4.0 ปัจจุบันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งมีตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับ 2 เราโตขึ้นมาจากระดับ 1.0 มา 2.0 มา 2.5 พอระดับมาเป็น 3.0 เราจะโตเป็น 3.5 แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง 4.0 โดยเฉพาะ 2.0-3.0 ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่วันนี้ขับเคลื่อนตั้งแต่เกิดวิกฤตตลอดเวลา ตั้งแต่ คสช.ขับเคลื่อนมาตลอดแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ผมใช้คำหนึ่งมาตลอด หันหน้าแลหลัง เราหันหน้าไปเรื่องอีอีซี หรือ 4.0 พัฒนาดีครับ ถูกต้อง

แต่ต้องแลหลัง กลับมาดูแลโรงงาน ผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ทำเรื่องอาหารและสินค้าเกษตรอยู่ ต้องกลับมาดูแลเขา ให้เขาอัพเกรดอย่างไร ให้ปรับปรุงจากเดิม 2.0 ขึ้นเป็น 2.5 ขึ้นมา 3.0 ได้ไหม 3.5 ได้ไหม สนับสนุนทุกทางทั้งความรู้ เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุน เพราะวันนี้เราจะมารอสร้างใหม่ ผมว่ามันช้า เราดังมานานแล้ว เราดังตั้งแต่ 1.0 มา 2.0 เรานำหน้ามาตลอด และมาวันนี้ช่วงปีนป่ายไป 4.0 ทุกคนไม่จำเป็นต้อง 4.0 แต่อย่าต่ำกว่า 3.0 ผมว่าจะเป็นการแกะอุปสรรคในการเติบโตของประเทศเรามาก

สำหรับตัวแทนภาคเอกชนและส่งออก ยินดีมากครับ ที่ได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์มีชื่อเสียง จัดสัมมนาพวกนี้บ่อย ผมคิดว่าดูจากรายชื่อสปีกเกอร์ทั้งหมด ท่านรองนายกฯ จุรินทร์ให้เกียรติมานำพูดเอง ในแต่ละท่าน เซสชั่นแรกเป็นกูรูทั้งนั้น รู้จักกันทุกคน เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งรุ่นเก่า กลางเก่า กลางใหม่และใหม่ หรือคนอยากเกิด หรือเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพต้องฟัง เพราะว่าวันนี้ผมคิดว่า การเรียนรู้ในสถานการณ์จริง เหตุการณ์จริง จากประสบการณ์จริงจะไปเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เรียนมา หรืออยู่ในตัวเองมันจะประสบความสำเร็จอีกเยอะ อย่างผมวัยขนาดนี้แล้วไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ผมยังเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นผมขอเชิญชวนทุกคนให้เข้าฟังครับ

นอกจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้ว สามารถรับฟังได้เพิ่มเติมในงานสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” จัดโดย “มติชน” ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” จากนั้นเปิดมุมมอง บอกเล่าทิศทางการทำงานภาครัฐ ในวงเสวนา “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้! กับวงเสวนา “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” ตัวแทนจากภาคเอกชน ที่จะมาร่วมถอดบทเรียนในครั้งนี้ คือ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด

ในวันพุธที่ 22 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ในรูปแบบ Live Streaming ที่ FB : Matichon Online-มติชนออนไลน์ FB : Khaosod-ข่าวสด FB : Prachachat-ประชาชาติธุรกิจ YouTube : matichon tv-มติชน ทีวี #มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image