ขยายเพดาน-ปูทางกู้ ใช้เงินต้องตอบโจทย์ ศก.

หมายเหตุความเห็นกรณีคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ มีมติให้ปรับเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% ให้เป็น 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงิน นอกเหนือจากแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 ได้อีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท

นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ในเรื่องของการก่อหนี้ของรัฐบาลนั้น จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ว่ารัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ไม่เกิดการก่อหนี้จนเกินตัว ในขณะเดียวกัน เงินที่กู้มาก็จะนำไปใช้สองส่วนคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการชะลอตัวในภาวะวิกฤต อย่างการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำเงินกู้ไปใช้ เพื่อการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น เพื่อขยายเศรษฐกิจให้เติบโต

Advertisement

เนื่องจากมีโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลต้องใช้เงินกู้หนี้สาธารณะของไทยเลยเพิ่มขึ้นสูง เทียบกับเพดานเดิมที่ไม่เกิน 60% หมายความว่ารัฐบาลจะมีช่องว่างที่น้อยลง ในการหาเงินมาจัดการโควิด-19 ในปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาอื่นๆที่จะตามในอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าหากรัฐบาลไม่ขยายเพดานหนี้สาธารณะ รัฐบาลก็จะเหมือนถูกมัดมือ ในขณะที่ต้องจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เข้ามา

ดังนั้น การขยายเพดานเป็น ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี จะทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นมาอีก 10% ทำให้รัฐบาลกู้ได้เพิ่มอีกประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลมีเครื่องมือมาเพิ่ม คือ เงินกู้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะเอาเงินส่วนนี้ไปทำอะไร ถ้านำไปใช้ในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตขึ้นมา จะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะว่าเมื่อมีหนี้มากขึ้นแบบนี้ จะทำให้มีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น ขณะที่เกราะคุ้มกันต่างๆ ที่ใช้ในช่วงวิกฤตในอนาคตจะน้อยลง เนื่องจากก่อหนี้เพิ่มได้ยากขึ้น แม้ว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะจะช่วยให้รัฐบาลทำงานได้สะดวกขึ้นก็ตามแต่ต้องไม่ประมาท

Advertisement

ดังนั้น ต้องมาดูเงินที่กู้มาได้นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า และมีแผนที่จะกลับมาอยู่ในภาวะเดิม คือ การกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% เมื่อไหร่ เพราะถ้าปล่อยไว้นาน โอกาสที่จะกลับมาเองโดยธรรมชาติ อาจจะใช้เวลานานเกินไปและพอมีวิกฤตที่ซับซ้อนเข้ามา อาจจะต้องใช้วิธีการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะออกไปอีก ทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

ในระยะยาวนั้น การกำหนดเพดาน ไม่ว่าจะระดับ 60% หรือ 70% ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีความเสี่ยงมากนัก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างดี และขณะนี้ภาคการส่งออกยังดำเนินและขยายตัวได้ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการ ถ้าในอนาคตเศรษฐกิจฟื้น ไทยก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่ ประกอบกับเสถียรภาพทางการเงินการคลังของไทยยังมั่นคง เพราะฉะนั้น การก่อหนี้ในอัตรา 60% หรือ 70% ของจีดีพี จึงไม่น่ากังวลใจ สิ่งสำคัญคือ ต้องนำเงินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีแผนการลดหนี้ในระยะยาว ที่จะช่วยให้สถานะทางการคลังกลับคืนสภาพเดิมได้

สำหรับการใช้เงินกู้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอให้ความเห็นในส่วน 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีการใช้ไปหมดแล้วโดยเป็นแผนการกู้เงินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ตอนนั้นการวางกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลมีความผิดพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนด้านสาธารณสุข หากจัดซื้อวัคซีนตั้งแต่ตอนนั้น อาจจะทำให้แก้ไขการระบาดได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่านี้ โดยอาจจะใช้เงินเพียง 2 แสนล้านบาทก็จัดฉีดวัคซีนมาให้ครอบคลุมประชาชนได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหานี้แล้ว มีการสั่งซื้อวัคซีนและนำเข้ามาหลายยี่ห้อ นำมาฉีดให้ประชาชนไปพอสมควรแล้ว

ด้านต่อมาคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งส่วนที่ชอบคือ การใช้การช่วยเหลือประชาชน ทั้งการลดภาระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า โครงการช่วยจ้างงาน แบบจ่ายโค-เพย์ รวมถึงโครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยประชาชนจริงและมีการกระจายไปถึงระดับรากฐาน อย่างหาบเร่แผงลอย

ส่วนที่ไม่ชอบคือ พวกโครงการ ช้อปดีมีคืน คิดว่าคนที่ได้สิทธิส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูง สามารถดูแลตนเองได้ ฉะนั้นภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องช่วย

และสุดท้ายคือ ด้านการฟื้นฟู ที่ผ่านมารัฐบาลไปผิดทางโดยการเอาเงินไปลงทุน โครงการอบรมต่างๆ อาทิ เกษตรกร ซึ่งไม่ตอบโจทย์เรื่องการฟื้นฟู ที่ควรจะเป็นการฝึกฝน เพิ่มทักษะของประชาชนให้ใช้ชีวิตภายหลังการเกิดโควิด-19 ได้มากกว่า

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

จากประเด็นที่รัฐบาลประกาศขยายเพดาหนี้สาธารณะของไทย จาก 60% เป็น 70% ของจีดีพีนั้น มองว่ายังอยู่ในกรอบที่ดำเนินการได้อยู่ มีความจำเป็น เนื่องจากไทยจะต้องใช้เงินทุนอีกก้อนหนึ่งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเร่งฉีดวัคซีนเข้าที่แล้ว ธุรกิจต่างๆ จะทยอยกลับมาเปิดให้บริการ เมื่อถึงตอนนั้นรัฐบาลจะต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ในครั้งนี้มองว่ารัฐจะออกมาตรการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินให้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงภาครัฐเองจะมีการออกมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนด้วยเช่นกัน

ส่วนผลเสียของการขยายเพดานหนี้นั้น ในช่วงก่อนหน้านี้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาชนต่างกังวลเรื่องเพดานหนี้ของประเทศ ซึ่งการกำหนดเพดานหนี้ไว้ที่ 60% เป็นมาตรฐานในอดีต แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นหลายประเทศเริ่มมีการขยายเพดานหนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจหมุนไม่ได้ รายได้ที่มากจากการประกอบการต่างๆ เริ่มหดหายไป เมื่อเศรษฐกิจมีการนิ่งอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง การที่อยู่ดีๆ เศรษฐกิจจะกลับมาเองได้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงต้องมีตัวเสริม หรือตัวช่วยสนับสนุน เพื่อทำให้เกิดทั้งเรื่องการลงทุนและการใช้จ่ายควบคู่กันไป

ส่วนเรื่องความกังวลในระยะยาวนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลังจากนี้คงไม่มีประเทศไหนอยากกลับไปล็อกดาวน์ 100% ดังนั้น การกู้เงินเพิ่มจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่เมื่อกู้มาแล้วรัฐบาลจะต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการต่างๆ นอกจากการเร่งฉีดวัคซีน และเร่งตรวจด้วยเอทีเค อาจจะต้องเสริมมาตรการอื่นๆ เข้าไปอีกจะต้องพัฒาให้เกิดยารักษาโรคระบาด ทำให้การแพร่ระบาดนี้กลายเป็นเพียงโรคที่ติดและหายได้โดยง่าย เพื่อให้การกู้เงินในครั้งนี้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับการขยายเพดานหนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเรื่องศักยภาพในการชำระหนี้ของไทย มองว่าไทยยังมีศักยภาพ แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจที่กู้เงินเกินเพดานหนี้ 100% ของจีดีพี แต่ไทยยังมีความมั่นคงทางการเงินการคลัง อาทิ เรื่องเงินทุนสำรองยังแข็งแรง เป็นผลมาจากไทยเคยได้รับผลกระทบมาก่อน ทำให้ไทยมีวินัยทางการเงินการคลังที่เข้มข้นมาก จึงเชื่อว่าไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะได้กู้เงินไปแล้วแต่ในครั้งนั้นเป็นการกู้เพื่อให้ประเทศประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่เกิดวิกฤต แต่ในครั้งนี้ไม่เหมือนกัน เนื่องจากการกู้ในครั้งนี้ กู้มาเพื่อต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปจำนวนมาก

แต่ในส่วนของการกู้มาเพื่อเยียวยาประชาชน อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างในกลุ่มที่ยังตกงานอยู่ แต่อาจจะไม่ได้เน้นหนักเหมือนรอบก่อนที่รัฐต้องเยียวยาเพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น

แต่ในครั้งนี้เชื่อว่ารัฐจะกระจายเม็ดเงินไปที่ภาคธุรกิจเพื่อช่วยให้การจ้างงานกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ หากรัฐต้องการกู้เงินแล้วปัญหาต่างๆ จบลง

รัฐต้องฟื้นฟูให้ธุรกิจและภาคเอกชน ให้กลับมาดำเนินการด้วยตัวเองให้ได้ รายได้ประชาชาติจะมาจากธุรกิจเหล่านี้ ไม่ใช่จากการกู้เงินอีกต่อไป

ศักดิ์ชาย ผลพาณิชย์
ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจากเดิม 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี เนื่องจากขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จากผลกระทบของการระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งประเทศซบเซามาอย่างยาวนาน ดังนั้นการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นมาก และหลายประเทศทั่วโลกก็ทำกันทั้งนั้น เพราะเมื่อนำเงินกู้ที่เป็นหนี้สาธารณะเหล่านี้มากระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเงินเหล่านั้นก็จะคืนสู่รัฐผ่านการจัดเก็บภาษี

แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการเงินอย่างรัดกุมและให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือการอัดฉีดเข้ามาให้กลับกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งเหล่านี้ ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมาเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ประกอบการปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก สังเกตได้จากร้านค้าต่างๆ ที่ขายของในตลาดไนต์มาร์เก็ต ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเคยเฟื่องฟูมากในช่วงก่อนเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19

แต่เมื่อทางการให้ปิดชั่วคราว และเปิดมาได้ระยะหนึ่ง แต่มีเวลาให้เปิดได้ถึงแค่ 20.00 น. ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะเริ่มขายได้ในช่วงเวลา 19.00 น.เนื่องจากคนเพิ่งเลิกงานไปเดินจับจ่ายซื้อของ แต่ต้องปิดร้านเร็วขึ้น และคนก็ไม่มีกำลังเงินซื้อเพราะตกงาน ก็ทำให้หลายร้านตัดสินใจไม่กลับมาประกอบกิจการอีกเลย เพราะเปิดแล้วก็ขายไม่ได้

ดังนั้นรัฐบาลต้องอัดฉีดให้กับกลุ่มนี้ก่อน นอกจากนั้น สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีก ค้าส่งรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องนำเงินมาอัดฉีดให้กับกลุ่มเหล่านี้ให้ได้ภายใน 3 เดือนนี้ หลังจากนั้นเมื่อถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งคาดว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนกันเป็นส่วนใหญ่ตามเป้าหมายแล้ว ก็จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ไม่ยากเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image