‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯครบ 8 ปี ต้องพ้นตำแหน่งเมื่อไหร่?

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการ กรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งŽ จะเริ่มนับ 8 ปีจากปีไหน ทั้งนี้หากนับการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 สมัย คสช.ก็จะครบ 8 ปี ในปี 2565

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต ามหลักการต้องเริ่มนับระยะเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังประกาศใช้กรณีรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ไม่ควรใช้กฎหมายย้อนหลังนับเวลาเพิ่ม ประเด็นนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องไปตีความให้ยุ่งยาก นอกจากจะหาเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญนำไปวินิจฉัยตีความ
แต่ส่วนตัวเชื่อทุกฝ่ายควรจะยึดถือตามมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บอกว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

แม้จะมองว่าการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์จะทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จากการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ พอถึงปี 2562 มีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำหน้าที่เดิมอีก ก็ต้องเข้าใจว่าการนับระยะเวลาจะต้องเริ่มจากการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และคงยากที่จะมีความพยายามนับเวลาย้อนหลังเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งด้วยวิธีการอื่นที่นอกเหนือจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

Advertisement

หากในอนาคตรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกยกเลิกแล้วมีฉบับใหม่เกิดขึ้นอีก บอกชัดไม่ให้นายกรัฐมนตรีทำงานเกิน 8 ปี ก็ต้องยึดถือตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น อย่าไปสนใจอะไรมาก เพราะเมื่อถึงเวลาเข้าเงื่อนไขเวลา หรือบางเรื่องจะต้องเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง ก็อาจจะมีการเสนอเพื่อปรับแก้รัฐธรรมนูญให้กลุ่มตัวเองได้ประโยชน์ ไม่ต้องกลัวใครจะมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือมองเป็นพวกศรีธนญชัย

จะเห็นได้ชัดเจนว่าแนวทางการสืบทอดอำนาจหลังมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ถึงปัจจุบันมีการกำหนดไทม์ไลน์ของแม่น้ำทุกสายที่เป็นองค์ประกอบและเป้าหมายไว้หมดแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องเอาชนะในทางการเมืองให้ได้ทุกวิถีทาง ในเกมที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด

ประเด็นต่อมามีความเห็นว่าควรนับเวลาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่วันแรกเมื่อเดือนเมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ถึงเมษายน 2568 เหตุผลชี้ว่าไม่ควรไปบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง กรณี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสิงหาคม 2557 จากการรัฐประหาร แต่เชื่อว่าข้อถกเถียงคงไม่มีข้อยุติ ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเริ่มนับการทำงานของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2560 การใช้กฎหมายไม่ควรบังคับใช้ย้อนหลัง แม้ว่าในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นวาระควรไปหมดในปี 2568

Advertisement

แต่เรื่องนี้จะมีปัญหา พราะวาระปกติของ พล.อ.ประยุทธ์จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จะหมดวาระหากอยู่ครบ 4 ปี ในปี 2566 หากอยู่ครบแล้วเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกก็จะอยู่แค่ครึ่งเทอมในปี 2568 อาจเป็นปัญหา เพราะไม่มีเคยมีปรากฏว่านายกรัฐมนตรีจะมีโอกาสทำงานได้แค่ครึ่งเทอม เพราะจะสร้างความปั่นป่วนกับการเมืองไทย ไม่เป็นผลดีกับการบริหารประเทศ

หรือหากในปี 2565 นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา หากเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกก็จะอยู่ได้ไม่ครบวาระ เพราะจะหมดอายุการทำงานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดภายในปี 2568 ก็จะทำให้มีปัญหา

อีกแนวทางมีการพูดถึงคือ วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 หลังเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ใครนับวันดังกล่าวเริ่มต้น พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ยาวถึงปี 2570 แต่การนับตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯครั้งที่ 2 มีบางฝ่ายออกมาค้านเพราะถือว่าไม่ถูกต้อง และอาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่สาระที่เขียนไว้นายกรัฐมนตรีห้ามอยู่เกิน 8 ปี ไม่ได้บอกชัดเจนว่าไม่นับรวมนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหาร หรือมาจากการเลือกตั้ง

ขณะนี้ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกให้นับตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้อยู่ไปยาวๆ เพราะอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายคัดค้านก็บอกให้นับตั้งแต่ปี 2557 แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรนับตั้งแต่ปี 2560 ปีแรกที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ จึงทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย

แต่ในที่สุดเชื่อว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ส่วนที่เขียนไว้ไม่เกิน 8 ปี ในมาตรา 158 ภายใน 8 ปี ไม่ได้ห้ามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ได้ หรือเป็นแล้วเว้นวรรคแล้วกลับมาเป็นอีก แต่รวมเวลาทำงานโดยรวมแล้วจะต้องไม่เกิน 8 ปี

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี

หากดูใจความสำคัญของมาตรา 158 พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 8 ปี โดยเจตนาที่มีกรอบหลักการกำหนดไว้เช่นนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ขณะที่ต่างประเทศกำหนดให้อยู่เพียง 2 สมัย
แต่หลังจากรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้ 8 ปี จึงจำเป็นต้องนำไปตีความ และเชื่อว่าจะไม่มีการนับระยะเวลาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 จะประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 หากขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบวาระ 4 ปี ในสมัยต่อไปเมื่อได้รับเลือกมาทำหน้าที่เดิมอีกก็จะอยู่ได้อีก 4 ปี

เรื่องนี้ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายแค้นมีโอกาสส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แม้ว่าผู้ที่อ่านกฎหมายรู้ดูกฎหมายเป็น ก็คงจะเห็นไปในทางเดียวกันว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ แต่อาจจะเล่นแง่ได้อีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 เป็นคนเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีมาจากรัฐประหารในปี 2557 ทำงานต่อเนื่อง และจะต้องนับเป็นบุคคลเดียวกัน เพราะฉะนั้นวาระที่สิ้นสุดครบ 8 ปี ก็ใกล้จบในปี 2565

สำหรับเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อาจจะมองว่าการกำหนดระยะเวลาเป็นการป้องกันการผูกขาดคนใดคนหนึ่ง จำเป็นต้องกระจายโอกาสให้บุคคลอื่นที่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ เพราะเดิมนายกรัฐมนตรีไม่มีกำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง

ขณะที่การกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี แต่นายกรัฐมนตรีสามารถทำงานได้หลายวาระ เป็นการตั้งกติกาเพื่อช่วยรัฐบาลนี้ทางอ้อม ต่างจากการกำหนดเป็น 2 วาระ อาจทำให้แนวทางการสืบอำนาจของ คสช.ไม่ราบรื่น จึงเขียนไว้ 8 ปี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีอาจจะทำงานไม่ครบ 4 ปี จะต้องยุบสภา จึงไม่ถือเป็น 1 วาระ แต่กติกากำหนดให้ยึดถือระยะเวลาจริงในการทำงาน

หากดูเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเห็นได้ชัดเจนว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร มีความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี
คนปัจจุบันหรือไม่ และมีกลุ่มบุคคลใดได้ประโยชน์สูงสุดจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีรัฐมนตรีบางคนบอกว่าออกแบบมาเพื่อพวกเรา
ดังนั้น กำหนดเวลาการทำงาน 8 ปี จึงไม่บอกให้ชัดว่าจะเป็นเวลาที่กำหนดจากการเลือกตั้งแบบปกติ หรือจะรวมการทำหน้าที่จากการทำรัฐประหาร

เรื่องนี้คงไม่ต่างจากการเขียนบทเฉพาะกาลให้ 250 ส.ว.ทำงานได้ 5 ปี หมายถึงมีโอกาสโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตลอดกระเวลา 5ปี โดยไม่จำกัดวาระ เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้ทุกองคาพยพจะสอดรับกันทั้งหมดเพื่อการสืบทอดอำนาจ ถึงที่สุดกลุ่มผู้มีอำนาจก็ต้องยึดความได้เปรียบและพยายามอธิบายความชอบธรรมจากการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป

บุญส่ง ชเลธร
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

หลังจากเปิดประเด็นทางวิชาการเป็นคนแรกในเรื่องนี้ได้ไม่นาน ทำให้ขณะนี้มีหลายฝ่ายให้ความสนใจและมีประเด็นข้อถกเถียง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ เขียนว่านายกรัฐมนตรีอยู่ไม่เกิน 8 ปี ดังนั้น จึงต้องหาข้อสรุปว่าที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัย คสช.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะต้องอยู่ในตำแหน่งได้ถึงวันที่เท่าไหร่

ส่วนตัวเห็นว่าประเด็นนี้หากพิจารณาเริ่มจากวันแรก วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หากครบกำหนด 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะหมดวาระในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ทำให้บางฝ่ายเริ่มแสดงความเห็นว่าควรนับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่ควรอยู่ 8 ปี เมื่อเป็นแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ควรอยู่เกิน 8 ปีใช่หรือไม่

ชัยธวัช เสาวพนธ์
อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิชาการอิสระ

กรณีรัฐธรรมนูญปี’60 มาตรา 158 ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี รัฐธรรมนูญปี’60 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2557 จึงไม่มีผลย้อนหลัง รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2562 ดังนั้น จึงเริ่มนับการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ยังเหลืออีก 6 ปี เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 2 สมัย หากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากอำนาจพิเศษ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบ หรือดีไซน์เพื่อพวกเราตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากมีผู้เห็นแย้งว่ารัฐธรรมนูญกำหนดห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลก็มาจากรัฐธรรมนูญปี’60 เชื่อว่าการวินิจฉัยดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ของศาลต้องเริ่มนับจากปี’62 เช่นกัน ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งอีกยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ปลายปีนี้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนสามารถเปลี่ยนแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการ พปชร. ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว อาจกระทบหรือส่งผลเลือกตั้งครั้งหน้าได้ เพราะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก ไม่เหมือนบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่มีบัตรเขย่งจนทำให้พรรคต่ำสิบหลายพรรคได้เข้าร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาชนอย่างใด

การเปลี่ยนแปลงแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอยู่กับประชาชน ดังนั้น พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นพรรคฝ่ายค้าน ต้องสรรหาผู้นำคนใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อแข่งขันกับ พปชร. ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และภูมิใจไทย (ภท.) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อสร้างความหวังและความมั่นใจแก่ประชาชน ก่อนจับมือพรรคพันธมิตร อาทิ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าได้ เพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยและผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า หลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการซ่อนรูปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image