เสียงสะท้อนเอกชน ศบค.คลายล็อก 9 ธุรกิจ

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เห็นชอบขยับเคอร์ฟิวตั้งแต่ 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ลดการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผ่อนคลาย 9 กิจการ กิจกรรม เปิดดำเนินการได้รวมทั้งขยายเวลาเปิดธุรกิจถึง 21.00 น.

ประภัสสร รังสิโรจน์
นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด

มติ ศบค.ค่อนข้างพอใจกับการขยายเวลาให้เปิดร้านอาหารถึง 21.00 น. ซึ่งตรงกับที่ได้เสนอไปแล้ว แต่มีเรื่องที่กังวลคือ ราคาชุดตรวจแบบด่วน หรือเอทีเค ที่รัฐบาลประกาศว่าเหลือประมาณ 30 บาทนั้นเป็นจริงแค่ไหน เพราะปัจจุบันราคาที่หาซื้อได้อยู่ที่ 120 บาท ซึ่งผู้ประกอบการอยากให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด แต่รัฐบาลต้องช่วยเรื่องราคา ล่าสุดที่หาได้ขายที่ราคาชุดละ 70 บาท จึงอยากให้ช่วยทำให้ราคาถูกลง และเข้าถึงได้ง่ายด้วย

Advertisement

ขณะนี้กำลังรอมาตรการคนละครึ่งที่จะเติมเงินให้อีก 1,500 บาท ใช้ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะช่วยกระตุ้นการค้าการขาย ขณะนี้เศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ประชาชนเริ่มอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้ เข้าใจและรักษากฎกติกา ในส่วนของร้านอาหารเองมีความพร้อมเช่นกัน มีการตรวจโควิดให้พนักงานทุก 14 วัน มีการคัดกรองตรวจอุณหภูมิทุกครั้ง หรือเดินทางไปไหนต้องระวังตัว อยู่ในขอบเขต เพื่อลดความเสี่ยงและระวังตัว ด้านวัคซีนเอง คนในเครือข่ายของสมาคมก็ได้รับกันเกือบหมดแล้ว

นอกจากนี้ ต้องรอดูว่าวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หลังมีมาตรการผ่อนคลาย ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะเป็นอย่างไร จะกลับมาเพิ่มหรือเปล่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ก็อยากให้พิจารณาขยายเวลาเปิดกิจการออกไปอีก และถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกันไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ ซึ่ง ศบค.ทำถูกแล้วที่ขยายให้ธุรกิจอื่นๆ ได้ผ่อนคลายด้วย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น ถ้าทุกอย่างดีขึ้น เชื่อว่าการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จะมาตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้มีอุทกภัย น้ำท่วมทำให้หลายพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี รวมถึงกลัวว่าจะมีโรคที่มากับน้ำท่วม อาทิ โรคไข้เลือดออกมาซ้ำเติม ด้านสภาพอากาศก็ไม่อำนวยให้ค้าขาย เพราะฝนตกทุกเย็น แม้ว่า ศบค.จะผ่อนคลายแล้ว

Advertisement

แต่บางร้านไม่ออกมาขาย คิดว่าช่วงปลายปีนี้ถึงจะกลับมาขายกันเต็มรูปแบบ และอีกเรื่องที่อยากฝาก คือ เรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาวัตถุและสิ่งของต่างๆ แพงขึ้นตาม ส่งผลให้ร้านอาหารเล็กๆ ได้รับความลำบาก จึงอยากฝากให้รัฐบาลช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

การที่ ศบค.ลดการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 7 วัน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเอกชนได้เสนอไปหลายข้อ โดยเฉพาะการลดเงื่อนไขที่ประเมินแล้วพบว่าไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นเงื่อนไขในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้ โดยหลักๆ มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การขอลดวันอยู่ในพื้นที่แรกเหลือ 7 วัน จากเดิม 14 วัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนการตรวจหาเชื้อเหลือ 2 ครั้ง โดยได้ประเมินแล้วว่า หากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผ่านวิธีการอาร์ที-พีซีอาร์ ครั้งที่ 1 ภายในบริเวณสนามบินเรียบร้อยแล้ว เชื้อโควิดจะถูกพบว่ามีเชื้อหรือไม่ในการตรวจครั้งแรกมากที่สุด ทำให้การตรวจหาเชื้อเพียง 2 ครั้งอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ค่าใช้จ่ายจะหายไปประมาณ 2,000 บาท

2.ประกันโควิด ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องซื้อในราคาประมาณหลักพันบาท เป็นแผนประกันสุขภาพรองรับขั้นต่ำ 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้เรียนรู้แล้วว่าต่างชาติที่พบเชื้อโควิดใช้ประกันไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดคือ ในประกันได้ระบุไว้ว่า หากพบเชื้อโควิดและเป็นผู้ป่วย แต่ไม่ได้ร้ายแรงจนถึขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ประกันจะไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ ซึ่งต่างชาติที่พบเชื้อส่วนมากอยู่ในกรณีนี้ จึงมองว่าสามารถลดวงเงินคุ้มครองขั้นต่ำลงได้หรือไม่ รวมถึงหากต้องซื้อจริงๆ ขอเป็นขั้นต่ำสุดได้หรือไม่ เพราะซื้อแล้วไม่ได้ใช้จริง

3.กลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดผู้มีเชื้อโควิด กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาด้วยกัน พบว่ามีผู้ติดเชื้อในเที่ยวบินเดียวกัน ทำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะต้องเข้ารับการแยกกักตัวในโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวเอแอลคิว และจ่ายเงินเอง ตรงนี้มองว่าไม่ควร และ 4.ต้องแก้ไขความยุ่งยากและซ้ำซ้อนในการยื่นขอใบอนุญาตเข้าประเทศ (ซีโออี)

การออกซีโออีที่ซับซ้อนเกินไป ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ต้องแก้ไข เพราะนักท่องเที่ยวบ่นเข้ามามาก อาทิ การออกซีโออี 1 ใบ ต้องทำตามขั้นตอน26 ขั้น จึงเสนอว่า หากสามารถทำให้ซีโออีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น น่าจะดีกว่านี้แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยกเลิกซีโออีไปเลย เนื่องจากในการทำโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่เน้นเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว พบว่ามีอัตราการติดเชื้อน้อยมาก โดยการที่สาธารณสุขยอมลดวันกักตัวให้เหลือ 7 วันนั้นต้องขอบคุณมากจริงๆ เพราะถือเป็นเรื่องที่ใหญ่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางท่องเที่ยวของต่างชาติ จะขึ้นอยู่กับการลดจำนวนวันกักตัวเหลือ 7 วันเท่านั้น เพราะความจริงมีหลายเรื่อง รวมเป็นทั้งระบบ

จึงมองว่าหากสามารถปรับพร้อมกันได้ทั้งหมดน่าจะดีกว่า แต่เมื่อปรับลดวันกักตัวให้เท่านั้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะเห็นผลมากน้อย หรือเป็นแรงส่งให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาได้มากอย่างที่ต้องการหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นการปรับเงื่อนไขข้อที่ดี โดยหากปรับเงื่อนไขที่เสนอให้ได้ เชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีก 300,000 คนในช่วงที่เหลือของปี 2564 ได้

นิพนธ์ สุวรรณนาวา
ประธานกิตติมศักดิ์ สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์

แนวทางที่ผ่อนปรนไม่ได้ช่วยอะไรมาก ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คาดว่าธุรกิจที่ถูกสั่งปิดมานาน เช่น ร้านนวดร้านเสริมสวย อาจมีกระแสตอบรับบ้าง ส่วนการผ่อนคลายเคอร์ฟิวเพิ่มอีก 1 ชั่วโมงเป็นเวลาไม่มาก อนุญาตให้มีดนตรีสดแสดงในร้านอาหาร แต่ห้ามดื่มเหล้า ก็คงไม่มีผลในการทำธุรกิจไม่เกิน 4 ทุ่ม ในโลกความเป็นจริงคงไม่มีใครออกจากบ้านไปนั่งดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ในร้านอาหาร เพื่อจะฟังเพลงแล้วรีบกลับบ้านก่อน 4 ทุ่ม น่าสงสัยว่าผู้ที่กำหนดแนวทางนี้อาจจะโลกสวยเกินไปหรือไม่เคยออกมาใช้ชีวิตเหมือนประชาชนคนธรรมดาบ้างหรือไม่

ขณะที่ปัจจุบันการประกาศเคอร์ฟิวก็แทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากเกินเวลา 3 ทุ่มยังมีประชาชนออกจากเคหสถานมานั่งดื่มเหล้าที่สันเขื่อนชายหาดได้ตามปกติ ไม่มีมาตรการเข้มงวด

ดังนั้น ถ้าหากกำหนดข้อห้ามไว้แล้วไม่มีผลบังคับใช้ เมื่อภาครัฐการ์ดตกก็ควรจะยกเลิกข้อห้ามทั้งหมด แล้วเปิดเสรีให้ประชาชนมีระเบียบวินัยในการป้องกันตนเอง ดูแลตัวเองน่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากในภาพรวมทั่วประเทศภาครัฐฉีดวัคซีนได้เกิน 50%

สิ่งสำคัญหลังการคลายล็อกนอกเหนือจากการเร่งฉีดวัคซีน หน่วยงานภาครัฐควรเข้มงวด ต้องจัดการให้เด็ดขาดกับการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวเถื่อนเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีชายแดนยาว 200 กว่ากิโลเมตร มีช่องทางธรรมชาติมากมาย เจ้าหน้าที่หลายหน่วยทราบดีว่ากระบวนการมีใครบ้าง ที่เอาแรงงานเถื่อนติดเชื้อโควิดเข้ามาทำลายชาติ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าในประเทศจะมีมาตรการดีอย่างไร ก็เอาไม่อยู่ ถ้ายังเจอแรงงานต่างด้าวในโรงงานผลไม้กระป๋อง ในแคมป์คนงาน ในร้านอาหารติดเชื้อโควิด แต่ประชาชนรอบสถานที่ดังกล่าวน่าแปลกใจว่าไม่มีใครติดเชื้อ เรื่องนี้ภาครัฐต้องเอาจริง ไม่ปากว่าตาขยิบ

กรด โรจนเสถียร
คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสปาไทย
ประธานโครงการหัวหินรีชาร์จ ภาคเอกชน

การคลายล็อกน่าจะทำให้บรรยากาศโดยภาพรวมด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวดีขึ้น รู้สึกดีใจแทนผู้ประกอบการจะมีโอกาสพลิกฟื้นธุรกิจได้บ้าง จากเดิมที่กำหนดมาตรการไว้เข้มงวดในประกอบธุรกิจที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยว และที่ผ่านมาได้ยื่นข้อเรียกร้องในส่วนของสมาคมสปาไทยก็ได้รับการตอบสนองที่ดีพอสมควร หลังจากเปิดช่องให้นวดเท้าอย่างเดียวก็มีเปิดรายการอื่นให้ด้วยตามความเหมาะสม

สำหรับการขยายเวลากำหนดเคอร์ฟิวเพิ่มอีกเล็กน้อยก็คงถือว่าผ่อนปรนได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร จะมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อผ่อนคลายตามขั้นตอน และเชื่อว่าหลังจากนั้นรัฐบาลและ ศบค.คงจะต้องนำไปประเมินความเหมาะสมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาด เพราะวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังไม่น่าไว้วางใจมากนัก ดังนั้น ภาคธุรกิจบริการ ภาคประชาชน เบื้องต้นจะต้องร่วมกันมีวินัยให้มาก โดยปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการป้องกันโรค

ส่วนตัวเชื่อว่าหลังจากนี้สถานประกอบกิจการต่างๆ จะต้องรักษามาตรฐานไว้ได้ ถึงนาทีนี้ก็ต้องเชื่อใจกัน ภาคธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตต่างๆ เพื่อป้องกันโควิด ก็ถือว่าได้ผ่านขั้นตอนบางอย่างที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องทำให้ได้ตามระเบียบวิธีการที่กำหนด สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็คงต้องดูแลเข้มงวด ต้องมีการสุ่มตรวจ

ต้องยอมรับว่าหลังการปลดล็อกก็ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนไม่ตัดสินใจเปิดบริการในทันที เพราะต้องรอดูท่าที มีการประเมินความเป็นไปได้ในโลกความเป็นจริงของการทำธุรกิจและมาตรการที่ภาครัฐมีข้อห้าม

ดังนั้น อาจจะมีผู้ประกอบการไม่มากที่สามารถเริ่มต้นรีสตาร์ตได้ทันที เพราะการเปิดกิจการบางอย่างจะต้องมีต้นทุนเกิดขึ้น หรือดูว่าจะมีผลประกอบการที่มีโอกาสจะทำให้มีกำไรได้อย่างไร

การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จะต้องมีความต่อเนื่อง เพราะประชาชนในฐานะผู้บริโภคมีโอกาสออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือเดินทางท่องเที่ยวสูงมาก แต่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจนานเกือบ 2 ปี บางรายมองว่าเปิดแล้วอาจจะไม่คุ้ม ดังนั้น ภาครัฐจะต้องหาทางช่วยเหลือและให้โอกาสพลิกฟื้น

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป การปลดล็อกธุรกิจต่างๆ น่าจะเป็นบททดสอบของภาครัฐ เพื่อประเมินโอกาสในการผ่อนคลายเพิ่ม การคลายล็อกที่ยังไม่ 100% อย่างน้อยก็ทำให้มีสีสันขึ้นบ้างในช่วงปลายปี

หากมีอานิสงส์ทำให้นักท่องเที่ยวในยุโรปหนีหนาวมาเที่ยวไทยได้บ้าง บวกกับไทยเที่ยวไทยก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และทุกฝ่ายควรยอมรับว่าในประเทศไทยภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่มาก แนวโน้มที่กลับมาเหมือนเดิมคงยาก แต่ต่อไปข้างหน้าหากเปิดประเทศได้จริง การท่องเที่ยวจะมีโอกาสกลับมาคึกคักเหมือนเดิม เพราะทรัพยากรทุกอย่างมีพร้อม แต่โอกาสที่นักลงทุนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ ภาครัฐต้องเร่งเยียวยาโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image