รายงานหน้า2 : อาคม เติมพิทยาไพสิฐ พลิกนโยบายนอกตำรา ฟื้นเศรษฐกิจ

หมายเหตุเมื่อวันที่ 29 กันยายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “สร้างภูมิคุ้มกัน-ฝ่าภัยโควิด” ผ่านระบบ Live Streaming จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งได้ถ่ายทอดแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19

ภายใต้สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยเฉพาะวัคซีนโควิด-19 แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ ซึ่งวัคซีนสุขภาพและวัคซีนเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่คู่กัน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 แน่นอนว่าพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ เจ็บป่วยจากโรคระบาด จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ ในขณะเดียวกัน การระบาดนั้นก็ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพการเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งส่วนนี้เป็นต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ถ้ายิ่งมีการปิดประเทศ หรือล็อกดาวน์นาน ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้น

วัคซีนหรือภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจแบ่งเป็น 3 ตัว คือ 1.การบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาค 2.ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง คือภาคการผลิตและการบริการ ภาตอุตสาห กรรม ภาคการเกษตร ภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งภาคการส่งออกที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และ 3.ด้านแรงงาน เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนสุขภาพ หากแรงงานมีสุขภาพไม่ดีจากโควิด มีการติดเชื้อกันไปหมด จะส่งผลกระทบต่อสายการผลิต รวมทั้งหากสุขภาพไม่ดีนอกเหนือจากโควิด-19 ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลงเช่นกัน แม้จะไม่เกี่ยวกับโควิด การทำงานก็ต้องการแรงงานที่มีประสิทธิภาพ คนหนึ่งคนต้องทำงานหลายชิ้น ต้องมีการฝึกฝีมือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องทำงานกับเครื่องจักรได้ เนื่องจากเครื่องจักรจะมาแทน เรื่องแรงคนมากขึ้นในทุกวัน

ในขณะนี้ภูมิคุ้มกันและสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างไรนั้น ล่าสุด ธนาคารโลกได้รายงานสถานการณ์ของประเทศไทย ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 จากเดิม 2% ปรับลดลงเป็น 1% ต่ำกว่าที่ไทยได้คาดการณ์ไว้ค่อนข้างเยอะ ที่ 2-3% โดยการปรับลดนั้น เนื่องจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ค่อนข้างที่จะยาวนาน แต่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รัฐบาลให้หลักประกันว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ อัตราการฉีดวัคซีนของไทยนั้นได้ 70% ของประชากรแน่นอน ปริมาณวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อ ณ สิ้นปี จะมีทั้งหมด 178 ล้านโดส เพียงพอสำหรับจำนวน 70% ของประชากรไทย แต่รัฐบาลไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ในปี 2565 ยังมีการสั่งซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนเป็นเข็มที่สาม หรือบูสเตอร์ เบื้องต้นมีจำนวน 120 ล้านโดส ดังนั้นในแง่ของปริมาณวัคซีนไม่มีปัญหา แม้ว่าจะมีวัคซีนแล้ว แต่ทุกคนยังต้องร่วมมือกันและต้องป้องกันตนเอง

Advertisement

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาล เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ในยามวิกฤตภายใต้โควิด-19 ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม รัฐบาลต้องใช้จ่าย ต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น รัฐบาลทุกประเทศจึงมีการใช้เงินจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประเด็นคือ การใช้จ่ายของรัฐบาลจะมาจากไหนบ้าง คือ 1.การทำงบประมาณแบบขาดดุล 2.หากขาดดุลหรืองบประมาณไม่พอ รัฐบาลก็จำเป็นต้องกู้เงิน และเมื่อมีการกู้เงิน จะส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงระยะสั้นๆ ซึ่งธนาคารโลกก็กล่าวแบบนี้เช่นกัน หมายถึง 2-3 ปี แต่เงินที่กู้มานั้น ใช้เพื่อการช่วยเหลือและเยียวยา

เพราะฉะนั้นกรณีของไทยก็เช่นกัน ในปี 2563 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของโควิด-19 ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และในปี 2564 ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท รวมเป็นวงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะนั้นเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นมี 2 ประเด็นคือ เรื่องยอดของหนี้สาธารณะกับสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) สัดส่วนที่เพิ่ม เพราะว่าจีดีพีไทยนั้นไม่ได้มีการขยาย โดยในปี 2563 ติดลบ หรือรายได้ของประเทศลดลง

และปี 2564 หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีจะไม่ถึงตามที่รัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้ เพราะรายได้ของประเทศหายไปมาก โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริการที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพียังหายไป แต่ที่ยังคาดการณ์จีดีพีเป็นบวกได้นั้น เนื่องจากภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าในปีที่แล้วตัวเลขจะเคยติดลบก็ตาม แต่ยังมีสัญญาณบวก ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งสินค้าได้ตามเวลาของใบสั่งซื้อ ไม่มีผิดนัด เนื่องจากไทยป้องกันฐานการผลิตอย่างดี ด้วยมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลในโรงงานผลิตต่างๆ จำเป็นอย่างมาก ถ้าหากปล่อยให้คนงานที่ติดเชื้อกลับบ้าน จะเสี่ยงไปแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ครอบครัวตัวเอง แต่ถ้าทำมาตรการจำกัดและให้รักษาภายในโรงงาน ช่วยทำให้สายการผลิตไม่ได้รับผลกระทบ

Advertisement

เพราะฉะนั้น เรื่องของสัดส่วนหนี้นั้น ในเมื่อจีดีพีไม่ขยายหรือขยายช้า ตัวสัดส่วนก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์เดิม 4-5% แต่หลายฝ่ายกลับได้คาดว่าโดยประมาณการที่ 3-4% ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ คือเศรษฐกิจไทยไม่ติดลบ เป็นบวกก็ย่อมดีกว่าติดลบ จะมากหรือจะน้อย แต่ขอให้ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นไปแต่การฟื้นตัวตรงนี้ ขึ้นอยู่ที่วัคซีนตัวที่ 2 คือภาคการผลิตและภาคการส่งออกจะขยายตลาด เพิ่มการผลิต เพิ่มกำลังซื้อได้หรือไม่อย่างไร

ดังนั้น วัคซีนตัวแรกที่พูดกัน คือเรื่องการบริหารเศรษฐกิจใระดับมหภาค ตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบัน นโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง ต้องประสานงานกัน จึงต้องให้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อให้นโยบายการคลังสามารถดำเนินการได้ ถ้ารัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในช่วงปกติ เอามาใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์เช่นนี้ นโยบายการเงินก็ต้องรีบออกมาจัดการ การใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจที่มากเกินไป ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป แต่ในช่วงเวลานี้การกู้เงินนั้นเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ นโยบายการเงินก็ต่องผ่อนคลายกันทุกประเทศ

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องทำนโยบายนอกตำรา คงต้องพักตำราเศรษฐศาสตร์ที่ได้เรียนมาไว้สักพักหนึ่ง เพราะเวลานี้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ต่างใช้วิธีนอกตำราทั้งหมด ให้รัฐบาลสามารถกู้เงินมาใช้ ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์

เมื่อมีการใช้จ่ายมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยดูเสถียรภาพทางการเงิน ส่วนกระทรวงการคลังดูเสถียรภาพทางการคลัง คือการใช้จ่ายของประเทศ และเงินรายได้ที่จะนำมาใช้ ประเด็นรายได้ ได้แก่ เรื่องการจัดเก็บรายได้ต้องให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของประเทศมีมากเหลือเกิน ทั้งการจ่ายเงินเดือนพนักงานราชการ ข้าราชการ รายจ่ายประจำของรัฐบาลเอง รายจ่ายเพื่อการลงทุน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้จากเม็ดเงินงบประมาณแผ่นดิน ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยทางการเงินและการคลัง ได้กำหนดให้การจัดสรรงบประมาณประจำของรัฐบาลนั้น ต้องจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนอย่างน้อย 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย และต้องมากกว่าวงเงินขาดดุล หมายความว่ากฎหมายบังคับให้รัฐบาลต้องทำการลงทุนด้วย ไม่ใช่เอาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ในส่วนด้านรายได้ เพื่อให้ไทยมีเสถียรภาพ จำเป็นต้องปิดช่องว่างการขาดดุลให้น้อยลงไปในอนาคต เป็นอีกนโยบายที่กระทรวงการคลังต้องดำเนินการดูแลเรื่องรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน เพราะฉะนั้นการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ โดยในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 7 แสนล้านบาท แปลว่ารัฐบาลจะต้องจัดเก็บรายได้ให้ได้ 7 แสนล้านบาท แต่เพราะข้อจำกัดอันเนื่องมาจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2563-2564 โดยเฉพาะรายได้จากการจัดเก็บภาษี เนื่องจากธุรกิจทั้งหลายได้รับผลกระทบกันหมด ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง รวมทั้งรายได้นำส่งคลังของรัฐวิสาหกิจก็ลดลงเช่นกัน

รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี ด้วยการขยายฐานภาษี ดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น หรือเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้มีความสะดวก และการขยายฐานภาษี ยังส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือ เพราะเมื่อทุกคนรวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบ จะทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลและให้ความช่วยเหลือตรงเข้าไปได้ทันที แต่ปัจจุบันยังพบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากยังไม่ได้เข้าระบบ ฉะนั้นการช่วยเหลือถึงยากลำบากเล็กน้อย ต้องมีเงื่อนไขให้ลงทะเบียนและต้องมีบัญชีธนาคาร เอกสารแสดงฐานภาษี เพื่อเก็บบันทึก และเมื่อในอนาคตมีความช่วย รัฐบาลก็สามารถส่งไปที่เอสเอ็มอีได้โดยตรง

หนี้สาธารณะเองเป็นภูมิคุ้มอีกตัวที่สำคัญ โดยคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ มีมติเห็นชอบให้ขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70% เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลมีช่องที่จะกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคตหากมีความจำเป็น ไม่ได้หมายความว่าเมื่อขยับเพดานหนี้ขึ้นไปแล้ว จะต้องมีการกู้เงินเกิดขึ้น สำหรับการกู้เงินตามปกตินั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ครม.ได้เห็นชอบแผนการก่อหนี้ และบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 2565 จึงขอย้ำว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 60-70% เป็นส่วนที่เปิดไว้ในกรณีที่จำเป็น ส่วนที่อยู่ในแผนก่อหนี้ใหม่ จะเป็นการนำไปใช้เพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยังจำเป็นต้องทำอยู่

เมื่อมีการอนุมัติแผนก่อหนี้ใหม่แล้ว คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ช่วงสิ้นปีงบ 2565 หรือ ณ เดือนกันยายน 2565 จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 62% ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์อื่นที่ใช้วัดเสถียรภาพทางการคลัง โดยปัจจุบันภาระหนี้ของรัฐบาลต่อรายได้ในงบประมาณประจำปีอยู่ที่ 31% ซึ่งยังต่ำกว่าที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ที่ 35% ส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะรวมของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 1.4% จากกรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ถือว่าต่ำมากเนื่องจากรัฐบาลใช้เงินกู้จากสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก แต่ในอนาคตอาจจะต้องดูในส่วนนี้ด้วย เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคเอกชนอาจต้องการเม็ดเงินในตลาดเงินของไทย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหันไปกู้เงินจากต่างประเทศบ้าง และในส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออก หรือขีดความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกำหนดต้องไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.6% ซึ่งถือว่าน้อยมากเช่นกัน ดังนั้น หากสภาพคล่องในประเทศตึงตัว รัฐบาลสามารถไปกู้เงินจากต่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายในการลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ หากในปี 2565 จีดีพีไทยอยู่ที่ 3-4% และปีถัดไปอยู่ที่ 4-5% จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับลดลง สุดท้าย เรื่องเกณฑ์การชำระหนี้ของไทย ในทุกปีรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณชำระหนี้ไว้ตลอด และมีการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเวลาการชำระหนี้ หรือพันธบัตรรุ่นใดครบกำหนดหรือหมดอายุก็ออกรุ่นใหม่ให้ระยะเวลายาวกว่าเดิม คอยสังเกตการณ์ว่ามีแหล่งเงินใดที่มีดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลก็จะสลับไปที่แหล่งเงินนั้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประเทศ

รัฐบาลทำหน้าที่คล้ายกับภาคเอกชนที่ต้องปรับโครงสร้างและพักชำระหนี้ ยืดเวลาหายใจ และคอยสังเกตหาแหล่งเงินที่ยินดีให้กู้และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดที่มีอยู่ ก็ย้ายไปหา ซึ่งเป็นส่วนหนี้ของการบริหารจัดการด้านมหภาค

เรื่องการจัดเก็บรายได้เป็นอีกสิ่งที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกไว้ว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ควรปฏิรูปในเรื่องนี้ บางประเทศทำเลยแม้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ส่วนไทยต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะขยายฐานรายได้ของประเทศ ในตอนนี้ไทยมีค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือภาคการคลัง และในส่วนภาคการเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้ทอดทิ้งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมถึงประชาชน ยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลืออยู่

นอกจากฝั่งมหภาคแล้ว ฝั่งเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือภาคเอกชนต้องทำความคุ้นเคยและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้ สิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลมากคือ เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจ ต่างต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลด้วย คือ เศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่น ระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัลของรัฐ อีกส่วนคือ เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่ง เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้า เป้าหมายคือปี 2030 หรือปี 2573 อีกส่วนคือ นโยบายเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ประกอบด้วย ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบหมุนเวียน และระบบสีเขียว (บีซีจี) เป็นอีกนโยบายที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ

สุดท้ายนี้ รัฐบาลจะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ ตามที่บางสำนักวิจัยเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ รัฐบาลจะเดินหน้าเพิ่มการใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการที่จะออกมาเพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนนี้ และยาวไปถึงปีใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้มีเงินในการใช้จ่าย ขณะที่ในปี 2565 แม้สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายที่จะคาดว่า จีดีพีไทยจะขยายตัวได้เพียง 3-4% ต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 4-5% แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังเป็นบวก แม้จะบวกลดลงก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image