นักวิชาการส่องการเมือง ในกระแส‘แตกร้าว’ กลางวังวน‘น้ำรอระบาย’

หมายเหตุนักวิชาการแสดงความเห็นถึงทิศทางการเมืองในอนาคต หลังมีประเด็นแหลมคมหลายเรื่อง ทั้งรอยร้าวของ 3 ป. (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯไม่เกิน 8 ปี กรณีที่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ จะดึง ส.ส.ใต้ของพรรค พปชร.ไปอยู่พรรคใหม่ และเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กระแสสังคมเชื่อว่าจะยุบสภาเร็วๆ นี้ ต้องติดตามว่าจะมีปัจจัยอะไรเป็นตัวเร่ง สำหรับเงื่อนไขใหม่นอกจากความขัดแย้งกันเองในพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีปัญหาการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากตีความโดยยึดตัวบุคคล พล.อ.ประยุทธ์ก็จะพ้นจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2565

Advertisement

ปัจจัยที่จะเร่งให้ยุบสภา จำเป็นต้องมีตัวแปรหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือมีประเด็นที่สังคมจุดติดทำให้กลายเป็นพลังกดดันจากภายนอก

แต่ถ้าผู้มีอำนาจมองแล้วว่ายังเสียเปรียบทางการเมืองไม่พร้อมจะยุบสภา อภินิหารพลังกล้วยก็จะมีอิทธิฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ หากจะแตกจริง อาจจะให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ครอบครองพรรคเดิมไปก่อน แต่มีเงาของบิ๊กป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อยู่เบื้องหลัง จากนั้นบิ๊กป๊อก (พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา) กับบิ๊กตู่ไปพรรคสำรอง และด้วยศักยภาพของ 3 ป.เชื่อว่าหลังเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐกับพรรคอะไหล่ยังรวมกันได้เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อไป โดยมี ส.ว.250 คนเป็นทุนเก่า

Advertisement

แต่ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสู้ในเกมการเมืองที่มีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอาจต้องไปทำหน้าที่หัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง แต่อีกด้านเมื่อถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์อาจจะรู้สึกว่าพอแล้ว ถ้าโดนบีบจากหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีหาก พล.อ.ประยุทธ์ยังฝืนอาจเป็นจุดอ่อนของพรรคการเมืองใหม่ที่ชูตัว พล.อ.ประยุทธ์

หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถทำหน้าที่นายกฯได้อีก หรือมีคะแนนนิยมลดลงก็จะเป็นปัญหาของพรรคใหม่ ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเรื่องของพรรคที่ตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจ และประเมินล่วงหน้าได้ว่าเป็นที่พรรคที่มีอายุไม่ยืนยาว

เมื่อมองถึงบุคคลที่เหมาะสม มีความโดดเด่นชนชั้นนำ ทุนใหญ่ หรือกองทัพ แสดงความพอใจให้การยอมรับ เพื่อมาทำหน้าที่นายกฯแทน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับว่าตรงนี้คือ จุดบอด วันนี้ยังนึกภาพไม่ออกว่าใครจะมาแทน

การเมืองระดับประเทศวันนี้สะท้อนว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ ไม่มีผู้เล่นใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือก แต่ส่วนตัวไม่ต้องการให้ประชาชนคิดว่าเป็นการเมืองแบบ “น้ำรอการระบาย”

ขณะที่ 3 ป.สั่นคลอนเสถียรภาพ พรรคพลังประชารัฐโดนเขย่า แต่พรรคเพื่อไทยที่ถูกแช่แข็งก็ยังเดิมๆ โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทยจะพลิกฟื้นจากนั่งร้านให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่มีจุดขายแปลกใหม่ หรือหัวหน้าพรรคหญิงบางคนเดินสายไปต่างประเทศหวังเอาโลกมาล้อมประเทศไทยคนก็ไม่สนใจ ส่วนพรรคกล้าก็ยังไม่มีออร่าในตัวเอง

ดังนั้น หากพรรคใหม่ที่ผู้มีอำนาจตั้งขึ้นมาเห็นว่าระบบการเลือกตั้งใหม่จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบไม่ได้เป็นคุณประโยชน์กับพรรค อาจยุบสภาก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าทำแบบนี้พรรคก้าวไกลอาจพลิกฟื้นมาเป็นตัวแปรจากบัตรใบเดียว เป็นก้างขวางคอคนชั้นนำ เพราะคนรุ่นใหม่มีโอกาสไปลงคะแนน 8 ล้านคน หรือยิ่งยุบสภาช้าลงคนรุ่นใหม่จะมีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น แต่พรรคก้าวไกล หากจะโตทางการเมืองใน พ.ศ.นี้ อาจต้องลดเพดานลงมาในบางเรื่อง

ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในอนาคตถ้ามีความพยายามที่จะแยกไปตั้งพรรคการเมือง ความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจโดยกลุ่ม 3 ป.ก็คงจะมีต่อไป แต่ถ้าลึกๆ แล้วมีการแยกกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ในทางการเมืองคงจะแยกกันได้ยาก แต่อนาคตขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า ถ้าแยกกันไปตั้งพรรคแบบนี้ในอนาคตหมายความว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะยังคงเกิดขึ้นอีก แต่การต่อรองอำนาจภายในจะมีลักษณะที่แบ่งแยกชัดเจนมากกว่าการต่อรองภายในพรรคการเมืองของตนเอง ซึ่งเป็นความท้าทายที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ทางด้านการเมือง คือ แยกกันเดิน
ร่วมกันตี มันประสบความสำเร็จไหม ภายใต้วิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งโควิด ทั้งปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน

ลักษณะของพรรคการเมืองไทยที่เรากำลังเผชิญหน้าปัญหาต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะฝ่ายพรรคการเมืองของรัฐบาลเอง การที่ ส.ส.ฝ่ายค้านโหวตสวนมติของพรรคก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าความอ่อนแอของพรรคการเมือง

ระบบการเมืองไทยในปัจจุบันสะท้อนระบบรัฐสภาที่ค่อนข้างอ่อนแอพอสมควร คงไม่ใช่เฉพาะแค่การทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาเท่านั้น แต่หมายความว่าพรรคการเมืองที่ต้องทำหน้าที่หลักในการสะท้อนความต้องการ หรือแก้ปัญหาในฐานะรัฐบาล หรือฝ่ายค้านอาจจะเผชิญหน้าความท้าทาย เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองเอง หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคอาจต้องมีการปรับต่อไปในอนาคต

สำหรับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่อให้ ทะเลาะกันจริงก็แยกกันไม่ขาดในทางการเมือง หลายคนบอกว่าเป็นละครหรือเปล่า ส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ได้เกิดจาก 2 คนนี้โดยตรง แต่เป็นปัญหาในพรรค เพราะฉะนั้นแต่ละท่านต้องมีฐานเสียงของตัวเอง แต่ท้ายที่สุดคงไม่ตัดขาดแบบบัวไม่เหลือใย

รศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ถ้าจะมองการเมืองในขณะนี้ เงื่อนไขอย่างหนึ่งอยู่ที่ระบบการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้พรรคในแต่ละขนาดรู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไร ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านสภามาแล้วเป็นแบบบัตร 2 ใบ ดังนั้นพรรคเล็ก พรรคกลาง ต้องคิดเยอะ

วันนี้ทุกคนกังวลว่าเมื่อเปิดสภาแล้ว พรรคพลังประชารัฐจะมีปัญหาหรือไม่ จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือเปล่า ต้องมีการรักษามารยาททางการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าถึงแม้ ส.ส.ทุกคนจะบอกว่าตัวเองพร้อมกับการเลือกตั้ง แต่ถ้าถามว่าอยากจะเลือกตั้งเร็วๆ นี้ไหม ก็คงตอบว่าไม่

ดังนั้น การเมืองในพรรคอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อในสภามากนัก กล่าวคือทุกคนอาจมีกลุ่ม มีพวก แต่ถ้าการกระทำของกลุ่มพรรคพวกนำไปสู่การต้องเลือกตั้งใหม่ ส.ส.หลายคนอาจต้องลังเล

กรณี 3 ป. ถ้าพูดถึงในพรรคพลังประชารัฐ การเล่นเกมการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในพรรคเป็นเรื่องปกติมาก เป็นเรื่องที่มีอยู่เสมอ คำถามคือในวันนี้กลุ่มต่างๆ ที่คิดว่ามี ถ้ามีจริง เวลาที่พูดว่าตัวเองอยู่ฝั่งนั้น ฝั่งนี้ เป็นเช่นนั้นจริงไหม หรือเมื่อถึงเวลาแล้วไปดูหน้างานทุกอย่างยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้

ถ้ายังจำได้ สมัยหนึ่งที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาใหม่ๆ บอกว่าให้สลายมุ้ง ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งมันก็ไม่ได้หายไป แต่การแบ่งมุ้งแบ่งกลุ่ม ไม่ได้คิดว่าจะทำให้การเมืองในสภาเป็นปัญหามาก เพราะในที่สุดทุกคนก็ต้องมองถึงการอยู่รอดของสภา ผ่านการทำงานและทางการเมืองในพรรคและตัวเอง

กรณี พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ จนำ ส.ส.ภาคใต้ของพรรค ย้ายเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย ของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือปลัดฉิ่งนั้น สิ่งที่ พ.อ.สุชาติพูดนั้น คือพรรคไม่ให้เกียรติ ส.ส.ภาคใต้ ซึ่งจริงๆ น่าจะมีรัฐมนตรี อาจเป็นการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีก่อนหรือไม่ ถ้าได้ อาจไม่ย้ายก็ได้ อาจเป็นเกมการต่อรองโดยใส่เงื่อนไขการย้ายพรรคเข้าไป

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
นักวิชาการคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ประเด็นที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ ทำหน้าที่ไม่เกิน 8 ปี เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มุมมอง แต่ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ก็คงไม่มีประโยชน์หากจะไปร้องให้วินิจฉัยตีความ แต่ส่วนตัวเห็นเมื่อกฎหมายเขียนไว้แล้วจะตีความอย่างไรไม่สำคัญเท่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะอยู่ต่อหรือจะไป

เพราะในการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีข้อกังวลกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในอำนาจนานเกินไป ทำให้ผูกขาดอำนาจ อาจใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ ถือเป็นกลไกหลักในการตรวจสอบถ่วงดุล

เป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับการเมืองไทยให้นายกฯทำงานได้หลายวาระแต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี ดังนั้นใครจะมานั่งเก้าอี้นายกฯทั้งมาจากการทำรัฐประหาร หรือมาจากการเลือกตั้ง ก็ควรใช้บรรทัดฐานนี้

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ในสถานการณ์วันนี้ ต้องยอมรับว่ายังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยม แม้ว่าล่าสุดคะแนนนิยมจากนิด้าโพลจะตกต่ำเหลือเพียง 17% จากเดิมช่วงแรกๆ สูงถึง 30% ส่วนฝีมือในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ดูเหมือนจะไร้ประสิทธิภาพ หรือไร้ความสามารถ

แต่เลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้หรือไม่ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐที่ให้การสนับสนุนมีแนวโน้มแตกแยกจากภายใน จะมี ส.ส.ที่ยังอยู่พรรคเดิมหรือบางส่วนไปตั้งพรรคใหม่ที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง

หากมีการเลือกตั้งภายใต้บัตร 2 ใบ พรรคพลังประชารัฐคงได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คน อาจจะ 50-60 คน พรรคใหม่ที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็เช่นเดียวกัน

สำหรับพรรคที่มีโอกาสสูงกว่าภายใต้การเลือกตั้งระบบใหม่คือพรรคเพื่อไทย จาก ส.ส.เขตที่มีฐานมั่นคง ส่วนพรรคก้าวไกลฐานคะแนนที่มีการสำรวจความนิยมอยู่ที่ 15% คะแนนของหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่เดิมเป็นเลขตัวเดียว ล่าสุดขึ้นไปเกิน 10%

ผลการสำรวจคะแนนนิยมจึงเป็นความเสี่ยงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีคู่แข่งทั้งพรรคการเมืองและตัวบุคคลใหม่ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งเชื่อว่าไม่ง่ายที่ชนชั้นนำจะรักษาฐานอำนาจไว้ได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่ความแข็งแกร่งของ 3 ป. ความใกล้ชิดกับกองทัพ องค์กรอิสระ ทุนทางการเมือง และนักการเมืองบางกลุ่มยังมองว่า 3 ป.ได้เปรียบในเชิงกลไกอำนาจรัฐและการใช้ทรัพยากรของรัฐ เพิ่มโอกาสให้มีฐานการสนับสนุนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะชี้ขาดชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะบทเรียนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคงสัมผัสรับรู้กันโดยถ้วนหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image