45ปี‘6 ตุลา 19’ บทเรียน‘ปชต.ไทย’

45ปี‘6 ตุลา 19’ บทเรียน‘ปชต.ไทย’ หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการ

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการถอดบทเรียนในวาระครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สะท้อนภาพการเมือง การปกครอง และการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

มีทั้งส่วนที่คล้ายกัน และมีบางส่วนที่ต่างกันออกไป เพราะ 45 ปี สภาพสังคมเปลี่ยน โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ การบริโภค การผลิตอะไรต่างๆ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เราดำรงชีวิตอยู่นั้น เปลี่ยนไปมาก ปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย มีเครื่องใช้ไม้สอยในการติดต่อสื่อสาร มีระบบดิจิทัล หรือระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งเมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่มีเรื่องพวกนี้ หาก 40 ปีที่แล้วมี ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวคงเปลี่ยนไปอีกรูปแบบ เนื่องจากการรับรู้ค่อนข้างอนาล็อก ไปด้วยมือ ไปด้วยรถ ต้องนั่งรถไปวันๆ กว่าจะไปส่งข่าวหรือทำอะไร ฉะนั้น เนื้อหาบางอย่างจึงไม่สามารถที่จะครอบคลุมไปได้กว้างไกลเท่าที่ควร ก็จะมีแต่ลักษณะกว้างๆ เช่น ความยุติธรรม การต้องการความช่วยเหลือ การกดขี่และเบียดเบียนต่างๆ ซึ่งยังเป็นพื้นฐาน
การเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาในยุคนั้นจนถึงยุคนี้ คือจุดที่เห็นได้ว่าคล้ายคลึงกัน

Advertisement

ในส่วนที่แตกต่างออกไปนั้น ผมคิดว่าเนื้อหา หรือข้อเรียกร้อง ณ ปัจจุบัน ตั้งแต่กลุ่มนักเรียนเลวมาจนถึงกลุ่มประท้วงของนิสิต นักศึกษา ก็จะมีระดับข้อเรียกร้อง ในบางเรื่องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งน่าสนใจมาก อย่างในโรงเรียน ผมว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เรื่องที่นักเรียนเลวนำมาเล่าให้ฟังว่า ถูกครูทุบตี ถูกกล้อนผม ด่าทออย่างหยาบคาย ไม่มีเมตตา สมัยก่อนเราไม่ได้ยินเท่าไหร่ ผมก็แปลกใจเหมือนกัน ดูเหมือนชีวิตก้าวหน้า แต่คนที่ใช้ตำแหน่งและอำนาจต่างๆ กลับถอยหลังไปสู่ยุคที่ป่าเถื่อนมากขึ้น จากที่คิดว่าเราน่าจะเปลี่ยนไปสู่ยุคศิวิไลซ์มากขึ้น นี่คือความต่าง

ปัจจุบันนี้ระบบการกดขี่ของคนที่มีอำนาจ คนที่มีความรับผิดชอบต่างๆ กลับซึมลึกมาก และกระจายลงไปหมด ในอดีตต้องเป็นคนที่มีระดับถึงจะออกมาใช้การกระทำแบบไม่เป็นธรรม ปัจจุบัน แม้กระทั่งครูระดับล่างๆ ก็สามารถใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างนี้ได้ แสดงว่าผลประโยชน์ที่เติบโตไปกับเศรษฐกิจ ทุนนิยม และโลกาภิวัตน์ เอื้อให้คนมีความโลภมากขึ้น และเชื่อว่าระบบราชการแบบไทย ไม่ลงโทษคนที่อยู่ในตำแหน่งแบบนั้น ไม่รับผิดชอบ กล่าวคือถ้าเจ้าหน้าที่ทำอะไรต่างๆ จะเอาผิดยากมาก นี่คือสภาพที่สวนทางกัน ในขณะที่ด้านหนึ่ง ภายนอกก้าวหน้า ดูดีขึ้น แต่ภายในกลับสะท้อนถึงระบบการปกครองและระบบการใช้อำนาจต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมหนักหน่วงมากขึ้น โยงไปถึงอำนาจข้างบนที่ทุกรัฐบาลเหมือนกันหมด คือต้องการอยู่ในอำนาจ แต่ก็อยู่อย่างไม่เป็นธรรม เข้ามาก็ไม่เป็นธรรม การยึดอำนาจก็คือการฉ้อฉล เพื่อจะอยู่ให้ได้ แทนที่จะทำให้ระบบสร้างคนรุ่นต่อๆ ไปขึ้นมารับผิดชอบ ปกครอง ออกกฎหมาย พิพากษา เรากลับสร้างระบบให้คอร์รัปชั่นตามน้ำ ใครทวนน้ำก็อยู่ไม่ได้

การสร้างคนแบบนี้ ไม่มีทางที่จะอยู่ได้อย่างมีอนาคต ไปเทียบ หรือไปแข่งกับทั่วโลกก็แพ้ทั้งนั้น ไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่แต่ในรูของตัวเองเท่านั้น นี่คือสภาพที่นักเรียน นักศึกษาที่ออกมาต่อสู้ตอนนี้เขาเจอศึกหนัก ไม่เฉพาะสู้กับรัฐบาลหรือคนในรัฐบาล อย่างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่กลับต้องสู้กับ “เผด็จการน้อย” ที่แฝงตัวอยู่ทุกที่ในสังคม ไม่เฉพาะรัฐบาล โรงเรียน สถานพยาบาล มีอยู่ทุกที่เต็มไปหมด คือความยากลำบากของคนในปัจจุบัน

Advertisement

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ส่วนตัวมองว่าทุกอย่างถอยหลัง โดยเฉพาะการมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ย้อนยุคกลับไปนานกว่า 40 ปี ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2521 ยังไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว.มากขนาดนั้นเพราะฉะนั้นในอนาคตสืบเนื่องต่อไปจากนี้ การเมืองจึงไม่น่าจะมีพัฒนาการ หรือจะมีความหวังว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนผ่านให้มาตรฐานสากลไปได้ในระยะเวลาสั้นๆ

ถ้ามองย้อนกลับไปถึง 14 ตุลาคม 2516 พลังนักศึกษาที่เป็นแกนนำออกมาเรียกร้องเพราะต้องการต่อต้านระบอบเผด็จการทหารเพราะรู้สึกว่ามีความเก็บกดมานานมากถึง 16 ปี หลังมีการสืบทอดอำนาจตั้งแต่ปี 2500 ดังนั้นทุกฝ่ายที่ออกมาจึงต้องการสิทธิเสรีภาพบางอย่างตามสมควร

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มีพฤติกรรมหลายอย่างของกลุ่มนักศึกษาถูกมองว่าเป็นซ้าย ที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนหนึ่งก็ถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่ต้องยอมรับว่าบางส่วนก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันบรรยากาศในขณะนั้นมีสงครามเวียดนาม ความรู้สึกหวั่นเกรงของฝ่ายชนชั้นนำหรือกลุ่มอนุรักษนิยม ก็มีความหวั่นไหวมาก เพราะกลัวมีผลกระทบจากทฤษฎีโดมิโน จึงนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผลกระทบกับพัฒนาการของประชาธิปไตย เพราะมีความพยายามในการสร้างสถานะที่มั่นคงให้กับบรรดาชนชั้นนำเพิ่มมากขึ้น จากเดิมในการใช้กำลังทหาร แม้ว่าช่วง 14 ตุลาคม 2516 ชนชั้นนำยังไม่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันมากนัก แต่หลังจาก 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายตุลาการซึ่งในหลักการจะมีความเป็นอิสระค่อนข้างมาก แต่พบว่าต่อมีผู้พิพากษาบางคนที่มีอำนาจ นำบรรดาผู้ใกล้ชิดที่ไว้วางใจได้เข้าไปทำงานในสภาปฏิวัติ ทำให้มีปัญหาขัดแย้ง ทหารจึงยึดอำนาจซ้ำในเดือนตุลาคมปี 2520

หลังจากมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะได้ยินคำว่าตุลาการภิวัตน์จากความพยายามของฝ่ายอำนาจเก่าหลายองคาพยพ ที่รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จะเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป ที่สำคัญแต่เดิมบางฝ่ายก็ไม่ต้องการให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าสู่อำนาจ จึงเริ่มจากคดีซุกหุ้น แต่นายทักษิณหลุดคดี ผิดความคาดหมาย จากนั้นนายทักษิณซ้ำเติมอำนาจเก่าด้วยนโยบายประชานิยม สุดท้ายจึงต้องหาวิธีการกำจัดออกไปจากการรัฐประหารในปี 2549 ต่อเนื่องด้วยการตั้งทีมกฎหมายพิเศษชี้มูลความผิด การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา เพราะแนวคิดดั้งเดิม ผู้มีอำนาจต้องการวางเป้าหมายว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นมา จะต้องเป็นประชาธิปไตยตามแบบที่ชนชั้นนำต้องการเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมีการต่อสู้กันอย่างยาวนาน แต่สุดท้ายฝ่ายประชาธิปไตยก็พ่ายแพ้แทบทุกครั้ง จึงนำมาสู่สถานการณ์ความขัดแย้งถึงปัจจุบัน ทำให้ถูกมองว่าแนวคิดประชาธิปไตยถอยหลังเข้าคลองไปไกลมาก

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) อดีตแกนนำ นปช.

ในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519 จึงถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในบรรทัดประวัติศาสตร์ประเทศไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยพลังบริสุทธิ์ของประชาชน การจัดงานรำลึก 6 ตุลา 19 จึงเป็นวาระสำคัญร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมุดหมายสำคัญใน ม.ธรรมศาสตร์ อันเป็นที่เกิดเหตุ จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้กับประวัติศาสตร์หน้านี้

ผมรู้สึกประหลาดใจและเจ็บปวด เมื่อทราบข่าวการโต้แย้งกันระหว่างคณะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ผู้ต้องการจัดงานรำลึก 6 ตุลา กับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและประชาคมธรรมศาสตร์บางส่วนที่แสดงอาการไม่เต็มใจและคัดค้าน เรื่องนี้ควรเป็นสำนึกร่วมกันของชาวธรรมศาสตร์ในทุกขวบปี 6 ตุลา 19 ไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องเถียงกันว่าจะจัดที่ไหน แต่ควรเป็นหนึ่งในวิชาเรียนของ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ศิษย์ทุกรุ่นได้ซึมซับเข้าใจและเติบโตพ้นรั้วมหาวิทยาลัย โดยช่วยกันป้องกันไม่ให้สังคมไทยย้อนกลับมาในประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดแบบเดิม

ขบวนการนักศึกษาที่ผ่านเหตุการณ์ตุลาคม 2519 พวกเขาเติบโตขึ้นในท่ามกลางอิทธิพลของเครือข่ายอนุรักษนิยมและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยที่มีอิทธิพล คนหนุ่มสาวที่ต้องการโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตจำนวนไม่น้อยจำต้องสยบยอมต่อเครือข่ายอนุรักษนิยมและระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้มีสถานะในสังคมและมีอนาคตก้าวเดินต่อไป ผลิตผลจากขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาจำนวนหนึ่งจึงเข้าไปมีบทบาทในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ในฐานะผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมเพื่อโอกาสและความเติบโตในชีวิต

แต่กับหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจะไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาเติบโตขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีอย่างไม่จำกัด สังคมนี้จะไม่อนุญาตให้ใครจะเป็นผู้ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม “ปลอม” อยู่ได้นาน และหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจะไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องพินอบพิเทาวิ่งเต้นเส้นสายกับความปลอมใดๆ พวกเขามีช่องทางมากมายที่จะสร้างความเติบโตเข้มแข็งกับชีวิตแล้วยิ่งเวลาเดินไปข้างหน้า

ผมเชื่อว่าความคิดแบบนี้จะมีแต่เข้มแข็งมากขึ้น หนุ่มสาวที่ผ่านการต่อสู้ในปัจจุบัน อาจจะมีบางส่วนที่สยบยอมต่อเครือข่ายของอำนาจเดิม แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น พลังบริสุทธิ์นี้จะเติบโตและยังคงเข้มแข็งในหลักการที่ถูกต้องต่อไป กลไกอนุรักษนิยมต่างหากที่จะถูกตัดพื้นที่ให้หดแคบลง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเมืองของไทยตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงปัจจุบัน เป็นการเมืองที่ฝ่ายชนชั้นนำพยายามที่จะพาสังคมไทยย้อนกลับไปสู่ทศวรรษเก่าๆ ในปี 2490 และ 2500 หมายถึงถดถอยและย้อนหลังตลอดเวลา เพราะชนชั้นนำต้องการรักษาสถานภาพทางอำนาจและผลประโยชน์ในเครือข่ายของตัวเองไว้ ในทางกลับกันการเมืองของฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

เยาวชนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจะพบกับความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก บวกกับการมีเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย มีชุดความรู้ที่ทำให้มองเห็นอนาคต จึงทำให้คนในประเทศส่วนใหญ่ต้องการก้าวไปข้างหน้า ส่งผลให้กลายเป็นสถานะของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา เพราะฝ่ายรัฐทหาร ชนชั้นนำระบอบเดิมต้องการคงอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายตนเองไว้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องการที่จะนำพาสังคมไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกทั้งใบในระนาบเดียวกัน

ปัญหาในวันนี้เกิดจากความพยายามในการรักษาอำนาจ ต่างจากชุดความเชื่อดั้งเดิม แต่เดิมสังคมไทยมองว่าการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหรือวิกฤตของชาติในขณะนั้น แต่ในรอบ10 กว่าปีที่ผ่านมา จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง มีการถอดบทเรียนที่ต้องเผชิญปัญหาเดิมแบบซ้ำซาก รวมทั้งการเติบโตของโลกทางวิชาการ ทำให้หลายฝ่ายมองเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นเจตจำนงที่ต้องการใช้อำนาจรวมศูนย์ ไม่ได้แก้ไขปัญหาของชาติ แต่เป็นการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของเครือข่ายรัฐทหาร ทำให้มองเห็นภาพรวมที่กว้างขึ้นตลอด 70 ปีที่ผ่านมา รัฐทหารใช้วิธีการแบบดั้งเดิม ทั้งรูปแบบ โมเดลของวิธีการ การประกาศกฎหมาย แม้แต่มาตรา 44 จากการยึดอำนาจเมื่อพฤษภาคม 2557 ก็สืบทอดมาจากการใช้มาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การออกแบบกฎกติกาทางการเมืองหลังการรัฐประหาร เป็นการออกแบบเพื่อให้ฝ่ายสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารต้องได้รับชัยชนะ ดังนั้นการออกแบบเช่นนี้จะนำไปสู่พฤติกรรมทางการเมืองที่ประชาชนเห็นว่า นักการเมืองต้องแย่งชิงกันตลอดเวลา และนักการเมืองบางกลุ่มรู้ดีว่าไม่สามารถไปต่อสู้กับรัฐทหารที่ควบคุมได้จากกติกาที่กำหนดไว้ พฤติกรรมของนักการเมืองกลุ่มนั้นจึงให้การสนับสนุนเพื่อความอยู่รอด

ในระยะเปลี่ยนผ่านความหวังที่จะเห็นชนชั้นนำ รัฐทหาร นักการเมือง ทุนขนาดใหญ่ ประชาชนและคนรุ่นใหม่ สะท้อนมุมมองได้จากระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งคือระบบทุนนิยมเสรีที่มีการแข่งขัน เราตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของรัฐทหารตลอดมา ที่ทำให้เชื่อว่าข้าราชการทุกฝ่ายเป็นคนดี มีศีลธรรม แต่ที่จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยมีรากฐานการแข่งขันกันจากการตั้งหลักเกณฑ์ที่มีความยุติธรรม มีวาระที่ชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image