รายงานหน้า2 : ร่วมไว้อาลัยวีรชน งานรำลึก ‘45 ปี 6 ตุลาคม 2519’

หมายเหตุอดีตผู้นำขบวนการนักศึกษา กล่าวไว้อาลัยวีรชนในงานรำลึก “45 ปี 6 ตุลาคม 2519” บริเวณประติมากรรม “ธรรมศาสตร์ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม

จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519

เมื่อได้อ่าน ได้รับรู้ชื่อนิทรรศการ “หนี้เลือด 6 ตุลา 2519 ถึงเวลาชำระ” ที่จัดขึ้นในงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 19 ทำให้นึกถึงคำว่า เลือดล้างด้วยเลือด ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลัง 6 ตุลา มีการแต่งเพลงที่ตอนท้ายบอกว่า “ในวันนี้ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่ วันกองทัพประชาชนประกาศชัย จะกลับไปกรีดเลือดมารล้างลานโพธิ์” เนื้อหาเพลงนี้ และคำว่าเลือดล้างด้วยเลือดเป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงเข้าสังหาร เข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ

การใช้ความรุนแรงนั้นไม่ได้นำไปสู่ความสงบราบคาบ แต่กลับกลายเป็นความขัดแย้ง ความรุนแรงที่มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น บทเรียนของสังคมไทยก็คือ การที่รัฐใช้กำลังความรุนแรงจัดการกับนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมนั้น มีแต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เราต้องหาทางออกให้คนในสังคม ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐอยู่ร่วมกันในสังคมได้

Advertisement

ในวันนี้ ชื่อนิทรรศการ “หนี้เลือด 6 ตุลา 2519 ถึงเวลาชำระ” ความหมายย่อมแตกต่างออกไป กล่าวคือ ไม่ใช่เลือดล้างด้วยเลือด แต่การชำระหนี้เลือด 6 ตุลา ยังเป็นเรื่องที่สังคมไทย ประชาชนไทยต้องคิดว่า การปราบปรามที่โหดเหี้ยมในครั้งนั้น เกิดจากโครงสร้างอย่างไร เกิดจากระบบทางสังคมอย่างไร เกิดจากอุดมการณ์ความคิด ความเชื่ออย่างไรที่ทำให้ชนชั้นนำใช้ความรุนแรงมารักษาผลประโยชน์ให้ตนเอง ใช้ปลุกปั่น ยุยง ทำให้เกิดความโกรธแค้น เกลียดชังต่อนักศึกษาประชาชนถึงขั้นต้องเข่นฆ่าอย่างทารุณ ระบบโครงสร้างอุดมการณ์ความคิดเช่นนั้นยังอยู่ในสังคมไทยจนปัจจุบันนี้ และยังเป็นหลักในการนำ ในการปกครอง ในการปราบปรามประชาชนจนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะชำระหนี้เลือด นอกจากชำระในทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมความยุติธรรมแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยต้องคิดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนระบบ ทำลายอุดมการณ์ ความคิด ค่านิยม และวัฒนธรรมที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาประชาชน เพียงเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างไร

สิ่งที่สังคมไทยจะต้องคิดต่อไป คือคิดถึงการชำระหนี้เลือดทางกฎหมายโดยหลักนิติธรรม และหาทางแก้ไข เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม อุดมการณ์ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และการส่งเสริมให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ทั้งหลายมีเสรีภาพในการแสดงออก ในการสร้างสังคมอย่างที่ปรารถนา

สุธรรม แสงประทุม
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

Advertisement

งานรำลึก 6 ตุลา 2519 ยิ่งนานวัน คนยิ่งมาเข้าร่วมและต่อเติมเหตุการณ์จนวันนี้เกือบสมบูรณ์ และจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หากคนผิดถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เหมือนที่นายพลปิโนเชต์ ของชิลี ผู้สังหารหมู่ประชาชนถูกจับที่อังกฤษ

สำหรับปีนี้ หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้จัดดีๆ คนคงไม่มากันมากขนาดนี้

อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งของคนยากคนจน ที่พึ่งในที่นี้ก็คือ สติปัญญา ความรู้ ให้ลูกหลานคนยากคนจนได้มีแสงสว่างที่จะนำพาและพึ่งพิงตัวเองได้ นี่คือรากเหง้าของธรรมศาสตร์
แม้ส่วนตัวเรียนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดินผ่านธรรมศาสตร์มากกว่า เพราะที่นี่สามารถมาเรียนรู้ทุกปัญหาได้

การจัดงานวันนี้ เราทุกคนไม่ต้องการอย่างอื่น นอกจากทำกิจกรรมเพื่อรำลึก ไม่ต้องการหาเรื่องใครทั้งสิ้น ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ จึงเป็นคนหนึ่งที่ต้องชี้แจง มีภาระที่ต้องพูดแทนคนตาย แทนคนที่เสียโอกาส แทนคนสูญหาย ซึ่งต้องให้เขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรม ถามว่าเบื่อไหมในการพูด ไม่มีสิทธิเบื่อ พูดกันไปจนตายคนรุ่นหลังก็จะมาพูดต่อจนกว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสำนึกในความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น ผู้ที่ประกอบอาชญากรรมจะต้องชดใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

6 ตุลา จัดเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นบทเรียนที่จะต้องไม่ให้เกิดซ้ำอีก อยากเห็นความจริงในเหตุการณ์ได้ปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจกันแบบผิดๆ ถูกๆ

ที่ผ่านมา ได้กล่าวอาลัยสดุดีวีรชน 6 ตุลา มามากแล้ว จนหมดถ้อยคำจะกล่าว จึงขอหยิบยืมคำพูดอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกที่เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง” สาเหตุที่ไอน์สไตน์เข้าใจผู้ถูกปราบปรามอย่างลึกซึ้ง เพราะเคยถูกหนีการล่าล้างเผ่าพันธุ์มาก่อน

ไอน์สไตน์สรุปไว้อย่างเรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ว่า ในบั้นปลายชีวิตได้เตือนสติตัวเองวันละเป็นร้อยครั้ง ว่าชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนถึงทุกวันนี้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ล้วนเป็นผลมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของผู้อื่น ทั้งที่มีชีวิตอยู่และวายชนม์ไปแล้ว จึงพยายามนำสิ่งที่ได้รับมาและยังได้รับอยู่กลับคืนแก่พวกเขาจนสุดกำลังความสามารถ แม้แต่ชีวิตก็ยอมได้

ในที่นี้ จึงขอนำคำกล่าวนี้มาใช้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายรำลึกถึงคนที่มาก่อนเรา คนที่ยังอยู่ และรุ่นต่อไปเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของเขาเหล่านั้น ขอให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

กฤษฎางค์ นุตจรัส
ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน อดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519

งานวันนี้จัดขึ้นด้วยความยากลำบาก เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นจากการที่ประชาชน นิสิต นักศึกษา ไม่ได้รับความยุติธรรม เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้ทำร้ายประชาชนในปี 2516 กลับเข้าประเทศโดยไม่มีการนำตัวมาลงโทษ 2 ช่างไฟฟ้าที่ติดโปสเตอร์ต่อต้าน ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต นำศพไปแขวนคอ จนบัดนี้ ฆาตกรยังไม่ถูกลงโทษ

ในการปราบปรามที่ธรรมศาสตร์ มีคนตายมากกว่าที่บันทึกไว้ในประติมากรรม 6 ตุลา หอสมุดแห่งชาติไม่มีบันทึกเกี่ยวกับ 6 ตุลา แม้แต่เล่มเดียว บทเรียนในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติก็ไม่พูดถึง 6 ตุลา รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นิรโทษกรรม ทำให้พ้นความรับผิดชอบ

ผ่านมา 45 ปี ยืนยันว่า 6 ตุลา ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นความจงใจ ต้องการกวาดล้าง ฆ่าฟัน สังหารหมู่ เราไม่ได้จัดงานทุกปีเพียงเพื่อรำลึก หรือแสดงภาพโหดร้ายของการฆ่า แต่จุดหมายที่เรียกร้องคือ นำตัวคนผิดมาลงโทษ วันนี้หมุดหมายสำคัญจะเริ่มนับ 1 ในการนำตัวคนผิดมาลงโทษ หลายคนสงสัยว่า 45 ปีแล้ว บางคนเสียชีวิตแล้ว มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึง เหตุผลคือ วีรชน 6 ตุลา นักเรียน นักศึกษายังไม่ได้รับการชดใช้ ขอโทษ คนก่อต้องได้รับการลงโทษ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต้องไม่ให้ลูกหลานถูกกระทำเช่นนั้นอีก

แม้ผู้กระทำผิดเสียชีวิตแล้ว ก็ต้องถูกลงโทษทางสังคม ยังต้องถูกจารึกว่าทำผิด เกียรติยศต้องถูกถอด นำไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งคดีความเช่นนี้ไม่มีอายุความตามข้อตกลงระหว่างประเทศ

ผ่านมา 45 ปี น้องๆ อย่าง เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา และคนอื่นๆ ยังต้องประสบชะตากรรมเหมือน 45 ปีก่อน ถูกขังโดยไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ประธานคณะก้าวหน้า

เรามารำลึก 6 ตุลา ไม่ได้รำลึกแต่เพียงอดีต ไม่ได้รำลึกแต่เพียงคุณูปการของวีรชนผู้เสียเลือดเสียเนื้อ แต่เรามาป่าวประกาศถึงสังคมไทยที่อยากเห็น สังคมไทยที่เราอยากจะสร้างไปด้วยกัน

มาเพื่อส่งเสียงว่าเราต้องการเห็นอนาคตแบบไหน และอนาคตแบบที่อยากเห็นคือ อนาคตที่คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างโอบอ้อมอารี อนาคตที่ความคิดเห็นที่แตกต่างได้รับการยอมรับ อนาคตที่เราอยู่ร่วมกันอย่างอดทนอดกลั้นต่ออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

คิดว่านี่คือ อนาคตที่อยากเห็น อนาคตที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการปกป้อง มีแต่อนาคตแบบนี้เท่านั้นที่จะดึงพลังของคนในชาติออกมาร่วมกันสร้างสังคมได้

มีแต่อนาคตแบบนี้เท่านั้นที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าเท่าทันต่อโลกาภิวัตน์ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image