นักวิชาการส่องศึก‘อบต.’ พื้นที่การเมืองชิงส.ส.

นักวิชาการส่องศึก‘อบต.’ พื้นที่การเมืองชิงส.ส.

นักวิชาการส่องศึก‘อบต.’

พื้นที่การเมืองชิงส.ส.

หมายเหตุ – นักวิชาการให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะเปิดรับสมัครวันที่ 11-15 ตุลาคม และมีการเลือกตั้งวันที่ 28 พฤศจิกายน โดยคาดว่าบรรยากาศจะเป็นไปอย่างคึกคักหลังเว้นวรรคการเลือกตั้งมานาน 8-9 ปี


ประดิษฐ์ จันทร์แจ่มใส
เลขาธิการสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

Advertisement

เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้ง อบต.แล้ว ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปทำงาน ยอมรับว่าหลายพื้นที่มีการแข่งขันสูงมาก เชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก

การเปิดตัวของผู้สมัครหน้าเก่าหรือหน้าใหม่เป็นเรื่องธรรมดา ประชาชนจะมองถึงผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่โดยข้อเท็จจริงทั้งผู้สมัครหน้าเก่าหน้าใหม่ สิ่งสำคัญสุดคือการประกาศวิธีการทำงาน การนำเสนอนโยบายให้ประชาชนพิจารณา นอกจากนั้นผู้สมัครจะมีเรื่องระดับการศึกษา บทบาทหน้าที่ในอดีต ประวัติภูมิหลัง ประสบการณ์ในการทำงานที่เคยประสบผลสำเร็จ

เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาจากทุกเหลี่ยมมุมของผู้สมัครเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือจะให้เหมาะสมก็ควรเปิดให้มีเวทีดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ เพราะอย่างน้อยนักการเมืองต้องพูดเป็น นำเสนอได้ ต้องแสดงออกได้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นอานิสงส์จากการนำเสนอองค์ความรู้หรือพฤติกรรมของนักการเมืองที่ประชาชนสามารถติดตามได้ง่ายและรวดเร็วจากโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็นำไปตัดสินใจลงคะแนน อย่ายึดติดกับอามิสสินจ้าง

Advertisement

ขณะที่ กกต.มีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ชัดเจนในการหาเสียง แต่จะมีซื้อเสียงหรือไม่ อย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล หากปล่อยให้นักการเมืองมีการซื้อเสียงเพื่อหวังจะเข้าไปบริหาร ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หวังจะเข้าไปหาผลประโยชน์ วันนี้ยังเชื่อมั่นกับการทำงานของ กกต. คงจะบริหารจัดการให้บริสุทธิ์ยุติธรรมได้ หากมี กกต.ท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ที่มีข้าราชการมาทำหน้าที่ยังมีความหวังว่าจะสอดส่องดูแลได้ระดับหนึ่ง ส่วนภาคประชาชนก็ควรจะเปิดโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด

สำหรับการลดจำนวนสมาชิกสภา อบต. ไม่ทราบว่าคิดมาจากหลักเกณฑ์ใด การลดจำนวน อบต.จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือ 1 คน ทำให้การบริการประชาชนทำได้น้อยลง เพราะปกติสมาชิกจะทำงานตามอำนาจหน้าที่ในสภาและดูแลประชาชนแทบทุกด้านในหมู่บ้าน จำนวนสมาชิก อบต.ควรจะคำนวณตามสัดส่วนประชากร เช่น หมู่บ้านที่มี 500 คนขึ้นไปควรมีสมาชิก 2 คน ถ้าน้อยกว่านั้นก็เหลือคนเดียว

การเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นโอกาสที่นักการเมืองจะต้องกลับไปหาประชาชน ขณะเดียวกันเป็นโอกาสของประชาชนจะตัดสินใจเพื่อโอกาสที่ดีในการสรรหาบุคคลที่มีคุณภาพเข้าไปทำงานแก้ปัญหาในท้องถิ่น เชื่อว่าทั้งผู้สมัครหน้าเก่า หน้าใหม่ถือว่ามีโอกาสเท่าเทียมกัน


ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ขณะนี้หลายพรรคการเมืองให้ความสนใจการเลือกตั้ง อบต.โดยสร้างความสัมพันธ์กับผู้สมัครและหัวคะแนน ถือว่าเป็นปกติ เพราะอีกไม่นานอาจจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้สนามเลือกตั้ง อบต.ถือเป็นพื้นที่ทางการเมือง ที่เป็นขอบข่ายทั้งประเทศ ดังนั้นการมีฐานสนับสนุนจาก อบต.ก็มีความหมายถึงการได้คะแนนเสียง เพราะระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคต อาจจะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเฉพาะหากมีบัตรเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ก็ทำให้ทุกคะแนนเสียงที่ได้รับจากทุกตำบลมีความสำคัญที่จะทำให้พรรคการเมืองมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

จึงไม่แปลกที่ระยะ 20 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองจะพยายามสร้างความสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายของนักการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 และหากไม่มีรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 กระบวนการทางการเมืองของไทยจะเชื่อมโยงการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่น มีความเข้มข้นมากกว่าในปัจจุบัน เพราะการเลือกตั้งระดับชาติตั้งแต่ปี 2544 ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้มีการสร้างเครือข่ายการเมืองลงไปถึงระดับ อบต. ขณะที่ อบต.ก็มีความหวังจะพัฒนาท้องถิ่น หากมีพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณะ หรือคุณภาพชีวิต เนื่องจาก อบต.มีงบประมาณไม่มาก

หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการตั้งสภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นด้วยการควบรวมและวิธีการอื่นที่จะสร้างความเข้มแข็งตามหลักการการกระจายอำนาจ แต่วันนี้แนวทางการปฏิรูปที่เขียนไว้ยังไม่ไปไหน จึงเชื่อว่ารัฐทหารมีแนวโน้มไม่ต้องการให้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่น และต้องการทำให้หน่วยปกครองท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นกลไกของระบบราชการเหมือนกับหน่วยงานในระดับอำเภอ แต่เมื่อมีกลไกที่ลงไปถึงระดับตำบลโดยมีตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้ง ก็เชื่อว่ารัฐทหารคงไม่ต้องการให้องค์กรเติบโตไปมากกว่านี้ หากแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งได้คงทำไปแล้ว

กรณีที่ว่างเว้นการเลือกตั้งหรือมีการแช่แข็ง อบต.นาน 8-9 ปี ทำให้ประชาชนที่เคยมีความเห็นว่าเคยเปลี่ยนแปลงและสร้างชุมชนด้วยวิธีการเลือกตั้งได้ แต่การเว้นว่างมานานทำให้พลังความเชื่อถดถอย สนามเลือกตั้ง อบต.จึงกลายเป็นสนามแข่งขันของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มตระกูลผลประโยชน์ในตำบลนั้นๆ ต่อสู้กันเอง

ที่ผ่านมาจากการศึกษาพบว่าความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีสูงมาก เพราะคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารเดิมส่วนหนึ่งมีแนวโน้มเป็นผู้บริหารที่ไม่ทำอะไรในช่วงที่รักษาการจากมาตรา 44 ด้วยการปฏิบัติเป็นมือเป็นเท้าของระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ไม่ได้เป็นผู้ที่มีพันธะต่อประชาชนในตำบลของตนเองมากเท่าที่ควร จึงทำให้บุคคลกลุ่มใหม่ในตำบลมีโอกาสกลายเป็นตัวเลือกเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าคนกลุ่มเดิมที่อยู่นานเกือบ 10 ปี

สำหรับความหวังที่จะเห็น กกต.ทำงานได้เต็มศักยภาพ คงมีปัญหาพอสมควร เพราะที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง อบจ.และเทศบาล กกต.ทำได้อย่างเดียวคือจัดการเลือกตั้งให้ผ่านพ้นไป เมื่อมาถึงสนาม อบต.ที่มีกว่า 5,300 แห่งทั่วประเทศ ต้องเลือกตั้งในคราวเดียวกัน ก็ทำให้เครื่องมือหรือกลไกที่จะทำงานของ กกต.ยุ่งยากมากขึ้น จึงเชื่อว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลคงไม่สนใจการซื้อเสียง หรือการโกงเลือกตั้งมากนัก ส่วนกลไกตรวจสอบจากภาคประชาชนก็ไม่ได้ถูกทำหรือส่งเสริมให้เข้มแข็ง

จากการศึกษาพบว่าการจ่ายเงินกลายเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นกลไกหลักในการตัดสินใจของประชาชนอีกต่อไป การรับเงินจากเครือข่ายนักการเมืองถูกตีค่าให้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกจากบ้านไปหน่วยเลือกตั้ง ดังนั้น ก่อนการลงคะแนนยังมีปัจจัยจากผู้สมัคร ความคาดหวังว่าหลังเลือกตั้งในตำบลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร


บูฆอรี ยีหมะ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ระยะเวลาที่ว่างเว้นการเลือกตั้ง อบต.มายาวนานเกือบ 10 ปี น่าจะมีผลกับความรู้สึกของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ การเลือกตั้งที่เว้นวรรคมานานน่าจะมีผลในทางบวกในแง่ของบรรยากาศที่คึกคัก โดยเฉพาะใน อบต.ที่มอบหมายให้ปลัดรักษาการแทนโดยไม่มีนายก อบต.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการเลือกตัวแทนที่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนมากกว่าการทำงานประจำ

การเลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2562 สมาชิกสภา อบต.จะเหลือหมู่บ้านละ 1 คน จากเดิมมี 2 คน สำหรับ อบต.ที่มีไม่ถึง 6 หมู่บ้านก็ให้มีสมาชิก อบต.ได้ 6 คน เป็นขั้นพื้นฐาน สมาชิกสภา อบต.ที่ลดลงทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นพอสมควร บุคคลที่ไม่มีฐานเสียง ไม่มีศักยภาพมากเพียงพออาจจะไม่กล้าลงสมัครเพื่อหวังส้มหล่นมีโอกาสไปทำหน้าที่เหมือนในอดีต ผลจากจำนวนสมาชิกสภา อบต.ที่น้อยลงมีผลทำให้ผู้สมัครต้องมีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ มีประวัติภูมิหลังที่ดี

สำหรับผู้สมัครนายก อบต.เดิมมีว่าที่ผู้สมัครจำนวนไม่น้อยที่เปิดตัว เตรียมตัว เตรียมทีมมาอย่างยาวนานในโซเชียลมีเดีย บางรายมีความพร้อมตั้งแต่ก่อนมีรัฐประหารเมื่อปี 2557 ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความคึกคักอย่างมาก ผู้ที่เป็นอดีตนายก อบต. จำนวนมากก็ไม่แน่ว่าจะรักษาตำแหน่งเดิมไว้ได้หรือไม่ ผลการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านมาพบว่ามีพลิกล็อก มีการล้มช้าง ผู้สมัครคนดังระดับบิ๊กเนม หลายพื้นที่สอบตก

ดังนั้นการเลือกตั้ง อบต.ปรากฏการณ์ก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน เพราะช่วงที่ว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน มีสิ่งที่สังเกตได้ว่านายก อบต.บางพื้นที่มีภาวะเฉื่อย ทำงานในลักษณะงานประจำ ไร้นโยบายใหม่ๆ เป็นเด็กดีของผู้ว่าฯ นายอำเภอ จึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าน่าจะลองตัวเลือกใหม่ ผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์อาสาเข้ามาทำหน้าที่ และการเลือกตั้งที่มีพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศถือว่าเป็นสีสันใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับแนวทางการซื้อเสียงสำหรับองค์กรท้องถิ่นในพื้นที่ชนบท ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ชนบทมีลักษณะแนบแน่น จากระบบเครือญาติ หรือมักจะรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี ผู้สมัคร อบต.ที่ได้เปรียบ จะต้องมีเครือญาติ มีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ตั้งแต่ดั้งเดิม แต่ปัจจัยที่สำคัญต้องมีทุนทรัพย์มากพอสมควร ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยทุกระดับ มีการใช้เงินระบาดหนักหน่วง งานวิจัยหลายชิ้นบอกชัดเจนว่าการใช้เงินหนักข้อมากขึ้น ขณะที่มุมมองของบุคคลที่มีคุณงามความดี อุทิศตนเพื่อสังคม เป็นเพียงปัจจัยเสริม

ดังนั้นหากให้ประเมินว่าเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้จะซื้อหัวละเท่าไรคงไม่มีราคากลาง เท่าที่ปรากฏในอดีตที่ผ่านมาพบว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับราคาต่อหัวสูงกว่าเลือกตั้งระดับชาติ เนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิมีน้อย หรือหากเทียบกับการเลือกตั้งของนักปกครองท้องที่ได้ยินตัวเลขก็ตกใจเพราะมีการซื้อในหลักพันบาทขึ้นไป เพราะฉะนั้นการเลือกตั้ง อบต.ตัวเลขไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก และคงจะไม่ซื้อในตัวเลขหลักร้อยเหมือนเดิม ถ้าจะมองในแง่ดี ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจมีสภาพคล่อง

แต่ในแง่ลบจะส่งผลกระทบกับการทำงานการเมือง เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้ มีความสามารถ มีศักยภาพ ตั้งใจอุทิศตนเองทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช้เงินในทางที่ผิด คนเหล่านี้จะถูกผลักออกไป ยิ่งทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นฐานรากแหล่งฝึกฝนเรียนรู้ทางการเมือง ยิ่งมีสถานะที่แย่ลง สุดท้ายก็มีภาพของท้องถิ่นที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น กระทบกับภาพลักษณ์ทั้งองค์กรท้องถิ่นปัจจุบันจำนวนไม่น้อยมีผลงานดี

สนามเลือกตั้ง อบต.กับการเมืองระดับชาติมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแทบทุกมิติ ไม่มีใครปฏิเสธระบบหัวคะแนน การเมืองระดับชาติก็พึ่งพากลไกของการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ อบจ. เทศบาล ทำให้การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้เชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

ขณะที่กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้ามาสนับสนุน หรือผู้สมัคร อบต.จะสมัครในนามพรรคการเมืองได้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ในการส่งเสริมพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นอย่างเปิดเผย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image