สะท้อน‘ผลดี-ผลเสีย’ ว่าด้วย‘ไพรมารีโหวต’

หมายเหตุความเห็นฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ กรณีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขใหม่ โดยเฉพาะการกำหนดให้มีผู้แทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) นั้น

ชูศักดิ์ ศิรินิล
รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)

ตามที่รัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กลับมาใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.โดยมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกตามประเภท ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯเพื่อประกาศใช้นั้น ที่แน่นอนและต้องแก้คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้ง

Advertisement

ส่วนประเด็นเรื่องไพรมารีโหวต (Primary Vote) ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่าจะต้องแก้ไปในคราวเดียวกันหรือไม่ เห็นว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือ ส.ส., ส.ว. จะต้องเสนอและพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฉบับ คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีความเกี่ยวข้องกัน

ทราบว่าขณะนี้ กกต.ก็เตรียมยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว โดยมีหลายประเด็นตรงกับความเห็นของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะวิธีการคำนวณคะแนนผู้สมัคร ส.ส. ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองนั้นบางมาตรายังพูดถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อ150 คนอยู่เลย จึงไม่แก้ไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะต้องมีการแก้ไขในหลายประเด็น เช่น พรรคเห็นว่าควรยกเลิกการเก็บค่าบำรุงสมาชิก หรือถ้าจะเก็บก็เก็บครั้งแรกครั้งเดียว

แต่ในระยะเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น เห็นว่าประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไขคือการทำไพรมารีโหวต ซึ่งเรื่องนี้ในชั้นยกร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พรรค พท.และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เคยทำหนังสือถึง กรธ.เพื่อแสดงข้อกังวลใจเกี่ยวกับการปฏิบัติจริงในการทำไพรมารีโหวต ว่าจะมีปัญหาและเป็นภาระแก่พรรคการเมืองมาก ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าทุกพรรคไม่มีความพร้อมในการทำไพรมารีโหวต คสช.จึงต้องออกคำสั่งยกเลิกการทำไพรมารีโหวต มาเป็นการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในการส่งผู้สมัครแทน ปัญหาที่ต้องยอมรับความจริงคือ เราทำไพรมารีแบบเป็นพิธีเท่านั้นหรือไม่

Advertisement

จึงเห็นว่าระบบไพรมารีโหวตยังไม่เหมาะกับสภาพของการเมืองไทย และจะเป็นปัญหากับทุกพรรคการเมือง เนื่องจากกฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงกรณีการทำไพรมารีโหวตที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะมีการร้องเรียนกันมากจนส่งผลต่อการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ได้

นอกจากนั้น ที่พรรคส่วนมากกังวลกันอยู่คือหากมีการย้ายพรรคแล้วสมาชิกในเขตย้ายตาม ทำไพรมารีไม่ได้ อาจส่งผู้สมัครไม่ได้ เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองรับรู้กันอยู่

ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเขตเลือกตั้งเพิ่มจากเดิม จาก 350 เป็น 400 เขต ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ จะแบ่งได้ต้องมีกฤษฎีกาเลือกตั้ง ปัญหาคือจะตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไม่ได้ ตั้งไม่ทัน

จึงเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงจากระบบไพรมารีโหวตมาเป็นระบบเดิมที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 คือการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองจะต้องรับฟังความคิดเห็นของสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดก่อน และแทนที่จะให้พรรคการเมืองต้องตั้งสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้งที่จะส่งผู้สมัครก็กำหนดเพียงแค่ให้พรรคการเมืองที่มีสาขาในจังหวัดใด ก็ให้สามารถให้ความเห็นในการส่งผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น หรือหากมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งใด ก็ให้ตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นให้ความเห็นในการส่งผู้สมัครสำหรับเขตเลือกตั้งนั้น ก็น่าจะเป็นการเพียงพอ

แต่หากเห็นว่าจะยังคงให้มีระบบไพรมารีโหวตต่อไป ควรเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกให้นำระบบการรับฟังความคิดเห็นของสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดมาใช้แทนระบบไพรมารีโหวตไปก่อน เพื่อมิให้เกิดปัญหาแก่พรรคการเมือง

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

การทำไพรมารีโหวตเป็นกลไกที่จะสร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิกพรรค อันนี้แน่นอน และเป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าดี ซึ่งเราเคยใช้มาแล้วตั้งแต่ตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นเราพบถึงปัญหาของการทำไพรมารีโหวตด้วยเช่นกัน คือพอฐานสมาชิกของเราไม่ใหญ่พอ หรือไม่มากพอในแต่ละเขตเลือกตั้งที่เราทำไพรมารีทำให้เกิดการเกณฑ์คน เช่น เขตเลือกตั้งเราหาสมาชิกมาได้เบื้องต้นที่ 50 คน ซึ่งตอนนั้นเป็นอนาคตใหม่ยังไม่ได้มีการกำหนดจำนวน เมื่อเราหาสมาชิกได้ 50 คน เราก็ทำไพรมารีได้ เราก็ทำเลย เมื่อผู้แข่งขันเห็นว่าเราทำสมาชิกที่ 50 คน ไม่เยอะ ก็ไปขนสมาชิกที่ตัวเองหามา มาเพิ่มเข้าไปเพื่อที่จะโหวตแล้วชนะ เลยกลายเป็นว่ามันบิดเบี้ยว และกลายเป็นว่าเราถูกใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะเอาชนะผู้สมัครที่อยากจะมาลงแข่งขัน ดังนั้น ตรงนี้เราจึงมองว่ามันเป็นปัญหา

ผมคิดว่าการไปกำหนดเรื่องนี้ไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บังคับให้ทุกพรรคทำไพรมารีโหวต ตรงนี้จะเป็นปัญหา เพราะฐานสมาชิกของแต่ละพรรคไม่เท่ากัน ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุมายาวนาน มีฐานสมาชิกเยอะพอจนไม่สามารถเกณฑ์คนได้ง่ายๆ การทำไพรมารีโหวตก็จะสะท้อนความต้องการจริงๆ ของสมาชิกในเขตนั้นๆ ได้จริงๆ ว่าเขาอยากได้ใครมาเป็นตัวแทนผู้สมัครในเขตของเขา

แต่ถ้าฐานไม่มากพอผมมองว่าตรงนี้จะเป็นปัญหา ทั้งนี้ ผมคิดว่าควรจะปล่อยให้แต่ละพรรคการเมืองเขาไปประเมิน และดำเนินการของเขาเอง ไม่ควรที่จะไปบังคับโดยการออกเป็นกฎหมาย แต่ควรเป็นการส่งเสริม ยกตัวอย่างเช่น กกต.อาจจะบอกว่า พรรคการเมืองใดที่จัดทำไพรมารีโหวตด้วยจำนวนสมาชิกเท่านั้นเท่านี้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เป็นต้น เพราะการทำไพรมารี หรือการดำเนินการใดๆ จะต้องมีค่าใช้จ่าย กกต.อาจจะส่งเสริมให้พรรคการเมืองทำ แต่ไม่ได้บังคับ พรรคการเมืองไหนพร้อมที่จะทำก็ทำ ผมว่าแบบนี้น่าจะเหมาะกว่าการไปบังคับด้วยกฎหมาย

วิชิต ปลั่งศรีสกุล
นักวิชาการอิสระ ด้านกฎหมาย

หากไม่ต้องการให้มีการทำไพรมารีโหวตใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทุกพรรคสามารถเสนอแก้ไขได้ เพียงแต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า หากผ่านสภาแล้วต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประเด็นที่แก้ไข ขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเรื่องการทำไพรมารีโหวต แต่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 267 บอกว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งโดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้กรรมการชุดดังกล่าวไปร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญประมาณ 10 ฉบับ รวมทั้ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นหากต้องการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดูว่าหากแก้ไขแล้วการเมืองจะเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่

ในทางปฏิบัติการทำไพรมารีโหวตมีข้อดีคือ ลดการผูกขาดของนายทุนพรรค ลดการกระทำที่ทำให้พรรคการเมืองมีลักษณะผูกขาดอำนาจ เหมือนเป็นการกระจายอำนาจของพรรคการเมืองไปสู่ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคมีสิทธิที่จะเลือกคนของตัวเอง หรือบุคคลที่ตนเองชื่นชอบศรัทธาในท้องถิ่นนั้น เพื่อให้เป็นตัวแทนของพรรค หากในอนาคตถ้ามีไพรมารีโหวตก็ทำให้ประชาชนและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดสรรผู้สมัครมากขึ้นเป็นการยืนยันหลักการด้วยแนวทางปฏิบัติจริงว่าทุกพรรคควรมีความเข้มแข็งจากฐานสนับสนุนของประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจ หรือพรรคการเมืองที่อ้างว่าไม่มีเจ้าของ แต่ใช้วิธีการเลือกตัวแทนผู้สมัครไม่ต่างจากพรรคอื่น

ผลเสียในการทำไพรมารีโหวตจะทำให้มีค่าใช้จ่าย หรือเป็นภาระของพรรคการเมืองมากขึ้น จะต้องมีกระบวนการตั้งสาขาพรรค มีสมาชิก 500 คน มี 100 คน ต้องมาลงมติในการเลือกผู้สมัคร หรือเรื่องอื่น แต่ถ้าหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หรือกฎหมายพรรคการเมือง การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกเขตเลือกตั้งจะต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดครบทุกเขต แม้ว่าในการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2562 จะได้รับการยกเว้นโดยคำสั่ง คสช.

การแก้ไขกฎหมายเพื่อล้มเลิก ต้องดูว่าแนวทางการทำไพรมารีโหวตเป็นที่พอใจ หรือทำให้พรรคการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจมีปัญหาขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างมากในสภา หรือพรรคฝ่ายค้านจะเห็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ แต่การแก้ไขสุดท้ายจะต้องผ่านไปความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องดูมาตรา 267 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนแนวทางไว้อย่างชัดเจน

ส่วนตัวเชื่อว่าการทำไพรมารีโหวตจะเป็นประโยชน์กับสมาชิกพรรคการเมือง ที่มีโอกาสคัดสรรผู้สมัครในแต่ละเขตที่มีความเหมาะสมเข้ามาเป็นตัวแทนอย่างแท้จริง

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้องยอมรับความจริงว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่ชอบไพรมารีโหวต เนื่องจากการทำไพรมารีโหวตก็อาจจะทำให้พรรคการเมืองดูเหมือนจะไม่มีอำนาจอะไรเลย ผู้ที่ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาใครมาเป็นแคนดิเดตผู้สมัคร ส.ส.ที่จะลงเลือกตั้ง ก็จะต้องเป็นประชาชนมาทำหน้าที่โหวต พรรคการเมืองก็มีหน้าที่จัดไพรมารีโหวตตามแนวทางที่กำหนดไว้เท่านั้นเอง

แต่ในประเทศไทยพรรคการเมืองยังมีอำนาจเหนือสมาชิกพรรค บางพรรคอำนาจเด็ดขาดยังอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค บางพรรคอยู่ที่การตัดสินใจของหัวหน้าพรรคคนเดียวเหมือนเป็นเผด็จการในพรรค

การกำหนดให้มีการทำไพรมารีโหวตใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง น่าสนใจว่าเมื่อดูในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนเท่าไหร่ การมีไพรมารีโหวตจึงเป็นการตีความจากบางมาตราที่เขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของประชาชนในการก่อตั้งพรรคการเมือง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 น่าจะมีเจตนาไม่ต้องการให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการคัดเลือกบุคคลไปสมัคร ส.ส. ต้องการเขียนไว้เพื่อทำลายอำนาจของหัวหน้าพรรคการเมืองในปัจจุบัน หรือหากมองอีกมุมกรรมการร่างคงต้องการออกแบบกฎหมายที่มองดูเหมือนเป็นประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา หรือต้องการทำลายอำนาจที่มีอยู่เดิมทั้งหมด ไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจได้สะดวกมากขึ้น

สำหรับการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เชื่อว่าถึงที่สุดก็จะต้องมีการส่งตีความ แต่ในความเห็นส่วนตัวถ้าดูตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ ไพรมารีโหวตจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีการเสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง แทบทุกพรรคก็คงจะเห็นด้วย สอดคล้องกับการใช้อำนาจเผด็จการ ก่อนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ยกเว้นการทำไพรมารีโหวต เพราะการทำไพรมารีโหวตนอกจากจะสูญเสียอำนาจของบรรดาผู้นำพรรค การทำมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางครั้งทำให้ฐานคะแนนของพรรคมีปัญหาจากการแย่งชิงเสียงสนับสนุนของบุคคลที่เสนอตัว ส่วนการเมืองในต่างประเทศคนแพ้จะช่วยพรรคต่อไป ไม่ย้ายไปพรรคอื่น

การเมืองแบบไทยๆ ต้องช่วยกันคิดว่าถ้าทำไพรมารีโหวตแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าดีขึ้นแน่นอน อย่างน้อยก็ป้องกันเจ้าพ่อทั้งหลายไม่ต้องมาคุมพรรคการเมือง ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะต้องการ ส.ส.แบบไหน ให้สิทธิเลือกบุคคลมาจากต้นทาง เหมือนที่บางพรรคการเมืองเก่าแก่มักจะมีวาทกรรมป้ายสีพรรคอื่นเอาดีเข้าตัว บอกว่าพรรคตัวเองไม่มีเจ้าของ บอกพรรคอื่นมีนายทุนมีเจ้าของ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้พรรคนี้ออกมาแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้มีการทำไพรมารีโหวต

หากมีการยกเลิกการทำไพรมารีโหวต ความเห็นก็คงไปในแนวทางเดียวกันทุกพรรค แต่น่าสนใจว่าพรรคก้าวไกลจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร หากจะทำงานให้สอดคล้องกับชื่อพรรคก็ควรสนับสนุน ในอดีต นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่ริเริ่มนำระบบนี้มาใช้ หลังรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ไม่มีผลเป็นรูปธรรม กระทั่งมีข้อความปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะอาจจะมีเจตนาให้มีไพรมารีโหวต เพื่อต้องการทำลายบรรดานายทุนเจ้าของพรรค หรืออาจจะต้องการให้มีมาเฟียการเมืองเหลือไว้เฉพาะบางกลุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image