วิพากษ์แก้ กม.เลือกตั้ง อปท. เปิดทาง‘ส.ส.-ส.ว.’ช่วยหาเสียง

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีพรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา 34 เปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และข้าราชการการเมืองสามารถไปช่วยหาเสียงได้กรณีส่งผู้สมัครในนามพรรคการเมือง

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 34 กำหนดห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส., ส.ว.ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นดำเนินการใดๆ ในทางที่เป็นคุณแก่ผู้สมัครใด ซึ่งลักษณะของการช่วยหาเสียง ชัดเจนว่า เป็นการดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณกับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เข้าข่ายต้องห้ามอย่างแน่นอน แต่ระบบกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงฯ 2563 ข้อ 7,ข้อ 9, ข้อ 10 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งหาเสียงได้

Advertisement

ดังนั้นด้วยกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครในนามพรรค พรรคช่วยหาเสียงได้ แต่กลับย้อนแย้งด้วยข้อจำกัดที่ห้าม ส.ส.ของพรรคหาเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ ส.ส.ของพรรค ควรจะเป็นคะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้นโดยตรง ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นจะดึงมาช่วยหาเสียง ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่า สมควรแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการที่ให้พรรคการเมืองช่วยหาเสียง และส่งผู้สมัครในนามพรรค โดยแก้ไขให้ ส.ส. สามารถช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ซึ่งจะเกิดผลดีในด้านการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนผ่าน อปท.

หลายประเทศที่มีการกระจายอำนาจ จะเกิดจากการเมืองในระดับชาติ และการเมืองระดับท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงกันโดยอาศัยกลไกของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ทำให้ปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น ที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสามารถส่งผ่านปัญหาต่างๆ ในระดับท้องถิ่นผ่านกลไกพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายได้รวดเร็ว ที่สำคัญที่สุดมีกฎหมายที่นำไปแก้ไขได้ตรงกับการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น

โดยเฉพาะผู้ที่เป็น ส.ส.ของพรรคจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้กับท้องถิ่นโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส.ส.ทุกยุคไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจ ความก้าวหน้าในการถ่ายโอนภารกิจ การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ 2542 เพราะ ส.ส. หรือรัฐมนตรีบางรายเคยทำหน้าที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเมื่อมีโอกาสไปทำหน้าที่ ส.ส.บางคน ทำแกล้งลืมเรื่องหลักการของการกระจายอำนาจที่แท้จริง ลืมเครือข่ายท้องถิ่น

Advertisement

ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.ช่วยหาเสียง จะช่วยทำให้บุคคลเหล่านี้ลงมารับฟังปัญหาของผู้บริหารและข้าราชการท้องถิ่น เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายกระจายอำนาจ อย่างน้อยก็ควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงนำร่องจาก พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง หรือ ส.ส.เร่งรัดให้แก้ไขปัญหารัฐรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ผิดหลักการสำคัญของการกระจายอำนาจ ต้องแยกบทบาทกันก่อน เพราะ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลักษณะของการกระจายอำนาจรูปแบบหนึ่งที่นายก อบต. นายกเทศบาลเป็นคนจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งมีลักษณะก้ำกึ่งฝ่ายบริหาร เรียกว่าเป็นฝ่ายปกครอง ถ้าให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แม้ความเป็นจริงเราจะรู้กันอยู่แล้วว่า เสียงของ ส.ส.อาจมาจากเสียงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) หรือเป็นหัวคะแนน แต่คิดว่าเป็นเรื่องไม่สมควร

ต้องแยกอำนาจของแต่ละองค์กรให้ขาด จะเอาฝ่ายนิติบัญญัติไปช่วย อปท.ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองหาเสียงไม่ได้เด็ดขาด แม้ในความเป็นจริง คะแนนของ ส.ส.อาจจะมาจาก อปท.ที่เป็นหัวคะแนนให้ก็ตาม แต่ในทางข้อกฎหมาย ไม่สมควร ส่วนเหตุผลที่บอกว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตยตั้งแต่ฐานรากนั้น คิดว่าจะทำให้ อปท.มีลักษณะฉ้อฉลมากขึ้นเพราะต้องไม่ลืมว่า อปท.เป็นองค์กรกระจายอำนาจที่มีเงินงบประมาณของตัวเอง มีบุคลากรของตัวเอง และมีภารกิจของตัวเอง

หลักการสำคัญของ อปท. คือ การตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ส.ส.แม้เป็นตัวแทนของจังหวัดก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่ได้มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข หรือตอบสนองความต้องการของคนท้องถิ่นเหมือน อปท. เพราะ ส.ส.ไม่ได้มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ แต่มีหน้าที่แปรญัตติ รับข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่เสนอต่อรัฐบาล แต่ อปท.มีหน้าที่รับฟังเสียงคนในท้องถิ่น ระดับตำบล เทศบาล อบจ. อบต.

ส.ส.เป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากคนในจังหวัด ในชุมชนก็ว่ากันไป แต่หน้าที่ของ ส.ส.คือการปฏิบัติหน้าที่ในระดับชาติ ไม่ใช่ท้องถิ่น ไม่อย่างนั้นจะเกิดกรณีที่ ส.ส.ไปทำข้อตกลงกับประชาชนว่าจะทำนู่น ทำนี่ ทำนั่น แล้วใช้กลไกผ่าน อบต. ซึ่งมันผิดกลายเป็นการหาเสียงเป็นทอดๆ ซึ่งเป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยมากกว่า การไม่ให้ ส.ส.มามีส่วนร่วมหาเสียงจะดีที่สุด เพราะ ส.ส.เป็นตัวแทนระดับชาติ ไม่ใช่ตัวแทนท้องถิ่น คนละเรื่องกัน หลักการต้องชัดเจนก่อนว่า อปท.หลักการกระจายอำนาจคือ อะไร ไม่อย่างนั้นจะเป็นการต่างตอบแทนกัน นอกจากนี้ จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบด้วย

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การให้ ส.ส.-ส.ว.และข้าราชการทางการเมืองช่วยหาเสียงได้ ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เพราะในทางปฏิบัติก็ทำกันอยู่แล้ว หากทำให้ถูกกฎหมาย ไม่มีข้อจำกัด อย่างน้อยก็จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองท้องถิ่น กับการเมืองในระดับประเทศได้ และอาจจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองด้วย แต่ที่อาจจะมีปัญหา คือ ในส่วนของข้าราชการ ซึ่งก็มีกฎหมายข้าราชการที่ห้ามไว้อยู่แล้ว เพื่อความเป็นกลางทางการเมือง ถ้ามองในอีกมุม ข้าราชการก็เป็นพลเมืองของไทย ควรจะมีสิทธิอย่างนั้น แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกเรื่อง คือ ส่วนของโครงสร้างที่กระทรวงมหาดไทย มีส่วนควบคุมการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ถูกกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็จะเห็นการตั้งคำถามอยู่เสมอว่ามหาดไทย เอื้อประโยชน์ให้กับพรรครัฐบาลหรือไม่

การที่จะแยกท้องถิ่นกับระดับประเทศในเรื่องการหาเสียง จึงไม่สมเหตุสมผล การทำให้ถูกกฎหมายจึงเป็นเรื่องควรทำ ไม่ควรปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง แต่ควรจะมีกลไกมาควบคุมไม่ให้ข้าราชการใช้ตำแหน่งช่วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ หลายอย่างหากดูจากหลายประเทศ เช่น เรื่องการหาเสียง ทุกคนควรจะมีสิทธิทำได้ ที่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองก็มีสิทธิเอารถพาคนไปเลือกตั้งได้ มีสิทธิช่วยให้คนไปลงคะแนนได้ง่ายขึ้น แต่เมืองไทยไม่สามารถทำได้จริงๆ เพราะอาจจะมองเรื่องของการฮั้วกัน รับเงินกันหรือไม่

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

นักการเมืองทุกระดับที่มาจากการเลือกตั้งทั้งนักการเมืองท้องถิ่นด้วยกันเอง หรือ ส.ส.ควรช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เพื่อสร้างกระบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย เพราะนักการเมืองจะต้องมีความเชื่อมโยงจากระดับชาติถึงท้องถิ่น ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งในยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา หรือประเทศที่มีการกระจายอำนาจ เช่น ญี่ปุ่น ท้องถิ่นจะมีความเข้มแข็งในระบบที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติ

หากประเทศเราต้องการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ก็ไม่ควรมีข้อห้ามนักการเมืองระดับชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสนามท้องถิ่น แต่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นการวางยุทธวิธีที่เพิ่งออกมาบังคับใช้ เพื่อต้องการทำลายฐานของพรรคการเมืองที่จะเติบโตในระดับท้องถิ่นเพื่อต้องการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตย สังเกตว่าหลังการทำรัฐประหารก็จะต้องมีการออกกติกาเพื่อกีดกันนักการเมืองระดับชาติให้ออกไปจากท้องถิ่น เป้าหมายในการกีดกันก็หวังทำให้ท้องถิ่นมีความอ่อนแอ เพราะกระบวนการที่จะพัฒนาท้องถิ่นได้ส่วนหนึ่งต้องใช้นโยบายที่กำหนดจากพรรคการเมืองระดับชาติ

การรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการออกกติกาเพื่อตัดความเข้มแข็งขององค์กรท้องถิ่นและพรรคการเมือง ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงจึงมีความเหมาะสม ในขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ควรปล่อยให้ท้องถิ่นมีการบริหารงานที่อิสระได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีผู้บริหารมาจากการเลือกของประชาชน แต่โครงสร้างก็ยังทับซ้อนอยู่กับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในการถ่ายโอนภารกิจและการจัดสรรงบอุดหนุนรายปี

ที่สำคัญในอนาคตไม่ควรออกกฎหมาย เพื่อให้มีข้อจำกัดในเชิงความสัมพันธ์กับนักการเมืองทุกระดับ แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากวิธีคิดของรัฐทหารที่ผ่านมา มีความพยายามทำให้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง พยายามทำให้นักการเมืองไม่ต้องหาเสียง เช่น บอกให้ผู้สมัคร ส.ว.ทำได้แค่แนะนำตัว ห้ามปราศรัย ขณะที่การเลือกตั้งก็ต้องมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพื่อบอกนโยบาย หรือวิธีการทำงาน แต่รัฐทหารต้องการทำให้ผู้ที่เสนอตัวทำงานการเมืองไม่ต้องหาเสียง จึงเป็นการทำลายกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองที่ต้องทำเป็นปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ที่ผ่านมาก็คงเห็นแล้วว่าผู้ที่ไม่ต้องหาเสียง แต่มาทำหน้าที่ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขนาดใหญ่ ก็จะมาจากการแต่งตั้งโดยเลือกจากบุคคลที่เป็นเครือข่ายบริวารของรัฐทหาร นอกจากนั้น ก็มีการออกแบบระบบที่ทำให้ข้าราชการระดับสูงหลายฝ่ายที่เกษียณแล้วมีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง

ถ้ามองอีกด้าน เมื่อปล่อยให้นักการเมืองช่วยหาเสียงในสนามท้องถิ่นได้ ทีมการเมืองในท้องถิ่นก็สามารถนำนโยบายของพรรคการเมือง หรือคณะทำงานทางการเมืองในระดับชาติมานำเสนอในท้องถิ่นได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครในสนาม อบต.ก็มีความหมายว่า ถ้า อบต.แต่ละแห่งคิดอยู่ในกรอบพื้นที่ของตัวเอง อบต.อาจจะมีข้อจำกัดในการมองเห็นโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยี หรือการสื่อสารยุคใหม่ แต่คณะก้าวหน้ากำลังจะลงไปบอกว่ามีทีมงานที่จะแนะนำให้ อบต.ต้องทำอย่างไร จึงจะผลิตน้ำประปาสะอาด จัดการขยะอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพราะบางเรื่องนักการเมืองท้องถิ่นระดับ อบต.ยังคิดไม่ถึง อาจมีข้อจำกัดในอำนาจการบริหาร การเรียนรู้ในความเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นความสัมพันธ์ที่มีกับพรรคการเมืองระดับชาติจึงมีความจำเป็น ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นได้ยกระดับที่ดีขึ้น มีผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของประชาชน การกระจายอำนาจของไทย หลังพฤษภาคม 2535 ทิศทาง รูปแบบ และการทำงานในท้องถิ่นดีขึ้นกว่าในอดีตมากมาย มีประโยชน์กับประชาชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณะ

เพียงแต่รัฐทหารในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาใช้วิธีการแช่แข็ง ที่ทำให้เป็นอุปสรรคในพัฒนาการการปกครองท้องถิ่นทุกระดับ เพราะประชาชนไม่ได้มีโอกาสใช้สิทธิในการเลือกตั้งตามวาระที่กำหนด เพื่อลดทอนอำนาจและการเข้าครอบงำของระบบราชการจึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันระบบราชการส่วนภูมิภาคต้องการเข้าไปมีอำนาจ ในการกำกับดูแล หรือยึดครองท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะทราบดีว่าองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศมีงบประมาณจำนวนมาก

ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 (ฉบับที่…)

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 34 ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น กระทำการใดๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ อันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้

ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใดๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำนั้นได้แล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image