‘ไทม์ไลน์’ ปิดจ๊อบกม.ลูก สัญญาณ ‘เลือกตั้ง’ ใหม่ ?

รายงานหน้า 2 : ‘ไทม์ไลน์ ’ปิดจ๊อบกม.ลูก สัญญาณ ‘เลือกตั้ง’ ใหม่? 

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการและนักการเมือง กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไล่เรียงไทม์ไลน์การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 อาจจะมีแรงกดดันรัฐบาลให้ยุบสภา และเกี่ยวข้องกับปมวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม .2565

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 2 ฉบับ มีเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่เกิน 180 วัน เข้าใจว่า อาจารย์วิษณุ เครืองาม คงพิจารณาจากกรอบนี้ แต่ยังมีขั้นตอนอื่นอีก หากเป็น พ.ร.ป. หมายความว่าจะต้องมีการส่งเรื่องเมื่อจัดทำร่างแล้วเสร็จ ไปสู่ศาล และองค์กรอิสระ เพื่อพิจารณาเนื้อหาสาระว่ามีการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น กระบวนการพิจารณาจะถูกผนวกเข้าไปจาก 180 วันอีก ขั้นตอนดำเนินการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงใช้เวลานานพอสมควร

ตามไทม์ไลน์ที่อาจารย์วิษณุพูดถึง คือเดือนกรกฎาคม 2565 หรือนับจากนี้ประมาณ 8 เดือนข้างหน้า ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปเช่นนั้น หากมีการใช้ระยะเวลาอย่างเต็มที่ ถามว่าทำให้รวดเร็วขึ้นได้หรือไม่ กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าไม่เกิน 180 วัน สามารถย่นย่อได้ ถ้านับจากนี้ไปมีการเตรียมร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเอาไว้ คือเมื่อไหร่ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็สามารถยื่นพิจารณาได้ทันทีเพื่อให้ทันสมัยการประชุมนี้ แต่ถ้าไม่ทัน ต้องรอสมัยการประชุมหน้า กระบวนการจะเนิ่นช้าไปอีก

Advertisement

จากการประกาศไทม์ไลน์เช่นนี้ จึงเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนครบวาระของสภาชุดนี้ และมีความเป็นไปได้สูง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวต่างๆ ออกมา มีทั้งเงื่อนไข และสัญญาณหลายอย่าง

ผมให้ตัวเลขไว้ว่า “3 4 5” มี 3 เงื่อนไข คือ 1.เงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็ผ่านเป็นที่เรียบร้อย รอเพียงประกาศใช้ 2.เงื่อนไขงบประมาณปี 2565 ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายและงบประมาณลงพื้นที่ ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญกับ ส.ส. ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพื่อให้สอดรับกับระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ 3.เงื่อนไขการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ก็ลงตัวเรียบร้อยดี การขับเคลื่อนในภาคราชการก็น่าจะไปได้

ส่วน “4 สัญญาณ” คือ 1.สัญญาณการเปิดประเทศ 120 วัน ของท่านนายกฯ การปลดล็อกดาวน์ต่างๆ แม้เราจะบอกว่านี่คือการเยียวยาภาคเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ว่างงาน แต่อีกด้านหนึ่ง คือการเปิดพื้นที่ในการหาเสียงให้กับบรรดานักการเมือง และพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่าหลังจากคลายล็อกดาวน์เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศนั้น ก็มีการลงพื้นที่มากมาย แม้กระทั่งนายกฯ หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเอง

Advertisement

2.สัญญาณที่ท่านนายกฯ กับ 3 ป.ลงพื้นที่ ทำให้คนมองว่าเป็นการเตรียมการเลือกตั้งหรือไม่ 3.สัญญาณพรรคการเมืองเคลื่อนไหว หลายพรรคเปิดตัวผู้สมัคร เปิดตัวพรรค ซึ่งสัญญาณที่ 2 และ 3 นี้ สะท้อนให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญกับ ส.ส.เขต เช่นเดียวกัน เพื่อสอดรับกับระบบการเลือกตั้งใหม่ และ 4.สัญญาณการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ การเลือกตั้ง อบต. ก็คงจะตามต่อด้วยกรุงเทพมหานคร

ส่วน “5 สภาพแวดล้อม” ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่รัฐบาลจะอยู่ต่อได้อย่างมีเสถียรภาพ คือ 1.สภาพแวดล้อมเรื่องโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน

2.สภาพแวดล้อมของปัญหาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเรื้อรัง และไม่เห็นทิศทางที่จะดีขึ้นนัก 3.สภาพแวดล้อมด้านเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวภายใน คนมองว่า 3 ป. นั้นแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ถึงแตก ก็แยกกันไม่ได้ เพราะนั่นคือจุดจบของรัฐบาล 3 ป. คือผู้กุมยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล คือสัญญาณด้านเอกภาพของ พปชร.

4.สัญญาณการจัดการเสียงพรรคร่วมรัฐบาล หากต้องอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แจกกล้วยไปเรื่อยๆ คงจะเดินต่อลำบาก การทำให้มีเสถียรภาพจึงเป็นไปโดยยาก และสำคัญที่สุด 5.สัญญาณนายกฯ 8 ปี ตอนนี้ยังร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะไม่มีเหตุที่จะไปร้อง แต่เชื่อแน่นอนว่า ในสิงหาคม 2565 จะต้องมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนายกฯ 8 ปี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเดือนสิงหาคมปี 2557 แต่สังคมได้ถกเถียงกันเป็น 3 แนว ว่าจะนับตั้งแต่ปี 57 ปี 60 หรือปี 62 ซึ่งนั่นต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้รัฐบาลและท่านนายกฯ อยู่อย่างมีเสถียรภาพ ตัวเลข “3 4 5” นี้ ที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญ ยังไม่รวมการเมืองนอกสภา การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 และการบริหารงานของรัฐบาล คือสิ่งที่สังคมพิจารณาและตีความไปได้ว่า โอกาสที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อนครบวาระ เช่น การยุบสภามีความเป็นไปได้

ณ ตอนนี้ถ้ายุบสภาจะต้องดูใน “2 เงื่อนไข” คือ 1.ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขประกาศใช้หรือยัง หากยังไม่ประกาศใช้ นั่นหมายความว่ากติกาทุกอย่างเหมือนเดิม บัตรเลือกตั้งยังคงมีใบเดียว ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมเหมือนเดิม 2.ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไข ประกาศใช้แล้ว ต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปเช่น พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าแก้ไขหรือยัง

หากเป็นกรณีที่ 2 ต้องบอกว่างานเข้า เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ยังไม่มีความชัดเจนว่า ตกลงแล้วระบบเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เนื่องจากมีการไปแก้เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไปแก้เรื่อง ส.ส.แบบแบ่งเขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นับคะแนนแยกกัน (MMM) ตามรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ ณ วันนี้ก็เริ่มมีคนตีความว่า ในเมื่อบทบัญญัติส่วนอื่นที่พูดถึงเรื่อง ส.ส.พึงจะมี ยังไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายแล้วจะไม่ใช้ระบบ MMM แต่จะเป็นระบบ MMP หรือระบบสัดส่วนผสม แบบที่พรรคก้าวไกลอยากจะได้หรือไม่

ที่ว่างานเข้า เพราะไม่ชัดเจนทั้งกติกา รายละเอียด วิธีการนับคะแนน วิธีเลือกตั้ง อยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และเรื่องของการจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง อยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ถ้ากฎหมาย 2 ฉบับนี้ยังไม่ประกาศใช้ แต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว อันนี้ งานเข้า

แม้ว่า ณ วันนี้มีคนเสนอให้กลับไปใช้กฎหมาย กกต. เปิดช่องให้ กกต.ออกระเบียบคำสั่งได้ แต่กฎหมาย กกต. ไม่สามารถใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ อาจทำให้เกิดปัญหา ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ให้เรียบร้อย รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ว่าจะเสนอ พ.ร.ป.ฉบับแก้ไขได้ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และมีกรอบระยะเวลาในการทำกฎหมายนั้นให้เสร็จใน 180 วัน เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 180 วัน ถ้าทุกอย่างพร้อม อาจจะเสร็จได้ภายใน 60 วัน

คือเมื่อแล้วเสร็จ 15 วัน รัฐสภาส่งไปสู่ศาลและองค์กรอิสระ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นทักท้วง อีก 30 วัน หากมีการทักท้วงต้องส่งกลับมาให้รัฐสภาแก้ไข อีก 30 วัน ถ้าไม่ท้วงก็เดินหน้าต่อ บวก ลบ คูณ หารแล้วโอกาสที่เราจะได้เห็นการแก้กฎหมายแล้วเสร็จ ประมาณ 90 วัน ก็เป็นไปได้โดยไม่ต้องถึงไทม์ไลน์ที่ อ.วิษณุบอก

หากเป็นไทม์ไลน์ที่ใช้เวลาเต็มแม็กซ์ จะล่าช้าเกินไป มีสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างยิ่ง คือเรื่อง นายกฯ 8 ปี ซึ่งจะพบในเดือนสิงหาคมปีหน้า และเหลื่อมกับเดือนกรกฎาคมอย่างมาก

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)

กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กางไทม์ไลน์การแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ จะเสร็จช่วงเดือนกรกฎาคมปี 65 โดยหลังจากกฎหมายลูกเสร็จแล้วประเมินว่ารัฐบาลควรจะยุบสภาเลือกตั้ง หรือไปต่อได้หรือไม่ อย่างไรนั้น การจะยุบสภาหรือการจะลาออกบางครั้งก็ไม่ได้สัมพันธ์กับการออกกฎหมาย ถึงแม้เรามีความตั้งใจว่าอยากจะให้สัมพันธ์กัน คือให้กฎหมายจบ เสร็จ แล้วยุบสภาเลือกตั้ง แต่ความเป็นจริงสถานการณ์อาจจะไม่ใช่ เพราะอาจจะลากไม่ถึง เนื่องจากความเสื่อมไม่ได้รอใคร ความขัดแย้งก็ไม่ได้รออะไร ทั้งนี้ นายวิษณุระบุกฎหมายลูกน่าจะเสร็จในเดือนกรกฎาคมปี 65 ถ้าเป็นอย่างนั้นก็พร้อมเลือกตั้ง เดือนหรือสองเดือนหลังจากนั้นก็เลือกได้แล้ว

อันนั้นก็อยู่ที่รัฐบาล แต่ผมคิดว่าเปิดสภาสมัยถัดไป คือช่วงพฤษภาคม 65 จะเริ่มระอุ ถ้ารัฐบาลเอาตัวรอดช่วงนั้นได้ก็ถือว่าเป็นสุดยอดมนุษย์แล้ว เพราะตอนนั้นจะมีทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณ และฝ่ายค้านก็สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย

ส่วนที่ประเมินว่ารัฐบาลอยู่ไปไม่ถึงออกกฎหมายลูกเสร็จใช่หรือไม่นั้น ผมคิดว่ารัฐบาลจะไปไม่ไหวตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 นี้แล้ว ไม่ต้องรอกฎหมายลูก จะลากไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ได้หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจว่าจะลากได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image