‘ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล’ เปิดโมเดล‘เกษตรแม่นยำ’ เพื่ออนาคต ศก.ไทย

‘ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล’ เปิดโมเดล‘เกษตรแม่นยำ’ เพื่ออนาคต ศก.ไทย
ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล

หมายเหตุนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้เสวนา BOOST UP THAILAND จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่าน facebook : MatichonOnline และ youtube : Matichon tv ผู้ฟังจะได้รับรู้ถึงอนาคตภาคเกษตรและโจทย์ประเทศ 2022 ในมุมมองของภาคเอกชน

ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดประเทศ ที่ผ่านมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างหยุดชะงัก กระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหนัก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากมาย ถึงขั้นปิดกิจการก็มาก ดังนั้น การเปิดประเทศเป็นสิ่งที่ธุรกิจรอคอย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า ทำควบคู่ไปกับด้านสาธารณสุขและทุกฝ่ายเข้มงวดต่อวิธีการระมัดระวังการแพร่เชื้อโควิด-19 ถึงวันนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับและปรับตัวจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแล้ว ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำการสำรวจผู้ประกอบการ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยในการเปิดประเทศ แต่ทำอย่างมีมาตรการป้องกัน เพราะถึงเวลาที่ประเทศต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ การประเทศนั้นไม่ได้มองแค่เปิดรับนักท่องเที่ยว เป็นการเปิดให้นักธุรกิจสามารถเข้าดูงานหรือเจรจาการค้าด้วย ที่มีผลต่อภาคผลิตและภาคส่งออก เพราะเราจะพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลักในระยะสั้นไม่พอ เพราะแหล่งท่องเที่ยวเปิดในบางพื้นที่ หลายอำเภอในต่างจังหวัดก็ยังปิด เพราะยังมียอดติดเชื้อรายวันสูง

ในภาคเอกชนนั้น เราคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของการลงทุน การเปิดประเทศไม่แต่นักท่องเที่ยวเข้าไทย แต่นักลงทุนที่ต้องการเข้าไทยสามารถเดินทางเข้ามาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะประเทศลงทุนสำคัญของไทยอย่างประเทศญี่ปุ่น สอบถามมาตลอดเรื่องการจะเดินทางมาเจรจาในไทย นักธุรกิจหลายรายเริ่มตอบรับการเดินทางมาไทยแล้ว ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศเชื่อว่าจะได้มากเท่าปี 2562 ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนสูง เขาก็ต้องรอดูสถานการณ์ คงต้องรอดูการทดสอบเปิดประเทศของไทยก่อนว่าจะเป็นอย่างไร คงไม่ได้จองมาเที่ยวในเร็วๆ นี้ จากนี้คงใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือสิ้นปี 2565 เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวเต็มที่ หากไม่มีอะไรเกิดขึ้นรุนแรงอีก

สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาประเทศไทย เผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน (เทรดวอร์) ไทยเป็นแหล่งซัพพลายเชนสำคัญให้ผู้ผลิตจีน ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี (digital disruption) อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีเทคโนโลยีของเราเอง มักเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) จากนี้เป็นเรื่องสำคัญของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แต่อุตสาหกรรมก็ยังไม่คืบหนัก เพราะชิ้นส่วนการผลิตและความไม่แน่นอนจากโควิด-19

Advertisement

ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอีกหลายเรื่อง อย่างเงินทุนเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจ 1 ปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร จะหยุดชะงัก แต่ธุรกิจไม่อาจหยุดได้ ดังนั้นรัฐควรสนับสนุนงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยกระดับธุรกิจไปพร้อมกัน ที่ผ่านมารัฐก็ช่วยเหลือเยียวยาประคองจ้างงานจ่ายเงินชดเชยผ่านแรงงานมาตรา 33 โดยเฉพาะเงินทุนช่วยเอสเอ็มอี อย่างการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เราผลักดันเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) มาตลอด สถาบันการเงินก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎเกณฑ์การพิจารณาเรื่องเครดิตบูโร และบัญชีสะพัดทางการเงิน 2 ปีคงไม่มีตัวเลขที่ดี เอสเอ็มอีลำบากกว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ พอประคองตัวได้ รอจนกว่าเปิดประเทศ จีดีพีประเทศไทยจะขยายตัวได้เท่าไหร่ในปี 2564 หรือเพิ่มเท่าไหร่ในปี 2565 ก็ขึ้นกับปัจจัยเหล่านี้ว่าจะได้รับการปลดล็อกแต่เห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้น ดูจากตัวเลขล่าสุดภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมาอยู่ระดับ 78 จากระดับ 76 เทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่จะถึงระดับ 100 คงต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ หลายเรื่องก็ยังผลักดันต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่ากว่าโควิด-19 จะคลี่คลายและเศรษฐกิจฟื้นได้ก็ปลายปี 2566 ตอนนั้นต้องมาคู่กับความเชื่อมั่นทุกด้านกลับคืนมา

โจทย์สำหรับประเทศไทย 2565 นอกจากรับมือสงครามการค้าโลก สงครามของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับจีน กระแสดิสรัปชั่นและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว เชื่อว่าทั่วโลกต้องกลับมาสำรวจตนเองว่าอะไรคือ ศักยภาพของการผลักดันประเทศ เพิ่มเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย ภาคการเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปรับ หรือยกระดับจากเกษตรดั้งเดิม เป็นเกษตรยุคใหม่ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ว่ารัฐและเอกชนจะทำอย่างไร มีองค์ประกอบหลายเรื่องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจะทำอย่างไรในเรื่องควบคุมต้นทุน ปริมาณเพียงพอ แปรรูปตรงความต้องการของตลาด ถึงเวลาหน่วยงานรัฐและเอกชนต้องบูรณาการ และผลักดันภาคเกษตรเป็นวาระแห่งชาติ เป็นตัวขับเคลื่อนปรเะเทศ

ภาคเกษตรนั้นสำคัญ เฉพาะอาหารไทยส่งออกกว่า 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ขยายตัวทุกปีแม้เจอวิกฤตโควิด หรือวิกฤตครั้งใด โอกาสเกษตรไทยก็ยังมีอีกมาก สิ่งสำคัญคือต้องใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนา และยกระดับเกษตรไทยได้มาตรการสากล ทั้งเรื่อง GMP ผลักดันเกษตรอินทรีย์ การใช้เทคโนโลยี 5จี มาช่วย เพื่อเพิ่มมูลค่าพืชเกษตรไทย เป็นต้น ขณะนี้ภาคเอกชน ส.อ.ท. สถาบันที่ผมดูแล มีส่วนร่วมทำโมเดลเพื่อสร้างเกษตรยั่งยืน

Advertisement

ตอนนี้ได้เริ่มปูพื้น เพื่อผลักดันภาคเกษตรเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ย้อนไปเมื่อ 19 มิถุนายน 2563 ที่คณะกรรมการ ส.อ.ท. นำโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำเสนอเรื่องเกษตรปลอดภัยเพื่อเป็นวาระแห่งชาติ ภาคเอกชนเสนอตัวทำโครงการต่างๆ เริ่มแล้วกับ โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสินค้าเกษตร และสร้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิต การตลาด และโลจิสติกส์สินค้าเกษตรระหว่างเกษตรกร กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย ตลาดนำการผลิต

โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ และบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีตลาดอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตแน่นอน กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2564-2566)

สำหรับการดำเนินโครงการระยะที่ 1 มีสินค้าเกษตรเป้าหมาย 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ พื้นที่รวม 298,084 ไร่ เกษตรกร 25,286 ราย ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 32 จังหวัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 7 บริษัท โดยเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ด้านการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน จะระบุถึงพื้นที่เป้าหมาย เกษตรกรเป้าหมาย คุณลักษณะ (SPEC) ผลผลิตที่โรงงานต้องการ ราคาตามชั้นคุณภาพของผลผลิต รวมถึงปริมาณและช่วงเวลาการรับซื้อที่มีความสมบูรณ์ เป็นข้อตกลงร่วมกันป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนโครงการระยะที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะหน่วยงานประสานการขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ได้มีการชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ในการขับเคลื่อนโครงการระยะที่ 1 ให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดที่เป็นจังหวัดเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้หน่วยงานในจังหวัดเป้าหมายรับนโยบายและเร่งขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ได้เร่งประชุมหารือร่วมกับโรงงานรับซื้อผลผลิต และประชาสัมพันธ์โครงการให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเชิญชวนให้เกษตรกรเครือข่ายของโรงงานรับซื้อผลผลิตจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่และเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ทันก่อนฤดูการเพาะปลูก

ล่าสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้บรรลุความร่วมมือสู่โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ ระยะที่ 2 พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานรับซื้อ ผ่านกลไกคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โครงการสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่และบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีตลาดอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน กำหนดเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่มปี 2564-2566 โครงการระยะที่ 2 กำหนดพื้นที่และสินค้าเป้าหมาย 10 ชนิด คาดมีเกษตรกรรวม 134,310 ราย ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 42 จังหวัด และมีโรงงานอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตรวม 16 บริษัท จากเดิม 7 บริษัท ได้เริ่มมีการลงทุนระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับผู้รับซื้อของผลผลิตที่ออกมา จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565

อีกโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้ประเทศ BOOST UP ได้เร็ว เรื่องแรกคือ การเร่งปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ไทยยังมีกฎหมายล้าหลัง และยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันกับเหตุการณ์ทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจะทำอย่างไรเพื่อบรรลุความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือดูอิ้ง บิซิเนส (Doing Business) ของประเทศไทยให้ดีขึ้น เช่น การจัดตั้งโรงงาน ยังมีขั้นตอนและอุปสรรคค่อนข้างมาก เรื่องนี้เอกชนเสนอมาตลอด

เรื่องต่อมาคือ เงินทุนสนับสนุนในการพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ รัฐควรเร่งลดเงื่อนไขขั้นตอนเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูได้เร็ว หลังจากโควิด-19 คลี่คลายเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นและฟื้นฟูภายในประเทศเขา

เรื่องสุดท้ายคือ ภาคเกษตรมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก หลังโควิดคนจะกลับมาสู่ระบบแรงงานและเกษตรมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ไม่รู้ว่าจะผลิตอะไร ผลิตแล้วขายใคร เรื่องนี้ก็อยากให้รัฐผลักดันเกษตรประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นตัวกลาง สร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามนโยบายรัฐและทิศทางโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัวได้ตามต่อสถานการณ์ รวมถึงตั้งศูนย์ทุกระดับจังหวัดหรืออำเภอเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เหมือนกับภาคอุตสาหกรรม หรือภาคผลิตในด้านอื่นๆ

‘มติชน’จัดสัมมนา‘BOOST UP THAILAND 2022’

การสัมมนา BOOST UP THAILAND 2022 จัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 อีกครั้งที่จัดในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชน ก้าวสู่ปีที่ 44 สะท้อนประเทศไทยไปต่อ โดยจัดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง ผ่าน facebook : MatichonOnline และ youtube : Matichon tv เวลา 09.00-12.00 น. ในการเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “BOOST UP ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย” จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “พลิกธุรกิจสู้เศรษฐกิจหลังโควิด” และ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “มุมมองเอกชน อนาคตธุรกิจ 2022” ต่อด้วยการฟังเสวนา “เดินหน้า ทะลุโจทย์ประเทศ 2022” โดย นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image