ภารกิจร้อนท้าทาย ปธ.วิปใหม่ รับมือศึกนอก-ศึกใน พปชร.

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการ กรณี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอล โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 3 คน ได้แก่ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปัจจุบันเป็นรองประธานวิปรัฐบาล และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี ล่าสุดนายนิโรธได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานวิปรัฐบาล

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การสรรหาบุคคลที่เหมาะสมไปทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาล ปกติจะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เลือกตัวบุคคลที่ไว้วางใจ หลังจากประธานวิปคนเดิมมีปัญหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ผู้มีอำนาจทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็น่าจะคุยกันลงตัวสามารถแต่งตั้งประธานวิปคนใหม่ได้รวดเร็ว ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องประลองกำลังเกิดขึ้นอีก ขยายแผลความขัดแย้ง

Advertisement

เชื่อว่าการทำหน้าที่ประสานงานของประธานวิปคนใหม่คงไม่ทำให้นายกรัฐมนตรีเคลือบแคลงใจ แต่ก็คงมีปัญหาอยู่บ้างในแง่ความน่าเชื่อถือ เพราะมองจากภายนอกคนทั่วไปยังเห็นร่องรอยความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ อาจทำให้การควบคุมจำนวน ส.ส.เพื่อให้ครบองค์ประชุมทำได้ลำบาก แต่ถ้าการประชุมสภาหลังจากนี้ เหตุการณ์ราบรื่นก็คงไว้วางใจได้ เพราะคนเป็นประธานวิปจะต้องมีบารมีมากพอสมควร เป็นที่ยอมรับของ ส.ส. หากตั้งบุคคลที่มีปัญหาก็จะมีความเสี่ยง หากกฎหมายโหวตไม่ผ่าน ก็ต้องถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาล

สำหรับประธานวิปคนใหม่ เชื่อว่าจะต้องพูดคุยหารือกับ ร.อ.ธรรมนัสในฐานะเลขาธิการพรรค แสดงตนอยู่เสมอว่ายังมี ส.ส.ต้องดูแล น่าจะมีพลังในพรรคสูงกว่าบุคคลอื่น คล้ายกับถ้าขาดความร่วมมือ ส.ส.จากกลุ่มนี้เมื่อไหร่นายกรัฐมนตรีจะขาลอย แต่ถ้าประเมินสถานการณ์ ร.อ.ธรรมนัส น่าจะยังไม่พร้อมเปิดศึกเพื่อให้ยุบสภา เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรก็คงพูดเตือนสติอยู่บ้าง เพื่อให้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ผ่านไปก่อน

ส่วนการสยบความเคลื่อนไหวให้ทุกอย่างเดินหน้าราบรื่น นอกจากจะมีการพูดคุยกันในบรรดาแกนนำเพื่อประคับประคอง พักหลังน่าแปลกใจไม่มีใครพูดถึงการแจกกล้วย ทั้งที่แต่เดิมมีบางคนออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นเจ้าของสวนกล้วย มีหน้าที่แจกกล้วย นอกจากนั้นยังมีคนเคยพูดว่า ส.ส.มีเงินประจำรายเดือน

Advertisement

ในอดีตการทำหน้าที่ของวิปรัฐบาลสมัยป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต่างจากปัจจุบัน ต่างกันที่จำนวน ส.ส.ยุคก่อนน้อยกว่า ในอดีตไม่มีปัญหาจากสภาล่ม ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม ยกเว้นว่าจะตั้งใจ ยุคนั้นนายชวน หลีกภัย เคยบอกว่าการประชุมสภาคือหน้าที่ ทำให้เห็นว่า ส.ส.ในยุคก่อนมีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ ต้องการผู้สามารถคุยได้รู้เรื่องกับทุกฝ่าย มีความประนีประนอมสูงยืดหยุ่นกับตัวเอง กับสถานการณ์การเมืองได้

ต้องมีบุคลิกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ต้องหารือกับพรรคฝ่ายค้านด้วย เช่น จะหารือ ต่อรอง กำหนดระยะเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลจะมีผลอย่างมาก การเจรจากับประธานวิปฝ่ายค้าน ต้องเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองในระดับหนึ่ง เป็นคนรู้เท่าทันเกมทางการเมืองฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้าม ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง เก๋าเกมทางการเมืองพอสมควร

ชื่อที่ออกมา นายนิโรธ สุนทรเลขา เป็นการโยนก้อนหินถามทาง จะเห็นจากอาการไม่พอใจ หรือเสียงแบ่งรับแบ่งสู้จาก พล.อ.ประวิตร กลุ่มซีกอื่นๆ ในพรรคพลังประชารัฐไม่มีใครหนุนมากมาย ในพรรคพลังประชารัฐหลายคนมองว่านายนิโรธคือสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีบทบาทสูงคอยป้องกันฝ่ายค้านช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำหน้าที่โดดเด่นในแง่ผู้ลุกขึ้นประท้วง แต่ในแง่หนึ่ง ตั้งคำถามว่า จะทำงานรอมชอมในบทบาทประธานวิปฝ่ายรัฐบาลได้หรือไม่

แต่เข้าใจว่านายนิโรธเป็น ส.ส.หลายสมัย มีประสบการณ์หรือเข้าใจเกมในสภาได้ดี ความน่าสนใจคือเสียงที่ไม่มีการตอบรับอย่างชัดเจนอย่างทันทีทันควันจาก พล.อ.ประวิตร นำไปสู่การตีความว่าคนที่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะจาก พล.อ.ประยุทธ์ยื่นออกมา โดยนัยยะทางการเมืองแล้ว จะต้องเป็นฝ่ายที่พรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีเสียงมากที่สุด จะต้องเป็นคนชงก่อน ตรงนี้ทำให้ พล.อ.ประวิตรแสดงอาการหงุดหงิด มีทีท่าเงียบ ทั้ง ส.ส.ส่วนอื่นๆ ไม่ว่าฝั่ง ร.อ.ธรรมนัสก็ไม่มีท่าทีตอบรับรายชื่อที่ถูกเสนอมาเลย ทำให้เห็นว่าการเมืองในพลังประชารัฐยังมีแรงกระเพื่อม

กรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 3 คนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ถ้าเป็นนายวิเชียร จะได้เปรียบในแง่ของบุคลิกเรียบร้อย มีประสบการณ์เป็นอดีตปลัดกระทรวงมาถึง 2 กระทรวง กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหนึ่งในบุคคลก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐด้วย ก็มีความชอบธรรมในแง่นี้

ส่วนนายสรวุฒิจะมีภาคของความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พูดง่ายๆ ว่า เป็นกลุ่มการเมืองไม่เอา ร.อ.ธรรมนัส สถานการณ์แบบนี้ถ้ามองจากภายนอก นายวิเชียรน่าจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในพลังประชารัฐพูดคุยกันได้ แต่คาแร็กเตอร์ของนายวิเชียรอาจแตกต่าง หรือความเกรี้ยวกราดทางการเมืองอาจจะไม่เท่านายวิรัช ความเป็นคนไม่เปิดตัว ไม่ทำตัวเองเป็นสปอตไลต์ ไม่เป็นที่ถูกจับตา อาจทำให้พลังประชารัฐต้องการใช้บริการบุคลิกคนลักษณะแบบนี้ ในภาวะแบบนี้ก็ได้

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) วิทยาเขตล้านนา

กรณีรัฐบาลสรรหาประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลคนใหม่ ต้องเป็นบุคคลที่มีฝีมือ บารมีและเป็นที่ยอมรับพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งประธานวิปฝ่ายค้าน ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไว้วางใจเพื่อทำงานสำคัญ และขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน ไม่เกิดความขัดแย้งตามมาภายหลังได้

บทบาทสำคัญของประธานวิปรัฐบาล ต้องเชี่ยวชาญการเมืองและประสานสิบทิศได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาล มักจะต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองเสมอ ไม่ว่าเป็นเรื่องใดก็ตาม โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎร เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองได้ ดังนั้นประธานวิปคนใหม่ต้องสนองนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถอดบทเรียนจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการ พปชร. มีความขัดแย้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงความไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีพรรคอื่นจนนำไปสู่การแตกหัก และไม่ไว้วางใจกัน

อยากให้ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ประสานฝ่ายบริหารทั้งในและนอกสภา ยึดโยงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ประสานทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านได้อย่างราบรื่น ประชาชนไม่เสียโอกาส และผลประโยชน์ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญต้องให้งานในสภาเดินหน้า ไม่ใช่สภาล่ม เนื่องจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่เข้าประชุม หรือฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ ส่งผลให้การพิจารณากฎหมายหรือนโยบายรัฐบาลสะดุดได้ สุดท้ายคนที่รับกรรมคือประชาชน

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในพรรค พปชร.มีปัญหาในเรื่องเอกภาพ จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น เพราะสถานการณ์ใน พปชร. เหมือนระเบิดเวลาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค สิ่งสำคัญคือ พปชร.ไม่มีฐานทางอุดมการณ์ การรวมกลุ่ม มุ้งทางการเมือง (Political faction) จึงเกิดขึ้นกับ พปชร.ตั้งแต่ตั้งพรรค พอตั้งรัฐบาล จึงเกิดปัญหาคลื่นใต้น้ำมาตลอด ยิ่งระยะหลังอำนาจ คสช.เริ่มถดถอย อำนาจฝ่ายการเมืองมาจากเลือกตั้งมีมากขึ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์ พปชร.มีปัญหาเอกภาพมากขึ้น

วันนี้เรามักโฟกัสไปที่ 2 กลุ่มคือกลุ่ม พล.อ.ประวิตรกับกลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ การแก้ปัญหาของ พปชร.ที่ผ่านมา ใช้วิธีเคลียร์เป็นกรณีไป โดยเฉพาะการใช้บารมีของ พล.อ.ประวิตร ไม่ทำให้พรรคมีเสถียรภาพยั่งยืน พล.อ.ประยุทธ์ผู้นำรัฐบาลก็ขาลอย ไม่มีฐานทางการเมืองเชื่อมโยงพรรค คือปัญหาใหญ่และปัจจัยท้าทายในสมัยประชุมนี้ ผนวกกับการที่นายวิรัชต้องพ้นจากตำแหน่งประธานวิป ยิ่งเป็นประเด็น

มีสถานการณ์การเมืองภายใน พปชร. นายวิรัชอยู่ฝั่งสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ส่วนนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส อยู่ฝั่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่ม

และคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาฯพรรค เรื่องการลงพื้นที่ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร นายวิรัชเองก็ถือได้ว่ามีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ลูกชายของนายวิรัช เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีกลุ่ม 4 ช. ฉะนั้น คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น จะต้องเบลมกันไปมา ดิสเครดิตกันในทางการเมือง

ตำแหน่ง ประธานวิปรัฐบาล ควรมีคุณสมบัติ 1.รู้เรื่องระบบงานของรัฐสภา 2.รู้กฎหมายต่างๆ พอสมควร แต่อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเชี่ยวชาญ เพราะรูปแบบการทำงานจะเป็นลักษณะของคณะกรรมการ มีฝ่ายเลขาฯจากข้าราชประจำมาคอยช่วยดูแล อาจต้องรู้บ้าง มีประสบการณ์พอสมควร

ประการที่ 2 ต้องประสานงานประสานคนได้ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้งานราบรื่น เพราะวิปมีพรรคอื่นส่งตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมด้วย ต้องประสานกับวิปฝ่ายค้านได้ หัวใจหลักคือเรื่องการประสานคน การหาคนมาทำหน้าที่ จึงไม่ง่าย

จากทั้ง 3 ชื่อที่มีการเสนอ ยังไม่ค่อยเหมาะ ทั้ง 3 ท่านเป็น ส.ส.เขตหลายสมัย แต่ทั้ง 3 คนไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นนักในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะอยู่มานาน คนที่จะเป็นที่ยอมรับ ต้องมีบทบาทโดดเด่นพอควร เชื่อมโยงกับ ส.ส.ได้

น่ากังวลอย่างยิ่ง อย่าลืมว่านี่คือรัฐบาลผสมหลายพรรค การจะประสานงานกับผู้คนในพรรคต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะเห็นสถานการณ์การบริหารจัดการพรรคร่วม ที่มีปัญหามาตั้งแต่ต้น จึงได้เห็นคำว่า แจกกล้วย ในสภาชุดนี้

มีหลายเรื่องจะเข้าสู่การประชุมสภาสมัยนี้เป็นเรื่องร้อนแรงทั้งนั้น ไม่ว่าจะกฎหมายการเงินถ้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็จะมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง ยังมีประเด็นเรื่อง ม.112 นอกสภามีการเคลื่อนไหว รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ และโควิด-19 คืองานหนักของคนจะมาเป็นประธานวิปรัฐบาลต่อไป

อย่าลืมว่าบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาฯพรรค ยังไม่ได้หายไปไหน โอกาสเคลื่อนไหวในสภาจึงเป็นไปได้ ร.อ.ธรรมนัสฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา มาเป็นประธานวิปน่าจะเหมาะกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image