ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

ประกันรายได้สินค้าเกษตร
แฟ้มภาพ

รายงานหน้า 2 : ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

หมายเหตุความเห็นนักการเมือง นักวิชาการ และตัวแทนเกษตรกร กรณีโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรของรัฐบาลที่มุ่งดูแลคุณภาพชีวิตเกษตรกร จะช่วยทำให้เกษตรกรยั่งยืนจริงหรือไม่

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
รองเลขาธิการ และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย (พท.)

รายงานหน้า 2 : ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

สินค้าการเกษตรตกต่ำ ไม่สามารถมองปัญหาเป็นจิ๊กซอว์แต่ละตัวได้ ต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่ากำลังจะต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพอะไร ถ้าคุยกันแต่เรื่องราคาที่ตกต่ำ เรากำลังแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ แก้ยังไงก็ไม่จบ ปัญหานี้ต้องมองเป็น 3 ท่อน เริ่มจาก ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องแก้ทั้งระบบในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

1.ปัญหาต้นน้ำของสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะข้าว มุ่งประเด็นไปที่ Yield หรือผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ นำไปสู่ราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง การแก้จึงไม่ใช่การแก้ที่ราคาแต่ต้องแก้ที่ผลิตภาพ และผลิตภาพแก้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรนำการผลิต ตรงนี้ดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติยาก ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรแม่นยำ (Agritech Agrobot) ระบบตรวจวัดสารเคมีความชื้น คำเหล่านี้สวยหรูพูดกันเยอะแต่ไม่เกิดขึ้นเสียที เพราะเกษตรกรต้องมีขนาดใหญ่พอและคุ้มค่าต่อการลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้

บริบทเกษตรกรไทยไม่ใช่แบบนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากเงื่อนไขเดียว คือ ภาครัฐต้องเป็นตัว Kick Start เหมือนรัฐบาลไต้หวันลงทุนเพื่อคิดค้นและจัดหานวัตกรรมให้เอสเอ็มอีของเขา นอกจากนั้น ผลิตภาพที่สูงจะเกิดจากการมีโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรที่พร้อม เกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ดีถ้าวันหนึ่งเจอน้ำท่วม อีกวันเจอน้ำแล้ง ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐอีกเช่นกัน

พรรคเพื่อไทยจะเสนอโครงการ“ผันน้ำก่อนท่วม เติมน้ำก่อนแล้ง” โดยโครงการบริหารจัดการน้ำ 2 ระบบ เชื่อมกันระหว่างภาคกลางและอีสาน หนึ่งในนั้นจะใช้ระบบการผันน้ำโดยใช้แรงโน้มถ่วง พื้นที่ชลประทานของอีสานจะต้องทัดเทียมภาคกลาง นี่คือเป้าหมาย นอกจากนั้น ไทยสู้คู่แข่งไม่ได้เลยเรื่องพันธุ์ข้าว เราฝากการพัฒนาพันธุ์ข้าวไว้กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งไม่ใช่ทิศทางที่ถูก ภาครัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ผ่านการทุ่มงบประมาณไปที่ภาคเอกชน แล้วให้ภาคเอกชนแข่งขันกัน ท้ายสุดสำหรับต้นน้ำ ในระหว่างการปรับตัว เราจะปฏิเสธคำว่ามาตรการสนับสนุนราคาสินค้าการเกษตรไม่ได้ ยังไงก็ต้องทำในระยะสั้น ให้เกษตรกรยืนอยู่ไหว

Advertisement

2.เป้าหมายสำคัญในส่วนของมาตรการกลางน้ำ คือ การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตรขึ้น ปัจจุบันสินค้าการเกษตรเราผลิตเกินและยังไม่ตรงความต้องการตลาด โจทย์สำคัญคือการใช้วัตถุดิบที่มีแปรรูปให้ตรงกับความต้องการตลาดโลก ตรงนี้อุตสาหกรรมแปรรูปเป็นคำตอบ และอุตสาหกรรมแปรรูปจะทำหน้าที่เป็นแหล่งรับซื้อสินค้าการเกษตรจากเกษตรกร แทนรัฐบาล แทนการช่วยเหลือด้านราคา ในระยะกลาง-ยาว การแปรรูปสินค้าการเกษตรของไทยทุกวันนี้ อยู่แค่ใน Lab Scale คือวิจัยในห้องปฏิบัติการตามมหาวิทยาลัย ทดลองเสร็จก็จบกันไป เพราะไม่คุ้มที่จะลงทุน ภาครัฐจึงมีหน้าที่ผลัก Lab Scale ให้กลายเป็น Industry Scale ให้ได้ สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำคือยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เหล่านี้เล็กไปมากๆ สำหรับการสร้างอุตสาหกรรม ต้องมองใหญ่กว่านั้น ไทยลงทุนมหาศาลในอีอีซีได้ เราก็ต้องลงทุนสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตรได้ และตรงนี้จะตอบโจทย์ภาคเกษตรกรรมไทยทั้งระบบ

3.ปลายน้ำ วันนี้ไทยกำลังเล่นในตลาดข้าว มีการแข่งขันสูง แปรปรวนสูง และการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดส่งออกของจีนนั้นน่ากังวลมาก เพราะมีกำลังการผลิตสูงมาก อีกทั้งเวียดนามได้เปรียบไทยทั้งพันธุ์ข้าว Yield ที่สูงกว่า ราคาที่ต่ำกว่า และมี FTA ที่มากกว่าไทย การแข่งขันในตลาดข้าวพื้นฐานนั้นจึงยากมาก วันนี้พรรคเพื่อไทยมองเห็นโอกาสใน 2 ตลาดที่สำคัญ คือ ตลาดเกษตรแปรรูป และตลาดเกษตรมูลค่าสูงเพื่อสุขภาพ โครงสร้างประชากรโลกที่แก่ตัวลงเร็ว สร้างคนสูงวัยรายได้สูงจำนวนมาก คนกลุ่มนี้บริโภค อาหารปลอดภัย อาหารออร์แกนิค ตรงนี้ผู้เล่นยังน้อย แต่มีความต้องการบริโภคเยอะ นอกเหนือจากนั้น อินเดีย จีนกำลังสร้างชนชั้นกลางใหม่ขึ้นจำนวนมหาศาล ทำให้การบริโภคโปรตีนจะสูงขึ้นมาก ตรงนี้คือโอกาสของปศุสัตว์ไทย รวมถึงธัญพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์ ซึ่งยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมาก ฉะนั้นโจทย์สำคัญสำหรับปลายน้ำคือต้องใช้ ตลาดนำการผลิต” และผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาด

ปัญหาสินค้าการเกษตรจึงไม่ใช่แค่เรื่องราคาตกต่ำ เป็นแค่ปลายทางของปัญหาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้องมองและแก้ทั้งระบบ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไทยย่ำอยู่กับที่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุทุกปีๆ แบบนี้ไม่เห็นอนาคตของเกษตรกรไทย

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

รายงานหน้า 2 : ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

การที่พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำลงโดยเฉพาะราคาข้าวนั้น ต้องดูที่สาเหตุ เนื่องจาก 1.การส่งออก แม้ภาคการส่งออกทั่วโลกจะเติบโตและกลับมาขยายตัวได้ รวมถึงการส่งออกของไทยด้วย แต่การส่งออกข้าวของไทยยังส่งออกได้น้อย เพราะเป็นข้าวที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงข้าวที่เราส่งออกได้ดี คุณภาพไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ 2.สถานการณ์น้ำท่วม ทำให้เกิดความชื้นกับข้าวเปลือกที่มากเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ ประมาณ 15% แต่ขณะนี้ความชื้นส่วนใหญ่ อยู่ประมาณ 30% ทำให้ควรจะขายได้ตามประกันราคาข้าวของรัฐบาล ตันละ 8,000-10,000 บาท ก็ไม่สามารถขายได้ เมื่อนำไปขายในท้องตลาด ราคาก็ตกลงเหลือประมาณ 6,000 บาทต่อตัน

3.เราไม่มีข้าวที่เป็นพระเอกหรือเป็นตัวชูโรง แม้มีการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่กว่า 18 พันธุ์ แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าชัดเจน ทำให้เมื่อเราไม่มีพระเอก ราคาข้างก็ตกลงตามความน่าสนใจที่มีน้อย 4.การระบาดโควิด-19 ที่แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นขึ้นมาแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยเป็นการฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จีดีพีปรับขึ้นมาเพียง 1% เท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจในต่างประเทศฟื้นตัวแบบพุ่งแรง ทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศลดลง รวมถึงการบริโภคที่หายไป เนื่องจากผู้บริโภคลดลง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป จากเดิมปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 40 ล้านคน ในปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น ทำให้นักท่องเที่ยวที่หายไปกว่า 39 ล้านคน อุปสงค์ในส่วนนี้จึงลดลงไปสูงมาก และ 5.ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดของชาวนาไทย ที่เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกแล้ว ไม่มีพื้นที่ตากและพื้นที่เก็บสต๊อกข้าว ก็ต้องรีบขายออกทำให้ราคาตกต่ำลง

การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือ ชาวนาส่วนใหญ่มีหนี้สินสูงมาก แต่ขณะนี้มีการช่วยเหลือในส่วนลดเงินต้นเท่านั้น แต่ดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงตาม ต้องมีมาตรการช่วยเหลือลดดอกเบี้ยชั่วคราวออกมาด้วย รวมถึงการเร่งหาตลาดกลางเข้ามาลดจำนวนข้าวที่มีอยู่ให้น้อยลง เป็นการระบายข้าวในตลาดออก สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ การช่วยเหลือในระยะกลางและยาว เพราะปัญหาที่มีอยู่ยังไม่สามารถแก้ได้สักที หากมัวแต่ทำประกันราคาข้าวว่าจะได้หรือไม่ได้ราคา

สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขในระยะยาวอย่างรวดเร็วคือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวและคุณภาพของข้าวไทย สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ รวมถึง ต้องให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาพื้นที่เก็บเกี่ยวและตากแห้ง ชาวนาไม่ต้องรีบขายข้าวออก รวมถึงการเร่งการส่งออก และปรับปรุงตลาดในการส่งออก

สถานการณ์ในตอนนี้ มองว่าหากรัฐบาลจะยกเลิกการทำประกันราคาข้าวคงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะช่วยได้ในรูปแบบการกระตุ้นตลาด แต่หากทำแบบนี้เราจะผิดกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพราะถือเป็นการบิดเบือนราคาในตลาด สิ่งที่ทำได้คือ การตั้งราคาประกันข้าวไว้ หากราคาข้าวไม่ถึงตามกำหนด ต้องช่วยเหลือผ่านส่วนต่างของราคาออกมา มองว่ารัฐบาลควรช่วยเหลือชาวนามากขึ้น ด้วยการกำหนดค่าความชื้นที่เหมาะสมและทำให้ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลอาจมีความเสียหายมากขึ้น แต่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือชั่วคราวให้มากขึ้นเช่นกัน

ในสถานการณ์ที่ลำบากแบบนี้ รัฐบาลต้องยอมรับแบกรับภาระงบประมาณไว้ ส่วนรูปแบบการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ การฟื้นจำนำข้าวนั้น ต้องใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด ที่ผ่านมาก็เคยเห็นปัญหากันอยู่ ต้องสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบให้ได้ การประกันราคาข้าวแบบนี้ เราเห็นความโปร่งใสได้ง่ายขึ้น จึงมองว่ารูปแบบการช่วยเหลือผ่านการประกันราคาข้าวน่าจะต้องทำต่อไปเป็นการแก้ไขชั่วคราว

ที่น่าเสียดายมากเพราะราคาข้าวของไทยเคยเป็นอันดับ 1 แต่ขณะนี้ตกลงมาเป็นอันดับ 3 แล้ว รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือชาวนาผ่านการแก้ปัญหาระยะสั้นก่อน แต่การแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวก็ต้องเร่งรีบจัดการเร็วที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าว การนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในภาคการเกษตร การลดภาระวัตถุดิบ อาทิ ราคาปุ๋ย รัฐบาลยังทำน้อยมาก แต่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ชาวไร่ชาวนาอยู่รอดได้จริงๆ

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

รายงานหน้า 2 : ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

รัฐบาลต้องหางบประมาณมาจ่ายชดเชยนโยบายประกันราคาข้าวให้ได้ อีกทั้งต้องผลักดันการส่งออกข้าวให้เยอะขึ้น ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวหลัก แต่ละปีมีผลผลิต 20 ล้านตันต่อปี บริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน สต็อกในโกดัง 2-3 ล้านตัน นอกนั้นจะเป็นการส่งออก ถ้าไม่มีการส่งออกราคาข้าวในประเทศจะลดต่ำลง แต่ก็มีปัจจัยภายนอกทำให้ไทยส่งออกข้าวไปไม่ได้ คือเรื่องการขนส่ง ช่วงนี้ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นสูงมาก 5-6 เท่า เป็นกันทั่วทั้งโลก ทำให้กำลังซื้อน้อยลง สินค้าไปถึงสหรัฐ ล่าช้าถึง 3 เดือน จากปกติ 30-40 วัน

ราคาข้าวตอนนี้เหมาะกับการส่งออกมากแข่งขันสู้กับอินเดีย เวียดนามได้ เพราะค่าเงินบาทอ่อน แต่ติดปัญหาที่ไทยไม่มีเรือบรรทุกออกไป เป็นปัญหาทางโครงสร้างอุตสาหกรรมประเทศไทยที่ไม่มีกองเรือแห่งชาติ ไม่มีเหมือน Evergreen ของไต้หวัน NOL ของสิงคโปร์ เป็นเรือแห่งชาติเลย ในกรณีที่มีปัญหาที่กล่าวมา ถ้ามีกองเรือแห่งชาติก็ส่งออกได้

ในระยะยาวต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งหมด ตั้งแต่พันธุ์ข้าว พื้นที่การเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ว่าดูแลแต่เรื่องราคาตามนโยบายแบบประชานิยม เพราะต้องแข่งกับประเทศอื่น ราคาต้องสู้ได้ ถ้ามีแต่การตั้งราคาข้าวในประเทศให้สูงก็ส่งออกไปแข่งราคากับประเทศอื่นไม่ได้

30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีนโยบายระยะยาวเรื่องข้าวเลย 10 กว่าปีที่แล้วเราไม่มีคู่แข่ง เราปลูกข้าวสายพันธุ์อะไรก็ขายได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เวียดนามมีพันธุ์ข้าวดีกว่า ผลผลิตเยอะกว่า ต้นทุนปลูกต่อไร่ถูกกว่า มีการพูดเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว แต่ทุกรัฐบาลดูแลแต่เรื่องราคา ต้องทำอย่างไรให้ชาวนาผลิตข้าวออกมาในต้นทุนที่ถูกลง ส่วนไหนที่ทำไม่ได้ก็ให้ปลูกพืชแบบไร่นาสวนผสม จะปลูกข้าวอย่างเดียวคงไม่รอด ด้วยนโยบายอุดหนุนราคาข้าวประชานิยม ในระยะยาวไปไม่รอด ส่งผลเสียหายต่อภาระทางการคลังของรัฐและตัวชาวนาเองด้วย

ตอนนี้นับเป็นครั้งแรกที่มียุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภาครัฐ ภาคเอกชน ช่วยกันร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ ในแผนจะมีออกพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น คุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด ต้องเอาตลาดนำการผลิต ทางสมาคมเริ่มการประกวดพันธุ์ข้าวแล้ว รวมทั้งรัฐบาลต้องให้กรมการข้าวออกพันธุ์ข้าวใหม่มาทุกปี การจะเอาข้าวไปแข่งในตลาดโลก จำเป็นต้องมีสินค้าที่ดีในต้นทุนที่ถูก เรามีตลาดส่งออกข้าวเยอะ แต่เราไม่มีข้าวที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่เรามีน้อยมาก แต่ในตลาดโลกต้องการข้าวนุ่ม ก็ถูกเวียดนามแย่งตลาดตรงนี้ไปหมด แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีความต้องการข้าวพื้นนุ่มเช่นกัน

วิชัย ชติยวงษ์
นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย

รายงานหน้า 2 : ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

ทุกวันนี้รัฐบาลช่วยเหลือโครงการประกันรายได้ มันได้ส่วนเดียวเอง แค่ช่วยประคับประคองไปพอได้ แต่จะช่วยชาวนาให้อยู่ได้มันเป็นไปไม่ได้ ชาวนาเคยคุยกับรัฐมนตรีว่า ชาวนาควรจะมีลานตากข้าวประจำหมู่บ้าน อย่างน้อย อบต.ละ 1 ลานตากข้าว ไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าโครงการความชื้นของข้าวสูง ทำให้ได้ผลต่างน้อย เนื่องจากคิดราคาชดเชยจาก ข้าวแห้ง 15% จึงได้ราคาส่วนต่างอยู่ที่ ตันละ 1,934 บาท เพราะข้าวความชื้นสูง เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วชาวนาย่อมไม่พอใจ ครั้งที่แล้วอยู่ที่ 2,600 กว่าบาท

การแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีลานตากข้าว มีชั่งน้ำหนักข้าว ยุ้งฉาง และไซโลอบข้าว ประจำตำบลขนาดไม่น้อยกว่า 10 ไร่ เกษตรกรสามารถชะลอการขายได้และสามารถนำข้าวแห้งไปจำนำกับ ธ.ก.ส.ได้ ถึงจะอยู่ได้ รัฐบาลชุดนี้ถ้าไม่มีประกันรายได้จะทำอย่างไรถ้าเกิดข้าวตกต่ำเหลือตันละ 1,000-5,000 บาท จะไปฟ้องร้องใครก็ไม่ได้ ได้แต่ไปปิดถนน ผมในฐานะอนุกรรมการ โครงการประกันรายได้ ก็คัดค้านมาโดยตลอด อย่างเช่นคนทำนา 100 ไร่ก็ได้แค่ 50 ไร่ แล้วก็ได้ไม่เกิน 30 ตัน แล้วต่อไร่ก็ให้แค่ 62 ถังไม่ได้ ให้ไปเกวียน กำลังจะหาทางแก้กันทั้งระบบว่าทำอย่างไรให้ชาวนาได้มากกว่านี้ ในข้าว 5 ตัวที่มีการประกันรายได้ในทุกวันนี้ด้วย

คิดว่าในอนาคตข้าวไทยเราคงไม่มีการขยับราคาเพิ่มสูงขึ้นไปกว่านี้ได้อีกแล้ว นอกจากรัฐจะอุ้มชาวนาอย่างเต็มที่ เปรียบเทียบกับจำนำข้าวจะเสียค่ายุ้งฉาง แต่ประกันราคาข้าวไม่เสียค่ายุ้งฉาง และหากราคาข้าวขึ้นรัฐบาลก็ไม่ต้องเสียค่าประกันราคา แต่ต่อจากนี้ไปคิดว่าราคาข้าวจะขึ้นค่อนข้างยาก ราคาข้าวจะขึ้นก็ต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลางเท่านั้น

ตอนนี้ชาวนาลำบากมาก ถึงแม้ว่าได้การประกันราคาข้าวส่วนต่างมา ไม่ได้หมายความว่ามีความสุข ยังคงลำบากมากอยู่ ตอนนี้ราคาข้าวอยู่ที่ 6,500-6,700 บาท เนื่องจากข้าวมีความชื้นสูง ถ้ามีที่อบความชื้น มีไซโล มีที่เก็บ มีตาชั่ง หรือกิโลกลาง จะไม่ถูกเอาเปรียบ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของความชื้นของข้าวได้ในระยะยาว และอยากให้รัฐบาลหยุดต้นดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ต้องเป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 3 ปี กำลังนำเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณา

สุนทร รักษ์รงค์
เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.)

รายงานหน้า 2 : ส่องความเห็นนโยบายรัฐ ประกันรายได้สินค้าเกษตร

โครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิดทั้งมันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา อ้อยและ ข้าว เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อเนื่องเป็นไปที่ 3 เป็นรองเพียงโครงการคนละครึ่งเท่านั้น การประกันรายได้ทำให้พี่น้องเกษตรกรพึงพอใจ เพราะไม่ไช่การประกันราคาที่ผิดหลักขององค์การการค้าโลก หรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่เคยมีปัญหาในอดีต

การทำโครงการต้องมีความต่อเนื่อง ในพื้นที่ภาคใต้จะมีปาล์มน้ำมันกับยางพารา ปลูกข้าวแต่ไม่มาก สำหรับปาล์มไม่มีปัญหาจากกลไก เพราะราคาสูงกว่าที่เคยประกันไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท หลังนำไปใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซลหลายสูตร แต่ขณะนี้ยางพาราราคาต่ำกว่าการประกันรายได้ ทำให้โครงการประกันราคาระยะที่ 3 ที่ผ่านมติจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติหรือ กนย.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อเดือนกันยายน 2564

จากนั้นได้เตรียมจัดหางบประมาณเพื่อขออนุมัติจาก ครม. ทั้งนี้งบที่มีจำกัดในสถานการณ์โควิด-19 จะต้องใช้จ่ายให้เหมาะสม ในระยะสั้นทราบว่ารัฐบาลต้องนำไปจ่ายให้กับการประกันราคาข้าวเป็นงวด ที่สำคัญยืนยันว่าการประกันรายได้ยางพาราก็ต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าอาจจะต้องขยายเพดานเงินกู้เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งพืชชนิดอื่น และประชาชนในส่วนอื่นที่มีผลกระทบอย่างถ้วนหน้าจากการระบาดของโควิด

ต้องยอมรับความจริงว่าการประกันรายได้ให้เกษตรกรเหมือนการให้ยาพาราเซตามอลแก้ปัญหาเป็นครั้งคราวหลังได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จากวงจรเศรษฐกิจโลก สินค้าการเกษตรของไทยหลายชนิดมีปัญหาจากการส่งออก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีผลดีกับเกษตรกรในการพึ่งพาตนเองในระยะยาวยังต้องทำควบคู่กันไป เช่น การทำสวนยางพารา มีการนำโครงการที่ผ่านบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย กยท.เสนอเข้า ครม.เพื่อทำสวนยางยั่งยืน ภาครัฐต้องให้งบสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้โดยไม่ต้องรอราคายางอย่างเดียว การทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชร่วมยาง ปลูกไม่ยืนต้น ทำปศุสัตว์ ประมงในสวนยาง บางพื้นที่รัฐต้องสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกในสวนยางที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

สำหรับการประกันรายได้ที่ผ่านมาหากเทียบกับวิธีการอื่นถือว่ามีความโปร่งใส ยังไม่ได้ยินว่ามีการทุจริต เพราะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง ดังนั้น ในมิติทางการเมืองก็ไม่ควรมีใครแอบอิงฉวยโอกาสจากความเดือดร้อนของชาวนาเพื่อหาประโยชน์ทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image