ดินเนอร์‘พรรคร่วม รบ.’ เช็กชื่อหนุน‘บิ๊กตู่’ไปต่อ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีรัฐบาลเตรียมจัดงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง ส.ส.และ ครม. วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี

การจัดงานเลี้ยงเป็นแผนและยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ ชนิดที่เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว กับการรับประทานอาหารของผู้มีอำนาจในซีกรัฐบาล หากดูจากสถานการณ์ทางการเมืองความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐ น่าจะมีเอกภาพมากขึ้นในระดับหนึ่ง ภายใต้ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ ร.อ.ธรรมนัส น่าจะมีการเคลียร์ใจกันแล้วแต่ไม่นิ่งจริง 100% ถึงที่สุดแล้ว ความสงบนิ่งที่แท้จริงยังต้องการหลักประกันบางอย่างจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อยืนยันให้ พล.อ.ประยุทธ์มีความมั่นใจว่าการทำหน้าที่จะราบรื่นจากเสียงข้างมากในสภา

Advertisement

ดังนั้น จึงต้องนัดพบในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์สบายใจ แสดงให้เห็นพรรคร่วมรัฐบาลยังมีเอกภาพ หากมีการผ่านกฎหมายสำคัญขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ไว้วางใจได้ จะไม่เหมือนกรณีก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐมีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเคลียร์ใจกันได้ รวมทั้งปัญหาสภาล่ม นอกจากนั้นประโยชน์จากการนัดดินเนอร์ก็คงจะทำให้วิปรัฐบาลคนใหม่คุ้นชินกับบรรดาแกนนำพรรคร่วม

เพื่อไม่ให้มีปัญหาซ้ำรอยเดิม และอาจไปถึงการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะดูจากบริบทแวดล้อมขณะนี้ จะเห็นท่าทีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีผลมาจากมาตรา 112 การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การเสนอยุบพรรคก้าวไกล ท่าทีของนายทักษิณกลับลำกะทันหันอีกครั้ง แสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียหลังจากก่อนหน้านี้จะไม่แตะมาตรา 112 แต่ล่าสุดส่งสัญญาณว่าจะต้องแก้ไข จึงเป็นโอกาสของพรรครัฐบาลจะต้องผนึกกำลังสู้กับฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างเงื่อนไขให้มีลักษณะของพันธมิตร เพื่อวางยุทธศาสตร์ทำงานทางการเมืองให้เข้มแข็ง

การจัดงานเลี้ยงครั้งนี้ น่าจะมีความเป็นไปได้สูงว่า โอกาสเห็น 3 ป. แสดงท่าทีใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส เนื่องจากการจัดงานเลี้ยง พล.อ.ประวิตรเป็นเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นท่าทีก่อนจะเชิญแขกมาที่บ้าน ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าคนในบ้านยังรักกันดี มีความสามัคคีเพื่อต้อนรับแขกไม่ต้องมีความกังวลกับการวางตัวเมินเฉยของคนในบ้าน ดังนั้น สัมพันธภาพที่ดีระหว่าง 3 ป.กับเลขาธิการพรรคจะมีการแสดงออกที่ดีขึ้น การจัดเลี้ยงครั้งนี้ก็เหมือนการจัดงานแต่งงาน เชิญแขกมารับประกันว่าความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวดีขึ้นแล้ว สามารถทำงานร่วมกับทุกพรรค หลังจากนี้เป็นต้นไปจะมียุทธศาสตร์ทางการเมืองแหลมคมมากขึ้น

Advertisement

การจัดงานเลี้ยงก็อาจจะมีการวัดพลังก่อนมีการปรับ ครม.ที่ว่าง 2 เก้าอี้ เพราะการกินข้าวกับนักการเมือง รสชาติจะแตกต่างกับการกินข้าวกับชาวบ้าน เพราะรสชาติจากการกินข้าวของนักการเมืองคืออำนาจและผลประโยชน์ เชื่อว่าจะต้องมีการเจรจาสำหรับ 2 ตำแหน่งที่เหลือจะจัดสรรผลประโยชน์กันอย่างไร เนื่องจากการบริหารจัดการจะส่งผลสะท้อนถึงเอกภาพของรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาเปิดประชุมแล้วสภาล่มส่วนหนึ่งก็เกิดจากความไม่เป็นเอกภาพ

สำหรับสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเจรจาระหว่างดินเนอร์กับนักการเมือง ในทางนิตินัยเห็นชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่ในทางพฤตินัยจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีบทบาทในพรรคค่อนข้างมาก ส่วนจะครอบงำหรือไม่ เชื่อว่า กกต.คงจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้มากกว่าการใช้หลักกฎหมาย หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีพยานหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรพาดพิงถึง เช่นเดียวกับพฤติกรรมของนายทักษิณสะท้อนให้เห็นว่ายังมีบทบาทในพรรคการเมือง หรือกรณีของก้าวหน้า ก้าวไกลก็ไม่ต่างกัน แต่หลักของกฎหมายยังเอื้อมเข้าไปไม่ถึง

น่าจับตาการเชิญตัวแทนพรรคเล็กไปร่วมงานเลี้ยง นอกจากบางรายอาจจะแสดงจุดยืนว่าอาจไปยุบรวมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคในซีกรัฐบาล เพราะในอนาคตอาจจะต้องสลายเข้าไปร่วมกับพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เชื่อว่าการขับเคลื่อนแผนงานทุกอย่างไปข้างหน้าของพรรคพลังประชารัฐ สิ่งสำคัญที่สุดคือความเป็นเอกภาพ พล.อ.ประวิตรต้องการเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้พรรคร่วมสบายใจ ต้องการบอกว่าทุกอย่างที่มีปัญหาจบแล้ว หากจะร่วมทำงานกันอีกในรัฐบาลหน้า ทุกอย่างรวมทั้งผลประโยชน์ทั้งหลายก็จะลงตัวเหมือนเดิม

ส่วนการจัดงานถ้าถามว่าจะกระทบจิตใจประชาชนในช่วงโควิดหรือไม่ ก็คงมีคำอธิบายว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ขณะที่ประชาชนบางส่วนก็อาจจะรู้สึกอึดอัด เพราะไม่ทราบ มองไม่เห็นอนาคตว่าจะมีอะไรดีกว่านี้กับการทำงานของรัฐบาล ทำให้ตัวเองอยู่ได้ในสถานะของอำนาจ แต่ไม่ได้แยแสความรู้สึกของประชาชน

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

มองว่าเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะจัดงานเลี้ยงสังสรรค์หรืองานพบปะสังสรรค์กับพรรคร่วมรัฐบาล แต่มองในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการดูเสียงในกรณีจะมีการเลือกตั้งใหม่ในอนาคตว่าจะยังอยู่ด้วยกันหรือเปล่า เป็นเหมือนการเช็กชื่อ มองว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองค่อนข้างพิเศษคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คนดูแลพรรคคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเหมือนคนนอกที่พรรคเสนอชื่อขึ้นมา เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องปกติที่คนจะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ห่างเหินกับพรรคพลังประชารัฐ และคิดว่าในงานเลี้ยงนี้น่าจะมีสัญญาณบางอย่าง เพราะมีสัญญาณหลายอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการยุบสภา คิดว่าน่าจะมีข้อผูกพันหรือข้อตกลงบางอย่างอาจจะเกิดขึ้น หรือมีการส่งสัญญาณว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขอให้อยู่ด้วยกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันต่อไป ยังไงก็ได้เป็นรัฐบาล กรณี พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับร่วมงานนี้ จริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไปทุกครั้งที่เป็นงานเลี้ยงของพรรคร่วมรัฐบาล เขาไม่ได้ปรับตัวหรือมีท่าทีเปลี่ยนไปเลย แต่ตอนนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าในพรรคพลังประชารัฐเองก็มีการแบ่งเป็นหลายมุ้ง มีการต่อรองเก้าอี้ หรือการไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองรวมคนมาจำนวนมาก แต่ พล.อ.ประยุทธ์มาร่วมงาน เป็นเรื่องปกติ

เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มา จะต้องมีคำถามจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าในอนาคต ถ้าสมมุติว่าจะต้องเลือกตั้งจะเสนอใครเป็นแคนดิเดต และถ้าสมมุติว่าพรรคการเมืองไหนไม่มาร่วมงานก็เช็กได้แล้วว่าพรรคนี้ตีตัวออกห่างแล้ว เป็นการเช็กชื่อธรรมดา

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

การจัดงานเลี้ยงคงจะมีการพูดคุยกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เพื่อลดความหวาดระแวง เกรงว่าอาจมีปัญหาจากการผ่านกฎหมายสำคัญ เนื่องจาก ส.ส.ของพรรคต่างๆ เข้าร่วมประชุมจำนวนน้อย ที่ผ่านมามี ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม อีกด้านมีนัยยะเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาพรรคการเมืองกับนายกรัฐมนตรี อาจเคยมีทัศนคติไม่ดีกับนักการเมือง ไม่เคยเข้ามาพูดคุยสังสรรค์อย่างเป็นทางการ

ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันนายกรัฐมนตรีมีบทเรียนจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐอาจพยายามทอดตัวลงมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่ห่างเหินเหมือนอดีต เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองต้องสนับสนุนการออกกฎหมาย

เดิม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ลงมาพูดคุยกับนักการเมืองมากนัก เพราะมั่นใจสถานภาพและอำนาจของตัวเอง คิดว่าสามารถควบคุมอะไรก็ได้ทั้งหมด แต่ขณะนี้ความมั่นใจดังกล่าวคงเจือจางลงไปเพราะบรรดา ส.ส.และพรรคการเมืองมีความคิดเป็นอิสระของตัวเองระดับหนึ่ง ไม่ใช่จะสั่งแล้วต้องทำตามเหมือนทหารภายใต้การบังคับบัญชา เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยชินกับแนวคิดแบบนี้

หรือเมื่อมีปฏิกิริยาจาก ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ อาจตระหนักถึงบริบททางการเมือง กับการใช้อำนาจสั่งการแบบรัฐบาล คสช.หรือเหมือนในค่ายทหารแตกต่างกัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนพฤติกรรมชอบสั่งการ มาเป็นสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์มากขึ้นจะสามารถพิสูจน์ได้บ้างจากงานเลี้ยง

การปรับตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ การจัดการภายในพรรคพลังประชารัฐ การสานสัมพันธ์พรรคร่วม มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเล่นการเมืองต่อสมัยหน้า จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร แต่ในพรรคยังขัดแย้งจากหลายขั้ว หากแก้ปัญหาไม่ได้ อาจทำให้การเล่นการเมืองในสมัยหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ราบรื่น

ปมแก้ไขก็ต้องสานสัมพันธ์กับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส กลุ่มย่อยภายในพรรค พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับท่าทีลดระยะห่างกับ ส.ส.ให้แคบลง การทำแบบนี้ ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้วไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง มีข้อจำกัดทางกฎหมาย สุ่มเสี่ยงโดนข้อหาการแทรกแซงจากคนภายนอก หาก พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองในระบบรัฐสภาเต็มตัวต้องลงมาเป็นผู้นำโดยตรงของพรรคเพื่อลงสมัครเลือกตั้ง หากไม่ทำแบบนี้อาจทำให้การเล่นการเมืองไม่ราบรื่น พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่มีตำแหน่งในพรรค แต่ได้รับการเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต่างจากแนวทางของพรรคเพื่อไทย

ถามว่าการจัดงานเลี้ยง พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดตัวสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ จุดนี้ยังไม่แน่ใจ หากตัดสินใจเช่นนั้นดูเหมือนจะเร็วไปหรือไม่แต่เชื่อว่ามีความพยายามจะปรับลดอิทธิพลของฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส แม้ว่าไม่สามารถทำให้เสื่อมถอยแต่ต้องการทำให้มีการเสริมอิทธิพลของตนเองภายในพรรคผ่านกลุ่มต่างๆ ที่หนุนโดยตรง หาก พล.อ.ประยุทธ์สมัครเป็นสมาชิกพรรค อาจพูดได้เต็มปากในการบริหารจัดการ ไม่ต้องกังวลเรื่องของกฎหมาย ไม่ต้องไปแอบซ่อนการกระทำ

แต่ข้อเสียหากเป็นสมาชิกพรรค พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันของ ส.ส.ภายในพรรคที่มีความต้องการหลายด้าน ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรรับแรงกดดันเหล่านี้ไว้ นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องลงมาเล่นการเมืองในสนามที่ไม่คุ้นเคยนัก ทำให้อึดอัด หากจะเป็นนักการเมืองต่อไป ก็เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จะต้องเป็นสมาชิกพรรค จะลอยตัวแบบเดิมคงไม่สอดคล้องกับกาลเวลา

ไม่เชื่อว่าการจัดงานเลี้ยงจะมีพรรคการเมืองประกาศลงสัตยาบันเพื่อทำการเมืองร่วมกันอีกสมัยหน้า แต่คงพูดคุยเรื่องอนาคตไว้เบื้องต้น หากจะลงสัตยาบันก็ต้องมีก่อนเลือกตั้งไม่นาน และทุกฝ่ายต้องดูเงื่อนไขการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์จะครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ในเดือนสิงหาคม 2565 ด้วย หลังจากมีแนวโน้มการวินิจฉัยตีความหลากหลาย อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสทำงานการเมืองต่อไป

สำหรับการปรับ ครม.ในตำแหน่งที่ว่าง เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะยื้อไปก่อน จนกว่าจะหาข้อสรุปได้เพื่อลดความเสี่ยงกับแรงกระเพื่อมภายในพรรคต้องอาศัยเวลาการบริหารจัดการอะไรบางอย่างให้สงบมากกว่านี้ก่อน เพราะ 2 ตำแหน่งไม่ได้สำคัญมากนักต้องชั่งน้ำหนักว่าหากตั้งแล้วมีปัญหา คงลากยาวไปก่อน แล้วหาข้อสรุปที่ลงตัว

หรือหากยังไม่ปรับ ครม.ให้สะเด็ดน้ำ หลายฝ่ายอาจยังคาใจท่าทีระหว่าง 3 ป. กับ ร.อ.ธรรมนัสเนื่องจากการทำหน้าที่รัฐมนตรีเป็นความฝันสูงสุดของนักการเมืองทุกคน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็คงต้องหาคนที่ไว้วางใจมาทำหน้าที่ หรือนำกลุ่มเทคโนแครต เพื่อเอาใจฐานเสียงชนชั้นกลางหรือกลุ่มอนุรักษนิยม โดยไม่เอาคนในสังกัดของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นปมต้องเคลียร์กันอีกระยะ หรือสร้างความสมดุลจนกว่าจะมีจุดลงตัวภายในพรรค แต่เชื่อว่าคงไม่ง่ายที่จะทำให้พรรคนี้มีเอกภาพได้อย่างราบรื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image