สะท้อนความหวังริบหรี่ ร่าง รธน.ฉบับประชาชน

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ในวันที่ 16 พฤศจิกายน และลงมติวันที่ 17 พฤศจิกายนนั้น

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แนวโน้มในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนครั้งนี้ โอกาสไม่ผ่านมีค่อนข้างสูง หากย้อนหลังไปดูการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2563 จะเห็นว่าไม่ผ่านทุกญัตติ มาถึงปี 2564/1 มีการเสนอ 13 ญัตติ แต่ผ่านเพียงญัตติเดียว จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศใช้เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หากย้อนไปดูในการเสนอร่างเมื่อปี 2563 มีการเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.ตามมาตรา 272 การแก้ไขอำนาจ ส.ว. มีการเสนอแก้ไขมาตรา 279 เช่นเดียวกับการเสนอร่างของภาคประชาชนล่าสุด ซึ่งถูกตีตกทั้งหมด แม้กระทั่งร่างของไอลอว์เสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปของ คสช. การนิรโทษกรรมตามมาตรา 279 การเสนอแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง การสรรหาองค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ไม่ผ่านวาระรับหลักการ

Advertisement

การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา สะท้อนภาพให้เห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการแตะต้องอำนาจของ ส.ว. หรือรื้อโครงสร้างอำนาจของ คสช.โอกาสจะไม่ผ่านมีสูงมาก โดยเฉพาะหากย้อนไปดูร่างในอดีตที่เสนอรื้อมาตรา 279 ไม่มี ส.ว.รายใดให้การสนับสนุน ขณะเดียวกันญัตติของไอลอว์มี ส.ว.โหวตผ่านให้ 3 คน แต่การเสนอรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ มีการเสนอแก้ไขในเชิงโครงสร้าง ไม่มีประเด็นเชิงเทคนิค การรื้อถอนอำนาจของ คสช.ใน 4 ประเด็นหลัก ทั้งล้ม ส.ว. โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และล้างมรดกเผด็จการยกเลิกมาตรา 279 ทั้งหมดเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง

ขณะที่สถานการณ์นอกสภาจะมีส่วนในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ส่งผลไปสู่การพิจารณาในสภา อาจจะมีการพูดถึงความชอบธรรมของรัฐบาล ประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือโควิด-19 สิ่งเหล่านี้ถามว่าจะกดดันการทำงานของ ส.ส.และ ส.ว.ได้หรือไม่ นอกจากนั้น เชื่อว่าผู้เสนอร่างแก้ไขคงไม่หวังผลให้ร่างผ่านวาระแรก แต่สิ่งที่หวังผลน่าจะเป็นการเมืองนอกสภา ส่วนประเด็นเรื่องศาลและองค์กรอิสระ ถ้าผ่านไปได้ก็ต้องไปทำประชามติตามมาตรา 256 ดังนั้น จึงมีเส้นทางอีกยาวไกล

หากติดตามการอภิปรายพรรคฝ่ายค้าน เชื่อพรรคเพื่อไทยคงไม่พูดถึงการแก้ไขเชิงโครงสร้างครบทั้งหมด เพราะไม่เคยพูดถึงการยกเลิก ส.ว. มีเพียงไม่เห็นด้วยหากให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 สะท้อนให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้านคงเห็นไม่ตรงกันทั้งหมด ส่วนการอภิปรายครั้งนี้ ถามว่าน่าสนใจหรือไม่ ก็คงมี 3 เรื่อง เรื่องแรก ประชาชนจะได้ขับเคลื่อนวาระทางสังคม แม้ว่าโอกาสจะผ่านน้อยมาก

Advertisement

แต่สาระสำคัญบางส่วนจะถูกนำไปขับเคลื่อนนอกสภาต่อไป เรื่องต่อมา เป็นการตรวจสอบการทำงานสมาชิกรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชน การอภิปรายจะได้เห็นท่าที การแสดงจุดยืนของพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนไปพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

และประการสุดท้าย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอภิปรายจะมีผลต่อการทำงานทั้งการเมืองในสภาและนอกสภา รวมทั้งโครงสร้างการเมืองไทย

ถึงที่สุดหากร่างไม่ผ่านก็จะมีนัยยะต่อการเมืองไทยทั้งในสภาและนอกสภา หากร่างผ่านก็มีเช่นกัน หากมองในมุมที่ไม่ผ่านก็จะเห็นว่าเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลยังคงไปได้ พรรคพลังประชารัฐยังมีเอกภาพ เช่นเดียวกับ ส.ว.มีเอกภาพ

ส่วนการเมืองนอกสภา หากร่างไม่ผ่านการเคลื่อนไหวจะเข้มข้นมากขึ้น เพราะการเมืองในสภาถูกปิดไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ จึงกลายเป็นการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง และสิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปผนวกรวมกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด ประกอบกับในร่างก็เสนอให้โละศาลรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองในสังคมยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น

หากร่างผ่านในสภา ก็สะท้อนปัญหาเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ มีปัญหาในกลุ่ม ส.ว.อาจจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อาจเห็นการยุบสภา หรืออาจนำไปสู่การทำรัฐประหาร ส่วนการเมืองนอกสภาถ้าร่างผ่านก็สะท้อนถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนจะมีมากขึ้น แต่เบื้องต้นเชื่อว่าโอกาสที่ร่างจะไม่ผ่านจะมีสูงกว่า

โคทม อารียา
ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

อนาคตของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ อยู่ที่ ส.ว. 84 คน หลายฝ่ายคงคิดกันเองหรือมีจินตนาการได้ว่า ส.ว. 84 คน จะลงคะแนนกันอย่างไร หากมี ส.ว.เห็นชอบก็จะผ่านไปพิจารณาในวาระ 2 หากติดตามการเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ผ่าน มีผ่านเพียงร่างเดียวเพื่อแก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณามีการตั้งว่าจะรื้อระบอบประยุทธ์ แต่อีกฝ่ายบอกว่าคุณประยุทธ์ไม่เคยทำอะไรผิด ดังนั้น คงอภิปรายกันว่าคุณประยุทธ์สร้างระบอบขึ้นมาจริงหรือไม่ ดีและเหมาะสมอย่างไร ควรจะรื้อหรือไม่ ผู้ที่ชื่นชอบก็ต้องบอกว่าดีแล้ว อีกฝ่ายก็ต้องหยิบยกเหตุผลมาบอกว่าไม่ดีจุดไหน ประชาชนบางส่วนที่ติดตามก็คงจะไม่เห็นภาพชัดเจนทั้งหมด

แต่อย่างน้อยก็คงจุดประเด็นที่นำมาถกเถียง เช่น ส.ว.ควรมีหรือไม่ ข้อดี ข้อเสียของการมี ส.ว.ในรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อดีอย่างไร มีประโยชน์จริงหรือไม่ มีประเทศไหนบ้างยังมี ส.ว.หรือมีแล้วล้าหลัง สิ้นเปลืองงบประมาณจึงยกเลิกไปหมดแล้ว สาเหตุที่ยกเลิก ประชาชนฟังแล้วก็คงนำไปชั่งน้ำหนักได้เองโดยไม่ต้องไปคล้อยตามเสียงการโหวตในสภา คิดในแง่ดีอย่างน้อยก็ได้เปิดมุมมองให้กว้างขึ้น

สำหรับการร่างที่เขียนระบุถึงการยกเลิกอำนาจของคนบางกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้ง ก็คงจะเป็นปัญหาที่ทำให้มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ มีโอกาสผ่านน้อยมาก ส่วนประเด็นการยกเลิกผลพวงจากการทำรัฐประหาร ยกเลิกการนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหาร ยกเลิกกรณีที่ศาลต้องรับรองว่าการทำรัฐประหารที่สำเร็จแล้วไม่มีความผิดสามารถใช้อำนาจได้ตามปกติ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหารถือเป็นกฎหมาย ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นโอกาสที่ทำให้มีการถกเถียง แต่ปลายทางคงไม่สำเร็จ

แต่ในบางประเทศที่ศาลมีความเข้มแข็ง เมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจ ศาลก็บอกว่าคำสั่งใดที่ไม่ชอบ ก็ยกเลิกทั้งหมด รวมทั้งการยกเลิกการนิรโทษกรรม เพื่อเอาผู้นำการปฏิวัติไปเข้ากระบวนการยุติธรรม

แต่สำหรับในประเทศไทยก็คงต้องต่อสู้กันทางความคิด บางคนเชื่อว่ารัฐประหารเมื่อทำสำเร็จแล้วก็ไม่คิดอะไรมาก บางคนคิดว่าทำแล้วทำไมลอยนวลทุกครั้ง ทั้งที่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจนตามกฎหมายอาจถือว่าเป็นการกบฏ เมื่อทำแล้วจึงต้องนิรโทษกรรมตัวเองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงอาจประเมินได้ว่าระบอบประชาธิปไตยในไทยได้สร้างความชอบธรรมให้การทำรัฐประหารเสมอมาหรือไม่

การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนที่เข้าชื่อกว่า 1 แสนคน ผลจะออกมาอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่ทราบกันดี แต่เป็นโอกาสที่ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ และเป็นโอกาสที่ ส.ว.จะทำหน้าที่เพื่อป้องกันข้อครหาว่าต้องทำงานตามใบสั่งหรือไม่

หากจะอภิปรายเพื่อจะค้ำจุนระบอบประยุทธ์ต่อไปก็ไม่แปลก เนื่องจากสามารถอธิบายเหตุผลได้ ส่วนการเคลื่อนไหวของการเมืองนอกสภา การที่สมาชิกรัฐสภานำร่างไปอภิปราย ก็ทำให้ประชาชนที่เข้าชื่อกว่า 1 แสนคนได้ติดตามรับฟังเหตุผล และอาจทำใจไว้ล่วงหน้า หรือมั่นใจว่าการแก้ไขเพิ่มเติมก็คงประเมินไม่ยาก

แต่เชื่อว่าประชาชนกลุ่มนี้ก็คงมีเจตนาจะรื้อระบอบประยุทธ์ต่อไป แต่จะใช้วิธีการอย่างไรก็ต้องวางแผนคิดอ่านให้รอบคอบ และอย่างน้อยการจะรื้อระบอบประยุทธ์แม้จะมีอุปสรรค ก็มีการหว่านเมล็ดพันธุ์ไว้แล้ว ในอนาคตจะงอกงามหรือไม่ คงไม่มีใครทราบ แต่ก็พอมองเห็นหนทางที่จะทำต่อไปในเรื่องเหล่านี้ บางครั้งก็มีความคาดหวังว่าคณะรัฐประหารทำงานมานานแล้ว การอภิปรายในสภาอาจทำให้เห็นว่าน่าจะไปต่อไม่ได้ อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงของฝ่ายผู้มีอำนาจก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม หากเกิดขึ้นก็น่าจะทำให้เครือข่ายการเมืองนอกสภาได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์ได้รับรู้เพื่อทำให้บางฝ่ายพิจารณาตัวเอง

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแก้ไขได้ยากมาก เหมือนใส่กลอน ใส่กุญแจไว้หลายชั้น ยกเว้นเรื่องที่มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ผ่านไปได้ ส่วนสาระอื่นที่อยู่ในร่างฉบับประชาชนเพื่อยกเลิกระบอบประยุทธ์ เชื่อว่าคงไม่มี ส.ว.ยกมือหนุน ส่วนโอกาสในอนาคตหลายฝ่ายก็ต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่มีจุดสมดุลระหว่างแนวทางหรือข้อเสนอของกลุ่มก้าวหน้ากับกลุ่มอนุรักษนิยม

หลายฝ่ายต้องการเห็นหลักการใหญ่ที่ 2 กลุ่มนี้เห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างขวางที่สุด ไม่ควรมีรัฐธรรมนูญฉบับอำนาจนิยม ฉบับปราบโกง ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์

สุดท้ายก็ควรเขียนในเรื่องที่เห็นตรงกันอย่างกว้างขวางเท่าที่จะทำได้ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นก็ไปเขียนในกฎหมายลูก ไม่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้มากกว่า 200 มาตรา ไม่จำเป็นต้องใส่แนวคิดอะไรเข้าไปมากมาย ทำให้รัฐธรรมนูญดูแข็งเกินไป

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับประชาชน วันที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนลงมติวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โอกาสผ่านร่าง รธน.ฉบับประชาชน ค่อนข้างยากเนื่องจากให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมพิจารณา จึงไม่ให้ความสำคัญร่างดังกล่าว ซึ่ง ส.ว.ดังกล่าว เป็นผลมาจากทำรัฐประหารยึดอำนาจนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน จึงต้องใช้กลไกรัฐสภาขัดขวางทุกรูปแบบ เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการซ่อนรูปให้นานที่สุด

การพิจารณาผ่านร่าง รธน.ฉบับประชาชนทั้งฉบับ คงเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มี ส.ส.ในสภาจำนวนมาก ขอแก้ไข รธน.เป็นบางมาตราเท่านั้น ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ อาจต้องใช้เวลาพอสมควรถ้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่พิจารณาแก้ไข รธน.เลย ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเมืองในสภาและรัฐบาล และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงนอกสภาของเครือข่ายประชาธิปไตย เพื่อผลักดันขับเคลื่อนปฏิรูปทางการเมือง และสถาบันอย่างไม่สิ้นสุด อาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือสงครามกลางเมือง เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริงได้ด้วยมือของประชาชนเอง เพราะไม่มีอะไรสูญเสีย หรือเกรงกลัวแล้ว

ยุทธศาสตร์และแนวคิดชนชั้นปกครอง หรือผู้มีอำนาจ ต้องการปกครองประเทศแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลักษณะประชาธิปไตยผสมอำนาจนิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ซึ่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการปฏิรูปสถาบัน ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ได้สะท้อนความจริงอย่างชัดเจนซึ่งขัดแย้งกับสถานการณ์ปัจจุบัน การวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นการฉีก หรือเผาตำราการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเสียงประชาชนส่วนใหญ่

สถานการณ์การเมืองของไทย ไม่ได้อยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ถูกจับตามองจากทั่วโลก อาจนำไปสู่การแทรกแซงของนานาชาติได้ โดยเฉพาะเรื่องมนุษยชนและความเท่าเทียมทางสังคม ดังนั้น ชนชั้นปกครองหรือผู้มีอำนาจ ควรถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านว่าเป็นอย่างไร

ถ้าชนชั้นสูง หรือผู้มีอำนาจ ยังดื้อดึง แข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม หรือออมชอมกับประชาชน โอกาสแตกหักค่อนข้างสูง เพราะสังคมถูกบีบให้มีทางเลือกน้อย จากการขีดเส้นของผู้มีอำนาจเอง อาจนำไปสู่การนองเลือด ทำให้เกิดความสูญเสียในอนาคต ดังนั้น ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image