‘โควิด-19’กดทับภาวะสังคม ว่างงานยาว-หนี้ท่วมครัวเรือน

‘โควิด-19’กดทับภาวะสังคม ว่างงานยาว-หนี้ท่วมครัวเรือน

หมายเหตุสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยแพร่ผลสำรวจภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564 สะท้อนสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564 มีความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 3 ปี 2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุด ตั้งแต่มีโควิด-19 ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ ซึ่งมีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าวขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ลดลงถึงร้อยละ 7.3 และ 9.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมการเปิดปิดสถานประกอบการ ทั้งการปิดแคมป์คนงาน และจำกัดการขายอาหาร สำหรับสาขาที่ขยายตัวได้ ประกอบด้วย สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 0.2 และ 4.6 ตามลำดับ

สาขาการผลิตที่มีการจ้างงานขยายตัวได้ดี อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ด้านชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงการทำงานหลักโดยเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน (ผู้มีงานทำที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาทิ ลาหยุด ลาป่วย ถูกพักงาน หรือสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคนเท่านั้น

ADVERTISMENT

การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.63 รองลงมาเป็น ปวส. ร้อยละ 3.16 ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 9.74 รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี ที่ร้อยละ 8.35 สะท้อนว่าโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้ และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน การว่างงานของแรงงานในระบบ มีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 2.47 ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบกับสถานประกอบการมีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน

ADVERTISMENT

หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านคุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2 ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อจีดีพี ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพียังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อนมาเป็นร้อยละ 3.51 รวมถึงลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี

หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก
1) ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
2) ผลกระทบของอุทกภัย ทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่
1.หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น

2.การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัจจุบันที่หนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้

3.การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่ามีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562

การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 หรือ “LONG COVID” โดยไตรมาส 3 ปี 2564 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 46.1 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค ยกเว้นโรคปอดอักเสบที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูฝนและการติดเชื้อโควิด-19

ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยโรคหัด ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ลดลงร้อยละ 93.0 89.2 88.0 และ 73.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังผลจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งอาจทำให้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 หรือ “LONG COVID” ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19

ยังมีประเด็นที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งหากความช่วยเหลือของรัฐบาลหมดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้้ำจะรุนแรงกว่าเดิม โดยกรณีของความยากจนคาดว่าหากไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาจำนวนคนยากจนในปี 2563 จะมีจำนวนทั้งสิ้น 11.02 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 15.9 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านคน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำหากไม่รวมการช่วยเหลือคาดว่าค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคจะเพิ่มขึ้นจาก 0.350 เป็น 0.383 หรือกล่าวได้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำจะเทียบเท่ากับปี 2557

นอกจากนี้การช่วยเหลือดังกล่าวยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ
1) สมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต และทักษะดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยา และเป็นภาระที่ครัวเรือนยากจนต้องรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ต้องดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีสมาร์ทโฟนและเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต รวมถึงข้อจำกัดด้านทักษะทางดิจิทัล

2) โควิด-19 ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในภายหลัง โดยพบว่าภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คือ ภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานลดลงเล็กน้อย สำหรับภาคอุตสาหกรรมภาพรวมการจ้างงานลดลง แต่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา โดยสาขาเคมีภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังสามารถขยายตัวได้ สวนทางกับสาขาสิ่งทอและเครื่องจักรที่มีการจ้างงานลดลง

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่จะยังมีผลกระทบต่อเนื่อง อาทิ
1) คนว่างงานเพิ่ม และว่างงานยาวนานขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ การพัฒนาทักษะ และความสามารถในการหางานในอนาคต

2) การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักแต่การที่นักเรียนนักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ จะส่งผลให้ความรู้ขาดหายไป

3) วิกฤตโควิด-19 ทำให้ครัวเรือนต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายเพื่อรักษาระดับการบริโภค และมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

4) สถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการช่วยเหลือเยียวยา จากประเด็นดังกล่าวมีแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้

(1) การช่วยเหลือเยียวยายังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเน้นในเรื่องการจ้างงาน และการช่วยเหลือในลักษณะเฉพาะกลุ่มเพื่อลดงบประมาณที่ต้องใช้ และให้สามารถช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขอยู่อย่างต่อเนื่อง

(2) การพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญ โดยพิจารณาให้มีความเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด และตำแหน่งงาน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกกับแรงงานให้สามารถพัฒนาทักษะได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและหางานได้ง่ายขึ้น

(3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้มีความพร้อม และสามารถเข้าถึงได้จะช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะ และการหารายได้

(4) การปรับโครงสร้างหนี้และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนและสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับแรงงานมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image