เล็ง‘เครื่องยนต์ใหม่’ฟื้นศก. รับมือนิวนอร์มอลหลังโควิด

หมายเหตุหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และหลายประเทศเจอผลกระทบต่างปรับตัว มองหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สำหรับประเทศไทยมีการตั้งข้อกังขา ถึงเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว ภาคลงทุน และภาคการบริโภค แบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอ

นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเก่าทำงานได้น้อยลง แต่ไม่ได้หมายถึงหมดบทบาทไปเลย อย่างภาคการท่องเที่ยวในอนาคตจะได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อยๆกลับเข้ามา คาดว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนภาคส่งออกตอนนี้ดีขึ้น เพราะกำลังซื้อหลักมาจากประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศเหล่านี้มีอำนาจในการมีวัคซีนได้เร็ว หรือเป็นประเทศที่คิดค้น ก็ได้รับสิทธิก่อน ทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวได้เร็วอย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ทำให้การบริหารจัดการไม่ทัน ผลิตสินค้าไม่ทัน ค่าระวางเรือแพง จนเกิดภาวะห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน (Supply Chain Disruption) รวมไปถึงการเกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เป็นสัญญาณที่เห็นว่าภาคการบริโภคกลับมาเร็วจนเกินไป

Advertisement

แต่การกลับมาของเครื่องยนต์เศรษฐกิจเหล่านี้ คงจะพึ่งพาอย่างเดิมไม่ได้ เพราะหลังจากนี้จะเห็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน เริ่มเห็นการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างการทำงานที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) ได้เปิดโลกที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปทำงานที่สำนักงานองค์กรต่างๆ ได้ เปิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ การขนส่งสินค้าผูกกับแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร เติบโตมากขึ้น พวกสถานที่ต่างๆ ไม่ได้ดึงดูดแบบเดิมแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลจะขึ้นมาอย่างเร็ว อย่างสื่อบันเทิง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจเชื่อมโยงกับดิจิทัล จะเกิดอุปสงค์ขึ้นมา เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเก่าจะเติบโตได้อย่างจำกัด ก็ต้องส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้มากขึ้น

การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สิ่งน่ากังวลของตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน กำลังซื้อจากภาคครัวเรือน อ่อนแอลงจากสถานการณ์โควิด ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น พอเป็นหนี้มากๆ ก็ไม่สามารถกู้เพิ่มได้ ฉะนั้นภาครัฐต้องเข้ามาจัดการช่วยสร้างความรู้ให้มีการสร้างรายได้เพิ่ม จะทำให้ครัวเรือน มีหนี้ลดลง จะช่วยยกระดับการบริโภคให้เพิ่มขึ้นได้

สำหรับการลงทุนมีความกังวลกับธุรกิจเอสเอ็มอีเพราะมีหนี้สินเปราะบางกระโดดเพิ่มขึ้นสูงมาก ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถยืดหนี้ประนอมหนี้ได้ สามารถประคองตัวเองได้ แต่สำหรับเอสเอ็มอีทำไม่ได้ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือจัดการตรงนี้ ผ่านกลไกการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน การปรับโครงสร้างหนี้กับทางธนาคาร เป็นหัวใจสำคัญต้องช่วยกันทำ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐพิจารณาช่วยอุดหนุนหนี้บางส่วน 10-20% แล้วแต่ความเหมาะสม จะทำให้เอสเอ็มอีไปต่อได้

Advertisement

ถ้าภาครัฐไม่ทำ 2 ตัวนี้ ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน มีการประเมินไว้ว่าการลงทุนจะเริ่มกลับมาปี 2565 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนอาจจะรอถึง 2 ปี ถึงจะกลับมาได้ ถ้ารัฐไม่เข้าไปแทรกแซง หมายความว่ารัฐต้องมาดูเรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้เอสเอ็มอี

ส่วนการทำธุรกิจที่คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดในอนาคตอยู่แล้ว ประเทศพัฒนาแล้วใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะฉะนั้นประเทศเหล่านี้จะมีการวางมาตรฐานการผลิตต่างๆ อย่างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นกระแสบังคับมาอยู่แล้ว การเกิดสถานการณ์โควิดทำให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เนื่องจากการปิดโรงงานต่างๆ หยุดเดินหน้าการผลิต เมื่อไม่มีการทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้ธรรมชาติฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ในระยาวกระแสคำนึงต่อสิ่งแวดล้อมมาแน่อยู่แล้ว เป็นมาตรฐานโลก เดินทิศทางมาทางนี้

การที่ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ คือการทำให้การผลิตการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้เป็นการบังคับมาตรฐานต่างๆ หรือการเปลี่ยนไปสู่การใช้รถไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็มีอีกทางในการสร้างตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิต ด้วยการปลูกต้นไม้ หรือไปซื้อเครดิตในประเทศที่เขามีการปลูกต้นไม่ จะช่วยทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน

ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ภาครัฐพยายามดึงดูดนักลงทุนเข้ามาอยู่แล้ว พร้อมด้วยกระแส BCG แต่อยากให้ภาครัฐพิจารณาอย่างจริงจังในการดึงคนต่างชาติเข้ามา มาตรการภาครัฐที่ได้ผลักดันไปแล้วคือการวางเป้าหมายดึงคนต่างชาติเข้ามาเป็นแรงงาน ผู้บริโภค ผู้เกษียณอายุ นักธุรกิจ สามารถอยู่อาศัยได้ในประเทศไทย พร้อมผูกกับการให้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ การลดกฎระเบียบ การยืดเวลาวีซ่า การลดเงื่อนไข ทำให้คนต่างชาติเหล่านี้เป็นเสมือนประชากรของประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญต้องทำ ที่สุดแล้วต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุ กำลังจะมีผู้บริโภคน้อยลง กำลังทรัพย์น้อยลง ก็ต้องเติมประชากรรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ เข้ามาให้อย่างเหมาะสม

คนที่ต่อต้านเรื่องนี้มองว่าเขาไม่อยากให้เกิดการแข่งขัน เพราะเป็นคนประสบความสำเร็จไปแล้ว ไม่ต้องการคนเก่งมาแข่งขันกัน ในโลกปัจจุบันเป็นยุคแห่งโกบอลแล้ว คนไทยก็เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โอกาสมีอยู่ทั่วโลก การจำกัดเฉพาะให้คนไทยทำในประเทศ ก็จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เกิดการพัฒนา

ตอนนี้ในประเทศประชากรหายไปกี่คน แรงงานหายไปเพราะเกษียณกี่คน เด็กรุ่นใหม่เข้าตลาดแรงงานน้อยกว่า ก็เติมคนเข้ามาให้เหมาะสม จะทำให้เกิดกระตุ้นในการแข่งขัน เราต้องเปิดรับคนเก่งเข้ามา ไม่ใช่ว่าให้ใครอยากเข้ามา เราต้องมาดูว่าเขามีทักษะที่คนไทยไม่มี หรือเขามีกำลังซื้อที่คนไทยกำลังขาดอยู่

อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องยึด 4 ด้าน คือ ภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยว ภาคลงทุน และภาคการบริโภค เพียงแต่จะเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เครื่องยนต์นั้นสร้างประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดขายให้กับประเทศได้ ขณะเดียวกันการจะเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ๆ ไม่ว่าอย่างไรต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 4-5 ปี บนพื้นฐานงบประมาณและผลักดันกันต่อเนื่อง รัฐบาลและหน่วยงานรัฐมีความสำคัญที่สุด รัฐบาลต้องยกระดับเป็นนโยบายแห่งชาติ ต้องรู้ถึงปัญหา ต้องบูรณาการทำงานร่วมกันจริงจังและใช้อะไรเป็นเครื่องมือ และประกาศให้ทั่วโลกได้รู้ถึงทิศทางและเป้าหมายที่ประเทศไทยจะเดินหน้า เช่น ภาคเกษตร อยากให้เป็นเกษตรปลอดภัยเกษตรสะอาดตามแนวโน้มโลก ประกาศเรื่องลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน ผลักดันพลังงานสะอาด ก็ต้องวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำคือ เพาะปลูกปลอดสาร กลางน้ำหรือแปรรูป ก็ต้องได้มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ ปลายน้ำคือพัฒนาให้ตรงกับความต้องการตลาด แต่ระหว่างกลางในแต่ละขั้นตอน ก็นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวพัฒนา

เมื่อเราแข็งแรงเรื่องแหล่งผลิตวัตถุดิบเกษตร ก็ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือการแปรรูปสินค้าเพื่อสุขภาพ อย่างที่กำลังตื่นตัวเรื่องถุงมือยาง ควรพัฒนาจากยางพาราธรรมชาติ ไม่ใช่ยางสังเคราะห์อย่างวันนี้ ไม่ได้ช่วยชาวสวนในระยะยาว วันนี้ราคายางพารายังดี เพราะเจอโควิดการเข้าไปกรีดยางได้ยาก ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่หลังจากโควิดคลี่คลายไปทั่วโลก ประเทศส่งออกหลักอย่างมาเลเซียเพิ่มปริมาณและส่งออกได้มากขึ้่น ราคาก็จะตกต่ำ รัฐก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือประกันรายได้ เหมือนอย่างปีนี้เจอปัญหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ต้องใช้งบประมาณสูงในการจ่ายชดเชยสูงกว่า 2 ปีผ่านมา ปีหน้าก็กังวลว่าผลผลิตสินค้าในโลกมากขึ้น พืชเกษตรราคาก็จะอ่อนตัวลง รัฐอาจต้องใช้งบประมาณอุดหนุนอีก

ส่วนตัวเห็นว่าปี 2565 ไทยยังอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งเรื่องจะผลักดันการส่งออกอย่างไร จูงใจการลงทุนต่างชาติอย่างไร เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างไร เพราะตลาดหลักท่องเที่ยวไทย ยังระมัดระวังเรื่องเดินทางและกังวลโควิด เช่น จีนประกาศโควิดต้องเป็นศูนย์ หรือ สหรัฐ ยุโรป ก็อยากมาเที่ยวแบบอิสระ ไม่ได้มีการกักตัวและไม่ได้ความบันเทิงเหมือนวิถีปกติ ด้านเกษตรปีนี้สินค้าราคาดี ก็มักแห่กันปลูก อย่างทุเรียน ปีหน้าราคาอาจกลับมาตกอีกครั้ง ด้านบริโภคในประเทศ เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐจะกระตุ้นประชาชนใช้จ่ายอย่างไรหากไม่มีการแจกเงินเยียวยา เพราะอาชีพอิสระและเอสเอ็มอียังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

หรือภาคการเงินปีนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงสูง ผูกการเงินกับภาคบริการหรือธุรกิจมากขึ้น อย่างดิจิทัลสินทรัพย์ แม้สถาบันการเงินในประเทศไทยแข็งแกร่ง แต่ยังยึดนโยบายระวังสูงเกินมาก จะทำอย่างไรให้ปล่อยสินค้าและช่วยเหลือสภาพคล่องได้มากขึ้น เรื่องนี้ หากจะหาเครื่องยนต์ตัวที่ 5 ก็ควรเริ่มจากรัฐบาลต้องศึกษาและประกาศว่าโปรดักส์แชมเปี้ยนประเทศไทย คือ อะไรบ้าง และให้สถาบันการเงินรับลูกในการปล่อยกู้และให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยง นำไปสู่การพัฒนาและทำตลาด เพราะไม่อย่างนั้น สินค้าไทยผลิตเพื่อส่งออก ก็คงเป็น รถยนต์ แปรรูปเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า เรื่องนี้ รัฐควรเร่งทำตั้งแต่วันนี้ และเริ่มประกาศในปี 2565 เพื่อใช้เวลาพัฒนาจริงจัง 3-4 ปีจากนี้

ในระยะสั้น เครื่องยนต์ที่พอประคองเศรษฐกิจเสริมจากที่มีอยู่คือ เร่งพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพตัวใหม่ๆ ใช้ประโยชน์จากไฮสปีดเชื่อมไทย-จีน-ลาว ทำอย่างไรให้เกิดการบริโภคโดยที่รัฐไม่ต้องแจกเงินพ่วงกับเรื่องการดันส่งออก ถือว่าเป็นเรื่องยากพอตัว และอีกเรื่องคือ การใช้ช่องทางออนไลน์สร้างอาชีพและผลักดันต้นน้ำสู่ปลายน้ำ แต่ก็ยังติดในเรื่องเทคโนโลยี 5จี และระบบออนไลน์ไม่เสถียรในพื้นที่ต่างจังหวัด หลายสวนอยากส่งออก อยากขายของเอง แต่เจอระบบอินเตอร์เน็ตล่มก็ทำอะไรไม่ได้

เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐต้องยกระดับเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image