ส่องความเห็น กฎหมายล้างคำสั่ง คสช.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. ของภาคประชาชน ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผมว่านี่เป็นนิมิตหมายอันดี เพราะในอดีตที่ผ่านมาเราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้กันเลยว่า สิ่งที่คณะรัฐประหารทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด นักกฎหมายเองก็มองว่ารัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งเป็นกฎหมายอยู่แล้ว เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมารับรอง ดังนั้น การที่มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ออกมา จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

Advertisement

การกระทำของ คสช. ที่ผ่านมาหลายอย่าง ทั้งการเรียกบุคคลมาควบคุมตัว เรียกบุคคลมาปรับทัศนคติ หรืออย่างอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ถูกเรียกมา สุดท้ายต้องขึ้นศาลทหาร โอนไปศาลพลเรือน แล้วก็ไม่มีความผิด กล่าวคือเป็นการสร้างความยุ่งยาก และสร้างขั้นตอนในชีวิตอย่างมากให้กับคนธรรมดา

ในแง่การเมือง เชื่อว่าการที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่สภา จะไม่ส่งผลต่อรัฐบาล เพราะถ้ามอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ ตอนนี้ คือนายกฯที่มาตามรัฐธรรมนูญปี 60 กับ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะนั้นที่มาโดยการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ดังนั้น ทางการเมืองคงไม่มีอะไร แต่ต้องทำเพื่ออนาคต สำหรับผู้ที่ก่อการรัฐประหาร ก็ไม่แน่นอนเสมอไปว่าคุณจะสามารถก่อการอะไร อย่างไรก็ได้ นี่เป็นวิธีการลบล้างผลพวง แต่ถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้าจริงๆ จะต้องออกในลักษณะของเกาหลีใต้ คือ ออกกฎหมายมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เอาผิดย้อนหลังกับคนที่ทำรัฐประหารได้

ผมเห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. เพราะเมื่อดูแล้ว คำสั่ง คสช.หลายฉบับมีความวกไปวนมา เช่น ออกฉบับที่ 3 เนื้อหาอย่างหนึ่ง ออกฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขเนื้อหาฉบับที่ 3 ออกฉบับที่ 5 มาแก้ฉบับที่ 4 พูดภาษาชาวบ้าน กฎหมายไม่มีความมั่นคงแน่นอน เพราะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หลักเช่นนี้เราไปต่อไม่ได้ เพราะประชาชนไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรได้หรือไม่ได้กันแน่ คือเรายึดถือหลักกันอย่างหนึ่ง แต่ถามว่ามันเป็นหลักที่ถูกต้องหรือไม่ ผมก็ต้องบอกว่า เป็นหลักที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่นักกฎหมายหลายคนยึดถือคือ ประกาศคณะรัฐประหาร ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกจะมีผลใช้บังคับเสมอ อย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นอยู่ว่าหลายครั้งก็มีการอ้างประกาศ คสช.บ้าง อย่างเรื่องนักเรียนออกไปเที่ยวกลางคืนก็อ้างประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ไม่รู้กี่สิบปีมาแล้ว ซึ่งนั่นคือความไม่โมเดิร์น ไม่เป็นสมัยใหม่ของการตีความบังคับใช้กฎหมาย เมื่อคณะรัฐประหารหมดสภาพไปแล้ว ตัวกฎหมายเองก็ต้องหมดสภาพไปด้วย เพราะมาด้วยวิธีการที่ไม่ปกติ

Advertisement

อย่างไรก็ดี ในวาระที่ 1 รับหลักการ ก็อาจจะผ่าน แต่วาระของการโหวตเพื่อผ่านหรือไม่ผ่านร่างกฎหมายนั้น ผมคิดว่าคงต้องลุ้นกัน ถ้าวาระที่ 1 คะแนนออกมาในลักษณะที่ก้ำกึ่ง ก็น่าจะได้ลุ้นต่อในกรณีที่มีการแก้ไข หรือยื่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ความจริงควรจะยกเลิกคำสั่งอื่นๆ รวมถึง ให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดี, ถูกดำเนินการด้วยประกาศ/คำสั่ง คสช. เป็นบุคคลที่ไม่มีความผิด หรือถ้าเป็นความผิดทางอาญา ก็ให้ใช้กระบวนการตามปกติไป ผมว่าควรจะเพิ่มเติมเช่นนี้ เพราะมีหลายคนที่ได้รับผลกระทบ และมีบันทึกไว้อยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรรมบ้าง ทั้งที่บางอย่างเป็นแค่เรื่องไม่ไปรายงานตัวในสถานที่ที่กำหนด

ถ้าเราบอกว่ายกเลิกคำสั่งและผลพวงของคณะรัฐประหาร โดยหลักก็ต้องเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษด้วย แต่ถ้ามองอนาคตอันใกล้ก่อน ได้แค่นี้ ใน 4 หมวดเท่าที่มี ณ ตอนนี้ ผมคิดว่าก็น่าจะพอให้ผ่านไปได้ก่อน

วิชิต ปลั่งศรีสกุล
นักกฎหมายอิสระ

ขอขอบคุณไอลอร์ รวมทั้งองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่ร่วมกันจัดทำร่างเสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. รวม 29 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหลายฉบับจะถูกยกเลิกไปแล้วโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ยังมีอีกหลายฉบับที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำกัดสิทธิของประชาชน

เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ส.ส.ก็น่าจะผ่านให้ เพราะเป็นประโยชน์ของประชาชน ภาคประชาชนได้เน้นแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ถูก คสช.ดำเนินการ จากข้อห้ามชุมนุมเกิน 5 คน รวมทั้งคดีที่ขึ้นศาลทหาร หากกฎหมายผ่านก็ทำให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีจับกุมคุมขัง หรือคดีเสร็จสิ้นไปแล้วตามที่เขียนไว้ในมาตรา 4 มาตรา 5 จะได้รับการนิรโทษกรรม

กฎหมายฉบับนี้จะมีผลย้อนหลังไปถึงคำสั่งของคณะรัฐประหารในปี 2549 ของ คมช.และ คสช.ที่ออกประกาศคำสั่งไม่เป็นปัญหากับการยึดอำนาจ ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ส.ทั้งสภาจะให้การสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ขณะที่ปัจจุบันมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่จะเห็นว่ายังมีบางเรื่องที่ถูกมองว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง

ช่วงที่ทำหน้าที่ กมธ.ได้เสนอให้มีการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนขึ้นมาในประเทศไทย หลายประเทศมีศาลนี้ แต่รายละเอียด ขั้นตอนในการจัดตั้งศาลก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.จะเสนอให้ตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาให้รอบคอบ หากมีประโยชน์กับประชาชน ทำให้การละเมิดสิทธิน้อยลงได้ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว อย่างน้อยเมื่อศาลนี้มีคำสั่งอย่างไรก็ถือเป็นที่ยุติ ไม่มีใครเอาไปวิจารณ์หรือนำไปขยายผลทางการเมืองสร้างความขัดแย้งเพิ่ม นอกจากนั้น ในการออกคำสั่งของคณะรัฐประหาร ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ควรรื้อดูคำสั่งแต่ละฉบับแล้วนำไปพิจารณาว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ต้องยอมรับว่า หากสภารับหลักการวาระแรกเพื่อยุติการใช้คำสั่งของ คสช.อย่างน้อยก็จะทำให้มุมมองจากองค์กรระหว่างประเทศมีทัศนคติที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการรับร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนก็ทำให้มีประโยชน์กับภาพลักษณ์ของรัฐบาล เชื่อว่าแกนนำพรรครัฐบาลจะการสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เคยต้องโทษจากคำสั่ง คสช. หรือหากร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไปในขั้นรับหลักการก็ต้องมีเหตุผลที่ดี เพราะประเทศทั่วโลกที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ยอมรับคำสั่งที่กำหนดโดยคณะบุคคล

สำหรับคำสั่งหรือประกาศของ คสช.ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ก็มีการใช้กฎหมายบางฉบับที่ส่งเสริมการเกษตร ส่วนการออกคำสั่งให้ดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ต้องไปดูว่าได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกินสมควรหรือไม่ ที่สำคัญในทางปฏิบัติมีจังหวัดไหนสามารถทวงคืนผืนป่าได้จริงตามเจตนาของ คสช.หรือจะมีความขัดแย้งกับมวลชนรอบพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากกฎหมายฉบับไหนที่มีสาระสำคัญที่ดี ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนก็ควรนำมาปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มมร.วิทยาเขตล้านนา

กรณีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มองว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่กล้าสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลได้รับประโยชน์จากมรดก คสช.มากที่สุด ถ้ายกเลิกจริง เชื่อว่าฝ่ายค้านได้เปรียบในการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้ามากขึ้น การร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.นั้น ไม่มีผลต่อการทำรัฐประหารยึดอำนาจในอนาคต เนื่องจากเป็นผลจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 หรือ 68 ปีที่ผ่านมา สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่วินิจฉัยว่าประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติรัฐประหาร ถือเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ และไม่สามารถลบล้างได้ ทำให้มีการยึดอำนาจรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การร่างกฎหมาย เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. เป็นการแก้ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุอย่างใด

จากการศึกษาของนักวิชาการด้านกฎหมายและประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และยุโรป พบว่าประเทศโลกที่ 3 หรือกำลังพัฒนา คำพิพากษาของตุลาการ ทำให้การยึดอำนาจรัฐประหารสามารถทำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง และประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ หากตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรม สามารถพลิกหรือกลับคำพิพากษาดังกล่าวได้

การยึดอำนาจรัฐประหารของเครือข่ายเผด็จการ ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีผลทางกฎหมาย และไม่มีกฎหมายรองรับอีกแล้ว

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

การพิจารณายกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. อยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคล แต่ส่วนตัวเชื่อว่าภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายคงไม่มีกระแสอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อชี้นำหรือต้องการกดดัน เนื่องจากเสนอกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 มีการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนานพอสมควร สำหรับการยกเลิก ปรากฏว่า ก่อนหน้านี้ คสช.ได้ประกาศเลิกคำสั่งไปบ้างแล้ว รัฐบาลเองก็เห็นว่าคำสั่ง คสช.บางฉบับ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ ก็ทำให้รัฐบาลยกเลิกไปแล้ว

ขณะนี้จึงเหลือเพียง 17 ฉบับ ดังนั้น จึงต้องดูที่มุมมองอย่างเป็นธรรมว่าคำสั่งฉบับไหนที่ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากหลายฝ่ายเห็นไม่ตรงกันก็ต้องไปพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎร

หากดูประกาศหรือคำสั่ง คสช.ที่จะขอยกเลิก ก็มีเรื่องของเสรีภาพและการแสดงออกในการชุมนุมหรือห้ามสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง ทราบว่า คสช.สั่งห้ามตั้งแต่ปี 2557 หากดูตามข้อเท็จจริงก็ไม่น่าสอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องของข้อกำหนดความร่วมมือกับ คสช.ในการเสนอข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ขณะนี้ก็มี กสทช.ดูแลปกติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่ในอดีตเมื่อ คสช.ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็คงจะวิตกกังวล จึงต้องมีคำสั่งแปลกๆ ออกมาให้การทำหน้าที่มีความสะดวก

ที่น่าสนใจเป็นเรื่องของการขึ้นศาลทหาร เพราะว่าในสถานการณ์ปกติ คงไม่มีประชาชนต้องการจะไปทะเลาะหรือหาเรื่องกับทหาร ขณะที่ศาลยุติธรรมตามกลไกปกติก็สามารถตัดสินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งการยอมรับสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนในสภาวะปกติก็ควรเป็นไปตามหลักสากลที่มีกติการะหว่างประเทศและไทยได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เขียนไว้ชัดเจน

ส่วนเรื่องที่อาจมีข้อโต้แย้งได้อย่างชัดเจน น่าจะเป็นเรื่องของสิทธิชุมชนและสิทธิทางเศรษฐกิจ เช่น การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร การใช้ที่ดินในโครงการ อีอีซีที่ภาคตะวันออก ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายอาจมีมุมมองที่ต่างกันต้องคุยกันให้ชัดเจนว่า หากยกเลิกจะมีผลย้อนหลังหรือไม่อย่างไร ให้มีผลประโยชน์ที่แท้จริงตกอยู่กับประชาชนและประเทศชาติ เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างชาติ

ถ้าย้อนดูในอดีต 60 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังมีประกาศหรือคำสั่งจากคณะรัฐประหารที่ยังนำมาบังคับใช้ถึงปัจจุบัน บางฉบับถือว่ามีประโยชน์ แต่คำสั่งเหล่านี้เหลือน้อยมาก แต่คงไม่มีใครสนใจขุดมาสังคายนา และคำสั่งเหล่านั้นคงไม่นำมาเทียบกับมรดกของ คสช.ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ภาคประชาชนจะต้องเสนอออกกฎหมายยกเลิก ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า คสช.มีความขยันเป็นอย่างมากในออกคำสั่งที่หลากหลายมากกว่าคณะรัฐประหารรุ่นพี่

ทั้งที่ คสช.ไม่ต้องออกประกาศหรือคำสั่งอะไรก็ได้ เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ที่ คสช.แต่งตั้งพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ พร้อมจะออกกฎหมายอย่างรวดเร็วเป็นที่อัศจรรย์ใจ เพราะไม่มีใครยกมือค้าน ส่วนตัวก็เห็นว่าในบรรดาประกาศหรือคำสั่งที่มีผลกระทบกับประชาชนก็ควรทำให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่เช่นนั้นองค์กรในต่างชาติก็จะมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีใครไปฟ้อง แต่เป็นเรื่องที่ตรวจสอบง่ายไม่ซับซ้อน คงไม่มีประเทศประชาธิปไตยประเทศไหน เขียนกติกาบอกให้พลเมืองไปขึ้นศาลทหาร หรือข้อห้ามในการชุมนุมทางการเมือง

สำหรับร่างฉบับนี้สภาจะผ่านวาระรับหลักการวาระแรกหรือไม่ โดยส่วนตัวไม่ต้องการให้ภาคประชาสังคมหมดกำลังใจ แต่เชื่อว่าร่างคงไม่ผ่านในขั้นรับหลักการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image