อจ.จับตาศึกเลือกตั้งซ่อม พปชร.-ปชป.หลบกันไม่ได้

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ กรณีผลกระทบพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการจัดผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมจังหวัดสงขลา และชุมพร ภายหลังศาล รธน.วินิจฉัยให้แกนนำ กปปส.สิ้นสภาพ ส.ส. และจะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต ใน 45 วัน

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หากพูดกันตรงๆ คือ การเลือกตั้งซ่อมเป็นเรื่องปกติ หลังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เราก็เห็นเลือกตั้งซ่อมหลายเขต เป็นเรื่องของพรรคการเมืองจะทำนโยบายแข่งกันว่าใครจะหาเสียงกันอย่างไร แต่จะส่งผลอย่างไรนั้น มองว่าผลการเลือกตั้งซ่อมจะเป็นตัวชี้วัดว่าเจ้าของพื้นที่เดิม คือ พรรคประชาธิปัตย์จะยังสามารถรักษาพื้นที่เดิมของตนเองไว้ได้หรือไม่ ในการเลือกตั้งที่จะมีในอนาคตอาจจะเร็วๆ นี้ หรือไม่อย่างนั้นก็คือ ครบวาระ

Advertisement

ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ถ้ามองกันตรงๆ ในเขตภาคใต้เป็นพื้นที่ค่อนข้างทับซ้อนระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐหลายคนในพื้นที่ก็ย้ายจากประชาธิปัตย์ไป กล่าวคือ เป็น ส.ส.หน้าเดิมเพียงแต่อยู่ในพรรคใหม่ ต้องดูว่าพรรคพลังประชารัฐนำเสนออะไรน่าสนใจขึ้นหรือไม่ในการเลือกตั้งซ่อม ผลการเลือกตั้งซ่อมจะเป็นตัววัดอันดับว่าในอนาคตข้างหน้า ถ้าจะมีการเลือกตั้งจริง ถามว่าพรรคไหนจะเข้าวิน

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลคิดว่าไม่มีปัญหา ก็เหมือนของกรณีของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล จนถึงที่สุดแล้วพรรคการเมืองก็ต้องสู้กันอยู่ดี มันหลบให้กันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะถ้าหลบให้กัน กองเชียร์ก็จะคิดว่าทำไมถึงต้องหลบ เพราะตั้งใจจะมาเลือก เพราะฉะนั้นลงสนามแล้ว อย่างไรก็ต้องสู้ อันนี้หลักการพื้นฐานทั่วไป แต่ความสัมพันธ์พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐมีหรือไม่ มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สมมุติว่าในอนาคตพรรคพลังประชารัฐได้เสียงข้างมาก พรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐอยู่ดี เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องของมารยาทแต่เป็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง

ถามว่าพรรคพลังประชารัฐต้องให้เกียรติพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เก่าหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าเราไปดูจำนวน ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ ก็ไม่กล้าพูดว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของพื้นที่แล้ว คือ มีสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างมาก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็มีโควต้าของพรรคเพื่อชาติพอสมควร เอาจริงๆ ตอบไม่ได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่หรือเปล่า เหมือนก่อนเลือกตั้งปี 2561 เราพูดเลยว่าพรรคประชาธิปัตย์ยึดหัวหาดกรุงเทพมหานครได้ทุกเขต พรรคเพื่อไทยเคยไม่ได้แม้แต่เขตเดียวเลยก็มี แต่พอการเลือกตั้งปี 2561 ที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เลยสักเขต กลายเป็นพรรคอนาคตใหม่กับพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือพรรคการเมืองใหม่ทั้งคู่ ดังนั้นคำว่าเจ้าของพื้นที่เดิม ไม่น่าจะถูกต้อง น่าจะใช้ว่าเคยเป็นอดีต ส.ส.ในพื้นที่ดีกว่า เพราะอย่างที่บอกว่าการเมืองไม่ได้มีเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง การเมืองเปลี่ยนไปได้ตลอด

Advertisement

ในส่วนที่ว่าทั้งสองพื้นที่จะยังสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่หรือไม่ ข้อนี้ตอบไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกว่าพรรคพลังประชารัฐได้เปรียบในฐานะของการเป็นแกนนำของรัฐบาล เพราะฉะนั้นผลงานออกมาก็จะออกมาในรูปของรัฐบาล คือ ภาพของรัฐบาลผูกกับภาพของพรรคพลังประชารัฐ ขนาดพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองไม่ได้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ยังถูกเอาไปเป็นสัญลักษณ์ของพรรคได้เลย

เพราะฉะนั้นถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอะไรไปสู้ มองในโควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คงไม่มีอะไรไปสู้ ประกันราคายาง หรือช่วยเหลือเกษตรกร ภาพก็ยังไม่ชัดเท่าในนามของรัฐบาลในภาพใหญ่

ประชาธิปัตย์มีแต้มต่ออย่างหนึ่งก็คือ การอยู่ในพื้นที่มานาน แต่คะแนนเป็นรูปธรรมของพรรคพลังประชารัฐน่าจะเหนือกว่าในจุดของการนำผลงานทางนโยบายมาหาเสียง ตรงนี้น่าจะเป็นจุดอ่อนและจุดแข็งของทั้งสองพรรค

ผู้สมัครที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ส่งลงสมัครเลือกตั้งซ่อมก็จะเห็นอยู่แล้วว่าเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น ตรงนี้เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบ คือ การทำงานในพื้นที่มานาน เพราะฉะนั้นพรรคพลังประชารัฐต้องสู้ด้วยคนที่สามารถนำเสนอนโยบายได้อย่างชัดเจนที่สุด ตัวผู้สมัครก็มีผลอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ส่งคนที่อยู่ในพื้นที่มานานมาลงแข่งขัน ก็จะรู้ว่าประชาชนจะเลือก หรือไม่เลือกเพราะอะไร

ผลการเลือกตั้งซ่อมจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่าในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะยังเหลือพื้นที่ภาคใต้มากน้อยแค่ไหน

ปรีชา สุขเกษม
นักวิชาการอิสระ

ผลกระทบของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐกับการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังแกนนำ กปปส.พ้นสมาชิกสภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลื่อนขึ้นมา ผลกระทบเห็นชัดคือ ขาดขุนพลหลักในการเป็นนักการเมืองระดับแม่เหล็ก ในการดึงดูดให้ประชาชนเกิดความศรัทธา ดึงดูดให้คนมาสนใจพรรค การที่นักการเมืองระดับแม่เหล็กเหล่านี้ ถูกยุติบทบาทในขณะที่ยังเป็นที่สนใจอยู่สูง กระทบมิติทางการเมือง เสียโอกาสของจังหวัด พื้นที่ที่นักการเมืองนั้นสังกัดอยู่ การที่คนคนหนึ่งสามารถทำการเมืองมาได้ถึง 7 สมัย 5 สมัย และยังมีอายุการใช้งานได้อยู่ แต่กลับถูกพิจารณาให้ยุติบทบาทลง เป็นการเสียโอกาสครั้งใหญ่ของแต่ละจังหวัด กว่าจะสร้าง ส.ส.คนหนึ่งให้ชนะการเลือกตั้งมาถึง 7 สมัย ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ใช้ปัจจัยหลายๆ อย่างในการจัดการดำเนินการ

ในส่วนของประชาชน ประเทศชาติสูญเสียทางเลือกที่สำคัญลงไป เพราะ ส.ส.คือช่องทางการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีบทบาทและหน้าที่ชัดเจน ตำแหน่ง ส.ส.ไม่ใช่เครื่องประดับคนรวย ผู้มีอิทธิพล หรือเจ้าพ่อ รู้สึกกังวลว่าค่านิยมทางการเมืองของเราเปลี่ยนไป เมื่อคนกลุ่มนี้ถูกกฎหมายบังคับให้ยุติบทบาท การเมืองที่จะพัฒนาต่อไป ค่านิยมทางการเมือง รูปแบบการเลือกนักการเมือง ถ้าการเมืองเน้นรูปแบบใจถึงพึ่งได้ ต่อไปการพัฒนาการเมืองคงไปได้ยาก เพราะเป้าหมายทางการเมืองคือ สังคมสงบสุข ถ้าเป้าหมายถูกบิดเบือนไป กระบวนการทางการเมืองเปลี่ยนไปสู่ค่านิยมเน้นการเมืองใช้เงิน ไม่รู้ที่มาของเงิน แล้วประชาชนเลือกใช้เงิน โดยไม่ใส่ใจเรื่องของนโยบาย แนวทาง มาพิจารณาเป็นสำคัญ ถือเป็นเรื่องอันตราย

ขณะนี้หลายพรรคการเมืองพยายามพัฒนาการเมือง มาสู่รูปแบบใจถึงพึ่งได้ การได้เข้ามาสู่ตำแหน่ง ส.ส.จึงเป็นเพียงประชาธิปไตยที่มาจากการเมืองตั้งเท่านั้นเอง แต่วิธีการการซื้อเสียงถือเป็นมะเร็งร้ายของระบอบประชาธิปไตย

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ในเรื่องพรรคการเมืองต้องมีการปรับกลยุทธ์อย่างมาก เนื่องจากโจทย์ในปัจจุบันกับอดีต เป็นคนละโจทย์ ขณะนี้แต่ละพรรคก็น่าจะมีแผนทางการเมืองในการวางตัวบุคคล ในทางการเมืองน่าจับตา เพราะเป็นช่วงปลายๆ ที่อยู่ในตำแหน่งกันแล้ว การกระทำในวันนี้จะมีผลไปถึงอนาคต ทั้งพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐน่าจะอยู่ระหว่างการประชุมอย่างหนักหน่วง อย่างที่บอกว่าโจทย์ในอดีตกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมาเยอะมาก ที่สำคัญประชาชนมีความรู้ความสนใจมากกว่าในอดีตมาก ไม่ง่ายจะวางตัวว่าใครเป็นผู้สมัคร วางหมากเดินเกมการเมือง ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จึงมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า

ส่วนการเฟ้นตัวผู้สมัคร มีอยู่ 2 อย่างในพื้นที่ ส่วนหนึ่งคือ ตัวบุคคลเป็นส่วนสำคัญให้ผู้เลือกตัดสินใจว่าจะเลือกใคร คนคนนั้นที่มามาจากไหน อยู่ในพื้นที่มีความยึดโยงในพื้นที่หรือไม่ ที่มาสำคัญมาก ส่วนพรรคที่สังกัด แม้จะมีส่วนสำคัญ แต่ไม่ได้มากเหมือนสมัยก่อนส่วนเรื่องผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา กับการเมืองในยุคนี้ ต้องยอมรับว่าเปลี่ยนไปมาก เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่ากระแสพรรคพลังประชารัฐแรงมาก แต่ในยุคนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นประชาชนจะเลือกจากตัวบุคคล ผลงาน นโยบาย และสุดท้ายคือ พรรคการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image