เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ยิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส

หมายเหตุความเห็นมุมมองนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วีระศักดิ์ เครือเทพ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)

การกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ต้องมองแยกกันระหว่างหลักการที่ควรจะเป็นกับสถานการณ์ที่เป็นของจริง

Advertisement

หากรัฐบาลยึดในหลักการก็สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน 2565 ถือว่ามีความเหมาะสม

หากเลือกตั้งได้ในเดือนเมษายน จากนั้นคาดว่าอีก 1 เดือน กกต.รับรองผล ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่จะเริ่มทำงานในเดือนมิถุนายน 2565 โดยร่วมพิจารณางบประมาณของท้องถิ่นได้

ผู้ว่าฯกทม.จะทำงานได้ตามนโยบายที่หาเสียงในปีงบประมาณ 2566 เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2565

Advertisement

ถ้าเลือกตั้งหลังเดือนเมษายนก็จะหลุดปีงบประมาณ กว่าผู้ว่าฯกทม.คนใหม่จะเริ่มทำงานจริงก็ต้องรอปีถัดไปถือว่าเสียโอกาส

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการมอบของขวัญให้ชาว กทม.ก็ควรประกาศให้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นปีเพื่อคืนอำนาจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

สำหรับความเป็นจริง หรือมองว่าอาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการ คาดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 เนื่องจากมีเหตุผลหลายประการที่นำมาประกอบกัน

พบว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐยังไม่ประกาศตัวผู้สมัคร

เมื่อไม่ได้เปรียบก็เห็นสัญญาณว่าจะแพ้ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าในพื้นที่ กทม.บ่อยครั้งจะมีการก่อม็อบทางการเมือง หากรัฐบาลมีผู้ว่าฯกทม.ที่สั่งอะไรไม่ได้ หรือไม่ใช่พวกเดียวกันม็อบมีโอกาสอยู่ยาว ในอดีตพิสูจน์หลักการนี้ได้หลายครั้ง

หากมีผู้ว่าฯกทม.รายใดที่อยู่ในพรรคฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล ม็อบจะมีน้ำเลี้ยง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร

แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน หรือ 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าม็อบจะไม่มีบริการสาธารณะ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลไม่สามารถหาตัวบุคคลไปคุมพื้นที่ใน กทม.ได้จริง ก็น่าจะไม่ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง

ประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อมูลวงในยืนยันชัดเจนว่าใกล้จะมีการยุบสภาเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะเลือกใหม่ในเดือนกรกฎาคม

ส่วนตัวได้รับการติดต่อจากบางพรรคการเมืองเพื่อขอให้ช่วยคิดนโยบายเพื่อเตรียมเลือกตั้งในปีหน้า สัญญาณจึงค่อนข้างชัดว่าในเมื่อรัฐบาลคุม กทม.ไม่ได้ก็เบรกเอาไว้ก่อน

แม้ว่าจะมีว่าที่ผู้สมัครมาเปิดตัวโดยอาศัยจังหวะในช่วงปีใหม่ เพื่อหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ๆ แต่ลึกๆ ประเมินว่ารัฐบาลตั้งใจให้มีการเปิดตัว เหมือนการสับขาหลอกทำให้คน กทม.ดีใจว่าใกล้จะมีเลือกตั้งแล้ว

แต่ยังไม่เคยเห็นใครในรัฐบาลมาบอกอย่างหนักแน่นว่าจะมีเลือกตั้งจริง ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีบอกจะเลือกตั้งภายในมิถุนายน 2565 ก็เหมือนพูดลอยๆ อาจตั้งใจพูดเพื่อลดแรงดันจากรอบข้าง

ในปี 2565 หากไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ประเมินว่ามีแนวโน้มมากกว่า 80% พรรคการเมืองทั้งหลายก็คงได้กลิ่นแล้วแต่ไม่พูด

หากไม่มีเลือกตั้งรัฐบาลก็ไม่ต้องอ้างเหตุผลอะไรมากมาย แค่บอกเหมือนกำปั้นทุบดินว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่จะพิจารณา

ดังนั้น ว่าที่ผู้สมัครที่รีบเปิดตัวก็อาจเปิดตัวเก้อ หรือถูกมองว่าเสียของ แต่ว่าที่ผู้สมัครบางรายที่เปิดตัวล่าสุดอาจจะไม่เสียหายอะไรมากนัก หลังจากได้ทำงานในทางวิชาการหรือบทบาทในวิชาชีพมาสุดทางแล้ว หรือประเมินว่าปลายทางอาจไม่ได้มองเชิงกลยุทธ์แค่ตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เพราะการเปิดตัวจะมีโอกาสวัดเรตติ้งทราบฐานคะแนนนิยมที่สามารถนำไปต่อรองกับหลายพรรคการเมืองเพื่อไปสู่การเมืองระดับชาติได้อีกในอนาคต

กทม.มีงบประมาณปีละ 8-9 หมื่นล้านบาท แต่เหลืองบพัฒนาไม่มาก อาจทำให้คน กทม.อาจจะเบื่อหน่าย หลังจากผ่านมาหลายผู้ว่าฯ หาเสียงทำนโยบายมากมาย แต่ทำจริงไม่ได้ ประชาชนจึงรู้สึกว่าการเลือกตั้งน่าจะเป็นแค่สีสันทางการเมืองหรือไม่

เพราะทราบดีว่านโยบายที่พูดไว้แทบจะทำจริงไม่ได้ มีว่าที่ผู้สมัครบางรายฝันไปเทียบกับมหานครโตเกียว ขอบอกว่ายากมาก

เพราะงบ กทม.มีน้อย นอกจากนั้น กทม.ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นปัญหานอกจากการทำโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่โครงสร้างการกระจายอำนาจของ กทม.มีน้อยกว่ามหานครโตเกียวที่มีอิสระมากกว่าชัดเจน

แต่ส่วนตัวยังชื่นชมในหลักการคิด มีความหวังต้องการให้ไปถึงจุดนั้น แต่ในความเป็นจริงที่ กทม.ทำได้ไม่ง่าย

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หรือองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ดีที่สุด เร็วที่สุด ไม่มีแล้ว เนื่องจากล่วงเลยเวลาที่เหมาะสมมานานมาก ทั้งที่ไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะดึงไว้ ผู้ว่าฯกทม.สามารถจัดการเลือกตั้งได้ก่อนการเลือกนายก อบจ.เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน สภา กทม.ที่ทำหน้าที่มาจากการแต่งตั้งนานกว่า 4 ปี โดยไม่ได้มาจากเลือกตั้ง

ส่วนตัวไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก่อนเดือนมิถุนายน 2565 แต่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หลังจากมีการยุบสภาและเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว เพราะรัฐบาลคงไม่ไว้ใจในตัวบุคคลที่ไม่ใช่คนของพรรคเข้ามาดูแลพื้นที่ กทม.

เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุผลที่ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากพรรคแกนนำรัฐบาลไม่สามารถหาตัวผู้สมัครมาเปิดตัว

หรือมีผู้ที่ต้องการจะเสนอตัวเป็นคนของพรรคสายตรงอีกหลายรายพยายามออกมาโยนหินถามทาง แต่ประเมินแล้วลงไปต่อสู้กับว่าที่ผู้สมัคร 2 รายที่เปิดตัวไปแล้วไม่ได้อย่างชัดเจน เพราะในทางวิชาการจะมีผลโพลจากการสำรวจที่สามารถชี้วัดคะแนนนิยมของว่าที่ผู้สมัครได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อตกอยู่ในที่นั่งลำบากพรรคพลังประชารัฐจึงไม่ทราบว่าเดินหน้าอย่างไร และแปลกมากที่พรรคแกนนำรัฐบาลหาตัวส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.พื้นที่ยุทธศาสตร์ในเมืองหลวงไม่ได้

เรื่องนี้น่าจะส่งผลต่อคะแนนนิยมในสนาม กทม.พอสมควร อาจจะกระทบกับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่เขตหลักสี่ด้วยหรือไม่ เพราะตอบชาวบ้านในการเดินหาเสียงไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

นอกจากพรรคจะต้องหาเสียงให้ ส.ส.แล้วน่าจะต้องหาเสียงให้ผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ในคราวเดียวกัน ดังนั้น พลังประชารัฐจึงอาจจะถูกมองว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ นอกจากนั้นภายในพรรคยังมีปัญหาด้านเอกภาพที่จะต้องหาข้อยุติโดยเร็ว

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จากนั้นเสนอให้ กกต.พิจารณาวันเลือกตั้ง

ขณะที่การเลือกตั้งล่าช้าไม่ส่งผลดีกับการพัฒนา อาจทำให้ล้าหลังในบางเรื่อง แต่รัฐบาลไม่ได้มองแบบนั้น เพราะเชื่อว่าการมีผู้ว่าฯกทม.ที่ คสช.เป็นผู้แต่งตั้งจะเป็นผลดีกับการทำงานการเมืองเพื่อสร้างฐานมวลชน

เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ล่าช้า หรืออาจจะเลือกตั้งหลังจากมีการยุบสภา ก็คงไม่มีแรงกดดันอะไรจากพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งที่ว่าที่ผู้สมัครบางรายของบางพรรคร่วมไม่ต้องการให้ยื้อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ออกไปอีก

แต่แกนนำพรรคคงไม่ต้องการมีปากเสียง เพราะเชื่อว่าการอยู่ในรัฐบาลนี้ต่อไปให้นานที่สุดจะดีกว่าเรื่องอื่น

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)

หลังจากมีการเลือกตั้งในเทศบาล อบต.และ อบจ.ที่มีฐานะเป็น อปท.ในรูปแบบทั่วไปเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าท้องถิ่นรูปแบบพิเศษทั้ง กทม.และเมืองพัทยา จะต้องจัดการเลือกตั้งในโอกาสต่อไป

โดยเฉพาะ กทม.ไม่มีการเลือกตั้งมานาน 9 ปี สำหรับระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้าน

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเสนอนโยบายด้านต่างๆ จากว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ต้องการ เพื่อไปทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

กทม.น่าจะเป็นต้นแบบของนวัตกรรมในการหารายได้ให้กับท้องถิ่นเพื่อพึ่งพาตนเอง วันนี้จะเห็นว่าตัวเลขงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ท้องถิ่นสัดส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนกว่า 40%

หากติดตามการบริหารงานในเมืองใหญ่ที่เป็นมหานครในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในหลักการกระจายอำนาจที่เป็นสากลจะไม่มีการแช่แข็ง

เนื่องจากจะต้องใช้เมืองเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นเมืองจะต้องมีการพัฒนา มีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

ส่วนตัวยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดความต้องการของประชาชน ผลการเลือกตั้งสามารถบ่งบอกได้ว่ามหานครจะเป็นไปในทิศทางไหน

แต่การที่ไม่มีการเลือกตั้งมานานบางครั้งก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเป็นทิศทางที่ประชาชนต้องการหรือไม่

ถ้าคิดว่าเมืองใหญ่เป็นหมุดหมาย เป็นจุดต้นกำเนิดของการสร้างโอกาส เป็นพื้นที่ของการรับฟังปัญหา ก็ควรจะต้องมีการวัดความต้องการของประชาชน

โดยจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าจะมีการพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

กทม.มีโครงสร้างการบริหารที่มีอิสระมากกว่า อปท.รูปแบบอื่น แต่อำนาจของผู้ว่าฯกทม.ยังทับซ้อนกับอำนาจของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ส่วนตัวยังไม่กล้าคิดถึงเรื่องที่ อปท.จะมีโอกาสในการทำจังหวัดจัดการตนเอง เพราะสังคมไทยยังไปไม่ถึงโอกาสนั้น เนื่องจากโครงสร้างทางกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดินยังเป็นอุปสรรค

ขณะนี้มีตัวอย่างที่ดีให้เห็นมากมายในต่างประเทศ ที่มีผลงานจากการกระจายอำนาจให้ถึงมือประชาชน ทำให้ อปท.มีการแข่งขันเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ทำให้เมืองมีจุดเปลี่ยน อปท.ที่อยู่ใกล้กันจะมีการเปรียบเทียบกันตลอดเวลา ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนของผู้บริหารจะต้องมีการพัฒนาตลอดเวลาเช่นเดียวกัน สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยตรง

ดังนั้น หลังจาก กทม.ไม่มีการเลือกตั้งนานหลายปี จึงควรมองถึงความสูญเสียจากโอกาสในการพัฒนาตามทิศทางที่ควรจะเป็นในสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะจะไม่มีการแข่งขันในด้านนโยบาย เรื่องเหล่านี้เป็นต้นทุนทางโอกาสที่ไม่ควรสูญเสียในฐานะที่ กทม.เป็นเมืองหลวง เป็น อปท.ต้นแบบที่ควรจะประสบความสำเร็จจากการบริหารทุกด้านที่เป็นผลมาจากการกระจายอำนาจ

แต่เมื่อ กทม.ไม่มีพัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้น และดูเหมือนจะหยุดอยู่กับที่ ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างชัดเจน

ขณะที่การประกาศเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครหน้าใหม่ก็ทำให้ได้เห็นนโยบายมากมาย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และส่วนตัวเชื่อว่าคน กทม.เป็นผู้ที่ระดับการศึกษามีโอกาสในการรับรู้ ผู้มีอำนาจก็ควรเปิดโอกาสให้คน กทม.ได้ตัดสินใจเร็วขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image