วิกฤตขวากหนาม ‘บิ๊กตู่’ โควิด-ปากท้อง-การเมือง

รายงานหน้า 2 : วิกฤตขวากหนาม ‘บิ๊กตู่’ โควิด-ปากท้อง-การเมือง

หมายเหตุนักวิชาการวิพากษ์มรสุมพัดใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งปัญหาการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องโดยเฉพาะสินค้าราคาแพง และปัญหาการเมืองที่ต้องรับมือฝ่ายค้านยื่นอภิปราย ม.152

วันวิชิต บุญโปร่ง
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ผมคิดว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์ในการค่อยๆ คลึง ค่อยๆ นวด แล้วก็เปิดปมทีละประเด็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิด-19 การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่าลืมว่าการที่พรรคเพื่อไทยเปิดยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบนี้ มีนัยยะอย่างหนึ่งว่าในห้วงหนึ่งเดือนมกราคม มีการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งพรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัครลงทั้ง 3 เขต ไม่ว่า จ.ชุมพร สงขลา หรือแม้กระทั่งเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แน่นอนว่าข้อความ-ข่าวสารตรงนี้อาจจะไม่เกี่ยวเสียทีเดียว แต่จะมีผลต่อการที่เอาผลคะแนนการเลือกตั้งซ่อมไปชี้วัดถึงความนิยม ความศรัทธาของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะความเป็นแกนนำรัฐบาล ถ้าผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่พลังประชารัฐคาดหวังไว้ พรรคเพื่อไทยก็มองว่านี่คือ ตัวชี้วัดตัวหนึ่งนอกจากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ความนิยมทางการเมืองของตัวเองก็ถดถอยลงไปด้วย คนเริ่มไม่เชื่อมั่นมากขึ้น โดยเอาเรื่องของผลการเลือกตั้งมาดึงผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน นี่คือยุทธศาสตร์หนึ่งที่ผมมองว่า ในห้วงเวลาตรงนี้ เปิดจุดไหนก็สามารถลุกขึ้นมาอภิปรายได้

Advertisement

ที่สำคัญคือ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหมูแพง ปัญหาเรื่องข้าว เรื่องพลังงาน น้ำมัน อะไรต่างๆ ที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งคนเหล่านี้มีความเปราะบางและรู้สึกอ่อนไหวกับข้อมูลที่ตนได้รับผลกระทบทั้งข้อมูลจากรัฐ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถ้าพรรคฝ่ายค้านจับอารมณ์ความรู้สึกของคนดีๆ แน่นอนว่า ตัวเองก็หวังผลทางการเมืองได้ ที่รัฐบาลจะเจอโจทย์หนัก จะต้องสร้างชุดคำอธิบายที่ชี้ใช้แจงในสภาก็ดี นอกสภาก็ดี เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ หรือเชื่อมั่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลจะเจอภาวะแบบนี้

อย่าลืมว่า อายุขัยของรัฐบาลชุดนี้ หากอยู่ครบเทอมก็จะเหลือประมาณ 1 ปีเศษ หรือ 14 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองต่างๆ ต้องอยู่ในความพร้อม ไม่ประมาท เพราะรู้อยู่แล้วว่าโอกาสที่ประเด็นต่างๆ จะใช้อภิปราย โจมตี หรือซักฟอกรัฐบาลได้ คือ ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งมองภาพเข้าใจได้ง่ายกว่าประเด็นการเมือง

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ โดยใช้ประเด็นปัญหาเศรษฐกิจหรือการบริหารโควิด-19 ผมมองว่ามีน้ำหนัก เพราะต้องไม่ลืมว่าโควิดอยู่กับเรามากำลังจะ 3 ปีแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัจจัยอื่นๆ เช่น ไวรัสกลายพันธุ์ แต่ทุกวันนี้เวลามีวิกฤตทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการหยุดยาว หรืออะไรทำนองนี้ มักแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีการวางแผนรับมืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน

อีกประเด็นคือ เรื่องของราคาแพง ถ้ามองกันแบบแฟร์ๆ จากข้อเท็จจริง ก็สามารถคาดเดาได้อยู่แล้วว่า วิกฤตหนึ่งจะไปลากให้เกิดวิกฤตอื่นเข้ามาได้อยู่แล้ว เศรษฐกิจต้องซบเซาเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ เรื่องของราคาแพงขึ้น ตามข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบคือ ภาคราชการมีการรับรู้อยู่แล้วว่ามีโรคระบาดในสัตว์บางประเภท แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ถามว่ารัฐบาลในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงในส่วนราชการ จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เรื่องราคาหมูเองก็มีคนที่ได้รับผลกระทบหลายคนแน่นอนว่า ประชาชนที่ต้องบริโภค เกษตรกรผู้เลี้ยง, ผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน จุดนี้เคยที่จะมีมาตรการอะไรหรือไม่ พอรัฐบาลพูดว่าหมูแพงก็ไปกินไก่ ไก่ก็ราคาสูงขึ้นทันที นี่ไม่ใช่วิธีการที่คนเป็นรัฐบาลจะนำเสนอออกมา ตรงนี้เองที่ฝ่ายค้านควรจะต้องกระทุ้งให้หนัก รวมถึงการใช้สื่อปฏิบัติการทางการสื่อสาร หรือไอโอ ว่าจะต้องมีสติมากกว่านี้ อย่างกรณีข้าวของแพงเอาไปเทียบกับประเทศเกาหลี ซึ่งเทียบกันไม่ได้ เพราะค่าแรงขั้นต่ำเราต่างกันหลายเท่า เขาทำงาน 1 ชั่วโมง เท่ากับเราทำงาน 1 วัน

ผมมองว่ารัฐบาลควรเลิกใช้ปฏิบัติการไอโอแบบนี้ได้แล้ว มันไม่มีประโยชน์ และไม่ได้ช่วยประชาชน

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องตั้งคำถามต่อรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะปัญหาที่เราเห็นไม่ใช่แค่เรื่องเหล่านี้เพียงอย่างเดียว ความจริงควรจะย้อนไปถึงเรื่องเดิมที่คนเคยพูดกันมา อย่างการบริหารจัดการโควิด-19 ในภาพรวม ที่ส่งผลกระทบเรื่องความผิดพลาด, นโยบายวัคซีนที่มุ่งเน้นเพียงแค่บางยี่ห้อ ซึ่งส่งผลเรื่อยมา ทำให้เกิดการควบคุมการเข้ามาของคน และส่งผลกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจ

ผมคิดว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ต้องทำ และเป็นเวลาที่ควรจะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาตอนนี้ จากเดิมที่จะเปิดประเทศ แล้วก็เกิดโอมิครอนขึ้นมา สร้างผลกระทบต่อ ‘ความไม่แน่นอนในนโยบายด้านเศรษฐกิจ’ ทั้งในเรื่องของการเดินทาง ที่คนตั้งคำถามถึงการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการควบคุมการเปิด-ปิดร้านอาหาร ร้านอะไรต่างๆ และมาตรการที่เป็นปัญหาจริงๆ ที่คนตั้งคำถามอยู่เรื่อย เช่น การที่ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ แต่ว่าร้านค้าย่อยๆ ถูกสั่งปิด เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยตอบได้อย่างชัดเจนว่าอยู่บนพื้นฐานของอะไร ผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยค่อนข้างที่จะเยอะมากกว่ากลุ่มธุรกิจ นี่คือประเด็นสำคัญ

ถามว่าการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อรัฐบาลหรือไม่ ณ ตอนนี้ ผมมองว่าในแง่ผลกระทบด้านการเมือง อาจจะไม่ส่งผลอย่างที่ฝ่ายค้านคาดหวังในการที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพในเชิงอำนาจของรัฐบาล เพราะรัฐบาลก็ยังได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนหนึ่ง กลุ่มอนุรักษนิยม หรือกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ซึ่งก็ยังได้ประโยชน์จากรัฐบาล ฉะนั้นผมมองว่าในแง่เสถียรภาพทางอำนาจของรัฐบาล การอภิปรายอาจจะไม่ส่งผลตรงนั้น แต่การอภิปรายจะเป็นข้อดีที่อย่างน้อยเป็นเวที เป็นพื้นที่ให้ฝ่ายค้านสามารถที่จะพูดข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบ ให้คนได้รับรู้ข้อเท็จจริงมากขึ้น ในมุมที่ไม่ถูกเปิดเผยโดยรัฐบาล ผมมองว่าการอภิปรายเป็นสิ่งที่ดีและควรจะมี เหมือนเป็นเวทีที่สำคัญเวทีเดียวที่เรามีอยู่ ที่จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้นำข้อมูลมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากมองจากที่ผ่านมา ผมเห็นว่าการทำการบ้านของพรรคเพื่อไทยยังไม่ดีเท่ากับของพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคเพื่อไทยส่วนมากจะเป็นลักษณะข้อมูลทั่วไปมากกว่า ในหลายประเด็นถ้าเราดูข้อมูลจากก้าวไกล จะเป็นข้อมูลที่หลายคนไม่คาดคิด หรือเป็นข้อมูลที่ถูกปิดมานาน และคนควรจะรู้ เช่น ข้อมูลเชิงงบประมาณต่างๆ ดังนั้น เพื่อไทยน่าจะต้องทำการบ้านหนักหน่อยในการหาข้อมูลที่มีน้ำหนัก ที่จะช่วยให้อย่างน้อยคนได้มองเห็นปัญหาการทำงานของรัฐบาลได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงข้อมูลเศรษฐกิจทั่วไปที่เราสามารถทราบได้อยู่แล้วจากสื่อ ซึ่งอาจไม่ได้มีนัยยะสำคัญมากนัก แต่ถ้ามีข้อมูลเชิงลึก เชิงนโยบาย ก็จะทำให้การอภิปรายมีน้ำหนักและอาจจะช่วยในเรื่องการเลือกตั้งในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าฝ่ายค้านควรมุ่งเน้นอภิปรายไปที่ ‘ประเด็นเศรษฐกิจ’ เพราะประเด็นโควิด-19 คนส่วนหนึ่งมองว่าอาจไม่ใช่รัฐบาลเพียงอย่างเดียวที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก บางคนยังมองในเชิงอนุโลม แต่ถ้าโฟกัสไปที่ ‘ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ’ ก็น่าจะช่วย อย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความผิดพลาดในเชิงนโยบาย แม้บางนโยบายที่มีให้เห็น จะค่อนข้างดีและมีในหลายประเทศ เช่น นโยบาย ‘คนละครึ่ง’ ซึ่งคล้ายกับต่างประเทศที่พยายามให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ การจ้างงานคงอยู่ เหมือนในประเทศอังกฤษ ที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนร้านอาหาร ช่วยในเรื่องการลดภาระผู้ประกอบการ ซึ่งจะไม่ใช่ภาระของรัฐบาลทั้งหมดในการเอาเงินมาให้ประชาชน แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนทำงานอยู่ในระบบ

แต่บางส่วนเราก็เห็นความผิดพลาด ความไม่มีแผน ที่จะต้องมีการถูกพูดถึง รวมถึง ‘นโยบายด้านการเกษตร’ ที่ผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญที่ฝ่ายค้านน่าจะหยิบยกขึ้นมาพูดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image