ผลซ่อม ‘ชุมพร-สงขลา’ เขย่า ‘พรรคร่วม รบ.-พปชร.’

ผลซ่อม‘ชุมพร-สงขลา’ เขย่า‘พรรคร่วม รบ.-พปชร.’ หมายเหตุ - นักวิชาการวิเคราะห์

หมายเหตุนักวิชาการวิเคราะห์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จ.ชุมพร และเขต 6 จ.สงขลา ต่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลายเป็นความขัดแย้งร้าวลึกจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างไร

ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเด็นแรกที่อยากพูดก่อนคือ โครงสร้างใหญ่ของการเมืองไทยไม่มีความต่อเนื่อง ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่มีเสถียรภาพ แปลว่า มีการสลับไปมาระหว่างรัฐประหารกับรัฐบาลเลือกตั้งและรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีเลือกตั้ง แต่มี ส.ว. มีอำนาจนอกระบบ ด้วยเหตุนี้ กฎกติกาจึงพลิกไปพลิกมาตลอดเวลา เดี๋ยวบัตรสองใบ เดี๋ยวใบเดียว เดี๋ยวมีเลือก เดี๋ยวไม่มี แล้วลองคิดดูว่ากว่า 200 ปีของอเมริกา เขารู้ว่า 4 ปี จะได้เลือกตั้งในขณะที่ไทยไม่มีความชัดเจน นำไปสู่ประเด็นถัดมาคือ พรรคการเมือง เช่น ประชาธิปัตย์มีอายุมากกว่า 70 ปี แข็งแกร่งในภาคใต้ พลังประชารัฐเพิ่งเกิดมาไม่นาน พรรคไทยรักไทย เกิดขึ้น แข็งแกร่ง ก่อนจะโดนโค่นไปมามีพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่ก็เป็นเวลาหลายปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง

Advertisement

ภาคใต้เคยสนิทสนม เคยชื่นชมพรรค ปชป.อาจพูดได้ว่านี่เป็นความต่อเนื่องของเขา เหมือนทางภาคเหนือและภาคอีสานชอบไทยรักไทย เมื่อพรรค ปชป.ลงเลือกตั้งแข่งกับพรรค พปชร.เป็นพรรครัฐบาลเหมือนกัน จึงเกิดปัญหาคือตกลงแล้วในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเอารัฐบาลหรือจะเอาพรรค คิดว่าความรู้สึกต่อรัฐบาลนั้นถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ เศรษฐกิจไม่ค่อยดีในรอบหลายปีมานี้ โดนคนด่าเยอะ เพราะฉะนั้น ไม่เชื่อว่าประชาชนทั่วไปพอใจกับผลการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา และในเมื่อพรรค ปชป.คุ้นชินและมีบทบาทมาก่อนในภาคใต้ เพราะฉะนั้นโอกาสในการหาเสียงก็ไม่ยาก มีความสนิทสนมกันมาก่อน เครือข่ายความสัมพันธ์ก็ง่ายขึ้นด้วย มีลูกล่อลูกชนที่เก่งกว่าเยอะ แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งซ่อมทางภาคใต้ ย่อมสะท้อนและส่งผลถึงการเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ที่มีทั้งพรรคฝ่ายค้าน เชื่อว่าคะแนนแตกกันแน่นอน เพราะฝ่ายค้านมีถึง 2 พรรคใหญ่ คือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรค พท. จึงมองว่ากว่า 10 วันต่อจากนี้ไป การต่อสู้ต้องดุเดือดแน่นอน โดยเป็นผลมาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่16 มกราคมที่ผ่านมา สนุกแน่นอน ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

เชื่อว่าจะต้องบอกอะไรหลายๆ ทางว่าตกลงแล้ว ฝั่งฝ่ายค้านคะแนนรวมกันแล้ว เยอะกว่าฝั่งรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่ามีเรื่องของเงินทอง เรื่องสัญญา หรือจะมีกรณีไฟดับอย่างที่อ้างกันหรือไม่

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การที่พรรค พปชร.แพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร และเขต 6 สงขลา นั้นบ่งบอกว่าการที่เคยชนะมาก่อนหน้านี้มันเป็นภาพลวงตา ในตอนนั้นอาจเป็นเพราะคนใต้มีความรู้สึกผิดหวังอะไรบางอย่างกับพรรค ปชป. แต่เมื่อพรรค ปชป.เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้วมีโอกาสที่จะไปรื้อฟื้นความนิยมในพื้นที่ของตัวเองในภาคใต้ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่าน ฟื้นความนิยมขึ้นมาใหม่และทำให้คนใต้เกิดความหวัง เกิดความมั่นใจว่าพรรค ปชป.เป็นทางเลือกทางเดียวที่ดีที่สุดสำหรับเขา

อีกเหตุผลหนึ่งคือในขณะนี้พรรค พปชร.เองก็มีปัญหา มีความแตกแยกที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างเช่นกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นได้อย่างชัดเจนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นของคนที่มีต่อพรรค พปชร.ขณะนี้ลดน้อยถอยลงไป และยิ่งมีปัญหาอะไรต่างๆ ติดตามมามากมาย ซึ่งทางรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงมาก

เนื่องจากพรรค พปชร.ที่เป็นพรรคเรือธงรัฐบาลไม่สามารถจะทำอะไรได้เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของประเทศ จึงเป็นผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คนใน 2 จังหวัดทั้งชุมพรและสงขลา ซึ่งเลือกพรรค ปชป.มาโดยตลอดคิดว่าถ้าเลือกพรรค พปชร.ต่อไปนอกจากจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้แล้วยังเรียกได้ว่าน่าจะเจอกับความวิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะมีนัยยะอะไรต่อไปอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือสุดท้ายแล้วพรรค ปชป.จะแยกตัวออกมาหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั่นคือถ้ารัฐบาลมีคะแนนไม่พอ ถ้าพรรค ปชป.ถอนตัวก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่

ในส่วนของความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่ามีปัญหาแน่นอนอยู่แล้วจากการหาเสียงเลือกตั้งในตอนนี้ซึ่งดุเดือดมาก และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประกาศชัดเจนว่าถึงอย่างไรก็ต้องพูดคุยกันระหว่างพรรค พปชร.และพรรค ปชป. เพราะฉะนั้นความคิดที่จะถอนตัวออกมาอาจยังไม่เกิด แต่ถ้าหากว่าพูดกันแล้วไม่รู้เรื่องสุดท้ายอาจจะนำไปสู่เรื่องฟางเส้นสุดท้าย พรรค ปชป.ก็อาจจะคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้พรรค ปชป.มีความมั่นใจมากขึ้นว่าถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ อาจจะกลับคืนมาเป็นพรรคใหญ่เหมือนเดิมอีก อาจจะถึงขั้นสามารถฟื้นคืนตัวมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ได้

ในการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพรและสงขลาจะส่งผลอะไรต่อการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักรหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าในการเลือกตั้งเขตหลักสี่ พรรค พท.คงกลับมาได้อีก เพราะนี่ก็เป็นเดิมพันครั้งสำคัญมากที่สุดของพรรค พท. ทำนองเดียวกับ ปชป. สิ่งที่เคยสูญเสียไปในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรคเก่าทั้งหลายซึ่งเป็นพรรคใหญ่ต้องอยู่ในฐานะที่น่าจะสามารถเอาคืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถจะทุ่มเทกันได้เต็มที่ดูจากการที่ออกไปหาเสียงเห็นได้ว่า พรรค พท.ทุ่มเต็มที่เพื่อที่จะเอาที่นั่งตรงนี้กลับคืนมาให้ได้และผมก็ค่อนข้างจะเชื่อว่าในที่สุดพรรค พท.คงจะชนะแน่ คิดว่าทุกพรรคก็แข่งขันในการเสนอนโยบายว่าจะแก้ปัญหาของประเทศอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาที่มันรุมเร้าอยู่ในขณะนี้คือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็ขึ้นอยู่กับว่านโยบายของพรรคที่เสนอมาจะถูกใจโดนใจคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศมากน้อยแค่ไหน จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่กำลังเกิดต่อเนื่องอยู่ขณะนี้ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่เกิดต่อเนื่องจากการเกิดโรคระบาด

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนจะสามารถสร้างนโยบายขึ้นมาให้โดนใจคนส่วนใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image