รายงานหน้า2 : ‘ศรุต วานิชพันธุ์’ ย้ำศักยภาพใหม่-ไทย 2022

หมายเหตุ“มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) หนึ่งในวิทยาการงานสัมมนา “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” วันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. บริเวณห้องโถงชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) สามารถรับฟังในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านสื่อออนไลน์ในเครือมติชน ทั้ง Facebook มติชนออนไลน์, ประชาชาติธุรกิจ, ข่าวสด และ YouTube มติชนทีวี รวมถึงช่องทาง Line มติชน, ข่าวสด

ถ้ามองประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัททำธุรกิจในด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Garena (การีน่า) เป็นดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ Shopee (ช้อปปี้) เป็นอีคอมเมิร์ซ SeaMoney (ซีมันนี่) เป็นบริการด้านการเงิน (Financial Services) สิ่งที่เราดูส่วนใหญ่เป็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เรื่องของดิจิทัลไลฟ์สไตล์ (Digital Lifestyle) เป็นอย่างไร ขณะนี้เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนใช้แอพพลิเคชั่น ใช้ดิจิทัลมากขึ้น คนที่ไม่เคยใช้หันมาใช้ เมื่อก่อนคนอาจจะมองว่าออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่ง ดิจิทัลเป็นช่องทางหนึ่ง แต่ตอนนี้เป็นกระแสหลักแล้ว

สถานการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมาก ถ้าให้มองในมุมของอีคอมเมิร์ซ หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ มีผู้ใช้งานมากขึ้น ปริมาณการใช้งานเพิ่มมากขึ้นด้วย จากการสำรวจธุรกิจเอสเอ็มอีไทย Thailand Digital Survey 90% เชื่อว่า การเข้ามาของออนไลน์ หรือการใช้ดิจิทัล จะทำให้หลุดพ้นจากปัญหาธุรกิจได้ พัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ตอนนี้คนย้ายจากออฟไลน์มาขายออนไลน์มากขึ้น เชื่อว่าต่อไปจะเป็นไฮบริจด์มากขึ้น คล้ายๆ กับการเชื่อมต่อระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเริ่มไร้รอยต่อ (Seamless) มากขึ้น เส้นทางผู้บริโภคระหว่างออนไลน์ออฟไลน์จะดีมากขึ้น แล้วก็เกิดประสบการณ์ไร้รอยต่อ เป็นการติดต่อหลายช่องทาง อันนี้คือภาพของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

สำหรับดิจิทัลไฟแนนเชียลเซอร์วิส เป็นเทรนด์ของคนที่ใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์ ต้องขอขอบคุณระบบพร้อมเพย์ จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีคนใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาครัฐสนับสนุนคนใช้แอพพ์จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด กว่า 30-40 ล้านคน เป็นพื้นฐานที่ดี แต่คำถามคือจะยังไงต่อ การมีเป็นข้อมูลธุรกรรมที่สำคัญ เกิดเป็นประวัติดิจิทัลของคนคนนั้น ถ้าคนคนนั้นปกติเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้ประจำ แต่มีประวัติดิจิทัลจะนำตรงนี้มาสร้างเป็นข้อมูลเป็นเครดิตได้ยังไง บริษัทจะนำตรงนี้มาสร้าง
เป็นเหมือนข้อมูลเครดิตให้เขาเข้าถึงเรื่องของดิจิทัลไฟแนนเชียลเซอร์วิส

Advertisement

ปัจจุบันเราได้ยินเรื่องของสินเชื่อดิจิทัล ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ดิจิทัลไฟแนนซิ่ง ขณะที่ต่างประเทศ จะมีการออกใบอนุญาต อย่าง Virtual Banking License ที่ให้ธนาคารเข้ามาทำธุรกิจดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ หลายๆ ประเทศมีการเริ่มนำ Central Bank Digital Currency (CBDC) มาใช้งาน เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาเรื่องนี้อยู่ สุดท้ายถ้ามองอุตสาหกรรมเกมที่เป็นดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ พบว่าคนเริ่มเข้ามาในโลกเสมือน ใช้ชีวิตอยู่ในออนไลน์มากขึ้น เป็นบริจด์ระหว่างกัน ทำให้เกมและอีสปอร์ตได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย

ปีที่ผ่านมามีโอกาสพัฒนาอาชีพ พัฒนาวงการนี้ อย่างอาชีพ Game Content ทำตัว Game Developer หรือในมุมของอีสปอร์ต เชื่อว่าจะมีการจัดแข่งขันมากขึ้นคนที่เป็นนักกีฬา เป็นทีม เป็นสโมสร หรือว่าทีมงานที่ทำโปรดักชั่นจัดการแข่งขัน เชื่อว่าตรงนี้มีโอกาสอีกมากในประเทศไทย

พอเข้ามาอยู่ในเกม ในโลกออนไลน์อีสปอร์ต จะเห็นเทรนด์พวกแบรนด์ต่างๆ อยากเข้ามาอยู่ตรงนี้ มีแบรนด์ระดับโลกเข้ามาหาพื้นที่ในเกม มีส่วนร่วมในเกม ล่าสุดแบรนด์เคเอฟซี เป็นสปอนเซอร์ของทีมอีสปอร์ต ROV Pro League เชื่อว่าจะทำให้แบรนด์เข้าถึงกับโลกออนไลน์มากขึ้น กลุ่ม Young Generation ที่อยู่ตรงนี้ จะเห็นกลุ่มศิลปิน หรือว่ากลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ เห็นศิลปินมาแสดงคอนเสิร์ตในเกม แต่ก่อนไม่เคยเห็นแต่เกิดขึ้นได้ มีการ Collap กับพวกเอ็นเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ พวกหนังซีรีส์ Free Fire ก็มีการ Collap กับซีรีส์ Money Heist บนเน็ตฟลิกซ์ เพื่อเชื่อมต่อเอ็นเตอร์เทนเมนต์ตรงนี้มากขึ้น

Advertisement

สิ่งที่บริษัทมอง เป็นเรื่องของธุรกิจทางด้านดิจิทัล กลุ่ม SEA มีพันธกิจทางด้านดิจิทัล จะทำอย่างไรให้เอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ในประเทศไทยถ้ามองภาพของดิจิทัลมีตัววัดโดยสถาบัน IMD มีเทคโนโลยีค่อนข้างแข็งแรง โครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างแข็งแรง มีตรงนี้เป็นปัจจัยบวก มีโครงสร้าง 5G, Mobile Internet ราคาไม่แพง คนเข้าถึงได้ง่าย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ประเทศไทยดร็อปกว่า คือ อันดับ และความรู้ทางด้านดิจิทัลทักษะในโลกอนาคต 2 สิ่งนี้ไม่พร้อม เป็นสิ่งที่เรากังวล ถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ เรื่องของดิจิทัลเป็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน คนที่ใช้เป็นได้สร้างโอกาสในธุรกิจ แต่คนที่ไม่เป็นคือไม่มีโอกาส ตรงนี้ต้องช่วยกันเข้าไปทำ

อย่างเรื่องของอีคอมเมิร์ซ กลุ่ม SEA โดย Shopee การสร้าง Shopee University, Shopee Bootcamp เพื่อทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงการใช้งานดิจิทัล ทำให้ธุรกิจดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งบริษัทเข้าไปทำงานกับภาครัฐ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัทช่วยเทรนทีมงานของกระทรวง ลงไปชุมชน เทรนชุมชน ให้นำสินค้าขายผ่านแพลตฟอร์ม

เวลานี้สิ่งที่ทำได้ดี คือ โครงสร้างพื้นฐานที่คนใช้งานได้จริง อีกเลเยอร์หนึ่งคือแอพพ์การใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์ เอไอ บริษัทจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตรงนี้อย่างไร มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเทคโนโลยีที่นำเข้ามา กับอีกส่วนหนึ่งคือต้องพัฒนาคน ทำทั้งสองส่วนนี้ไปด้วยกัน อยากจะเสริมอีกเรื่องที่ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ คือธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นสายเลือดหลักของประเทศไทย มีกว่า 3 ล้านคน เริ่มเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่ม จะไปช่วยเขาสร้างแบรนด์ยังไง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ อีกมุมคือกลุ่มเกษตรกร ขายของสด ขายส่ง จะเริ่มเปลี่ยนให้ทำผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างผลิตภัณฑ์เข้าถึงกลุ่มคนคอนซูมเมอร์ หาช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันตลาดเอสเอ็มอีมีประมาณ 30,000 กว่ารายที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศนี้ จะทำยังไงให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

เชื่อว่าในธุรกิจที่บริษัททำอยู่เรื่องของเทคโนโลยี ค่อนข้างพร้อมในแง่ของการเข้าถึง ทำยังไงให้คนที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาทำงานในบริษัททางด้านดิจิทัลได้ มาช่วยผลักดันสร้างฟีเจอร์ต่างๆ อีกส่วนหนึ่งคือแง่ของผู้ใช้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำยังไงให้ใช้ตรงนี้เป็น มีความรู้มีพื้นฐานที่จะกล้าเข้ามา อยากให้ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องของคน ในเรื่องดิจิทัล ให้คนทั่วไป และผู้ประกอบการต่างๆ เข้าถึงและทำตรงนี้เป็นจริงๆ ตอนนี้หายากมากคนที่มีเรื่องของสกิลเรื่องของการทำโค้ทติ้งดิจิทัล อยากให้เรียนปูพื้นตั้งแต่มัธยม ตั้งแต่มหาวิทยาลัย ทำให้มีสกิลเพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล

หากพูดถึงอุตสาหกรรมเกม ประเทศไทยโตอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต เชื่อว่าไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค แม้เพิ่งเริ่มสองสามปีที่ผ่านมา ภาครัฐบอกว่าสิ่งนี้เป็นกีฬาแล้วจัดแข่งขัน พอเกิดการสนับสนุน จัดการแข่งขัน จะเห็นการแข่งขันใหญ่ๆ ในระดับนานาชาติเข้ามาแข่งในเมืองไทยมากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้อย่างมาก ส่วนในเรื่องของการพัฒนานักกีฬา หรือว่าทีมสโมสรต้องบอกว่าไทยก็ไม่แพ้ใคร ไทยเพิ่งชนะชิงแชมป์โลกของตัวของ ROV มา อย่างเกม Free Fire ปีที่แล้ว เป็นแชมป์โลกเหมือนกันในเรื่องของตัว World Series ต้องบอกว่าคนไทยมีโอกาสพัฒนาในด้านนี้อีกมาก

สำหรับอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลไฟแนนเชียล มองว่าโครงสร้างพื้นฐานของเราค่อนข้างดีไม่ว่าจะในเรื่องของโลจิสติกส์เอง โครงสร้างระบบการชำระเงินต่างๆ เนี่ยก็ดี ในมุมของผู้ใช้ใช้เป็นหมดใช้กันเยอะด้วย ข้างที่เป็นผู้ประกอบการก็ดันให้เกิดธุรกิจ อันนี้คิดทุกฝ่ายช่วยสนับสนุนได้อีก

ทั้งนี้ มั่นใจในศักยภาพไทย ถ้าดูในภูมิภาคประเทศไทยเป็นประเทศที่เติบโตเร็ว สำหรับ 2-3 ปีข้างหน้า มองยาก ทุกคนใช้เวลากับโลกออนไลน์ โลกดิจิทัลมากขึ้น เชื่อว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมากในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคในมุมของดิจิทัล และจะมีฟีเจอร์เซอร์วิสใหม่ๆ ที่เข้ามามากขึ้น ยกตัวอย่างในกรณี Shopee เริ่มต้นเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายธรรมดา แต่พอพัฒนาเรื่อยๆ เก็บข้อมูล สร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างฟีเจอร์ของ Shopee ถ้าเกิดว่าเคยใช้ ที่คนชอบคือ ช้อปปี้เกม ช้อปปี้ไลฟ์ แต่บริษัทไม่ได้หยุดแค่นั้น บริษัท มีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าตอบโจทย์ทั้งผู้ขาย ทำส่วนลด สร้างแบรนด์เมมเบอร์ชิป ในโลกของธุรกิจตรงนี้จะไม่หยุดนิ่ง เพราะคนเข้ามาได้เรื่อยๆ

จีดีพีของเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าใจว่าทางภาครัฐสำรวจตรงนี้ ถ้าเทียบในแง่ของเศรษฐกิจที่ดิจิทัลในการใช้งาน ด้านมูลค่าบริษัทเป็นอันดับ 2 ในการใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องของเกม สำหรับเพย์เมนต์เราเป็นอันดับ 1

ตอนนี้ไทยเดินมาได้ดีแล้ว แต่จะทำยังไงให้คนใช้เป็น ไม่ใช่แค่ใช้เป็นอย่างเดียว แต่ว่าใช้แล้วสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเขาด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่ SEA ทำคือมองว่าเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม เปิดโอกาสให้คนทั้งประเทศมีโอกาสได้เข้าถึง ใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image