แฟลชสปีช : ต้นทาง‘กลิ่นปฏิวัติ’

จู่ๆ ข่าว “รัฐประหาร” ก็กระหึ่มขึ้น และเมื่อ “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้หลุดปากออกมา ย่อมเป็นธรรมดาที่คนในฟากรัฐบาลจะเรียงหน้ากันออกมาถล่มด้วยการชี้ให้เห็นว่าตีตนไปก่อนไข้ หรือถูกมองว่าเป็นการปล่อยข่าวตีกันเพื่อหยุดผู้ที่คิดก่อการรัฐประหาร

ความจริงแล้ว “หมอชลน่าน” เป็นเพียงผู้ออกหน้าเท่านั้น เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในแวดวงผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิด ย่อมรับรู้ว่า เมื่อมีคำถาม “แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป”

คำตอบว่า “ต้องปฏิวัติ” ดูจะหนักแน่นไม่น้อย เปล่า! ไม่ใช่หนักแน่นด้วยการรับทราบความเคลื่อนไหวของผู้จะก่อการเช่นนั้น

เหตุผลที่หนักแน่นมาจากการวิเคราะห์ประเมินความเป็นไปทางการเมืองมากกว่า

Advertisement

ประเมินว่า “ประเทศไม่มีทางออกอื่นนอกจากรัฐประหาร”

เหตุผลที่วิเคราะห์เช่นนั้นมาจาก 2 ความเชื่อใหญ่

หนึ่ง การไตร่ตรองดูแล้ว “ไม่มีทางที่รัฐบาลจะไปต่อได้ ด้วยความเป็นไปของปัจจัยทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

Advertisement

รัฐสภาหมดสภาพที่จะค้ำจุนประคับประคองให้กลไกการบริหารจัดการประเทศเดินหน้าต่อไปได้

“อำนาจเดี้ยง” ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดการประเทศได้

ความเดือดร้อนของประชาชนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความไร้สามารถในการจัดการของรัฐบาลดังกล่าว

มีเรื่องราวที่เป็นรายละเอียดมากมายที่สนับสนุนความเชื่อนี้ให้ดูมีเหตุผลที่หนักแน่น ยากที่จะโต้เถียง ยกเว้นจะข้างๆ คูๆ ไปตามประสาคนที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการต้องสอพลอผู้มีอำนาจ

นั่นเป็นความเชื่อแรก

ความเชื่อที่สอง คือ “ไม่มีทางที่ประเทศในยุคสมัยเช่นนี้จะปล่อยให้นักการเมืองที่มาจากประชาชนจริงๆ เข้ายึดครองอำนาจรัฐ”

ความเชื่อนี้มีเหตุสนับสนุนมากมาย แบบไม่จำเป็นต้องอธิบาย แวดวงสนทนาของผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิดก็เข้าใจได้ด้วยข้อมูลในความรู้ ความคิดของแต่ละคนเอง

เมื่อเอา 2 ความเชื่อที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันมาสังเคราะห์ร่วมกันแล้ว หาความเป็นไปได้ของทางออกทางการเมือง

หนึ่ง นายกรัฐมนตรีลาออก เป็นไปไม่ได้ ทั้งด้วยมานะส่วนตัว และความไม่พร้อมที่จะเดินลงจากอำนาจโดยสามารถใช้ชีวิตราบรื่นต่อไปได้

สอง ยุบสภา ทุกคนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะขัดกับความเชื่อว่า โอกาสที่ “พรรคการเมืองที่กลไกอำนาจของประเทศไม่ปรารถนาจะได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งมีสูงยิ่ง”

สาม รัฐประหาร เพื่อรื้อและเริ่มกันใหม่ทั้งระบบ

ความหมาย “รัฐประหาร” ที่คนไทยเคยชินกับคำว่า “ปฏิวัติ” นั้น หมายถึงการที่คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้กำลังเข้าควบคุมการบริหารประเทศ และใช้อำนาจเด็ดขาดเข้ามาดำเนินการ

ในทางออก หนึ่ง สอง สามนั้น ในแวดวงสนทนาผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิดส่วนใหญ่ เมื่อประเมินรอบด้านแล้ว เกิดความเชื่อว่า ทางออกที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีลาออก และยุบสภา มีความเป็นไปได้ที่สุด

เพียงแต่ในรายละเอียดของการจัดการอาจจะไม่เหมือน “รัฐประหาร” อย่างที่เป็นมา

มีการมองกันว่า “ปฏิวัติด้วยช่องเงื่อนไขของกฎหมาย” เป็นวิธีการที่น่าจับตามองว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่านิ่มนวลกว่า

อย่างเช่น “ยุบสภา” ในสภาวะที่ “กฎหมายเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองยังไม่เสร็จ” แต่ “รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นสองใบประกาศใช้ไปแล้ว”

และอาศัยช่องว่างที่เกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขกฎหมายนี้ ควบคุมการบริหารประเทศโดยวิธีการพิเศษตามที่ “บริกรกฎหมาย” ชี้นำ และกลไกตีความให้เกิดความชอบธรรมในการนำไปปฏิบัติ โดยกลไกอื่นๆ คุ้มครองให้ดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อย พร้อมจะออกมาจัดการควบคุมผู้ต่อต้าน

เรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ คลุ้งอยู่ในแวดวงผู้ติดตามความเป็นไปทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้เอง ถึงแม้ว่า “กลิ่นรัฐประหาร” จะออกมาจากปากของ “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย”

แต่ “กลิ่นที่รับรู้ในใจของผู้คนนั้นกระจายไปทั่ว”

เป็นกลิ่นที่เกิดจากการประเมินและพบว่าเกิดความเชื่อว่ามีเหตุผลที่หนักแน่น

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image