รายงานหน้า2 : ‘กุลธิดา’นำมูลนิธิก้าวหน้า ปักธงปชต.-กระจายความรู้

หมายเหตุน.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงแนวทางและการขับเคลื่อนมูลนิธิคณะก้าวหน้า

⦁จุดเริ่มต้นของมูลนิธิคณะก้าวหน้า
จุดเริ่มต้นของมูลนิธิ เกิดมาจากความตั้งใจที่ว่า งานการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยต้องทำระยะยาว ดังนั้น จึงต้องมีองค์กรที่จะมาขับเคลื่อนงานที่ไม่สามารถจบได้ภายใน 1-2 ปี เพราะเป็นการทำงานทางความคิดให้กับผู้คนในสังคม การทำมูลนิธิจึงตอบโจทย์ในส่วนนี้ วัตถุประสงค์ของมูลนิธิคือ การเข้ามาทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ทั้งการทำงานผ่านสื่อที่ทำขึ้น การอบรม การเข้าแคมป์
และการทำผ่านกองทุนที่เราออกทุนให้กับเยาวชนหรือผู้ที่ต้องการทำงานเพื่อประชาธิปไตย ได้นำไปทำโครงการด้วยตัวเอง การทำหนังสือว่าด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นการทำงานทางความคิด และอาจจะกลายเป็นบทสนทนาในบ้านของใครสักคน หรือในห้องเรียนของใครสักคน โดยมีข้อมูลและสื่อของเรานำไปใช้ประกอบ หรือนำไปออกแบบบทเรียนของครู ที่ไม่ได้ตามแบบเรียนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้เลือกตามประเด็นที่สนใจ นอกจากนี้ ยังมี Common School ที่จะนำเสนอและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคม เป็นต้น
นอกเหนือจากงานด้านความคิด ยังมีงานรณรงค์ ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล กรรมการมูลนิธิ เป็นผู้ดูแล เช่น การรณรงค์การปฏิรูปสถาบัน ส่วนการปักธงประชาธิปไตยอีกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ คือ เรื่อง “การกระจายอำนาจ” จะทำผ่านการลงชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการถกเถียงว่าควรจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไร แต่จะเสนอเพิ่มไปอีก 2 เรื่อง คือการยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค และการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรระหว่างส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นให้ยุติธรรมมากขึ้น
เรื่องประชาธิปไตยคือความหวังของพวกเรา ดังนั้น คนที่เข้ามาทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการปักธงประชาธิปไตย จะรู้สึกว่าความหวังยังมีอยู่ และทำให้ผู้คนรู้สึกว่าประชาธิปไตยคือความเป็นไปได้ และจะกลายเป็นความปกติของสังคม

⦁วัตถุประสงค์หลักของการตั้งมูลนิธิคืออะไร
หลักใหญ่ที่สุดคือการรณรงค์ด้านประชาธิปไตย เมื่อมีการรณรงค์ประชาธิปไตยเป็นแกนกลาง ด้านอื่นๆ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการรณรงค์ขึ้น ทั้งเรื่องการเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ที่ทำผ่าน Common School ที่มีเพจเฟซบุ๊ก เผยแพร่สื่อที่หลากหลาย เช่น บทความเรื่องวันครู ที่ได้เขียนขึ้นเพื่อย้อนกลับไปดูว่า เหตุใดครูจึงกลายมาเป็นผูกขาดความรู้ ที่ต้องไล่ย้อนดูประวัติศาสตร์ครูและบทบาทของครูริเริ่มมาอย่างไรตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ใต้ร่มของ Common School ที่ค่อนข้างได้รับความนิยม และมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเยอะ คือโครงการอ่านเปลี่ยนโลก ที่ตั้งใจทำให้มีห้องสมุดอยู่ทุกที่ จะนำมาใส่ไว้ในคอลเล็กชั่น
ของห้องสมุดของเรา ผู้ที่สนใจสามารถยืมออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอยากให้คุณได้อ่าน เป็นการกระจายองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้คนเข้าถึงความรู้เหล่านี้ จริงๆ แล้วมันคือการทลายการผูกขาดของรัฐ เป็นเจ้าขององค์ความรู้ส่วนใหญ่ และมีแพลตฟอร์มมากกว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเอกชน หรือคนทั่วไป โดยหนังสือของโครงการอ่านเปลี่ยนโลก จะมีหนังสือตั้งแต่ระดับการเมืองหนักหน่วง ทั้งประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ ไปจนถึงวรรณกรรม ที่มีเรื่องราวของการเมือง และการต่อสู้อยู่ในนั้น หลังจากนี้จะมีหนังสือเกี่ยวกับการศึกษามากขึ้น ในปีถัดๆ ไป อยากจะทำหนังสือเรียน ที่เป็นหนังสือเรียนในวิชาสังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง ที่อธิบายตามหลักสากลมากขึ้น ทั้งประเด็นประชาธิปไตย ประเด็นสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง โดยจะจัดทำเพื่อนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการว่า หนังสือเรียนที่อ้างอิงจากหลักสากลจะสามารถเข้าไปอยู่ในลิสต์หนังสือเรียนของกระทรวงเพื่อขอเงินอุดหนุนได้หรือไม่

⦁ความแตกต่างของมูลนิธิคณะก้าวหน้า และคณะก้าวหน้า
คณะก้าวหน้า คือร่มใหญ่ของมูลนิธิ เพราะการปักธงประชาธิปไตยสามารถทำได้หลายรูปแบบมาก คณะก้าวหน้าจะโฟกัสอยู่ที่งานท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในระยะยาว ต้องทำผ่านทุกองคาพยพไปพร้อมกัน คณะก้าวหน้า จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ มีอำนาจที่จะจัดการตัวเอง มีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น ส่วนงานของมูลนิธิ คือชัดเจนที่จะทำงานเกี่ยวกับการปักธงประชาธิปไตยด้านความคิดของผู้คนในสังคม และงานด้านการศึกษาด้วย

Advertisement

⦁มีต้นแบบการทำมูลนิธิเพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองแบบนี้หรือไม่
ก่อนที่มูลนิธิจะได้รับการรับรอง และจดทะเบียน โดยตั้งแต่สมัยอดีต พรรคอนาคตใหม่ได้ทำความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ในหลายประเทศของสแกนดิเนเวีย ผ่านพรรคการเมืองที่เป็นสังคมประชาธิปไตย จะมีองค์กรที่เป็นสถาบันคล้ายๆ กับมูลนิธิที่ทำงานด้านความคิด เมื่อตั้งต้นจะมีภารกิจคล้ายกับเรา และทำงานเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง มูลนิธิของเรามีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาคือ Think Forward Centre เพื่อพัฒนาด้านนโนบายของคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล กรณีที่ต้องการข้อมูลที่เป็นนโยบายภาพใหญ่ และการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ โดยพรรคการเมืองในแถบสแกนดิเนเวียก็ทำแบบนี้มาต่อเนื่อง 50 ปี จึงมีประสบการณ์มากกว่า และเราก็ได้โมเดลที่น่าสนใจนี้มา เช่น นายกรัฐมนตรีสวีเดนคนหนึ่ง เติบโตมาจากการเข้าร่วมค่ายเยาวชน วัยรุ่นและเยาวชนนี้ มีพัฒนาการด้านอุดมการณ์แรงกล้า ดังนั้น การที่ได้พาตัวเองเข้าไปพัฒนาทั้งเรื่องความคิด และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อความเป็นผู้นำในอนาคต จึงทำให้เกิดนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบต่างๆ มีความตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นเหมือนกัน โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชน ด้านประชาธิปไตย เมื่อมีศักยภาพ การพัฒนาเยาวชน ก็เป็นงานปักธงประชาธิปไตยเหมือนกัน ไม่ควรปล่อยให้ใครก็ตามมาผูกขาดความหมายของประชาธิปไตย หรือความหมายของการทำงานการเมืองอยู่ฝ่ายเดียว

⦁การทำงานของมูลนิธิมีโปรแกรม และหลักสูตรเพื่ออบรมเยาวชน
เรามีค่ายชื่อ Awaken Land เป็นค่ายเพื่อเยาวชนให้มารวมกันประมาณ 80 คน ได้เข้ามาในค่าย เพื่อพูดในประเด็นที่เป็นประชาธิปไตย เช่น รัฐสวัสดิการ นอกจากนี้ เรายังอยากได้เสียงของเยาวชนที่มีความสนใจมากๆ ในเรื่องนี้ และอยากขีดเขียน ออกแบบ และส่งเสียงว่า นโยบายรัฐสวัสดิการสำหรับคนรุ่นเขาต้องเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็จะเป็นอีกข้อมูลหนึ่ง ที่ทำให้เราได้เข้าใจเสียงของคนวัยนี้มากขึ้น กรณีรัฐสวัสดิการในยุคปัจจุบัน อาจจะมีเรื่องของการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ซึ่งในไทยจะมีการกำหนดอายุในการมีส่วนร่วม ทำให้เยาวชนมีส่วนร่วมได้น้อยมาก

⦁แหล่งเงินทุนของมูลนิธิ
มูลนิธิเปิดช่องทางกด Subscription ในเฟซบุ๊ก และกำลังจะขยายช่องทางอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการระดมทุนให้สามารถรันองค์กรต่อไปได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ จะเปิดตัวการรับบริจาคอย่างเป็นทางการ เพราะตอนนี้เราเป็นมูลนิธิแล้ว สามารถเปิดเผยงบประมาณอย่างโปร่งใสเหมือนมูลนิธิอื่นๆ จะมีการระดมหลากหลายช่องทาง ส่วนหนังสือแปลของมูลนิธิที่ทำจำหน่ายออกมา หากซื้อเป็นเหมือนการสนับสนุนมูลนิธิด้วย และในอนาคตจะมีสินค้าต่างๆ ผลิตออกมาจำหน่ายเพื่อเป็นสินค้าเพื่อระดมทุน โดยอาจจะเป็นการออกเป็นสินค้าพิเศษเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญของประชาธิปไตย เช่น เหตุการณ์สำคัญในช่วงเดือนมิถุนายน

Advertisement

⦁ปัญหาหลักของการศึกษาไทย และแก้ไข
ปัญหาใหญ่ที่สุดของปัญหาการศึกษาไทยคือ โครงสร้างระบบราชการที่ครอบทุกองคาพยพของการศึกษาเอาไว้หมด การจัดการตามระบบราชการ จะมีลักษณะอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพัฒนาความรู้และทักษะ คือ การจะต้อง “เชื่อ จำ และทำตาม” เมื่อเป็นแบบนี้ตั้งแต่ยุคการศึกษาสมัยใหม่เกิดขึ้น ที่เริ่มต้นจากโรงเรียนฝึกสอนข้าราชการ จึงทำให้สำนึกนี้ยังอยู่ในรูปแบบการทำงาน จะเห็นจากการทำโครงการแบบระบบราชการ ที่มีโครงการส่งไปให้โรงเรียนทำเต็มไปหมด และรายงานเจ้านาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของครูที่ควรจะได้ทำงานการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ลดลงไปมาก เพราะภาระงานโครงการกินเวลาไป 84 วัน จาก 200 วันของการทำงาน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของวันทำงาน
ถ้าไม่ใช่งานโครงการที่ได้รับมอบหมายมา ก็จะเป็นงานเอกสาร หรืออื่นๆ มากมาย ดังนั้น จะถามหาคุณภาพที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของหน่วยงานราชการ ที่ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการ แต่รวมถึงทั้งระบบราชการ ทำให้มีพื้นที่ให้เกิดการพัฒนายากมาก เพราะโครงการที่ออกมาให้ทำ ครูก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเลย เมื่อสั่งให้ทำ ครูก็จะงงว่า ทำไปทำไม คิดอีกมุมว่าทำไมจึงไม่เป็นการวางงบประมาณเอาไว้ให้โรงเรียน เพื่อให้ครู หรือนักเรียน ได้ขอเงินในส่วนนี้มาทำกิจกรรมที่เหมาะสม ตอบโจทย์ และเป็นประโยชน์กับชีวิตพวกเขาจริงๆ ระบบการศึกษาไทยจึงเป็นระบบที่ทุกอย่างคือการป้อนความรู้ให้กับนักเรียนแล้วบอกว่าคุณจงเชื่อดังที่ฉันบอกไปตามนั้น
การเถียงจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติทั้งที่จริงๆ การแลกเปลี่ยนพูดคุยในห้องเรียนคือแก่นของการพัฒนาความคิดของผู้เรียน แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนไทยเป็นปกติ เพราะเถียงทีไรก็จะโดนว่าเป็นศิษย์คิดล้างครู แต่ความจริงการเถียงคือการแลกเปลี่ยนพูดคุยบนพื้นฐานที่ยอมรับว่าทุกคนมีความคิดไม่เหมือนกัน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนไทยเป็นไปทางเดียวคือมาจากครูที่ป้อนความรู้ให้นักเรียน
นอกจากนี้ กระบวนการซื้อหนังสือก็ถูกล็อกโดยรัฐไว้อีก สมมุติโรงเรียนหนึ่งมีเงินแล้วอยากจะซื้อหนังสือเรียน เมื่อซื้อแล้วในปีนี้นักเรียนก็มีหนังสือเรียน ใช้ไปก็ยังอยู่ในสภาพดี พอปีถัดไปก็ได้งบอุดหนุนมาอีก แต่โรงเรียนอยากจะซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดบ้างเพราะมีหนังสือเรียนเพียงพอแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้เพราะต้องซื้อหนังสือเรียนให้เหมือนกันหมด ดังนั้น การใช้งบประมาณในสื่อการเรียนหรือหนังสือเรียนจึงถูกล็อกโดยภาครัฐที่บอกว่าต้องซื้อตามรายการที่ระบุมาเท่านั้น ทำให้มูลนิธิอยากจะลองทำหนังสือเรียนของตัวเองและจะเสนอเพื่อเข้าไปอยู่ในรายการหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ
ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องกลับไปทบทวนบทบาทของตัวเองในเรื่องการผลิตหนังสือเรียนและสื่อต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการเป็นเพียง ผู้คัดสรรในการบริหารจัดการให้เกิดความหลากหลายมากที่สุด แล้ววิจารณญาณในการเลือกควรลงไปอยู่ที่โรงเรียนได้แล้วว่าเขาต้องการใช้หนังสืออย่างไรแบบไหน หลายครั้งมีปัญหามากที่โรงเรียนอยากได้หนังสือ แต่ไม่ใช่หนังสือที่อยู่ในรายการของกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่สามารถนำงบประมาณที่มีอยู่มาจะซื้อหนังสือเล่มที่อยากได้ ซึ่งมีกรณีศึกษาจริงๆ ที่โรงเรียนซื้อหนังสือเรียนตามรายการนำมาวางไว้ให้ฝุ่นเกาะ แล้วไปหาเงินจากแหล่งอื่นเพื่อมาซื้อหนังสือที่อยากใช้ ในกรณีนี้โรงเรียนเอกชนอาจจะทำได้ แต่หากโรงเรียนรัฐบาลอยากทำ ก็ต้องขอรับบริจาคผ้าป่า สิ่งนี้แสดงอย่างชัดเจนแล้วว่ารัฐเองต้องการใช้อำนาจของตัวเองในการควบคุมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในระบบการเรียนการสอนอย่างชัดเจน รัฐเองอาจจะบอกว่าจำเป็นต้องดูว่าหนังสือเรียนเล่มใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ที่สุดแล้วก็เป็นคำถามว่าใครกันที่จะบอกว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะหรือไม่เหมาะสม คือรัฐ ครู หรือใครกันแน่

⦁คิดเห็นอย่างไรต่อวาทกรรม รัฐไทยพยายามผูกขาดองค์ความรู้ เพื่อที่จะแช่แข็งและทำให้นักเรียนโง่
สิ่งที่รัฐทำอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิดสิ่งนี้ แต่สิ่งที่ตั้งใจคือการรักษาฐานอำนาจของรัฐเองแล้วผลที่ตามมาคือผลนี้ เพราะการรักษาฐานอำนาจของรัฐคือ การที่คนในประเทศนี้มีวิธีคิดเหมือนรัฐมีหลักการและการปฏิบัติตนเหมือนกับที่รัฐต้องการ ซึ่งก็ทำผ่านกลไกที่หลากหลาย เช่น การให้ท่องค่านิยม 12 ประการซึ่งก็ทำมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลไกของระบบราชการก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่ง เพื่อทำให้องค์ความรู้ชุดที่รัฐต้องการดำรงอยู่ต่อไปผลลัพธ์ที่ตามมาจากการทำสิ่งนี้คือ การที่นักเรียนมีชุดความรู้ชุดเดียว ซึ่งเป็นชุดที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ ยังเป็นชุดความรู้ที่ทำให้เด็กไทยมีความรู้จำกัด ยกตัวอย่างกว่าที่จุ๊ยจะได้เรียนวรรณกรรมต่างประเทศและวรรณกรรมคลาสสิกต่างๆ ก็ต้องเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี ตรงข้ามกับเด็กต่างประเทศที่ได้เรียนวรรณกรรมคลาสสิกตั้งแต่มัธยม แต่เราถูกผูกขาดอยู่ด้วยชุดความรู้ที่จะต้องรู้วรรณกรรมของชาติทั้งหมดโดยไม่มีพื้นที่เหลือให้กับเรื่องที่เป็นความสากลหรือเรื่องที่จะทำให้เด็กเราสามารถคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง
จุ๊ยเปรียบเด็กไทยเป็นเหมือนดอกไม้ที่โตผ่านคอนกรีต ที่ต้องดิ้นรนแสวงหาองค์ความรู้ต่างๆ เพื่ออยากรู้ว่าเรื่องแต่ละเรื่องเป็นอย่างไรกันแน่ ตอนนี้เป็นสมัยที่เด็กหยิบมือถือขึ้นใช้ในห้องเรียนระหว่างที่สอนอยู่ เพื่อเช็กว่าสิ่งที่เราสอนนั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นโลกจึงวิ่งไปจนถึงขั้นที่เด็กรู้สึกว่าสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่รัฐเองต่างหากที่ไม่ปรับเข้ากับวิธีการเรียนรู้สมัยใหม่จึงทำให้เกิดการชนกันและเกิดวาทกรรมที่รัฐต้องการทำให้เด็กโง่ และเด็กไทยถูกแช่แข็งอยู่ในคอนกรีตไปโดยปริยายจากกระบวนการทั้งหมดที่รัฐพยายามรักษาอำนาจของตัวเองผ่านกระบวนการต่างๆ ที่เป็นการคุกคามเชิงความรู้และความคิด

สุนันทา บวบมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image