ส่องสภาล่มซ้ำซาก ส.ส.ต้องร่วมรับผิดชอบ

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ-นักการเมือง กรณีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม ได้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติรับทราบรายงานดังกล่าว แต่มีสมาชิกเพียง 197 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงสั่งปิดการประชุม นับเป็นสภาล่มครั้งที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ และครั้งที่ 16 ของสภาผู้แทนฯชุดนี้

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

รัฐบาลเขาเห็นเป็นเรื่องปกติ สภาล่มก็ล่ม มองในลักษณะแบบนั้น ฉะนั้นเขาไม่ถือ หลายคนมองว่ากรณีนี้เป็นการบีบให้ยุบสภา แต่รัฐบาลเห็นเป็นเรื่องปกติ อีกอย่างคือรัฐบาลบอกว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว พยายามฟ้องประชาชนด้วยซ้ำไป

Advertisement

อย่างวันนี้ก็มีการยกเอาตัวเลขมาดูว่าพรรคไหนขาดประชุมสภาเท่าไหร่ ผมมองว่าวิธีบีบแบบนี้คงไม่ได้ผลที่จะทำให้รัฐบาลยอมจำนนได้

สภาล่ม 16 ครั้ง จะเรียกว่าไม่ปกติก็ว่าได้ ล่มเกือบทุกอาทิตย์ การที่ ส.ส.ไม่ประชุมสภา กฎหมายก็ไม่ผ่าน แต่รัฐบาลไม่เห็นเป็นเรื่องเสียหาย ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลอยู่ฝ่ายเดียว เป็นความผิดของ ส.ส.ที่ไม่ทำหน้าที่ เมื่อได้คนรับผิดแล้วเขาก็สบายใจ

ถามว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของสภาเสียหรือไม่ ต้องบอกว่าภาพลักษณ์เสียมาตั้งแต่ต้นแล้ว เวลามองการเมือง เราพยายามวิพากษ์วิจารณ์ด้วยภาวะการเมืองปกติ แต่การเมืองนี้ไม่ปกติมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ออกรัฐธรรมนูญ 2560 หมายถึงว่า อะไรที่เกิดขึ้น เราคิดว่าจะออกไปในแนวทางปกติ อย่างนี้ อย่างนั้น ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ได้ก็ต้องปรับ ครม. ต้องดึงพรรคร่วมมาเพิ่มขึ้น คือเรามองแบบการเมืองปกติว่าสภาต้องดำเนินไปได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบองค์ประชุมเพราะเป็นเสียงข้างมาก แต่รัฐบาลบอกเป็นเรื่องปกติ นายกฯเองก็ไม่เห็นว่าจะมีท่าทีวิตกกับคำว่าเสียงปริ่มน้ำ

Advertisement

ก็เพราะระบอบนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสภา ถ้าให้ความสำคัญ ถามว่าจะเอา 250 ส.ว.มาร่วมโหวตทำไม จะเห็นว่าไม่ปกติตั้งแต่ต้น เราเอาประเพณีการเมืองปกติไปจับระบบที่ assign พิเศษไม่ได้หรอก เขาก็พูดแต่ต้นของการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วว่า ออกแบบมาเพื่อเรา ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับระบอบนี้ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าเราเอาการเมืองปกติไปจับไม่ได้ อย่างไรเสีย พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ยุบสภา สภาจะล่มก็ล่มไปสิ บอกแล้วว่าล่มเพราะฝ่ายค้านไม่มาประชุมอีกต่างหาก ใช่ความผิดรัฐบาลเสียเมื่อไหร่

ในส่วนการขยับของพรรคเพื่อไทย ถ้าเพื่อไทยสนับสนุนให้รัฐบาลอยู่ต่อ นั่นสิแปลก พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลอยากเลือกตั้งใหม่ แต่ว่า ส.ส.พรรคอื่น ผมไม่ทราบ ฝ่ายรัฐบาลคงไม่อยาก ซึ่งรัฐบาลก็แสดงออกมาให้เห็นแล้วว่า วิธีนี้ล้มฉันไม่ได้ ฉันไม่ยุบ

นี่คือการเมืองในภาวะไม่ปกติ ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนขาดหายไป ประชาชนไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร กล่าวคือการเกิดปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เป็นการต่อรองเพื่อพรรคพวกตัวเอง

ผมว่าในสายตาของผู้คน ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยกันทั้งนั้น ผมเคยเตือนฝ่ายค้านเหมือนกันว่า เล่มเกมอย่างนี้อย่านึกว่าบวกนะ

ชัยธวัช เสาวพนธ์
อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะนักวิชาการอิสระ

กรณีสภาล่มซ้ำซาก ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ถือเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากเป็นบทบาทหน้าที่ มีเสียงเกินกึ่งในสภา ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ แต่ตัวแปรสำคัญคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกขับไล่ออกจากพรรคพร้อมกับ ส.ส.อีก 18 คน ไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ไม่แสดงตนในการประชุมสภา ทำให้มีการเจรจาต่อรองทางการเมืองเป็นครั้งๆ ไป

ผลสภาล่ม ทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ลำบาก และเสถียรภาพสั่นคลอน เชื่อว่าการประชุมสภาช่วงพฤษภาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้าเสนอกฎหมาย หรือญัตติให้สภาพิจารณา อาจถูกฝ่ายค้านคว่ำกฎหมายดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ ตามข้อต่อรอง ร.อ.ธรรมนัสและ ส.ส.ในสังกัด

ส่วนผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่กรุงเทพฯ อาจส่งผลให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งสมัยหน้าเพิ่มขึ้น สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อให้เสถียรภาพรัฐบาลใหม่มั่นคง และต่อสู้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากอำนาจเผด็จการได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ อาจไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหน้าได้ เนื่องจากประชาชนไม่ไว้วางใจและสนับสนุนอีกแล้ว

นิกร จำนง
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา
ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

กรณีองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มถึง 2 ครั้งในการประชุมสภาช่วง 3 วันนั้น เชื่อว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สมาชิกทุกคนรู้ว่าเป็นช่วงปีสุดท้ายของสภา เป็นช่วงที่ต้องนับถอยหลังกันแล้ว ต้องใช้สภาให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มที่ สภาต้องอยู่เพื่อประชาชน เวลาสำหรับเล่นการเมืองโดยใช้สภาเป็นสมรภูมินั้น ไม่มีเหลือแล้ว ดังนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าจากนี้สถานการณ์การประชุมสภาจะดีขึ้น

ผมเชื่อว่าสมาชิกคงเข้าใจในสถานการณ์ร่วมกัน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสียหายพอกันสำหรับทุกฝ่าย เกิดความเสียหายขึ้นกับทุกคน ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยเฉพาะชื่อของทุกคนไปปรากฏอยู่ในสื่อหมดแล้ว ผมจึงเชื่อว่าสถานการณ์ในสภาจะดีขึ้น โดยที่ไม่ได้เกิดจากการล็อบบี้ใดๆ แต่เกิดจากการที่ทุกคนเข้าใจในสถานการณ์แล้ว และใช้เวลาที่เหลือของสภาให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน

เพราะรายงานของกรรมาธิการถือว่ามีความสำคัญมาก เป็นงานของสภาโดยแท้ แบบไม่มีฝัก ไม่มีฝ่าย และยังมีกฎหมายสำคัญที่มีประโยชน์อีกหลายฉบับ

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์
ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะวิปรัฐบาล

กรณีที่องค์ประชุมสภาไม่ครบทำให้องค์ประชุมสภาล่ม 2 ครั้ง ในช่วงการประชุมสภา 3 วันนั้น ไม่ใช่เป็นการดิสเครดิตรัฐบาล แต่เป็นการสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และภาพลักษณ์ของสภา เพราะทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าขณะนี้มี ส.ส.หลายคนโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ระหว่างการรักษาตัว และอยู่ระหว่างกักตัวของกลุ่มเสี่ยง โดยระเบียบวาระการประชุมเมื่อวานนี้ รายงานที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งก็เป็นผลงานที่ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้ร่วมกันพิจารณา ไม่ใช่กฎหมายของรัฐบาล ดังนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านน่าจะเข้าใจสภาวะโควิด และน่าจะช่วยกันทำภารกิจให้เสร็จสิ้นไป โดยที่ไม่มองเป็นเกมการเมือง

การที่สภาล่มนั้น ความเสียหายไม่ได้เกิดกับรัฐบาล แต่เกิดกับพี่น้องประชาชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภา เพราะประชาชนเขาเฝ้ารอดูการทำงานของผู้แทนของเขาอยู่ และเขาจะตำหนิเอาได้ว่า ส.ส.มัวแต่เล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป จนไม่สนใจผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ก็พยายามจะรักษาภาพพจน์ของสภา ไม่ได้เป็นการเตะถ่วงตามที่มีการกล่าวหา เพราะรายงานของกรรมาธิการนั้นเป็นของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ทำร่วมกัน จึงอยากให้ฝ่ายค้านเข้าใจสถานการณ์ และมีน้ำใจมากกว่านี้ ต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ส่วนการจะเล่มเกมการเมืองนั้นขอให้รอในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และในการพิจารณากฎหมายงบประมาณ

แต่ตอนนี้ขอให้ช่วยประคับประคองให้การทำงานของสภาเดินหน้าไปได้เพื่อประชาชน อย่าเอาเรื่ององค์ประชุมมาเป็นเกมการเมือง

จิราพร สินธุไพร
ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาล่มซ้ำซากนั้น สถานการณ์เสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ วันนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตและไม่มีสภาพในการบริหารประเทศต่อไปอีกแล้ว การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนับองค์ประชุม และไม่แสดงตน ถือเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามกลไกรัฐสภา และยังยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่จะไม่ช่วยต่อลมหายใจให้กับรัฐบาลเผด็จการ สืบทอดอำนาจ ที่หมดสภาพในการบริหารประเทศ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้

อย่าลืมว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร และใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นบันไดเพื่อให้ตนเองสามารถสืบทอดอำนาจต่อ ใช้ ส.ว. 250 คนมาค้ำบัลลังก์ เกิด ส.ส.ปัดเศษมากมาย จนสุดท้ายได้ตั้งรัฐบาลแบบเสียงปริ่มน้ำ มีการใช้พลังดึง ส.ส.จากฝ่ายค้านไปร่วมรัฐบาลจนเสียงรัฐบาลและฝ่ายค้านแตกต่างกันมากไม่ปริ่มน้ำเหมือนตอนเริ่มต้นแต่ต่อมาเกิดปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทำให้ ส.ส.บางส่วนย้ายออก ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาลที่สร้างผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง

ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใส่ใจปัญหาและผลประโยชน์ของประชาชนจริง จะไม่มีวันที่สภาล่มซ้ำซาก เพราะรัฐบาลคือเสียงข้างมากในสภา ตอนอยากเป็นรัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อให้สามารถเป็นรัฐบาลลากตั้ง แต่พอบริหารล้มเหลว ไม่สามารถทำให้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลมาทำงานได้ จนสภาล่ม กลับมาโทษฝ่ายค้านว่าไม่เป็นองค์ประชุมให้ ถ้าหวังจะบริหารประเทศด้วยเสียงข้างน้อยก็ไม่ควรดันทุรังเป็นรัฐบาลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออก เพื่อเปิดทางให้คนที่พร้อมบริหารประเทศมาทำหน้าที่แทน

รศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ในมุมมองของผม เนื่องจากลักษณะการเกิดสภาล่มแบบนี้ ไม่ใช่ล่มครั้งนี้ครั้งเดียว แต่ล่มต่อเนื่องมาเป็นระยะอย่างมีนัยยะ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของฝ่ายรัฐบาลในการดูแลเสียงฝั่งตัวเอง ซึ่งยังคงตอกย้ำความไม่เป็นเอกภาพอยู่เหมือนเดิม

ประเด็นคือ เมื่อมีฝ่ายค้านเติมเข้ามา จึงโยงไปเรื่องของความเป็นไปอันใกล้นี้ อย่างการยุบสภา และยังส่งผลถึงกฎหมายต่างๆ นานา แต่มีปมหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการว่า ถ้ายุบตอนนี้ในแง่ของกฎหมายที่ยังไม่ออกมา หรือยังไม่แล้วเสร็จจะเป็นอย่างไร เป็นโจทย์ที่น่าติดตามต่อไป

เรื่องดังกล่าวส่งสัญญาณอันตรายแน่นอน เพราะเมื่อสภาล่มหลายครั้ง ภาพลักษณ์สภาย่อมดูไม่ดี ในมุมมองของนักวิชาการ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ เนื่องจาก ส.ส.อาสาเป็นตัวแทนประชาชนเข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตรวจสอบ ก็ต้องทำหน้าที่นี้ให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการนั่งในสภาแต่ไม่ออกเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ไปให้ผู้ที่อยู่ในหน้าที่ดังกล่าว “ทำหน้าที่นี้”

ทั้งนี้ มีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีแต้มต่อทางการเมือง มีการวิเคราะห์กันด้วยว่า ถ้าสมมุติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาจนแล้วเสร็จ ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะต้องย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไข

ผมมองภาพการเมืองขณะนี้ว่ามีโอกาสที่จะยุบสภา ถ้าเกิดสภาล่มหลายครั้ง แน่นอนว่าผู้นำสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรี ต้องพิจารณาแล้วว่าจะเลือกทางไหน เราจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้เลือกทางนั้นมาตั้งนานแล้ว รวมถึงมีการวิเคราะห์แนวโน้มว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลงมากุมบังเหียนแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลงมาคุมเอง ในมุมมองของผม พรรคพลังประชารัฐก็ยังคงเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาลอยู่ดี ที่รอวันแยก สลายตัว ไม่ต่างจากพรรคชาติสังคมในอดีต

อย่างไรก็ตาม ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตรวจสอบ (ฝ่ายค้าน) ตระหนักในหน้าที่ว่าระหว่างที่ทุกท่านแข่งขันกันและดำเนินเกมทางการเมืองไป ทุกครั้งที่เข้ามาทำหน้าที่ในสภา มีวาระต้องประชุม ท่านต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ ไม่เช่นนั้นท่านจะโดนตำหนิ ไม่ว่าท่านจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตามแต่ ท่านต้องถามตัวเองว่า ตอนนี้ท่านเป็นผู้แทนปวงชนหรือไม่ นั่นคือหมวกที่สวมอยู่ โปรดสวมให้เหนือกว่าหมวกที่ท่านจะเชือดเฉือนสู้กัน ว่ากันไปตามกติกา แต่ว่าท่านต้องทำหน้าที่ให้ประชาชนได้เห็นภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image