รายงานหน้า2 : ปมระอุ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ‘มะกัน-นาโต’เตรียมพร้อม เสี่ยงจุดไฟสงคราม

สถานการณ์ในยุโรปตะวันออกขณะนี้มีความเปราะบางอย่างยิ่ง สุ่มเสี่ยงจะนำยุโรปเข้าสู่ภาวะสงครามเต็มรูปแบบได้ในรอบหลายทศวรรษ

หากรัสเซียเปิดฉากเคลื่อนพลบุกรุกรานยูเครน ชาติเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ใต้ชายคาสหภาพโซเวียตมาด้วยกันขึ้นมาจริงๆ อย่างที่หลายชาติเป็นกังวล

โดยเฉพาะพันธมิตรตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เวทีความร่วมมือด้านความมั่นคงในยุโรป ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรง

หลังจากมีการจับสัญญาณความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียที่เป็นภัยคุกคามมาได้ตั้งแต่ปลายปีก่อนโดยฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาที่ระบุอ้างว่า รัสเซียได้สะสมกำลังทหารกว่า 100,000 นาย ประชิดชายแดนทางตะวันตกของประเทศติดกับยูเครน

Advertisement

ทั้งยังมีภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ารัสเซียเคลื่อนยุทโธปกรณ์หนักเข้าไปปฏิบัติการซ้อมรบภาคพื้นดินห่างจากชายแดนยูเครนเพียง 300 กม.เท่านั้น

บรรยากาศยิ่งระอุหนักเมื่อรัสเซียเคลื่อนกำลังพลราว 30,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปยังเบลารุส ชาติพันธมิตรรัสเซียที่ตั้งอยู่ติดพรมแดนตอนเหนือของยูเครนเมื่อเร็วๆ นี้ โดยรัสเซียอ้างว่าเป็นไปเพื่อการซ้อมรบร่วมกับเบลารุสที่จะมีขึ้นในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้เท่านั้น ขณะที่รัสเซียยังคงยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้มีแผนการรุกรานยูเครนอย่างที่มีการกล่าวหา

อย่างไรก็ดี พันธมิตรตะวันตกและสมาชิกนาโตอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ให้การสนับสนุนยูเครน ไม่ได้เชื่อในคำกล่าวอ้างของรัสเซีย และได้ส่งสัญญาณปรามทั้งโดยขู่เตือนว่ารัสเซียจะเผชิญการตอบโต้รุนแรงหากลงมือโจมตียูเครน

Advertisement

โดยเคลื่อนไหวทางทหารด้วยการสั่งกำลังพล 8,500 นายของสหรัฐให้เตรียมพร้อม ก่อนจะส่งกำลังพลราว 3,000 นาย เข้าไปประจำการในเยอรมนี โปแลนด์ และโรมาเนีย แล้วภายใต้กองกำลังตอบโต้เร็วของนาโต เพื่อจะได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือยูเครนในทันที หากถูกรัสเซียบุกโจมตี

นอกจากนี้ ชาติพันธมิตรนาโตอื่นๆ ยังได้ส่งกำลังพลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมสมทบในกองกำลังตอบโต้เร็วของนาโตเพื่อปกป้องยูเครนเช่นกัน

พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ มานับตั้งแต่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมีย ที่เคยอยู่ภายใต้อาณัติปกครองของยูเครน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้สำเร็จในปี 2014 ซึ่งเป็นปมขัดแย้งหลักใหญ่ที่ฉุดลากความสัมพันธ์ยูเครน-รัสเซียดิ่งเหว

แต่หากย้อนรอยความขัดแย้งระหว่างสองชาติ ต้องย้อนไปไกลถึงตอนที่ยูเครนได้แยกตัวเป็นเอกราช หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

โดยยูเครนหันไปเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น หลังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ วิกเตอร์ ยูเชนโก ประธานาธิบดียูเครน ในปี 2005 ซึ่งยังพยายามผลักดันให้ยูเครนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ที่เป็นอีกหนึ่งปมขัดแย้งสำคัญระหว่างสองชาติ

ทว่าความหวังจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน ถูกดับฝันไปในยุคปกครองของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้นำยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซียและพยายามฟื้นฟูสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับทำเนียบเครมลิน

ก่อนที่ยานูโควิชจะถูกรัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่งในปี 2014 โดยยานูโควิชได้หนีไปขอความช่วยเหลือรัสเซียจากการที่ตนเองถูกถอดถอนโดยไม่ชอบธรรม

และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่เปิดทางให้รัสเซียยื่นมือเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน ด้วยการให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนไครเมียที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซียเคลื่อนไหวอยู่ จนนำไปสู่การลงประชามติให้ผนวกดินแดนไครเมียเข้ากับรัสเซียในที่สุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ปี 2014

ภูมิภาคดอนบาส ที่ประกอบด้วยมณฑลโดเนตสค์และมณฑลลูฮันสค์ ตั้งอยู่ในทางภาคตะวันออกของยูเครน เป็นอีกหนึ่งด่านความขัดแย้งของการเผชิญหน้าระหว่างสองชาติ ที่รัสเซียให้การสนับสนุนทั้งกำลังทหารและอาวุธแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอสบาส ที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากยูเครน ส่งผลให้เกิดสู้รบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 และทำให้มีผู้คนต้องล้มตายไปแล้วมากกว่า 14,000 ราย

แต่ตัวแปรความขัดแย้งสำคัญในห้วงเวลานี้ มาจากการที่รัสเซียเห็นว่ายูเครนได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตกและนาโตมากขึ้น

ทั้งการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้และการสนับสนุนทางยุทธวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะอ้าแขนรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งรัสเซียคัดค้านมาโดยตลอด

โดยมองว่าเป็นความพยายามแผ่ขยายอิทธิพลรุกคืบเข้ามาในยุโรปตะวันออกมากขึ้นของนาโต ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย

เห็นได้ชัดจากที่ประเด็นนี้ถูกระบุอยู่ในข้อเรียกร้องสำคัญของรัสเซียที่ยื่นต่อนาโต นอกเหนือจากการเรียกร้องให้นาโตถอนกำลังทหารและระบบขีปนาวุธที่มีประจำการอยู่ในชาติสมาชิกนาโตในยุโรปตะวันออกออกไปเพื่อลดวิกฤตการเผชิญหน้า

แต่ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องสำคัญนี้ของรัสเซียจะไม่ได้รับการตอบสนองจากสหรัฐและพันธมิตรนาโตเท่าไรนัก

ขณะที่ความพยายามทางการทูตเพื่อโน้มน้าวให้รัสเซียยับยั้งชั่งใจจากการกระทำอันใด ที่เสี่ยงจะจุดสงครามครั้งใหญ่ในยุโรปขึ้นได้ยังคงดำเนินต่อไป

โดยตะวันตกขู่จะคว่ำบาตรประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และคนใกล้ชิดหากรัสเซียรุกรานยูเครน ล่าสุดสหรัฐออกมาขู่ว่าจะขวางโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 จากรัสเซียไปยังเยอรมนี ซึ่งจะเป็นแหล่งสร้างความมั่งคั่งให้กับรัสเซีย

ในอีกทางหนึ่งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ก็บินไปหารือกับปูติน ซึ่งผู้นำรัสเซียระบุว่าพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอของมาครงและพร้อมประนีประนอมเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม

ต้องจับตาดูต่อไปว่าสถานการณ์ตึงเครียดที่สุดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ จะยุติลงด้วยรูปแบบไหน?

จะเกิดสงครามครั้งใหม่หรือไม่!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image