‘จุรินทร์’เดินหน้าประกันรายได้ สู่ปีที่4ฟื้น ศก.ไทย

‘จุรินทร์’เดินหน้าประกันรายได้ สู่ปีที่4ฟื้น ศก.ไทย หมายเหตุ - นายจุรินทร์

หมายเหตุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประกันรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาเรื่อง ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กเครือมติชน ไลน์ออฟฟิเชียลมติชน และยูทูบมติชนทีวี ที่อาคารสํานักงาน บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์

นโยบายการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยต้องบอกก่อนว่า ราคาสินค้าไม่สามารถรับประกันได้ แต่รายได้สามารถรับประกันได้เนื่องจากราคาสินค้าขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ที่หากมีความต้องการมาก แต่ผลิตออกมาน้อย ราคาก็จะสูง แต่หากความต้องการน้อย ผลผลิตล้นตลาด ราคาก็ตกลงมา ซึ่งถือเป็นจุดตัดที่ไม่สามารถบังคับได้ โดยนโยบายประกันรายได้เกิดขึ้นจากพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นเงื่อนไข 1 ใน 3 ข้อ ก่อนการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมรัฐบาล คือ 1.ต้องรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกร 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และ 3.ต้องบริหารแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

หากไม่รับทั้ง 3 ข้อนี้จะไม่พิจารณาเพื่อตัดสินใจในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่สุดท้ายได้รับความกรุณาจากนายกรัฐมนตรี และการเห็นชอบจากพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นโยบายในการประกันรายได้เกษตรกรจึงเกิดขึ้น เป็นนโยบายของรัฐบาล และแถลงผูกพันต่อรัฐสภาแล้ว ทำให้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร สามารถดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 3 และกำลังขึ้นปีที่ 4 แล้ว

สำหรับหัวข้อสัมมนาที่ตั้งไว้คือ ประกันรายได้เกษตรกร พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ถามว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร คำตอบคือ การประกันรายได้เกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะประกันรายได้ให้พืชเกษตร 5 ชนิด เพื่อช่วยเกษตรกรโดยตรงแล้วยังถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพราะเกษตรกรถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ โดยการประกันรายได้ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในช่วงที่พืชเกษตรตกต่ำ เพราะช่วงที่พืชราคาดีจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อราคาพืชตกต่ำลง จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างในการหากลไกใดมาแก้ปัญหา เพราะหากรัฐไม่สามารถดึงราคาขึ้นมาให้เกษตรกรพออยู่พอกินได้ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือเกษตรกร ทำให้การประกันรายได้จึงเป็นตัวช่วยสำคัญ เนื่องจากหลักของประกันรายได้คือ หากราคาพืชเกษตรต่ำกว่ารายได้ที่ประกันไว้ อาทิ ข้าว 5 ชนิดที่รับประกันรายได้ หากข้าวเปลือกราคาเกวียนละเกิน 10,000 บาทขึ้นไป รัฐบาลก็ไม่ได้เอาเงินส่วนที่เกินคืนมา แต่หากราคาต่ำกว่า 10,000 บาทที่ประกันไว้ อย่างราคาลดลงมาอยู่ที่ 8,000 บาท

Advertisement

นโยบายนี้จะเป็นส่วนให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทาง คือ 1.สามารถนำข้าวไปขายในตลาดได้ 1 ส่วน จำนวน 8,000 บาท นำใส่กระเป๋าซ้ายไว้ก่อน และ 2 กระเป๋าขวาเป็นส่วนต่างจากที่ประกันไว้ จำนวน 2,000 บาท ซึ่งรัฐบาลจะโอนเข้าบัญชีธนาคารที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้โดยตรง ไม่สามารถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้รวมอยู่ที่ 10,000 บาท ตามที่ประกันไว้

มาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า พืชเกษตรราคาดี ผมกล้าพูดว่าเกือบจะทุกตัวมีราคาดี อาทิ ข้าวเปลือกเจ้าที่วิจารณ์กันในช่วงที่ผ่านมาว่าราคา 5-6 บาทต่อกิโลกรัม หรือเกวียนละ 5,000-6,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะราคาปรับขึ้นไปอยู่ที่ 8,000-8,500 บาทต่อเกวียนแล้ว รวมถึงยางพารา 3 กิโลกรัม 100 บาทเคยถูกวิจารณ์มาตลอด แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะยางแผ่นดิบราคาเกิน 60 บาทต่อกิโลกรัม ราคาประกันกำหนดไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงเห็นน้ำยางข้นประกันรายได้ ราคาขึ้นไปที่ 67 บาทต่อกิโลกรัม ราคาประกันอยู่ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง สมัยก่อนหากกิโลกรัมขึ้นไปที่ 12-15 บาท ต้องไปจุดธูปแก้บน แต่ตอนนี้ขึ้นมาที่ 27 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างประกันราคาให้เกษตรกร

Advertisement

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่พบเกษตรกรจังหวัดเลย บอกว่าราคาขี้ยางปรับขึ้นที่ 29 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ส่วนมันสำปะหลัง แต่ก่อนราคาวนเวียนอยู่ที่ 1.70-1.80 บาทต่อกิโลกรัม หากแตะ 2 บาทต่อกิโลกรัมได้ต้องร้องไชโย แต่ขณะนี้ราคาขึ้นไปที่ 2.50-2.70 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ข้าวโพด ประกันรายได้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ราคา 10-10.50 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ปาล์มน้ำมัน ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็นรองนายกฯ ราคาวนอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท แต่วันนี้ราคาปาล์มขึ้นไปสูงสุดถึง 12 บาทต่อกิโลกรัม และทยอยอ่อนลงมาอยู่ที่ 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งกำหนดประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท แต่ราคาตอนนี้สูงกว่ากำหนดประกันรายได้ถึง 4 เท่า ทำให้พืชเกษตรถือว่าราคาดีเกือบทุกตัว

ผลไม้ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ราคาดีหมด เนื่องจากเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ได้เรียนในสภาผู้แทนราษฎรว่า ทุเรียนเฉลี่ย 120 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2564 มังคุด เกรดส่งออกบางช่วงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 220 บาท ส่วนผลผลิตอื่นๆ ก็ถือว่าดีเกือบทุกตัว ยกเว้นบางช่วงที่ผลผลิตทะลักออกมาและล้งเดินทางไปรับไม่ทัน เพราะว่าเกิดโควิด อาทิ มังคุดที่ช่วงติดโควิด และล็อกดาวน์ ราคาจึงลดลงมา แต่ตอนหลังเข้าไปแก้ปัญหาทันท่วงที ซึ่งช่วยให้ดีขึ้นมาได้ แต่หากเฉลี่ยแล้วต้องถือว่าราคาดีขึ้น โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โครงการประกันรายได้เกษตรกร ส่งเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.5-5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวดำเนินการเข้สู่ปีที่ 3 และยังต้องขับเคลื่อนต่อไปตราบเท่าที่รัฐบาลนี้บริหารงานแผ่นดินอยู่ เข้าสู่ปีที่ 4 เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ผูกพันรัฐสภาและคนไทยทั้งประเทศแล้ว ขณะเดียวกัน หากพรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสทำหน้าที่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรยังเป็นนโยบายสำคัญ และจะต้องขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต แม้พ้นรัฐบาลนี้แล้วในทางการเมือง เพราะโครงการนี้ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกร พัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงแก้ไขปัญหาการเมืองด้วย

สิ่งสำคัญคือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรไม่ได้ส่งผลเฉพาะแค่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจฐานรากเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเมืองด้วย โดยสังเกตว่า ตั้งแต่มีโครงการดังกล่าว ม็อบเกษตรกร ดูเหมือนเราจะเกือบลืมไปเลย มีน้อยมาก หากมาก็เป็นเรื่องอื่นถามว่าทำไมถึงหายไป เหตุผลคือ เพราะมีประกันรายได้เกษตรกร ทำให้มีตัวช่วยในยามที่พืชเกษตรตกต่ำ ทำให้ยังมีส่วนต่างที่ช่วยพยุงชีวิต พยุงรายได้ให้เกษตรกรอยู่ได้ สำคัญอีกข้อคือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ไม่มีการทุจริต และทุจริตไม่ได้ ยกเว้นจะมีไม่กี่คนที่ไปขึ้นทะเบียน และลงทะเบียนเป็นเท็จ อาทิ ความจริงมีไร่ 3 ไร่ แต่เพิ่มเองเป็น 7 ไร่ เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้น แต่อันนี้ก็ไม่ได้ทำง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองค่อนข้างมาก อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล รวมถึงเงินส่วนต่างที่ยังมองไม่ออกว่าจะทำการทุจริตได้อย่างไร เนื่องจากต้องโอนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรงถึงเกษตรกร มีการตรวจบัญชีจากทะเบียนของเกษตรกร และในปีถัดไปจึงนำบัญชีมาเก็บเงินจากรัฐบาล ทำให้การทุจริตเกือบจะเรียกว่าไม่มี และทำได้ยากมาก

อนาคตของเกษตรกร และภาพรวมเศรษฐกิจไทยเชื่อมั่นว่าภาคการเกษตรยังเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราจะต้องสนับสนุนต่อไป ไม่ควรไปด้อยค่าภาคการเกษตร เพราะถือเป็นฐานราก เป็นความเป็นไทยของเรา จะเติมส่วนอื่นๆ ก็เติมไป แต่ต้องไม่ทิ้งเกษตรกรรม เนื่องจากหลายประเทศที่ไม่มีเกษตรกรรม เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 หลายประเทศที่ไม่มีเกษตรกรรม ทำให้ข้าวไม่มีจะกิน แม้มีเงินซื้อ แต่ไม่มีข้าวอยู่ในประเทศแม้แต่เม็ดเดียว คนไทยอย่างน้อยก็มีข้าวกิน มีพืชเกษตรบริโภค เพราะคือฐานความเป็นเราที่ต้องรักษาไว้ โดยอนาคตทางการเกษตรที่ต้องทำคือ อย่างน้อยที่สุด ต้องเดินหน้าไปสู่การพัฒนาการเกษตรของเรา ให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง ไม่ใช่แค่มีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น จะต้องสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หากติดตามจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ในด้านการเกษตรแปรรูปของเราพัฒนาไปไกลมากแล้ว อาทิ ข้าว กลายเป็นเครื่องสำอางได้แล้ว ทำให้ขายได้ราคามากขึ้น ทำให้เราต้องเดินหน้าไปทางนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายเศรษฐกิจที่เราควรเดินหน้าต่อไปในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย คือ ไบโออีโคโนมี ซึ่งมองว่าส่วนนี้คืออนาคต และถือเป็นความหวัง โดยไบโออีโคโนมีจะต้องถูกขับเคลื่อน เพราะถือเป็นอนาคตเศรษฐกิจตัวหนึ่งของไทยที่มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลได้จริง

นอกจากการขับเคลื่อนภาคการเกษตร ในส่วนของภาคการส่งออก ถือเป็นเป้าหมายที่ต้องเดินหน้าต่อไปโดยการส่งออกไทยได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ ภายใต้การร่วมมือของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.) พาณิชย์ ซึ่งเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราไม่ได้ทำเพียงลำพังในส่วนของภาครัฐเท่านั้น และไม่ได้ปล่อยให้ภาคเอกชนทำเองแบบเดียวดาย แต่เราจับมือร่วมกัน ทำให้เฉพาะในปี 2564 ภาคการส่งออกไทยสามารถนำเงินเข้าประเทศได้กว่า 8.5 ล้านล้านบาท บวก 17.1% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ส่วนนี้คือความสำเร็จ ที่ไม่ใช่แค่ของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น แต่เป็นของทุกองคาพยพที่ร่วมมือกัน โดยหากไม่มีภาคการส่งออกมาช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปจากการระบาดโควิด-19 ในปี 2564 ประเทศไทยเดี้ยงแน่นอน เพราะภาคการท่องเที่ยว รายได้หายไปเกือบหมด จากเดิมที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของจีดีพี แต่โทษรัฐบาลไม่ได้และไม่สามารถโทษใครได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก เนื่องจากมีสาเหตุจากการระบาดโควิด-19 โดยมองว่า นอกจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออกแล้ว ภาคการเกษตรก็ถือเป็นเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ส่วนหากมีการเปิดให้เดินทางข้ามประเทศได้มากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้น และต้องรีบฟื้นตัวให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ควบคู่กับภาคการส่งออกและภาคการเกษตร

รวมถึงเรื่องซอฟต์ เพาเวอร์ มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องแทรกเข้าไปในทุกอณูของภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการของไทย ในการขายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการที่เรานับ 1 มาแล้วในเรื่องการทำดิจิทัล คอนเทนต์ การสนับสนุนให้ทำแอนิเมชั่น สร้างภาพยนตร์ บทละครต่างๆ ซึ่งมองว่าฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยจากประสบการณ์ที่ได้ดูการแสดงการ์ตูนต่างๆ เห็นว่าผู้ที่วาดการ์ตูนจนดังไปทั่วโลกได้ หนึ่งในนั้นคือคนไทยหลายคน ต่อไปนี้เราต้องพาศักยภาพของคนเหล่านี้มาต่อเติมให้คนรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเปิดโอกาสมากขึ้น โดยตัวสินค้าและบริการทุกอย่างของไทย จะต้องแทรกซอฟต์ เพาเวอร์เข้าไปด้วยเพื่อขายความเป็นไทย มีความเป็นอัตลักษณ์ในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และความเป็นคนไทย ที่ไม่มีใครคัดลอกได้ ซึ่งเป็นเสน่ห์และจุดขายสำคัญที่เราต้องดึงออกมาให้ได้ รวมถึงทำควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี การส่งออก การท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้จะนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล และช่วยให้เศรษฐกิจเราฟื้นได้เร็ว รวมถึงเศรษฐกิจฐานรากยังคงมีชีวิตอยู่ได้ต่อไป

ขอย้อนกลับไปเรื่องประกันรายได้ มาถึงปีที่ 3จะยังคงขับเคลื่อนต่อไปตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ยังบริหารราชการแผ่นดิน หรือแม้พ้นรัฐบาลนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะยังขับเคลื่อนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image