‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ โชว์แผนเทกออฟ‘บินไทย’

‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ โชว์แผนเทกออฟ‘บินไทย’ หมายเหตุ - นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

หมายเหตุนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ในฐานะคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงความคืบหน้าหลังนำการบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ

⦁ความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟู
การนำการบินไทยเข้าฟื้นฟูกิจการเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น พนักงาน และกิจการ เพื่อทำให้บริษัทอยู่ได้ ขณะนี้ตั้งผู้บริหารแผนแล้ว 5 คน ขณะที่กลุ่มเจ้าหนี้ 7 ราย เข้ามาดูการเงิน มีเจ้าหนี้หุ้นกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และกระทรวงการคลัง โดยเจ้าหนี้กลายมาเป็นผู้บริหารธุรกิจ ทำให้การบินไทยมีโอกาสพ้นจากวิกฤตได้สูง

ช่วงการระบาดโควิด-19 ได้ดำเนินโครงการริเริ่มปฏิรูปธุรกิจ โดยปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร ปรับปรุงสภาพการจ้าง ปรับลดค่าใช้จ่าย เจรจาผู้ให้เช่าอากาศยานในการจัดทำ letter of intent (LOI) เพื่อลดค่าใช้จ่ายอากาศยาน สามารถลดได้ถึง 40-60% หารายได้จากกิจกรรมสนับสนุนเพื่อจัดการสภาพคล่อง อาทิ ขายปลาท่องโก๋ ครัวซองต์ จำหน่ายหุ้นบริษัท BAFSเพื่อนำเงินมาจุนเจือธุรกิจ ปรับปรุงสัญญาเช่าหรือซื้อเครื่องบิน ยกเลิกสัญญาเช่าหรือซื้อเครื่องบิน 16 ลำ จำหน่ายทรัพย์สินรองทั้งอสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ ยังเหลือที่ดินสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อิตาลี อังกฤษ ฮ่องกง เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และขายเครื่องบิน เครื่องยนต์ พัสดุคงคลัง หุ้นในบริษัทร่วม รวมถึงปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพการหารายได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยรวมได้กว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ด้านบุคลากรลดได้ 16,000 ล้านบาท ประสิทธิภาพฝูงบิน 12,000 ล้านบาท เจรจาสัญญาเช่าเครื่องบิน 6,800 ล้านบาท เจรจาสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 4,500 ล้านบาท การจัดซื้อ 1,100 ล้านบาท ปรับปรุงเทคนิคการบิน 719 ล้านบาท โดยปรับปรุงกระบวนการไต่ระดับ ทำให้ประหยัดน้ำมันได้มาก และปรับปรุงประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท ที่ปรับปรุงตารางและกระบวนการทำงานใหม่

สำหรับการปรับลดคน สามารถลดได้ถึง 5 เท่า จากเดิมมกราคม 2563 มีทั้งหมด 29,500 คน (รวมไทยสมายล์) และค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,450 ล้านบาทต่อเดือน หลังเริ่มทำแผนกันยายน 2563 ลดได้ 17% เหลือ 24,500 คน และค่าใช้จ่าย 1,730 ล้านบาทต่อเดือน ต่อมาพฤษภาคม 2564 ลดได้ 44% เหลือ 16,400 คน และค่าใช้จ่าย 730 ล้านบาทต่อเดือน ช่วงพฤศจิกายนลดได้ 49% เหลือ 14,900 คน และค่าใช้จ่าย 660 ล้านบาทต่อเดือน สุดท้ายธันวาคม 2565 จะลดได้อีก 53% เหลือ 14,000 คน และค่าใช้จ่ายประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ บัตรโดยสารกรรมการบริษัท การจ่ายภาษีให้พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร อัพเกรดตั๋วพนักงาน ตั๋วประจำปีพนักงานเกษียณ ค่ารักษาพยาบาลพนักงานและพนักงานเกษียณ ค่าตอบแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือนและลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนอีก 5-9% ปรับตารางการทำงาน วิธีคำนวณค่าล่วงเวลา ลดสิทธิตั๋วพนักงาน ค่ารักษาปรับใช้สิทธิประกันสังคม ลดวันหยุดและวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้เหมือนบริษัททั่วไป

⦁กางแผนสร้างรายได้ฟื้นบริษัท
หลังภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ ทำให้รายได้การขนส่งผู้โดยสารมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากโควิดระลอกแรกเมษายน 2563 มีรายได้ 288 ล้านบาทต่อเดือน ถือว่าแย่สุด พอพฤษภาคมเข้าแผนฟื้นฟู ไม่มีภาระจ่ายหนี้ รายได้ก็เริ่มเพิ่มอย่างต่อเนื่องถึงกรกฎาคม 2564 มีโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” สร้างรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน พอเปิดประเทศพฤศจิกายนรายได้เพิ่ม 10 เท่า ล่าสุดธันวาคมอยู่ที่ 3,015 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นรายได้ขนส่งผู้โดยสาร 1,264 ล้านบาท และการบริการขนส่งสินค้า (คาร์โก) 1,751 ล้านบาท

Advertisement

การเติบโตของรายได้ผู้โดยสารยังไม่นิ่ง คนยังกังวลในการเดินทาง หลังเกิดโอมิครอน มียกเลิกไฟลต์จำนวนมาก แต่โชคดีที่ต่างประเทศเริ่มเปิด คาดว่ามีนาคม-เมษายนนี้จะกลับมาดีขึ้น แต่รัฐบาลต้องไม่เลิกระบบ “เทสต์ แอนด์ โก” ขณะที่รายได้คาร์โกฟื้นตัวต่อเนื่องทุกปี ที่ผ่านมาร่วมกับพันธมิตร อาทิ ไปรษณีย์ไทย ดีเอชแอล เฟดเดอรัล เอ็กซ์เพรส ร่วมกับเบทาโกรขนส่งหมูไปฮ่องกง ขนลูกไก่ไปจีนและออสเตรเลีย ขนปลาแซลมอนจากยุโรปมาเมืองไทยทำทุกอย่าง ถ้าผู้โดยสารกลับมา ต้องไม่ให้รายได้คาร์โกลดลง ตั้งเป้าในปี 2566-2567 ปรับเพิ่มสัดส่วนรายได้คาร์โกจากปัจจุบัน 30% เป็น 50% ถ้าธุรกิจคาร์โกดีจะเป็นรายได้หลัก เพราะรายได้ผู้โดยสารเป็นไปตามซีซั่นและการแข่งขันสูง

ตอนนี้บุกธุรกิจคาร์โกขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องบินบนเส้นทางบินปกติ ยกเว้นบางเส้นทางจะเช่าเครื่องบินขนส่งเป็นการเฉพาะ หรือนำเครื่องที่ว่างอยู่ ขออนุญาตขนสินค้าอย่างเดียวก็ได้ ต้องใช้เวลาและเงินลงทุน ซึ่งธุรกิจคาร์โกเป็นฮีโร่ของเรา ผลประกอบการเมื่อเมษายน 2563-ธันวาคม 2564 สร้างรายได้รวมกว่า 13,500 ล้านบาท จากการขนสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ เช่าเหมาลำกว่า 800 เที่ยวบิน เที่ยวบินคาร์โกกว่า 2,300 เที่ยว ขนวัคซีนกว่า 20 ล้านโดส บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบิน และให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในห้องโดยสาร หรือ Cargo-in-Cabin เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ภายในห้องโดยสารของเที่ยวบินขนส่งสินค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด รองรับความต้องการขนส่งสินค้าที่มากขึ้น ทั้งสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์ อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

มาถึงธุรกิจครัวการบินไทย มีร้านพัฟแอนด์พาย ปาท่องโก๋ ภัตตาคารลอยฟ้า โดยร้านพัฟแอนด์พาย ได้ขยายสาขาในร้านอินทนิลแล้ว 10 สาขา จากเป้า 30 สาขา และนำบางสินค้าเข้าไปวางขายในคาเฟ่อเมซอน เช่น แซนด์วิช รวมถึงขยายสาขาผ่านโมเดลแฟรนไชส์ จะเปิดประมูลมีนาคมนี้ กำลังปรับปรุงทีโออาร์ หลังครั้งแรกไม่มีผู้สนใจ การที่เราทำแฟรนไชส์เพื่อเป็นการพัฒนา ไม่ใช่เพื่อยอดขาย ถ้าหากเพิ่มสาขาร้านจากเดิม 40 สาขา ได้อีก 25% จะมีรายได้สูงขึ้น ล่าสุด ได้จัดเซตบริการนอกสถานที่ อาทิ ห้องประชุมสัมมนา ประชุมบอร์ดบริษัทต่างๆ

⦁แนวโน้มรายได้ 2565 ดีต่อเนื่อง
ในปี 2564 มีรายได้รวมประมาณ 28,000 ล้านบาทขาดทุนน้อยกว่าที่คิดระดับหนึ่ง มีกำไรจากขายทรัพย์สินจากการด้อยค่า และการปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนหน้าปี 2563 ขาดทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นการขาดทุนจริง 5 หมื่นล้านบาท เพราะตั้งด้อยค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท เวลานี้เครื่องบินกลับมาบิน ค่าใช้จ่ายจะกลับมา อย่าไปตกใจว่าการบินไทยมีกำไรแล้ว และในปี 2565 ยังขาดทุนอยู่ แต่ขาดทุนน้อยกว่าเป้าหมาย เพราะยังเก็บลูกเรือและนักบินไว้ใน 5 ปี เพื่อให้สามารถบินได้ ถ้าผู้โดยสารกลับมา ซึ่งนักบินเสียสละ บางคนอยู่บ้านและมาบินเพื่อรักษาสภาพการบิน

ถ้าประเทศไม่ปิด กราฟรายได้ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นทุกเดือน เพิ่มจากธันวาคมปีก่อน 3,015 ล้านบาท อยู่ที่5,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ยังต่ำกว่าที่ควรจะได้7,000-8,000 ล้านบาทต่อเดือน เพราะโดยปกติการบินไทยจะมีรายได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือเดือนละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามรายได้ที่เข้ามาเท่ากับครึ่งทางที่หวังไว้ ทำให้เราปรับลดเงินกู้ลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมมีแผนกู้ 5 หมื่นล้านบาท

โดยจะกู้เงินผ่านธนาคารของรัฐ อยู่ระหว่างทำรายละเอียด ตั้งเป้าไม่เกินไตรมาสที่ 2/2565 ต้องได้เงินกู้แล้ว เพราะมีกระแสเงินสดเหลืออยู่ 2,000-3,000 ล้านบาท จะใช้ได้ถึงพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ คงเป็นการยากจะทำให้การบินไทยกลับมามีรายได้ 1 แสนล้านบาท เพราะโควิดคนยังกังวลเรื่องการเดินทางแต่ถ้าจะให้การบินไทยอยู่ได้สบายๆ ต้องมีรายได้ปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท การจะทำให้แผนฟื้นฟูทะลุเป้า ในเวลานี้ไม่มีอะไรน่าหนักใจ คาดว่าภายในปี 2567-2568หรือใน 3 ปีนี้ การบินไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะการมีกำไรได้เร็วขึ้นจากเดิมคาดว่าภายใน 3-5 ปี

⦁เล็งกลับมาเปิดเส้นทางการบิน
ภายในไตรมาส 2/2565 จะรับมอบเครื่องบินอีก 3 ลำ เป็นการรับมอบตามสัญญาเดิม รวมกับของเดิม 58 ลำ เป็น 61 ลำ แต่บินจริงแค่ 40 ลำ ใน 3 ปีนี้ยังไม่มีแผนซื้อเครื่องบินลำใหม่ จะบริหารจัดการเครื่องบินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะมองว่าเพียงพอที่จะรองรับดีมานด์ได้ แม้จีนจะเปิดประเทศแล้วก็ตาม

กำลังศึกษาเส้นทางบินระหว่างประเทศ มีศรีลังกาบาหลี เวียดนาม เขมร และสนใจจะทำบับเบิลกับประเทศอินเดีย เพราะคนอินเดียชอบเมืองไทยมาก และเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ ถ้าจีนไม่เปิดประเทศไม่เป็นไรเนื่องจากอินเดียมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน หากเข้ามา 1% ก็ได้ 10 กว่าล้านคนแล้ว ขณะเดียวกันมีแผนจะเปิดเส้นทางบินซาอุดีอาระเบียที่รัฐบาลฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี อยู่ระหว่างกำหนดเมืองที่จะไป ขออนุญาตสลอต และสิทธิทางการบิน เมื่อได้แล้วจะทำโปรโมชั่นหาลูกค้าล่วงหน้า 2-3 เดือนในครึ่งปีแรกนี้จะเริ่มเปิดบินได้

นอกจากนี้ ยังพร้อมบินในเส้นทางเอเชียถ้าเปิดประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งบางเส้นทางมีเปิดบินคาร์โกอยู่แล้ว ส่วนยุโรปมีบินหลายเมือง อาทิ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน ซูริก สตอกโฮล์ม ปารีส บรัสเซลส์ มิวนิก โดยบิน 6-7 เที่ยวต่อสัปดาห์ บินเข้ากรุงเทพฯและภูเก็ต เส้นทางยุโรปมีโอกาสจะเพิ่มเที่ยวบินช่วงเมษายนซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ยิ่งถ้าเปิดประเทศได้แบบปกติ จะยิ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ขณะที่เส้นทางในประเทศ รายได้ของไทยสมายล์ยังไปได้ดีและมีกำไร ถ้าไม่มีความกังวลโอมิครอนมาก หรือมีการห้ามบินระหว่างจังหวัด คาดหวังว่าสงกรานต์ปีนี้ อย่าให้มีการระบาดโควิดหมือนสงกรานต์ปีที่ผ่านมา

อีกเรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ การพลัสตั๋วโดยสาร ไม่ใช่ขายแค่ตั๋วอย่างเดียว ต้องพลัสในสิ่งที่ลูกค้าต้องการเข้าไปด้วย อาทิ เส้นทางท่องเที่ยว ร้านอาหาร การตีกอล์ฟ การแข่งขันฟุตบอล ต้องทำให้เหนือกว่าคู่แข่ง ตอนนี้เริ่มแล้ว กำลังนำบอร์ดกลุ่ม ปตท.ไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตโควิด ผมมองว่าเป็นโอกาสของการบินไทยมากกว่า เพราะทำให้แผนฟื้นฟูเดินหน้าได้

⦁ปัจจัยบวก-ลบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ
มีสถานการณ์โอมิคอน ราคาน้ำมัน เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันจะมีผลมาก ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้นจะดีมาก เพราะโควิดน่ากลัวกว่าน้ำมัน ตอนนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เพราะเป็นช่วงหน้าหนาวและมีความต้องการใช้มาก ขณะเดียวกันในหลายๆ แห่ง ไม่มีการผลิต เพราะติดโควิด การผลิตจะกลับมาต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งคน ทั้งเงิน แนวโน้มอนาคตราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับลดลง และการผลิตจะกลับมาช่วงหน้าร้อน โดยมองว่าราคาน้ำมันจะไม่ทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับการบินไทยน้ำมันคิดเป็นต้นทุนประมาณ 30-40% ได้ปรับเรื่องเทคนิคการบินทำให้ประหยัดน้ำมันได้มาก

ส่วนเสถียรภาพทางการเมืองไม่กระทบมาก เพราะคนอั้นการเดินทาง สมมุติว่าไม่รุนแรง ที่อื่นรุนแรงกว่า ต่างชาติที่เคยมาเมืองไทยจะคุ้นเคยแล้วไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สามารถเดินทางไปต่างจังหวัดได้ แต่รัฐต้องบริหารจัดการให้อยู่ อย่าให้เกิดความรุนแรง เพราะจะลำบาก เราเป็นสายการบินของประเทศ มีหน้าที่ต้องให้ข้อมูล ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แม้กรุงเทพฯจะมีประเด็นทางการเมือง ยังสามารถไปที่อื่นได้ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image