‘พท.-ปชป.-ส.ว.’ชำแหละ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

หมายเหตุความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ทั้งตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมอภิปรายเสนอแนะแนวทางและเหตุผล ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 4 ฉบับ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)

การเลือกตั้งที่ต้องแก้กฎหมายนี้ ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หลายจังหวัดจะมี ส.ส.เขตเพิ่มขึ้น ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งมีความสำคัญมาก เพราะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ต้องฝากกรรมาธิการ ที่จะเป็นตัวแทนพวกเราไปแก้กฎหมายเลือกตั้งว่า จะต้องเขียนเขตเลือกตั้งให้มีความชัดเจนว่า ถ้าจะเอาอำเภอนี้อยู่เขตนี้ ต้องเอาอำเภอเต็มๆ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำให้พี่น้องประชาชนสับสนเป็นอย่างยิ่ง บางอำเภอถูกแบ่งเป็น 3 เขตก็มี ขณะเดียวกัน ผลของการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นธรรมนี้ทำให้เกิดบัตรเสียเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

เรื่องต่อมาที่เราเสนอคือ เรื่องหมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคเบอร์เดียวกัน โดยเรามีการเลือกตั้งด้วยระบบบัตร 2 ใบที่ชัดเจนครั้งแรกเมื่อปี 2544 การเลือกตั้งครั้งนั้นทำให้ระบบพรรคการเมืองแข็งแรง และทำให้สภาอยู่ครบวาระ 4 ปีเต็ม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ต่อมาปี 2554 มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เบอร์ผู้สมัครและพรรคเบอร์เดียวกัน ทำให้พี่น้องประชาชนจำง่าย บัตรเสียก็น้อย

เวลาผมไปหาเสียง ถ้า ส.ส.เขตเป็นเบอร์หนึ่ง แล้วพรรคการเมืองที่เราสังกัดเป็นอีกเบอร์หนึ่ง พี่น้องประชาชนจะสับสนมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อจะสอบตกเยอะ เพราะเวลา ส.ส.เขตไปหาเสียง โดยธรรมชาติถ้าเป็นคนละเบอร์ คนจะถามว่าผู้สมัครเบอร์อะไร เราก็จะบอกเบอร์ของเรา ส่วนเบอร์ของพรรคใครจะไปบอก เขาก็กลัวประชาชนสับสน กลัวบัตรจะเสีย เราก็ต้องรักตัวเองก่อน นี่คือข้อเสียของการที่เบอร์ ส.ส.เขต และเบอร์พรรคการเมืองไม่เหมือนกัน จึงต้องฝากกรรมาธิการ นำเรื่องเบอร์เดียวกันทั้งคนทั้งพรรคไปพิจารณา และขอความกรุณาสมาชิกรัฐสภารับร่างของพรรค พท.เข้าไปด้วย

ปัญหาที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือการซื้อสิทธิ ขายเสียง เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย พอการซื้อเสียงหนักเข้าก็ตามมาด้วยปัญหาการเมืองล้มเหลว มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น กกต.เอง ต้องเอาจริงเอาจังจัดการกับพวกซื้อสิทธิขายเสียง ไม่อย่างนั้นเราจะได้ยินเรื่อง ส.ส.ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มละ 30-40 บ้าง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสภา ทั้งนี้ การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคการเมืองอ่อนแอ มี ส.ส.ย้ายพรรคจำนวนมาก การที่มีงูเห่าเช่นนี้ไม่ใช่ผลดีต่อการเมืองและต่อสภาเลย

Advertisement

อีกปัญหาที่สำคัญคือ ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งท้องถิ่น เราจะได้ข่าวการซื้อเสียง 2,000-4,000 บาท แต่กลับไม่มีข่าวว่า กกต.ให้ใบเหลือง หรือใบแดงเลย ถ้ามีก็น้อยมาก และการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็มีใบส้มใบเดียว การเขียนกฎหมายเลือกตั้งครั้งนี้จึงต้องเขียนให้ กกต.มีความเข้มข้นในการปราบปรามการซื้อสิทธิขายเสียง ถ้าเจ้าหน้าที่ของ กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่พยายามจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ผู้สมัครต้องมีสิทธิฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ และ กกต.ด้วย เพื่อทำให้การเมืองดีขึ้น

อีกประเด็น คือเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่างที่พรรค พท.เสนอให้เอาคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมือง หารด้วย 100 คน พรรคไหนได้คะแนนมาก ก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก ตรงนี้ยุติธรรม เพราะประชาชนเลือกพรรคไหนเยอะ ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมากลับเป็นพรรคไหนได้ ส.ส.เขตเยอะแล้ว ห้ามได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อทำให้การเมืองถอยหลังเข้าคลอง และเห็นปัญหาที่เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยทำให้ระบบพรรคการเมืองและการเมืองอ่อนแอ

จึงขอฝากในชั้นกรรมาธิการ ให้เอาข้อทักท้วงของผมไปเขียนไว้ในร่างกฎหมายประกอบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ดีที่สุด เพื่อจะใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ
ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

เป็นวันสำคัญอีกวันที่เราประชุมร่วมรัฐสภาช่วงสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ ทำให้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับเข้ามาพิจารณาได้ทันในสมัยประชุมสามัญ แต่ถ้าไม่ทันพวกผมตั้งใจจะขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพราะกฎหมายนี้มีความสำคัญที่ต้องอนุวัติให้ไปตามรัฐธรรมนูญที่เราแก้ไขที่ผ่านมา คือแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจากระบบสัดส่วนผสมบัตรใบเดียวมาเป็นระบบบัตรสองใบ คือแบบแบ่งเขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 รายชื่อ

พรรค ปชป.เสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะเรารู้ดีว่าปัญหาและอุปสรรคจากการเลือกตั้งปี 2562 มีปัญหาใดบ้าง เรามีเจตนาต้องการยกร่างกฎหมายฉบับนี้หลังมีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้สงวนสิทธิอะไร เพราะเปิดโอกาสให้ กกต. และ ส.ส.เสนอประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปหลังจากใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม

มีหลายคนซักถามผมว่า ถ้าร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ไม่ผ่านจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมบอกแล้วว่าต้องผ่านแน่นอน เพราะทุกฝ่ายให้ความสำคัญ แต่ถ้าไม่ผ่านต้องมีปัญหาแน่นอน หากเกิดมีสถานการณ์การเมืองที่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แม้ กกต.จะสามารถออกกฎเกณฑ์เสนอรัฐบาลออกพระราชกำหนดได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือกฎหมายที่ออกเป็นพระราชกำหนดออกโดยฝ่ายบริหาร ถามว่าจะมีความชอบธรรมและสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ผมจึงต้องทำหน้าที่ให้เห็นว่าพรรค ปชป.ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เราควรร่วมกันรับหลักการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง

มีข่าวว่ามีความพยายามกลับไปสู่การเลือกตั้งแบบเดิมคือบัตรใบเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเราจะต้องทำให้การเลือกตั้งที่เป็นไปตามระบบบัตรสองใบ ที่เราเคยคุ้นชินมาแล้วให้สุจริตและเที่ยงธรรม ผมจึงฝากเรื่องการแบ่งเขตที่พยายามให้ชัดเจนว่ามีการใช้จำนวนประชากรทั้งประเทศเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส. 400 คนจำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน

แต่ประเด็นคือจะไปช่วงชิงการแบ่งเขตอย่างไร ผมเห็นว่าเราควรเติมเต็มในชั้นกรรมาธิการให้ชัดเจนว่าควรเขียนรายละเอียดอย่างไร เพราะ กกต.ที่ผ่านมาก็สร้างบทเรียนว่าการแบ่งเขตมีปัญหา และมีส่วนได้เสียในช่วงที่มีการแข่งขันสูงในหลายเขตเลือกตั้ง

ส่วนที่ถกเถียงกันมากคือเรื่องจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีพรรคเล็กมาถามว่าจะคำนวณอย่างไร เมื่อเรามาใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบผมเชื่อว่าประชาชนสามารถเลือกผู้แทนที่ดีระดับเขต และมาทำงานในระดับชาติได้ เราต้องเปลี่ยนนักการเมืองที่ผูกพันกับระดับท้องถิ่นและระบบอุปถัมป์มาทำงานในระดับชาติได้ ระบบการเลือกตั้งเราต้องออกแบบให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เอาคนที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตยมาทำงานระดับชาติ

การเปลี่ยนบริบททางการเมืองครั้งนี้ อยากเห็นพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น เราต้องไปแก้กฎหมายพรรคการเมืองมาประกอบด้วย และการเลือกตั้งใช้บัตรสองใบจะทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น และอยากเห็นอิทธิพลการซื้อเสียงลดลง นี่คือการต่อสู้ของพรรคที่ต่อต้านการทุจริตและการซื้อเสียงทุกรูปแบบ เพราะเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องไม่ควรมีในระบบการเลือกตั้ง

ค่านิยมที่บอกว่าเงินไม่มากาไม่เป็น กกต.ต้องรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม และต้องการเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมจาก กกต. เมื่อกฎหมายเหล่านี้ออกมา กกต.ต้องไปรองรับเพื่อจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น

เสรี สุวรรณภานนท์
สมาชิกวุฒิสภา

ส.ว.อยากเห็นการเมืองดี เห็นระบบการได้มาซึ่งผู้แทนฯของประชาชนอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่เราพยายามจะแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา การพิจารณากฎหมายที่จะยุติหรือสรุปสุดท้ายในกฎหมายแต่ละฉบับก็เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เป็นปัญหาในยุคก่อนๆ ที่ผ่านมา เราพยายามจะแก้ปัญหาที่จะทำให้การเมืองนั้นดีขึ้น กติกาจึงออกมาในลักษณะที่เห็นได้ว่ามีระบบ มีกลไก เงื่อนไข และแนวทางที่ละเอียดอ่อนเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาในทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากการกระทำของนักการเมืองทั้งสิ้น

สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณากันคือเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดแบ่งเขตเลือกตั้งตามประชากรที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่พูดถึงปัญหาที่ผ่านมา ถ้าเราแบ่งเขตตามประชากรที่ใกล้เคียงกัน บางพื้นที่อำเภอหนึ่งไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้จำนวนประชากรใกล้เคียงกัน ซึ่งจริงๆ แล้วน่าพิจารณาสภาพตามความเป็นจริง ส.ส.จะได้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่เดียวกัน อย่าไปยึดติดอยู่กับการแบ่งจำนวนพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่เราพูดถึงมาตลอด แต่ไม่กล้าที่จะพูดความจริงกัน อาจจะมีหลายคนที่เป็นผู้สมัคร เป็นนักการเมืองที่สุจริต ไม่ซื้อเสียง แต่ในสภาพความเป็นจริงที่พูดกันเป็นวงกว้างส่วนใหญ่มีการซื้อเสียง ซึ่งการซื้อเสียงดังกล่าวมีกฎหมายที่คนซื้อเสียง ไปให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ มีความผิด ขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนรับเงินจากการซื้อเสียงก็เป็นความผิด หากบัญญัติกฎหมายในลักษณะอย่างนี้ ทั้งผู้ให้และผู้รับผิด แต่จับไม่ได้เพราะคนรับจะไปเป็นพยานก็ไม่ได้ คนให้ไม่กล้าพูด

หากจะให้ดีผู้รับต้องไม่ผิด ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ใครให้ทุกพรรครับให้หมดแล้วไม่ผิด และสามารถเอาเงินที่รับมา มาเป็นหลักฐานในการที่จะไปพิสูจน์ความถูกผิดของผู้ให้ได้ อย่างนี้ถึงพอจะแก้ปัญหาได้ ถ้ายังบัญญัติอย่างนี้ทั้งผู้ให้และผู้รับผิดหมด โอกาสที่จะหาคนผิดก็ไม่มีใครกล้า ไม่มีใครทำแต่ถ้าจะให้ดี ถ้ากล้าพูดความจริงว่าแก้ปัญหาซื้อเสียงแก้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็ซื้อเสียงกันทั้งนั้น ก็ยกเลิกเสียเลย ไม่ต้องไปกลัว โดยให้แต่ละคนมีจิตสำนึกเอา อยากจะลงทุนเท่าไร อยากจะเลี้ยงใครจะแจกเงินใครทำเลย เพราะไม่เป็นความผิด

ขอยกตัวอย่างเลือกตั้งนายกสภาทนายความและกรรมการสภาทนายความ กฎหมายใช้มาตั้งแต่ปี 2529 ใครไปหาเสียงจังหวัดไหนเลี้ยงกันตลอด อยากจะแจกหนังสือ แจกซีดี แจกอุปกรณ์ก็แจกกันไปไม่ถือว่าเป็นความผิด ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน ยังทำกันได้ ดังนั้น ขอฝากเป็นข้อคิดให้บรรดานักการเมืองทั้งหลายยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าทำบ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ประชาชนจริงใจเองว่าเขาจะเลือกใครที่เป็นคนดี

ควรต้องเลิกห้ามมีมหรสพ เพราะในยุคก่อนก็มี ดังนั้น ควรให้จัด รวมถึงการจัดเลี้ยงด้วย อย่าไปสร้างเงื่อนไขมาก ร่างที่เสนอมาควรอยู่บนพื้นฐานสภาพความเป็นจริง ถ้ากล้าหาญแก้ปัญหาบนพื้นฐานความเป็นจริงก็จะสามารถได้ผู้แทนที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงเข้ามาทำหน้าที่ในสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image