ส่อง…มาตรการรับมือ สงคราม‘รัสเซีย-ยูเครน’

ส่อง...มาตรการรับมือ สงคราม‘รัสเซีย-ยูเครน’ หมายเหตุ - นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

หมายเหตุนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย สะท้อนภาพและเสนอแนะในภาวะวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและภาพรวมเศรษฐกิจโลก

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่อเค้ายืดเยื้อและรุนแรง ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีท่าทีว่าราคาจะปรับลดลงมาในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบถึงเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรในประเทศที่มีทิศทางราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น บวกกับรัสเซียเป็นคู่ค้าที่ส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์มายังไทย และจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การนำเข้า-ส่งออกติดขัด ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อแล้วรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออาหารคนในที่สุด

อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาคือ เรื่องเงินเฟ้อ ที่ทุกประเทศทั่วโลกเริ่มได้รับผลกระทบแล้วเช่นเดียวกับประเทศไทย จากเดิมเมื่อเดือนมกราคม 2565 เงินเฟ้ออยู่ที่ 1% แต่ในปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3% และถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อก็มีสิทธิที่เงินเฟ้อในประเทศไทยจะสูงกว่านี้ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาเรื่องของแพงในไทยอย่างมาก อีกทั้ง สิ่งที่ยากต่อการรับมือในตอนนี้คือไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะยืดเยื้อแค่ไหน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าราคาสินค้าเกษตร หรือแม้แต่ราคาปุ๋ย จะเพิ่มขึ้นเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ หลังจากนี้คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนประเด็นที่มีการกดดันให้ประเทศไทยเลือกข้างระหว่าง 2 ประเทศดังกล่าวนั้น มองว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นกลางมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็นในตอนนี้คือสันติภาพ ไทยคงเลือกข้างไม่ได้ เพราะเรื่องนี้มีความซับซ้อนค่อนข้างเยอะ และยังไม่อยากให้สถานการณ์รุนแรงไปถึงการเลือกข้างโดยสิ่งที่ต้องการเห็นในตอนนี้อาจจะเริ่มจากการหยุดยิงกันก่อน หรือต่างฝ่ายต่างหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราอยากเห็นที่สุด เนื่องจากในตอนนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นล้วนแต่มีผลกระทบกับทั่วโลกอยู่ดี และหากในกรณีที่ต้องเลือกข้างจริงๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็จะหาจุดจบได้ยาก ดังนั้น จึงอยากให้ 2 ประเทศ หันหน้าเจรจากันจึงจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะถ้าทั้งโลกเข้ามาพัวพันเรื่องราวก็คงแย่ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น ในระยะนี้ไทยต้องเดินสายกลางไว้ก่อนเป็นเรื่องดีที่สุด

Advertisement

ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยต้องตั้งรับในกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เป็นเหตุให้สถานการณ์ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น แม้หลังจากนี้ทั้ง 2 ประเทศ อาจหันหน้ามาเจรจาร่วมกันแต่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงไปแล้ว และมีแนวโน้มลดลงยากอยู่ดี นอกจากนี้ ต้องติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ๆ จากประเทศที่เพิ่มกำลังการผลิตอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้นทุนค่าพลังงานเป็นต้นทุนของทุกอย่าง และเรื่องราคาพืชเกษตรที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารคนและอาหารสัตว์ เพราะรัสเซียกับยูเครนมีสัดส่วนการปลูกข้าวสาลีกว่า 29% ของทั้งโลกที่ผลิตได้ และมีสัดส่วนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 19% ของทั้งโลกที่ผลิตได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญของพื้นฐานเรื่องอาหารสัตว์ ถ้าทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถส่งออกได้ต้นทุนอาหารสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือ แม้ในปัจจุบันไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวก็ตาม

ส่วนเรื่องของการผลิตอาหารคนก็มีการเชื่อมโยงกับข้าวสาลี ซึ่งหากเกิดเหตุที่รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกวัตถุดิบดังกล่าวได้ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ ยุโรป ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คาดว่าอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรต มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ หากพูดถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับไทยในสถานการณ์นี้ คือ ไทยเป็นประทศที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปอันดับ 13 ของโลก เรามีโอกาสที่ส่งสินค้าอาหารสำเร็จรูปไปต่างประเทศได้เยอะขึ้น รวมถึงการขายสินค้าประเภทผัก หรือสินค้าเกษตร

ดังนั้น หลังจากนี้ไทยจะต้องเร่งเพิ่มปริมาณของผักที่ทั่วโลกมีความต้องการ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันเส้น เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่ประเทศนั้นคว่ำบาตรรัสเซียกับยูเครน ไทยก็มีโอกาสที่จะได้ส่งสินค้าแทนประเทศเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image