ถอดรหัส ‘บิ๊กป้อม’ ยุบสภา ปลายปี

หมายเหตุนักวิชาการวิพากษ์คำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่พูดคุยกับบรรดาแกนนำพรรคเล็กที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะมีการยุบสภาหลังประชุมเอเปคช่วงปลายปีนี้

ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ภาพรวมของสถานการณ์ในตอนนี้คือความพยายามของกลุ่มที่พยายามยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เพื่อที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป แม้ในรอบ 3-4 ปีมานี้ อันดับแรกเราจะเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงยังไม่ได้ลดลงและยังต่อเนื่องอยู่ อันดับที่ 2 คือเศรษฐกิจเลวร้ายลงเป็นลำดับ เพราะรัฐไม่มีโครงการอะไรใหม่ๆ เลย อันดับที่ 3การเมืองไทยก็อึมครึม ผู้นำไม่ได้แสดงท่าทีที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับประชาชน ไม่ได้นั่งจับเข่าคุยกัน ใช้วิธีเมินบึ้งตึงเวลาไปไหนจะถูกห้อมล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ประชาชนทั่วไปไม่ได้คุยด้วย มันไม่เหมือนบรรยากาศรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย อันดับที่ 4 คือความไม่แน่นอนทางการเมืองในระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปรุกรานประเทศเล็กมากทำให้ความรู้สึกของคนทั่วโลกไม่มั่นใจและไม่เชื่อว่าโลกในสมัยนี้ยังมีการรังแกกันแบบนี้ ทั้งหมดนี้ก็นำมาสู่ประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลยังคงดื้อรั้นอยู่ต่อไป โดยไม่มีผลงานอะไรที่จับต้องได้ อยู่ไปก็มีแต่บึ้งตึง เกี่ยงงอนกันและสภาวะการนำที่ไร้วุฒิภาวะ เพราะฉะนั้นการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดว่าเป็นคนเสนอเรื่องยุบสภาเองมองได้ 2 อย่าง

Advertisement

อย่างแรกคือ พูดให้สถานการณ์เหมือนจะเบาลงว่าได้เสนอแล้ว อย่างที่สอง อาจต้องการเสนอทางเลือกใหม่ว่าแม้นายกฯไม่ฟัง ตนก็รับฟัง พร้อมถ้าจะมีทางเลือกใหม่ คือเป็นการชิงไหวชิงพริบกัน หรือจากคนพูดเองเลยว่าคือแนวโน้มดูแล้วต้องมีเลือกตั้งแน่ แต่ พล.อ.ประวิตรใช้จังหวะนี้ในการพูดได้คะแนนก่อน คือไม่ต้องมาบอกว่าคุณพูดก่อน ไม่ต้อง ให้เขาพูดเลย ซึ่งคงคุยกันมาแล้ว คงไม่นานนี้ เมื่อ พล.อ.ประวิตรออกมาว่าตัวเองเสนอแล้วกลายเป็นได้เครดิตไปด้วย มีคะแนนให้ตัวเองด้วย

เรื่องการยุบสภาหลังการประชุมเอเปค พูดตามตรง คือสถานการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคม 3 อย่างนี้รวมกันแล้ว มันนานเกินไปแล้ว ประชาชนเขาเบื่อหน่าย อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยรวม การประชุมเอเปคอีกตั้งนานมาก จริงๆ แล้วถ้ามีรัฐบาลใหม่มาในการเลือกตั้งก็คงจะมีการเตรียมการ ไม่ใช่ยุบแล้วหาเสียง 2-3 วัน หรือ 7 วัน มันไม่ถูก เขาคงเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคนได้พบปะประชาชน พูดคุยแลกเปลี่ยนว่าจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะฉะนั้นควรจะรีบตั้งแต่ต้นเลย เปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการ ส่วนตัวคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรไปก่อน ไม่ควรจะอยู่ตรงนี้ อยู่เพื่ออะไร อยู่เพื่ออยู่ในภาพวิทยุโทรทัศน์ เป็นเกียรติยศของตัวเองอย่างนั้นหรือ ควรจะยุบก่อนการประชุมเอเปคไม่ใช่หลังการประชุมเอเปค เพราะว่ามันกลายเป็นภาระผูกพันไป และรัฐบาลไหนน่าจะมีโอกาสได้ทำตรงนี้ก็คือไปรับฟังปัญหาของเอเปค แล้วก็เดินต่อเลย ส่วนรัฐบาลนี้ก็จากไป ตามความเหมาะสม คุณทำงานมาตั้งกี่ปีแล้ว พอได้แล้ว

ส่วนเรื่องที่จะยุบสภาหลังเอเปคจะประคับประคองไปถึงตอนนั้นหรือไม่ คิดว่ารัฐบาลก็อยู่ได้ แต่อยู่ด้วยความไม่มีความสุขของฝ่ายใดเลยในประเทศนี้และไม่มีกำลังใจที่อยากจะทำอะไร เพราะเบื่อหน่ายกับสภาวะที่ไม่มีการฟังกัน ไม่ต้องรอถึงหลังประชุมเอเปคช่วงพฤษภาคม รอทำไม ไปตอนนี้เลย งานประชุมเอเปคก็เป็นงานของฝ่ายประจำเปลี่ยนแค่หัวแค่นั้นเอง

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของรัฐบาล เพราะเดินหน้าต่อไปไม่ได้แล้ว โดยมีเหตุประกอบไปด้วย ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สามารถรักษาคะแนนนิยมได้อีกต่อไป รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคนั่งร้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงและสูงมาก นอกจากนี้ ฝ่ายค้านเตรียมความพร้อมที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และไปเอาคะแนนจากการประชุมเอเปค แล้วยุบสภา ถือว่าเป็นไทม์ไลน์ที่เหมาะสมแล้ว

การยุบสภาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ยังมองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อ ถึงแม้ว่า 3 ป. จะมีความแคลงใจกันแล้วก็ตาม ดูท่าทีของ พล.อ.ประวิตร อาจจะเหยียบเรือสองแคม อย่างเช่นไม่สามารถควบคุม ร.อ.ธรรมนัสได้ แต่อย่าลืมว่า ร.อ.ธรรมนัสเคยอยู่พรรคของตัวเอง และอุปถัมภ์มาตลอด หากคิดในระบบอุปถัมภ์ คิดว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่กล้าเนรคุณนอกจากจะส่งสัญญาณบางอย่าง ในกองทัพอาจจะมีคติ ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน แต่ขณะนี้ พล.อ.ประวิตรเป็นนักการเมืองแล้วอาจจะ ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน ก็ได้

พรรคพลังประชารัฐอาจจะคงอยู่ แต่ไม่มีบทบาท หากดูความแตกแยกจะเดินต่อไปไม่ได้เลย ขณะเดียวกันหากมองพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย จะมีนัยยะสำคัญในการเติบโตทางการเมืองขึ้นตามลำดับ คิดว่าในอนาคตจะไม่ใช่พรรคตัวแปร อาจจะกลายเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต แต่ตัวนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นใครไม่รู้ อาจจะเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า เนื่องจากมีสัญญาณทุกคนรู้กันหมด ไม่ว่าจะเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทยทำให้หลายพรรคการเมืองวิตกกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของพรรคภูมิใจไทยเหมือนกัน เพราะขยายอิทธิพลไปสูงมาก

ขณะนี้จะพบว่ามี ส.ส.และอดีต ส.ส.หลายคนไหลไปรวมตัวกับพรรคภูมิใจไทยอย่างมากมาย คนของพรรคเพื่อไทยจากภาคอีสานก็ไหลเข้า คนที่จะเริ่มมีโอกาสทางการเมืองก็เริ่มไปพรรคภูมิใจไทยเหมือนกัน เพราะมองว่าไม่มีความขัดแย้งกับพรรคการเมืองใด หากเกมการเมืองเป็นอย่างนี้มองว่า พรรคภูมิใจไทยจะเป็นผู้กำหนดตัวนายกรัฐมนตรีในอนาคต

ที่สำคัญหากพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะหมดข้อครหาว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของ คสช. และยังเป็นการลดกระแสในการสืบทอดอำนาจอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นใครก็ได้ หรืออาจจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยังได้


วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

เวลาเราจะทำความเข้าใจการเมืองในปัจจุบันของฝ่ายรัฐบาล อาจจะต้องแยกออกมาเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.รัฐบาล ผู้ที่มีอำนาจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนที่ 2.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และส่วนที่ 3. ส.ส.ที่อยู่ในสภา ส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่า พล.อ.ประวิตรสามารถคุม ส.ส.หลักที่อยู่ในพรรคร่วมได้ แต่เราไม่สามารถมอง ส.ส.กับรัฐบาล เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ แม้ว่าเป็นที่มาของรัฐบาลจริง เพราะเราอยู่ในระบบรัฐสภา แต่การแยกเป็น 3 ส่วนนี้จะมองได้ว่า พล.อ.ประวิตร พูดเรื่องยุบสภา แต่ส่วนที่ พล.อ.ประวิตรมีอำนาจ หรือสามารถกำกับได้จริงๆ คือส่วนของพรรคพลังประชารัฐ และบางส่วนของสภาคือ ส.ส. แต่การยุบสภาเป็นอำนาจของรัฐบาล ประเด็นคือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้พูดเอง กลายเป็นคนฝั่งของพลังประชารัฐพูด

คำถามที่เกิดขึ้นคือ คำพูดดังกล่าวเป็นจุดยืนของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งเราตอบไม่ได้อย่างชัดเจน เพราะในกลุ่ม 3 ป. แม้ว่าจะมีการนัดทานข้าวร่วมกัน มีการจูงมือพากันเดิน ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าความสัมพันธ์ของกลุ่ม 3 ป. จะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า การยุบสภาจากคำพูดของ พล.อ.ประวิตร เป้าหมายจะเป็นเรื่องยุบสภาหรือเป็นการส่งสัญญาณในลักษณะอื่น เกี่ยวกับบทบาท หรือสถานะของรัฐบาล และไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือจุดยืนของรัฐบาล ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ออกมาพูดเอง

หากเป็นการยุบสภาตามที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวคือยุบหลังการประชุมเอเปค แล้วกลับมาเลือกตั้งเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย หมายความว่า 1.จะเป็นการยุบสภาหลังจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯและเมืองพัทยา ผ่านไปแล้ว และ 2.เป็นการยุบสภาหลังจากการตีความเรื่องนายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปีหรือไม่ ในเดือนสิงหาคมจะมีเงื่อนเวลาตรงนี้อยู่ ฉะนั้นการดึงเวลาไปปลายปีก็เหมือนเป็นการพูดว่าให้รัฐบาลอยู่ได้ต่อไป ความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ที่เราจะมีการเลือกตั้งที่พัทยา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำหนดทิศทางการเมืองภาพใหญ่ และมีการตีความเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คืออีก 2 จุดสำคัญ

ปัญหาคือถ้ามีการยุบสภาจริง คำถามแรกที่ต้องคุยพลังประชารัฐจะยังอยู่หรือไม่ เพราะพลังประชารัฐมีพรรคสำรองเยอะมาก มีหลายกลุ่มที่เข้าไปซ่อนอยู่ อย่างกลุ่มหนึ่งที่ออกไปแล้วคือ กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า คือพรรคเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจหลังรัฐประหารปี 2557 ฉะนั้น โจทย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงไม่ใช่โจทย์นี้ แต่เป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งพลังประชารัฐอาจจะไม่ได้ใหญ่เหมือนเดิมอีกแล้ว

พรรคการเมืองที่จะต้องกังวลมากและจับตาการยุบสภาอย่างหนัก อยากให้เน้นไปที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่มีนักการเมืองทั้งจากพลังประชารัฐและเพื่อไทยเข้าไปร่วมด้วย อาจจะกลายเป็นพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งปีหน้า ถ้ามีการยุบสภา ณ จุดนี้ หากพลังประชารัฐเห็นอาจจะให้มีการยุบสภาก่อนที่พรรคภูมิใจไทยจะขยายปีกได้ใหญ่กว่านี้

การที่ พล.อ.ประวิตรออกมาพูดเป็นการพูดในเชิงคลำทางทางการเมืองมากกว่า ยังไม่ได้มั่นใจว่าจะยุบตอนนั้นจริงหรือไม่ เป็นเพียงการตั้งเกมทางการเมืองมากกว่า ยังไม่ได้พูดถึงไทม์ไลน์ที่แท้จริงในการยุบสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image