บทนำวันจันทร์ที่21มีนาคม2565 : ผลของ รธน.60

พรรคเศรษฐกิจไทย จัดการประชุมใหญ่ไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ยูทาวเวอร์ ถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ มีมติเลือก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นเลขาธิการพรรค และนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค น.ส.ธนพร ศรีวิราช หรือจุ๊บจิ๊บ ภรรยา ร.อ.ธรรมนัส เป็นเหรัญญิก เลือกกรรมการบริหารพรรค 18 คน ภายหลังการเลือกกรรมการบริหารพรรค พล.อ.วิชญ์กล่าวกับสมาชิกว่า การเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป เราคงจะเป็นที่ 1-2 ขึ้นอยู่กับประชาชน จะศรัทธา และจะมี ส.ส.เกิน 100 คนขึ้นไป ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามท่าทีและจุดยืนของพรรคต่อรัฐบาลว่า จะสนับสนุนหรือจะทำหน้าที่ตรวจสอบในแบบฝ่ายค้าน ทางแกนนำพรรคได้ตอบแบ่งรับแบ่งสู้ และเมื่อถามว่า หากมีการเชิญไปร่วมรับประทานอาหารในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ต้องถามหัวหน้าพรรคก่อน แต่ผมไม่ไป”

การแยกตัวจากพรรคพลังประชารัฐของกลุ่ม ส.ส.ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส ทำให้เกิดกระแสข่าวว่า จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาเสียงสนับสนุนในสภา โดยเฉพาะเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ล่าสุด ตัวเลข ส.ส.พลังประชารัฐที่ย้ายมาสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย มี 18 คน ทำให้รัฐบาลต้องหันไปดึงเสียงพรรคเล็กมาผนึกกับรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการรับประทานอาหารเย็นหรือดินเนอร์การเมืองแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน และคาดหมายว่า ก่อนเปิดสภาใน วันที่ 22 พฤษภาคม อาจจะมีการพบปะกันอีก

การแบ่งภาคจากพรรคใหญ่ มาเป็นพรรคเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้พรรคเดิมเผชิญวิกฤตเสียงสนับสนุน เป็นอีกภาพของการเมืองในปัจจุบัน นอกเหนือจากบทบาทของพรรคเล็ก ทั้งหมดนี้ เป็นผลิตผลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ “ดีไซน์เพื่อพวกเรา” น่าคิดว่า ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ คาดคิดหรือไม่ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ขึ้นกับ “พวกเรา” แต่ก็ต้องถือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของผู้ยกร่างด้วย น่าเสียดายที่ในการทำประชามติ ผู้มีอำนาจขณะนั้น ไม่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดมุมมองล่วงหน้าว่า ผลที่จะเกิดขึ้นจากกฎกติกานี้คืออะไร เป็นบทเรียนสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ที่ประชาชนถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image